30 พ.ย. 2022 เวลา 10:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%
คาด ศก.ฟื้นตัวในระดับก่อนโควิดในสิ้นปีนี้
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 พ.ย.2565 มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 1.25% ต่อปี โดยมีผลทันที
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยในปี 2565 คาดจะขยายตัว 3.2% จากเดิมคาดอยู่ที่ 3.3% ปี 2566 จะขยายตัว 3.7% จากเดิมคาดอยู่ที่ 3.8% และปี 2567 จะขยายตัว 3.9% จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
คาดปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 10.5 ล้านคน จากเดิม 9.5 ล้านคน ปี 2566 อยู่ที่ 22 ล้านคน จากเดิม 21 ล้านคน และปี 2567 เพิ่มเป็น 31.5 ล้านคน ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น
“ปลายปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวระดับก่อนโควิดแล้ว โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเนื่องในปี 2566 และ 2567 แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวลดลง อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว”
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 3/2565 คาดปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ที่ 6.3% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน สำหรับปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.0% จากประมาณการครั้งก่อน อยู่ที่ 2.6% จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ จากนั้นคาดจะยังคงโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในไตรมาส 3/2566 จากเดิมคาดเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 2/2566 ขณะที่ปี 2567 คาดเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 2.1%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยจะทยอยลดลงอยู่ที่ 2.6% 2.5% และ 2.0% ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน
ด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ขณะเดียวกัน ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน โดยปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯจะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
“ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม
จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้าหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป”
โฆษณา