28 พ.ย. 2022 เวลา 02:47 • กีฬา
#explainer ทำไมยังมีการ "จอดำ" เกิดขึ้นในการถ่ายฟุตบอลโลก แม้จะมีกฎ Must Carry แล้วก็ตาม และทำไมกลุ่มทรู ถึงมีอำนาจในการถือลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวทั้งๆ ที่ช่วยจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์แค่ 25% เท่านั้น สำนักข่าว TODAY จะอธิบายทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 18 ข้อ
1
1) ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ในตอนแรกถูกตั้งราคาสูงถึง 1,600 ล้านบาท แต่ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไปต่อรองกับทุกฝ่ายแล้ว สามารถซื้อจากฟีฟ่าได้ในราคา 1,180 ล้านบาทเท่านั้น
1
2) ด้วยความที่เป็นเงินก้อนใหญ่ อีกทั้งมีกฎ Must Have (บังคับให้ฟุตบอลโลก ต้องถูกฉายทางฟรีทีวีเท่านั้น) ทำให้พวกกลุ่ม Pay TV อย่างทรูวิชันส์ และ AIS Play ไม่ยอมซื้อลิขสิทธิ์ เพราะซื้อมาก็ต้องโดนบังคับให้ฉายลงฟรีทีวีอยู่ดี ไม่สามารถเก็บเงินลูกค้าได้แบบ Exclusive
เมื่อไม่มีใครซื้อสักที จนบอลจะเตะอยู่แล้ว ทางกกท. ต้องไปขอเงินจาก กสทช. ให้เข้ามาช่วยเหลือ โดยกสทช. อนุมัติงบมา 600 ล้านบาท ทำให้ กกท. ต้องหาเงินอีก 580 ล้านบาทที่เหลือให้ทันก่อนถึงเดดไลน์ วันที่ 20 พฤศจิกายนที่ฟุตบอลโลกเริ่มแข่งวันแรก
3
3) กกท. พยายามติดต่อไปที่หลายองค์กรเอกชน แต่มีเพียง 3 องค์กรที่พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือในการร่วมซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ประกอบด้วย ไทยเบฟ, ปตท. และ กลุ่มทรู โดยบริษัทที่จ่ายเงินมากที่สุด คือกลุ่มทรู เป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท ซึ่งเมื่อได้เงินสนับสนุนจากเอกชน ทำให้กกท. รวมเงินได้ครบ สามารถเอาไปซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกได้ทันเวลา
2
4) แต่สำหรับเงิน 300 ล้านบาท ที่ทรูจ่ายเงินช่วยเหลือกกท. ไม่ได้ให้แบบกินเปล่า แต่เป็นเงินก้อนที่แลกกับ การขอสิทธิ์ TV Rights และ IPTV Rights ในประเทศไทย
1
5) สิทธิ์ TV Rights คือ ทรูสามารถนำฟุตบอลโลกมาลงช่องฟรีทีวี ทางช่อง True 4U ได้ ส่วนหนึ่ง และมีสิทธิ์ได้เลือกคู่ก่อนสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ รวมถึงสามารถฉายฟุตบอลโลกทั้ง 64 นัด ผ่านทางทรูวิชันส์ ได้ครบทุกคู่
6) ส่วนสิทธิ์ IPTV Rights อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ การดูผ่าน "กล่อง" ที่ดูคอนเทนต์ผ่านอินเตอร์เนต จะสามารถทำได้เฉพาะ กล่องของทรูเท่านั้น นั่นคือ TrueID TV แต่กล่องของค่ายอื่นๆ เช่น AIS Playbox, 3BB Giga TV และ NT IPTV ไม่สามารถดูได้
1
แปลว่า วิธีแก้ปัญหาของคนที่ใช้กล่องเหล่านี้ก็ต้องไปหาซื้อหนวดกุ้งเพื่อมาจูนสัญญาณรับจากทีวีดิจิทัลปกติเอาเอง
1
7) ดราม่าเรื่องแรกของทรู คือในฟุตบอลโลก 64 นัด ทางทรูขอสิทธิ์ถ่ายทอดสดผ่านทาง True 4U มากถึง 32 นัด (50% ของจำนวนคู่ทั้งหมด) แถมยังได้สิทธิ์เลือกนัด ก่อนช่องอื่นอีกต่างหาก
4
8 ) ทำให้สมาคมทีวีดิจิทัล ที่เป็นการรวมตัวของช่องอื่น แสดงความไม่พอใจ เพราะมองว่า ทรูจ่ายเงิน 300 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 25% เท่านั้น ของเงินทั้งก้อนที่กกท. จ่ายให้ฟีฟ่า ดังนั้นก็ควรมีสิทธิ์ได้ถ่ายทอดสดแค่ 25% (16 นัด) ไม่ใช่ 50% (32 นัด) อย่างที่ขอมา
7
9) ฝั่งผู้สนับสนุนทรู ก็โต้แย้งว่า ในเมื่อทรูเป็นคนสนับสนุน 300 ล้านบาท แต่ทีวีช่องอื่นไม่ช่วยจ่ายแต่แรก ได้แต่รอเงินรวมจากกสทช. ดังนั้นทรูก็ควรมีสิทธิ์ที่จะได้ความ Exclusive ในการถ่ายทอดครั้งนี้ ซึ่งทางสมาคมทีวีดิจิทัลก็ตอบโต้ว่า ได้สิทธิ์พิเศษน่ะใช่ แต่ 50% ขนาดนี้มันก็เกินไป
5
10) นั่นทำให้สมาคมทีวีดิจิทัล ไปแจ้งกสทช. ให้พิจารณา และสุดท้ายหลังการหารือร่วมกัน ทางทรูก็ยอม ให้สมาคมทีวีดิจิทัลถ่ายทอดสด 16 คู่ ขนานกันไปได้ โดยแบ่งเป็นรอบแรก 14 นัด, รอบชิงที่สาม 1 นัด และ รอบชิงชนะเลิศ 1 นัด ตัวอย่างเช่น ในรอบชิง ผู้ชมสามารถดูได้ทาง True 4U หรือ ช่อง 7HD ก็ได้
3
11) ดราม่าเรื่องแรกเคลียร์ไป มาสู่ดราม่าที่สองนั่นคือ ประเด็นสิทธิ์ IPTV Rights ตามจริงด้วยกฎของกสทช. ที่เคยออกไว้ในปี 2012 ที่ชื่อ "Must Carry" ระบุว่า รายการที่ถูกฉายในฟรีทีวี ต้องดูได้ทุกช่องทาง จะเป็นกล่องอะไรก็แล้วแต่ จะไม่มีการจอดำเด็ดขาด คุณจะใช้กล่องหรือดาวเทียม อะไรก็ตาม แต่ทีวีดิจิทัลพื้นฐาน 20 ช่อง ต้องดูได้ทั้งหมด
12) อย่างไรก็ตาม ทรู ไม่ยอม เพราะตัวเองเป็นคนจ่ายเงินส่วนหนึ่งซื้อลิขสิทธิ์มา จึงบล็อกกล่อง IPTV อื่นๆ จนเป็น "จอดำ" ดูบอลโลกไมได้ ซึ่งเรื่องนี้ ขัดกับกฎ Must Carry ที่กสทช. เคยวางเอาไว้
5
13) นั่นทำให้ วันที่ 23 พฤศจิกายน AIS และ 3BB ไปแจ้งกสทช. ว่าทรูทำแบบนี้ไม่ได้ โดยทางกสทช. ก็รับลูก แล้วได้ส่งเอกสารแจ้งทรูว่า คุณต้องปฏิบัติตามกฎ Must Carry สิ จะมาทำให้คนอื่นจอดำแบบนี้ไม่ได้
14) ทรูไม่ยอมอีก พวกเขาได้ยื่นฟ้องไปที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ออกคำสั่งไม่ให้ AIS Playbox รวมถึงกล่อง IPTV อื่นๆ ที่ไม่ใช่ของทรู ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของกลุ่มทรู ที่เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
15) ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมาใช้ คือคุ้มครองทรูซึ่งเป็นผู้เสียหายไว้ก่อน แล้วค่อยตัดสินคดีกันทีหลัง นี่เป็นการวินิจฉัยที่เป็นคุณกับฝั่งทรู เพราะกว่าศาลจะตัดสินอะไรกันเสร็จ ฟุตบอลโลกก็จบไปแล้ว ถือว่าเข้าทางฝั่งทรูทุกอย่าง
2
สถานการณ์ตอนนี้ จอทีวีของกล่อง IPTV เจ้าต่างๆ ก็กลับมาดำอีกครั้ง เท่ากับว่า กฎ Must Carry ไม่สามารถใช้การได้จริงตามทฤษฎี เพราะกฎหมายจากศาลทรัพย์สินทางปัญญามีพลังมากกว่า
1
16) สำหรับการขอให้ศาลช่วยให้คู่แข่งจอดำของฝั่งทรู แบ่งความเห็นของประชาชนออกเป็นสองฝ่าย
1
ฝ่ายแรกนั้นตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะทรูออกเงินช่วยซื้อลิขสิทธิ์แค่ 25% แต่ทำไมได้อำนาจมากมายขนาดนี้ ได้เข้าถึงสิทธิ์ทั้งหมดทุกอย่าง (เคเบิล ดาวเทียม IPTV การดูบนมือถือ ดูบนอินเตอร์เน็ต) แถมได้เลือกคู่ทางฟรีทีวีก่อนใครอีกต่างหาก
ในเอกสารของฟีฟ่าระบุว่า องค์กรที่ฟีฟ่าขายสิทธิ์ Broadcasting ให้ คือการกีฬาแห่งประเทศไทย แล้วทำไมทรูถึงอ้างได้ว่า ตัวเองเป็น "ผู้ได้รับสิทธิ์ในการเผยแพร่การแข่งขันแต่เพียงผู้เดียว" กกท. ไปตกลงกับทรูกันอย่างไร ทำไมปล่อยให้คนจ่ายเงิน 25% ควบคุมทุกอย่างแบบนี้ มีความโปร่งใสกันจริงหรือไม่
7
นอกจากนั้นยังวิจารณ์กฎ Must Carry ว่าสุดท้ายจะมีไว้ทำไม ในเมื่อไม่สามารถใช้การจริงได้ ถ้าหากทรูจะได้สิทธิ์ขนาดนั้น กสทช. ที่เป็นองค์กรรัฐ ก็ไม่ควรควักกระเป๋าแต่แรก ถ้าทรูจ่ายเองคนเดียว แล้วจะถือสิทธิ์คนเดียว แบบนั้นก็ว่าไปอย่าง
3
อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ย้อนกลับไปในปี 2012 ตอนที่ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ได้ลิขสิทธิ์ยูโร แล้วบล็อกสัญญาณ ไม่ให้ลูกค้าดูผ่านทางกล่องทรูวิชั่นส์ได้นั้น ทรูได้ออกมาแถลงการว่า "ทรูวิชันส์มีความรู้สึกผิดหวังต่อการจำกัดสิทธิ์ของฟรีทีวีในครั้งนี้ เพราะตลอดมา ไม่เคยมีการจำกัดสิทธิ์สาธารณชน ในการเผยแพร่ในกรณีช่องฟรีทีวีมาก่อน"
8
เมื่อในปี 2012 ทรูออกมาต่อต้าน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่บล็อกสัญญาณของทรู คำถามคือแล้วทำไมวันนี้เมื่อผ่านไป 10 ปี ตอนที่ตัวเองถือลิขสิทธิ์ในมือบ้าง กลับบล็อกสัญญาณของค่ายอื่น ต่างจากที่เคยแสดงจุดยืนเอาไว้ตอนที่ตัวเองไม่ได้ถือลิขสิทธิ์
5
17) แต่อีกฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนทรู จะยกเคสโอลิมปิก 2020 มาอ้าง โดยในคราวนั้น AIS Play ซื้อลิขสิทธิ์โอลิมปิกเอาไว้ก็จริง แต่กสทช. ก็เอางบรัฐ 240 ล้านบาท มาช่วยจ่ายให้เหมือนกัน ตอนโอลิมปิกที่โตเกียว แอพ TrueID ก็จอดำดูไม่ได้ ดังนั้นเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน คราวนี้ AIS Playbox ก็ต้องจอดำบ้าง
6
[ Note : ทาง AIS ชี้แจงกับ workpointTODAY ว่า ในโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะจานอะไร กล่องแบบไหน ถ้ากสทช.รองรับ ด้วยกฎ Must Carry แล้ว ทาง AIS จะปล่อยให้ดูฟรีทุกช่องทาง แต่กรณีของแอพ TrueID ไม่ได้ถูกรับรองโดยกสทช. ณ ตอนนั้น จึงต้องจอดำ เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎ Must Carry ด้วย ]
1
ฝ่ายสนับสนุน True บอกว่าการจอดำ เอาจริงๆ ก็เกิดขึ้นเฉพาะ IPTV เท่านั้น ไม่ได้มีการปิดกั้นการดูแบบพื้นฐาน นั่นคือเสาอากาศแบบก้างปลาก็ยังดูได้ คือเอาจริงๆ ประชาชน ถ้าพยายามหน่อยก็ยังพอหาวิธีดูได้
1
นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องธุรกิจก็สำคัญเช่นกัน เพราะฝั่งทรู เป็นคนจ่ายเงิน 300 ล้านบาท แม้จะเป็นแค่ 25% แต่ก็ถือว่ายังช่วยออก ถ้าทรูไม่ยอมจ่าย การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกก็คงไม่มีแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ ถ้าช่องอื่นไม่พอใจ ทำไมตอนที่กกท. ต้องการเงินสนับสนุนถึงไม่มาช่วยแต่แรกล่ะ ถ้าคุณจ่าย คุณก็อาจได้สิทธิพิเศษแบบที่ทรูได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อทรูจ่ายเงินไปแล้ว คู่แข่งโดยตรงอย่าง AIS จะมานอนกินง่ายๆ ตามกฎ Must Carry ทรูคงยอมไม่ได้
2
18) บทสรุปของเรื่องนี้ ด้วยคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แปลว่า คู่แข่งของทรู ก็จะจอดำไปจนจบทัวร์นาเมนต์ ประชาชนก็ต้องไปแก้ปัญหากันเอาเองถ้าอยากดูฟุตบอล จะซื้อกล่อง TrueID TV หรือ ซื้อเสาก้างปลาก็ว่ากันไป
ขณะที่กกท. ก็ถูกเรียกร้องความบริสุทธิ์ใจด้วยการเปิดเผยสัญญาที่มีกับทรู ว่าทำไมคนจ่ายเงิน 25% มีพาวเวอร์มากขนาดนี้ ตอนที่ระดมทุนแรกสุดได้แจ้งเอกชนรายอื่นหรือไม่ ว่าถ้าจ่ายเงิน 25% แล้วจะได้ถือสิทธิ์ทุกอย่างที่มี
4
ส่วนกสทช. ก็ต้องตอบคำถามสังคมด้วยว่า จะมีกฎ Must Carry ทำไม ในเมื่อสุดท้ายแล้วไม่สามารถใช้การได้จริง และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงฟรีทีวีได้โดยอิสระอยู่ดี
6
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา