14 มิ.ย. 2023 เวลา 06:01 • การศึกษา

เปรตงูยักษ์และเปรตกาดำ

ชีวิตของผู้คนในยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ไม่เคยว่างเว้นจากภารกิจการงาน การทำมาหากิน ต้องต่อสู้แข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน มีทั้งคู่แข่งและคู่แค้น มีน้อยคนนักที่จะประสบความสำเร็จไปพร้อมกับการมีความสุขและความบริสุทธิ์ บางทีต้องทำบาปอกุศล แถมยังมีเบญจกามคุณมาล่อใจให้หลงยึดติดวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้
มีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราได้พบกับความสุขที่แท้จริง ก็คือต้องนำใจกลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะศูนย์กลางกายเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุข เป็นต้นแหล่งของความบริสุทธิ์ ที่จะนำเราเข้าไปพบกับผู้รู้แจ้งภายใน คือพระธรรมกาย
................................
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“น หิ ปาปํ กตํ กมฺมํ สชฺชุขีรํว มุจฺจติ
ฑหนฺตํ พาลมเนฺวติ ภสฺมาจฺฉนฺโนว ปาวโก
จริงอยู่ บาปกรรมที่บุคคลทำแล้วย่อมไม่สูญหายไป เหมือนน้ำนมที่รีดในขณะนั้นคงไม่แปรไป แต่บาปกรรมนั้นจะต้องติดตามเผาคนพาล เหมือนไฟที่ถูกเถ้าปกปิดเอาไว้”
กำลังแห่งกรรมเป็นกำลังที่ไม่มีสิ่งใดมาต้านทานได้ แม้จะพยายามหลบหนีไปให้ไกล แต่กรรมนั้นมีพลังที่จะตามติดเราไปทุกหนทุกแห่งเหมือนเงาตามตัว คนพาลผู้มัวประมาทหลงใหลเพลิดเพลินในชีวิต มักจะมองเห็นบาปกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่เห็นผลของบาปที่เกิดขึ้น
แต่เมื่อใดก็ตามที่กรรมนั้นส่งผล เราจะไม่มีวันหลีกพ้นได้ เพราะกรรมเป็นเรื่องเฉพาะตน ใครทำกรรมชั่วเอาไว้ เมื่อถึงเวลากรรมนั้นก็ตามมาบีบคั้น ทำให้ได้รับอุปสรรคต่าง ๆ นานาในชีวิต ต้องเสวยทุกข์ทรมานแสนสาหัสเป็นเวลายาวนาน
ในสมัยพุทธกาล พระลักขณเถระได้มีโอกาสติดตามพระมหาโมคคัลลานเถระลงจากภูเขาคิชฌกูฏเพื่อเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ในขณะที่พระเถระทั้ง ๒ รูปเดินทางอยู่นั้น พระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์ จึงสามารถมองเห็นเปรตงูยักษ์ตนหนึ่งด้วยตาเนื้อ ท่านเห็นแล้วก็แสดงอาการยิ้มแย้มให้ปรากฏหน่อยหนึ่ง
พระลักขณเถระเห็นท่านแสดงอาการเช่นนั้น อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พระโมคคัลลานะยังไม่บอกอะไร เพียงแต่บอกสั้น ๆ ว่า “อาวุโส ท่านจะรู้ก็ต่อเมื่อเราทั้งสองได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น” ว่าแล้วก็พากันเดินทางไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์เพื่อโปรดญาติโยมตามปกติ
เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็ชักชวนกันไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมพระพุทธองค์อยู่จำนวนมาก ครั้นกราบนมัสการพระพุทธองค์เสร็จเรียบร้อย พระลักขณเถระจึงถือโอกาสถามพระโมคคัลลานะอีกครั้งหนึ่งว่า ระหว่างลงจากเขาคิชฌกูฏ ทำไมถึงได้ทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ
พระเถระตอบว่า “ผู้มีอายุ ผมเห็นเปรตงูยักษ์ตนหนึ่ง รูปร่างใหญ่โตมาก จึงได้ทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ เนื่องจากอัตภาพของเปรตนั้นไม่เหมือนเปรตตนอื่น ๆ ที่กระผมเคยเห็นมาก่อน ศีรษะของมันเหมือนศีรษะมนุษย์ อัตภาพที่เหลือของเปรตตนนี้ เหมือนร่างของงูยักษ์ยาวประมาณ ๒๕ โยชน์ เปลวไฟได้ตั้งขึ้นจากศีรษะของมันลามไปจนถึงหาง ตั้งขึ้นจากหางถึงศีรษะ จากนั้นตั้งขึ้นในท่ามกลางลุกลามไปทั่ว ได้ร้องโหยหวนอยู่ในอากาศด้วยความทุกข์ทรมาน
นอกจากนี้ พระมหาโมคคัลลานะ ก็ยังเล่าเรื่องที่เห็นเปรตอีกตนหนึ่ง มีลักษณะที่พิเศษกว่าเปรตตนอื่น คือเป็นเปรตกาดำตัวใหญ่ แต่ว่าเป็นกาดำยักษ์ที่กำลังถูกไฟไหม้อยู่ที่ยอดเขาคิชฌกูฏ ลิ้นของกายาวประมาณ ๕ โยชน์ ศีรษะของกาใหญ่มากประมาณ ๙ โยชน์ กายของกาสูงประมาณ ๒๕ โยชน์ เปลวเพลิงใหญ่ได้ลุกท่วมเผากายักษ์ตัวนั้นอยู่ตลอดเวลา กาก็ร้องเสียงโหยหวนบินไปมาในอากาศ
เนื่องจากพระเถระเป็นผู้มีอานุภาพมาก จึงสามารถมองเห็นอัตภาพของเปรตนั้นได้ แล้วพระเถระก็บอกว่า ส่วนมาก อัตภาพของเปรตทั่วไปสูงแค่ ๓ คาวุตเท่านั้น แต่เปรตทั้ง ๒ ตัวนี้ สูงถึง ๒๕ โยชน์ เพราะฉะนั้นกระผมจึงทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ”
พระบรมศาสดาทรงเป็นพยานยืนยันให้กับพระเถระว่า ถ้อยคำที่พระโมคคัลลานะพูดมาทั้งหมดนั้นเป็นความจริง เพราะพระองค์ทรงเห็นเปรตเหล่านั้น ตั้งแต่ในวันที่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเหมือนกัน แต่พระองค์ไม่ได้ตรัสบอกใคร ๆ ให้ทรงทราบ เพราะทรงเอ็นดูต่อสรรพสัตว์ว่า “ใครที่ฟังแล้ว ไม่เชื่อถ้อยคำตถาคต ความไม่เชื่อนั้น พึงเป็นสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเหล่านั้น”
เพราะฉะนั้นเมื่อพระโมคคัลลานะได้เห็นเปรตเหล่านั้น นับว่าเป็นการยืนยันการทอดพระเนตรเห็นของพระพุทธองค์เหมือนกัน จากนั้นพระพุทธองค์ทรงนำเรื่องของเปรตทั้งสองนั้นมาเล่าให้ภิกษุสงฆ์ได้รับฟัง
ในอดีตกาล ชาวเมืองพาราณสีได้สร้างบรรณศาลาถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าใกล้ฝั่งแม่น้ำ พระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ในบรรณศาลานั้น เที่ยวบิณฑบาตไปในเมืองเพื่อโปรดญาติโยมเป็นประจำ ครั้นช่วงเย็นชาวเมืองถือดอกไม้ของหอมไปนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความเคารพเลื่อมใส บังเอิญว่าระหว่างเส้นทางที่ชาวบ้านไปกราบนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นที่นาของหนุ่มชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่ง ตนเองไม่อยากให้ใครเดินผ่านที่นาของตัว แม้จะห้ามชาวบ้านไม่ให้เดินทางมาทางนี้ก็ห้ามไม่ได้
ชาวนาผู้จิตใจคับแคบจึงมีความคิดว่า ถ้าไม่มีบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้า ชาวบ้านก็จะไม่เดินทางผ่านที่นาของเรา ดังนั้นในขณะที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาตตามปกติ จึงแอบไปทุบภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้วเผาบรรณศาลาจนเหลือแต่ซาก เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับมา เห็นบรรณศาลาถูกไฟไหม้ท่านก็ไม่ได้ติดใจอะไรจึงหลีกไป
ในเวลาเย็น มหาชนถือของหอมและระเบียบดอกไม้มาเพื่อนมัสการท่าน เมื่อเห็นบรรณศาลาถูกไฟไหม้จึงสอบถามต้นเหตุที่ศาลาถูกไฟไหม้ ครั้นทราบว่า หนุ่มชาวนาเป็นคนเผา ชาวบ้านจึงรุมประชาทัณฑ์ชาวนาคนนั้นจนถึงแก่ความตาย หนุ่มชาวนาได้ไปเกิดในอเวจีมหานรกเสวยทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลายาวนาน จนแผ่นดินหนาขึ้นหนึ่งโยชน์จึงมาเกิดเป็นอหิเปรต คือเป็นเปรตงูเหลือมยักษ์ซึ่งยังถูกไฟไหม้เผาผลาญอยู่ตลอดเวลาเพราะกรรมที่เผาบรรณศาลานั้นเอง
พระบรมศาสดาครั้นตรัสบุพกรรมของอหิเปรตนั้นแล้ว จึงตรัสเล่าบุพกรรมของเปรตกาว่า เปรตตนนี้ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้เกิดเป็นกาดำ เนื่องจากว่าสมัยนั้นพระภิกษุสงฆ์ได้รับกิจนิมนต์เข้าไปฉันในหมู่บ้าน ในขณะที่เจ้าภาพกำลังฟังธรรมจากภิกษุพระสงฆ์อยู่นั้น เจ้ากาตัวนี้ก็ได้เกาะอยู่บนหลังคาบ้านแล้วแอบจ้องมองภัตตาหารหวานคาวที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ถวายพระ
ขณะที่เจ้าภาพกำลังน้อมนำอาหารเข้าไปถวายพระนั้น เจ้ากาดำเมื่อได้โอกาสโฉบลงมาคาบเอาคำข้าว ๓ คำเต็มปากจากบาตรที่เจ้าภาพท่านหนึ่งกำลังถือเอาไว้ กรรมที่แย่งอาหารจากของที่เขาจะนำไปถวายสงฆ์ในครั้งนั้น ทำให้ไปเกิดเป็นเปรตกาดำตัวใหญ่บนภูเขาคิชฌกูฏ เสวยความทุกข์ทรมานนานถึงหนึ่งพุทธันดร
ครั้นทรงนำเรื่องบุพกรรมของเปรตทั้งสองที่พระมหาโมคคัลลานเถระได้เห็นมาตรัสเล่าให้พระภิกษุสงฆ์ฟังแล้ว จึงตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าบาปกรรมนั้น เป็นเช่นกับน้ำนม น้ำนมที่บุคคลกำลังรีดอยู่ ยังไม่ทันเปลี่ยนแปรไปฉันใด กรรมที่บุคคลกำลังกระทำ ก็ยังไม่ทันให้ผลฉันนั้น แต่ในกาลใด กรรมส่งผล ในกาลนั้น ผู้กระทำบาปย่อมประกอบด้วยความทุกข์ทรมาน ที่ไม่มีใครสามารถจะต้านทานได้”
เพราะฉะนั้น อย่าได้หลงไปทำบาปอกุศลเข้า สิ่งที่ร้ายที่สุดที่จะทำให้เราต้องเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ ก็คือบาปกรรมที่เราได้ทำไปเพราะกิเลสในตัวของเรามันบังคับ เมื่อทำแล้วก็มีวิบากเป็นผล ฉะนั้นให้ทุกท่านมีความอดทน อดกลั้น และข่มใจ ข่มกิเลสเอาไว้ เอาชนะใจตนเองให้ได้ ถ้าชนะตรงนี้ได้ เราจะเป็นอิสระ มีความสุขทุกทิวาราตรี วิธีการง่าย ๆ ที่หลวงพ่อเคยสอนคือ ให้ทำใจให้หยุดนิ่งให้ได้ตลอดเวลา ฝึกหยุดฝึกนิ่งเรื่อยไป จนกว่าจะได้พบที่พึ่งภายในคือพระรัตนตรัยกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๓๙๓ – ๔๐๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๔๑ หน้า ๒๓๒
โฆษณา