28 พ.ย. 2022 เวลา 10:19 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ‘Starlink’ อินเทอร์เน็ตดาวเทียม ที่กำลังจะเปลี่ยนโลก?
ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน หลายคนอาจรู้จักหรือได้ยิน ‘Starlink’ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมของ SpaceX ที่ใช้ในยูเครน เพื่อช่วยให้รัฐบาลและกองทัพยูเครน สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตอนนี้ Starlink ถูกนำไปใช้จริงในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยาก ซึ่งเคยมีการวิเคราะห์ด้วยว่า Starlink สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วย TODAY Bizview จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก Starlink ให้มากขึ้นในบทความนี้
[ Starlink อินเทอร์เน็ตดาวเทียมของอีลอน มัสก์ ]
Starlink เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 โดยบริษัท SpaceX ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ไม่ว่าจะอยู่ในป่าลึก บนภูเขา เกาะร้างห่างไกล หรือแม้กระทั่งพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณมือถือ
ความเร็วในการดาวน์โหลดของ Starlink อยู่ที่ 50-250 Mbps หรือเทียบเท่ากับอินเทอร์เน็ตบ้าน ส่วนความเร็วในการอัพโหลดอยู่ที่ 10-20 Mbps และ latency หรือความหน่วงอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 20-60ms
โดยค่าบริการรายเดือนของ Starlink จะเริ่มต้นที่ 99 ดอลลาร์ ไปจนถึง 130 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือระหว่าง 3,500-4,700 บาท ส่วนค่าอุปกรณ์จานดาวเทียมเริ่มต้นที่ 599 ดอลลาร์ หรือประมาณ 21,500 บาท และถ้าใช้บริการโรมมิ่งจะเพิ่มอีก 25 ดอลลาร์ หรือเกือบ 900 บาท
ส่วนบริการ Starlink Business จะเพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลด อยู่ที่ 150-500 Mbps ใกล้เคียงเน็ตสายไฟเบอร์ออปติก โดยขนาดจานดาวเทียมที่ใช้จะใหญ่ขึ้น ส่วนค่าบริการก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ไปอยู่ที่ 500 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือประมาณ 18,000 บาท และค่าอุปกรณ์จานดาวเทียมที่สูงถึง 2,500 ดอลลาร์ หรือ 89,500 บาท
ที่ผ่านมา ต้นทุนของการส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนอาจหันไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีอื่น เพราะการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม มีต้นทุนที่สูงกว่ามาก
แต่ในปัจจุบัน ต้นทุนในการปล่อยดาวเทียมขึ้นโคจรรอบโลก ลดลงกว่าแต่ก่อน ทำให้ Starlink ถูกพัฒนาต่อเนื่องและนำมาใช้จริง โดยในปัจจุบัน Starlink มีเครือข่ายดาวเทียมกว่า 3,000 ดวงทั่วโลก และยังตั้งเป้าภายในปี 2024 ปล่อยดาวเทียมเพิ่มให้ได้เกือบ 4,500 ดวงด้วย
อย่างไรก็ตาม Starlink มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าได้ไปบดบังการสังเกตุการณ์ท้องฟ้าของกลุ่มนักดาราศาสตร์อยู่หลายครั้ง ซึ่งการที่ Starlink จะมีดาวเทียมเพิ่มขึ้น อาจทำให้ SpaceX ต้องหาทางจัดการเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต
[ บทบาทของ Starlink ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ]
ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน หน่วยงานภาครัฐทั่วโลกได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือยูเครนในด้านต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา NATO และพันธมิตรยุโรป รวมมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานเอกชนที่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือยูเครนเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ SpaceX
สาเหตุที่ SpaceX ได้ยื่นมือเข้าไปช่วยยูเครน เกิดจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตในยูเครนถูกตัดขาด ไม่สามารถใช้งานได้ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทำให้ มิไคโล เฟโดรอฟ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีด้านดิจิทัลของยูเครน ขอความช่วยเหลือจากอีลอน มัสก์ ผ่านทวิตเตอร์ เพื่อให้ช่วยจัดหาสถานี Starlink ให้กับยูเครน
ทางด้านอีลอน ได้ตกลงเปิดบริการ Starlink ในยูเครน และจัดส่งอุปกรณ์รับสัญญาณส่งไปให้ในเวลาต่อมา จนได้รับคำชื่นชมไปทั่วโลก ทำให้ยูเครน ได้ใช้อินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงตอนนี้
การเข้ามาของ Starlink เป็นตัวช่วยที่ดีมากสำหรับยูเครน ทางรัฐบาลและกองทัพสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงประชาชนในยูเครนก็สามารถใช้ Starlink เพื่อติดต่อกับครอบครัว เพื่อนทั้งในและนอกประเทศ
ถึงแม้ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่า อีลอน มัสก์ จะระงับการให้บริการ Starlink ในยูเครน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตให้ด้วย เพราะ SpaceX ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 80 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.86 พันล้านบาท และหาก Starlink ยังเปิดให้บริการอีกต่อไป SpaceX จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 20 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน หรือสูงถึง 715 ล้านบาท
แต่หลังจากนั้นไม่นาน อีลอนได้กลับลำ ประกาศในทวิตเตอร์ส่วนตัว เปลี่ยนใจพร้อมช่วยเหลือยูเครนด้วยดาวเทียม Starlink อีกครั้ง ถึงแม้บริษัทจะเสียเงินอีกจำนวนมหาศาล แต่เขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนระบบอินเทอร์เน็ตให้กับยูเครน
อย่างไรก็ตาม โอเลกซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของยูเครน บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ยูเครนจะขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรต่างประเทศในการระดมทุน Starlink หาก SpaceX จะเรียกร้องการชำระเงินในอนาคต
นอกจากนี้ พฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ของอีลอน มัสก์ ยังทำให้รัฐบาลยูเครนมองหาทางเลือกอื่น เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงครั้งใหญ่ของทวิตเตอร์ ที่ทำให้รัฐบาลยูเครนกังวลว่า แพลตฟอร์มทวิตเตอร์จะกลายเป็นสื่อหลักในการบิดเบือนสื่อในอนาคตด้วย
[ แผนขยายพื้นที่ของ Starlink ]
ปัจจุบัน Starlink ไม่ได้ถูกใช้แค่ในสงครามเท่านั้น แต่ Starlink ยังเปิดให้บริการในพื้นที่ห่างไกลกว่า 36 ประเทศทั่วโลก และในอนาคต SpaceX ตั้งเป้าปล่อยดาวเทียม Starlink ให้มากถึง 42,000 ดวง โดยจะทยอยปล่อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สัญญาณครอบคลุมทั่วโลก และเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างในเอเชีย Starlink ได้เปิดให้บริการประเดิมที่แรกในประเทศญี่ปุ่นแล้ว เนื่องจากญี่ปุ่นมีภูมิประเทศ ทั้งภูเขาและเกาะ พื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ Starlink จึงเปิดใช้งานในพื้นที่เหล่านี้ก่อน
โดยค่าบริการรายเดือนของ Starlink ในญี่ปุ่น อยู่ที่ 12,300 เยน หรือประมาณ 3,200 บาท ซึ่งผู้ใช้งานทั่วไปจะต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ Starlink Kit อีก 73,000 เยน หรือเกือบ 19,000 บาท
ส่วนประเทศต่อไปที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในเอเซีย ก็คือประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยหน่วยงานด้านโทรคมนาคมของฟิลิปปินส์ได้อนุญาตให้ SpaceX เข้ามาทำธุรกิจแล้ว เปิดบริการในพื้นที่หมู่เกาะ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมต่อสื่อสารกันได้ แก้ปัญหาระบบโทรคมนาคมของฟิลิปปินส์ที่ค่อนข้างล้าหลัง
นอกจากนี้ มีข่าวยืนยันว่าปีหน้า SpaceX จะเปิดให้บริการ Starlink บนเครื่องบินพาณิชย์ด้วย หลังจากที่ได้ทดลองและตกลงดีลกันอยู่ช่วงหนึ่ง โดยสายการบินเอกชนสามารถซื้อเสารับสัญญาณอินเทอร์เน็ต Starlink ผ่านเว็บไซต์ของ Starlink ได้ ซึ่งจะคิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายเดือน ส่วนความเร็วอินเทอร์เน็ตอาจสูงสุดที่ 350 Mbps ในขณะที่เครืองบินกำลังบินอยู่
ส่วนประเทศไทยเอง จากเว็บไซต์ของ SpaceX พบว่า ไทยก็จัดว่าอยู่ในกลุ่ม Coming Soon ประเทศที่กำลังรออนุมัติทางกฏหมาย เหมือนกับประเทศปากีสถาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ที่คาดว่าหากผ่านการอนุมัติก็คงจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้
[ Starlink จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่? ]
Starlink อาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ไร้สัญญาณมือถือ และมีข้อจำกัดเรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยข้อมูลจาก UN พบว่า ผู้คนกว่า 1 ใน 3 ของโลกยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
ซึ่งความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ กระทบถึงความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลด้านการศึกษา สุขภาพ การสื่อสาร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีประโยชน์อำนวยความสะดวก เป็นความตั้งใจของอีลอน มัสก์ ที่ต้องการให้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
แล้วถามว่า ถ้า Starlink มาเปิดให้บริการ ในไทยจะคุ้มค่าหรือไม่? เพราะต้องยอมรับว่า ค่าบริการรายเดือนของ Starlink ถือว่าสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับอินเทอร์เน็ตแบบ Fiber Optic ที่ปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงมาก ทั้งความเสถียรและความเร็วสูงที่ 250-1,000 Mbps
นอกจากนี้ ไทยยังมีความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านที่เร็วติดอันดับต้นของโลกด้วย ซึ่งยังไม่รวมถึงเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ค่อนข้างมีคุณภาพ ซึ่งถ้าพิจารณาแค่ข้อมูลส่วนนี้ ก็ดูเหมือนว่า Starlink ยังไม่ใช่คำตอบสำหรับคนไทยในวันนี้
อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่ตามต่างจังหวัด หรือถิ่นธุรกันดารในประเทศไทย ยังมีสัญญาณมือถือขาดหาย หรือบางพื้นที่ถึงขั้นไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เลยทีเดียว จากข้อจำกัดในการเดินสาย และการวางโครงข่ายที่ยังล่าช้า ดังนั้น Starlink อาจเป็นความหวัง ที่จะทำให้คนสาารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ และในระยะยาว อาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ได้
ซึ่งหาก Starlink ได้ถูกนำมาใช้จริงในไทย คำถามคือ ใครจะซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายของ Starlink? รัฐบาลหรือหน่วยงานใดที่พอจะช่วยให้สิ่งนี้เป็นจริงได้บ้าง?
#TODAYBizview
#MakeTomorrowTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
โฆษณา