27 พ.ย. 2022 เวลา 12:03 • การศึกษา
⭐️ การเตรียมตัวสอบในชั้นเนติบัณฑิต ⭐️
กับคุณนครินทร์ เลิศด้วยลาภ
อันดับ 1 เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 73 👨🏻‍⚖️📚
1️⃣ การปรับตัวเพื่อศึกษาในระดับชั้นเนติบัณฑิต
ในความเห็นของผมการศึกษาในระดับชั้นเนติบัณฑิตมีพื้นฐานสำคัญจากชั้นปริญญาตรี ดังนั้นในส่วนของการเรียนหากลงแรงในสมัยปริญญาตรีเป็นอย่างดีการเรียนเนติบัณฑิตก็จะสบายมากขึ้นและไม่ทำให้เครียดจนเกินไป แต่สำหรับท่านที่ตอนปริญญาตรีมีภารกิจหรือความรับผิดชอบบางอย่างจึงทำให้ไม่อาจลงแรงได้เต็มที่ การเตรียมสอบเนติบัณฑิตก็จะช่วยให้ท่านสามารถใช้เวลาในการทบทวนความรู้และเข้าใจกฎหมายได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นโดยการสอบผ่านก็ไม่ยากเกินความพยายามหากมีการเตรียมตัวและวางแผนมาเป็นอย่างดี
การศึกษาในระดับชั้นเนติบัณฑิตจะเน้นไปที่การศึกษาการปรับใช้กฎหมายผ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาส่วนข้อแตกต่างที่จะต้องปรับตัวคือการฝึกเขียนตอบที่จะต้องฝึกการจับประเด็นให้เร็วให้ทันเวลาเพราะเวลาที่ให้ทำข้อสอบจะลดจากตอนปริญญาตรีลงไปมาก และส่วนที่สำคัญอีกประการคือการวางแผนเพราะจะต้องมีการวางแผนอยู่ตลอดเวลาในช่วงการเรียนและเตรียมตัวสอบเพื่อกำหนดเป้าหมายในการอ่านหนังสือและการเตรียมตัวสอบให้ทันเวลาในแต่ละภาคการศึกษา
 
2️⃣ การอ่านหนังสือและคำบรรยาย
การอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเนติบัณฑิตผมจะเน้นอ่านที่รวมคำบรรยายที่ทางเนติบัณฑิตได้จัดทำเป็นหลัก โดยการอ่านคำบรรยายนี้ผมจะอ่านอยู่ 2 สมัยคือคำบรรยายของสมัยก่อนหน้าเพื่อใช้ในการเตรียมตัวอ่านล่วงหน้าก่อนเข้าฟังคำบรรยายในชั้นเรียน ซึ่งจะทำให้สามารถคิดตามประเด็นที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายได้ทัน
และรู้จุดบกพร่องของตนเองว่าเรื่องไหนที่เราอ่านมาแล้วแต่ยังไม่เข้าใจหรือฎีกาไหนเราจำได้แต่เหตุผลอาจยังไม่ถูกต้องครบถ้วนก็สามารถโฟกัสและจดบันทึกเพิ่มเติมตามที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายในชั้นเรียนได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าฟังการบรรยายได้มากขึ้น
ต่อมาคือการอ่านคำบรรยายของสมัยปัจจุบันซึ่งเป็นการอ่านทบทวนความรู้อีกครั้งและเป็นการติดตามฎีกาว่าในสมัยที่ท่านเรียนมีฎีกาอะไรใหม่ๆน่าสนใจซึ่งท่านอาจารย์ได้นำมาพิมพ์ลงในคำบรรยายและในบทบรรณาธิการ
ส่วนหนังสืออื่นนอกจากรวมคำบรรยายที่ทางเนติบัณฑิตได้จัดทำผมจะใช้หนังสือที่ได้ใช้เรียนและเก็บไว้ตั้งแต่ในสมัยปริญญาตรีโดยจะเปิดทบทวนเฉพาะในประเด็นที่อ่านจากคำบรรยายแล้วยังไม่เข้าใจเพื่อศึกษาทบทวนเพิ่มเติมเท่านั้นไม่ได้อ่านใหม่ทั้งหมดเนื่องจากระยะเวลาในการเตรียมตัวสอบในแต่ละภาคการศึกษามีค่อนข้างจำกัด
3️⃣ การท่องตัวบท
ถึงแม้การเรียนเนติบัณฑิตจะเป็นการศึกษาที่เน้นการปรับใช้กฎหมายจากคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นหลัก แต่ส่วนสำคัญที่ข้อสอบชอบออกวัดความรู้คือหลักกฎหมายจากตัวบท ดังนั้นตัวบทจึงมีความสำคัญไม่แพ้การอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยข้อสอบบางข้อเป็นคำถามที่วัดหลักกฎหมายตามตัวบท หากท่องมาก็สามารถตอบได้เลยโดยไม่มีความซับซ้อนอะไรไปมากกว่านั้น และถึงแม้ในธงคำตอบจะมีการอ้างอิงฎีกาก็เป็นฎีกาที่อธิบายตัวบทในมาตรานั้นๆเพียงเท่านั้น
การท่องตัวบทจะทำให้สามารถใช้ศัพท์ทางกฎหมายที่อยู่ในตัวบทในการเขียนตอบข้อสอบ ทำให้คำตอบของเรามีความถูกต้องชัดเจนตามกฎหมาย โดยเฉพาะส่วนของนิยามในตอนต้นของประมวลและ พ.ร.บต่างๆ ที่หากจำไปจะสามารถนำไปปรับใช้ในการเขียนตอบให้มีความสละสลวยมากขึ้น
โดยการท่องตัวบทผมจะท่องทันทีที่อ่านคำบรรยายถึงตัวบทในมาตรานั้นๆและจำเลขมาตราด้วยเสมอ หากในหนังสือคำบรรยายได้กล่าวถึงตัวบทนั้นอีกหรืออาจารย์ได้บรรยายถึงตัวบทมาตรานั้นในห้องบรรยายก็จะทำให้นึกตัวบทนั้นได้รวดเร็วมากขึ้น และหากมีการเชื่อมโยงตัวบทนั้นกับมาตราอื่นๆ ก็จะทำให้เห็นความแตกต่างและความสัมพันธ์ของมาตราต่างๆเหล่านั้นได้ชัดเจนมากขึ้น
และ 1 สัปดาห์ก่อนสอบของแต่ละวิชาผมจะไม่ได้อ่านหนังสือเพิ่มแล้ว แต่จะเอาตัวบทมาเปิดดูทบทวนทั้งหมดตลอดสัปดาห์เพื่อให้สามารถจำและนำออกมาใช้เขียนตอบได้รวดเร็วมากขึ้น
4️⃣ การทำข้อสอบเก่า
สำหรับผมการฝึกทำข้อสอบเก่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสอบผ่าน เพราะการฝึกทำข้อสอบเก่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อให้รู้รูปแบบในการออกข้อสอบรวมถึงการจับประเด็นในข้อสอบว่าข้อสอบจะซ้อนประเด็นอย่างไร และการตอบอย่างไรจึงจะครบถ้วนตามประเด็นที่ข้อสอบกำหนด รวมถึงการให้เหตุผลตามธงคำตอบ
อีกทั้งการฝึกทำข้อสอบเก่ายังทำให้รู้ถึงความสำคัญในแต่ละเรื่องว่าเรื่องใดเป็นเรื่องที่สำคัญและนำมาออกข้อสอบเป็นประจำก็จะทำให้ต้องใส่ใจในเรื่องนั้นเป็นพิเศษ โดยการฝึกทำข้อสอบผมจะลองฝึกเขียนและจับเวลาจริงโดยหากเริ่มจัดการบริหารเวลาได้แล้วก็จะใช้วิธีดูข้อสอบและลองตอบตามประเด็นว่าตนเองสามารถตอบครบตามประเด็นและถูกต้องหรือไม่ โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องจับเวลาและลองเขียนเต็มรูปแบบเหมือนการฝึกในครั้งแรกๆ
5️⃣ การบริหารจัดการเวลาสอบในวันสอบจริง
เมื่อถึงเวลาวันสอบจริงและเริ่มสอบผมจะพยายามหาคำตอบพร้อมมาตราที่จะใช้ให้เสร็จทั้ง 10 ข้อก่อน แล้วจึงเริ่มเขียนในข้อที่มั่นใจที่สุดไปหาข้อที่มั่นใจน้อยที่สุด โดยเฉลี่ยเวลาให้ได้ตอบคำถามทุกข้อแม้ข้อไหนมั่นใจก็ไม่ควรใช้เวลามากเกินไปเพราะต่อให้เขียนมากแค่ไหนก็ไม่มีทางเกิน10คะแนน แต่ต้องทำทุกข้ออย่าปล่อยให้ว่างเพราะคะแนนเพียงคะแนนเดียวหรือครึ่งคะแนนก็สำคัญสำหรับการสอบในระดับเนติบัณฑิต
การเขียนตอบต้องให้เหตุผลในการตอบทุกประเด็น ห้ามลอกโจทย์มาตอบ ซึ่งส่วนนี้อาจารย์หลายท่านเน้นย้ำในห้องเรียน โดยพยายามวางหลักกฎหมายก่อนตอบเสมอ เพราะแม้ธงคำตอบผิดก็อาจจะมีคะแนนในส่วนนี้ให้ โดยการตอบพยายามใช้คำศัพท์ตามตัวบทกฎหมายและถ้อยคำตามคำพิพากษาจะทำให้คำตอบของเราดูเฉียบคมมากขึ้น
6️⃣ ฝากกำลังใจถึงเพื่อนๆที่กำลังเตรียมตัวสอบ
ในระหว่างการเตรียมตัวสอบก็ไม่อยากให้ทุกท่านเคร่งเครียดมากจนเกินไป ควรที่จะแบ่งเวลาพักผ่อนดูแลรักษาสุขภาพ อยู่กับเพื่อนๆ และมีเวลาให้กับครอบครัว การเตรียมตัวสอบย่อมต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่น วิริยะ อุตสาหะ ซึ่งอาจทำให้บางท่านรู้สึกท้อและรู้สึกผิดหวังกับการสอบ หากผลสอบไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา
ดังนั้นผมจึงอยากยกสุภาษิตจีนบทหนึ่งขึ้นมาให้กำลังใจกับผู้ที่เตรียมตัวสอบทุกท่านซึ่งสุภาษิตนี้มีคำอ่านว่า “สือ เต่า ฮัว จิ้ว ไค” แปลความหมายได้ว่าคือ “เมื่อถึงเวลา ดอกไม้จะบานเอง” ซึ่งเป็นสุภาษิตที่สอนว่าถ้าดอกไม้ยังตูมอยู่เราก็อย่าเพิ่งไปคลี่มัน สรรพสิ่งบนโลกเรานี้ล้วนขึ้นอยู่กับเวลาไม่เร็วก็ช้า ทุกอย่างย่อมดำเนินไปตามวิถีทางของมัน
ซึ่งหากเปรียบความสำเร็จของคนเรากับดอกไม้แล้วความสำเร็จของบุคคลก็ต้องใช้ระยะเวลา เร็วหรือช้าต่างกันไปเพราะดอกไม้แต่ละชนิดผลิบานในเวลาที่ต่างกันดังนั้นไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเมื่อความพยายามพากเพียรถึงจุดที่เพียงพอก็จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จได้ ดังนั้นจงรอคอยความสำเร็จจากความพยายามในวันนี้
สุดท้ายนี้ผมก็ขอเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่กำลังศึกษาและเตรียมตัวสอบเนติบัณฑิตทุกท่านขอให้ทุกท่านสามารถสอบผ่านเป็นเนติบัณฑิตได้สมความตั้งใจและความพยายามครับ
โฆษณา