30 พ.ย. 2022 เวลา 10:55 • ปรัชญา
"ทำไมถึงทำตัวเหมือนเด็กที่ไม่โต?" หลายคนคงเคยได้ยินอะไรแบบนี้มาบ้าง เคยสงสัยกันมั้ยว่าการ"เป็นผู้ใหญ่" หรือ การ"เติบโต" นี่เป็นยังไง? ถ้าแค่ตัวใหญ่ขึ้นเฉยๆ หรือ เลขอายุวิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนี่ เราเรียกว่าโตได้มั้ย?
หลายๆคนคงจะตอบว่า "ไม่" อย่างแน่นอน เพราะบ่อยครั้งที่เราก็เห็นผู้ใหญ่หลายคนทำตัวเป็นปัญหาสังคม ไม่น่าศรัทธา ทุจริตคดโกง จนเรารู้สึกว่า นี่คือผู้ใหญ่ "ที่โตแล้ว" จริงๆหรือ? ถ้าอย่างนั้น ทุกคนจะบอกว่า คนๆหนึ่งเป็นคนที่โตจริงๆ อย่างไร?
วันนี้ผมอยากให้ทุกคนมาร่วมค้นหาคำตอบร่วมกันซักเล็กน้อย ผ่านแง่มุมของปรัชญา ว่าอะไรคือ "การเติบโตที่แท้จริง" และมันมีอยู่จริงมั้ย? (อาจจะยาวซักนิด แต่อยากให้ลองมาคิดกันดูครับ)
ก่อนยุค1700 ดูจะไม่มีนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับ "การเติบโต" เอาซะเลย เด็กถูกวาดภาพออกมาเหมือนผู้ใหญ่ตัวเล็กคนนึง และบ่อยครั้งที่ต้องทำงานหนักตั้งแต่เด็ก รายละเอียดแนวคิดเรื่องการเติบโตแต่ละที่ แต่ละยุคก็ไม่เหมือนกัน บางที่บอกเลี้ยงเด็กปล่อยๆทิ้งๆขว้างๆดีด้วยซ้ำ ให้เด็กดูแลกันเอง พ่อแม่ไปทำงาน โตขึ้นจะได้เข้าใจชีวิต โชคดีอย่างมากที่ในยุคก่อนที่จะมีนักจิตวิทยานั้น เริ่มมีนักปรัชญาฝรั่งเศสอย่าง Jean-Jacques Rousseau ครุ่นคิดว่า การเลี้ยงดูเด็กที่ดีควรเป็นอย่างไร
ฌอง-ฌากส์ รุสโซ
รุสโซเสนอทัศนะว่า การโตเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริง คือ การมีเสรีอย่างแท้จริง ปรัชญาและการรู้แจ้งเชื่อมโยงกับการเติบโตถูกต้องและเหมาะสม ผู้ใหญ่ต้องไม่คิดแทนเด็ก ให้เขาใช้เหตุผลในสมอง เด็กไม่ใช่ภาพจำลองของผู้ใหญ่ แต่มีสิทธิเต็มที่ในตัวเอง การเติบโตที่ดีจะต้องไม่เป็นทาสวัฒนธรรมที่พรากศักดิ์ศรีในตัวเอง ที่กดทับเรา ผูกมัดเรา จนละเลยมุมมองทางศีลธรรม
เราต้องให้เด็กเรียนรู้ถึงสิ่งที่จุดประกายความสนใจโดยธรรมชาติ ไม่ใช่จากบทเรียนแบบกลไกที่ถูกบังคับว่า ถ้าไม่อ่านจะโดนลงโทษ หรือ ทำไปเพื่ออวดคนอื่น และการศึกษาต้องไม่ป่าเถื่อน ที่ยอมบูชายัญปัจจุบันให้กับอนาคตที่ไม่แน่นอน โยนภาระให้เด็กสิ้นหวัง เติมความขมขื่นเจ็บปวดให้กับวัยเด็กที่ผ่านไปเร็วและไม่หวนคืน
การเติบโตที่แท้จริง คือ เสรีภาพที่แท้ และ เสรีภาพที่แท้ คือ การควบคุมชีวิต เรียนรู้ที่จะวางแผน ให้สัญญา ตัดสินใจ รับผิดชอบต่อผลการกระทำของเราเอง เราจะต้องก้มหัวให้กับสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่ทำตามสั่งไปวันๆ
คำพูดของรุสโซคงฟังดูน่าเลื่อมใสไม่น้อย แต่ในชีวิตจริงเขามักถูกโจมตีเรื่องการศึกษาที่รุสโซเสนอใน"อีมิล" ดูจะทำได้ยากเกินไป เพราะต้องมีอาจารย์ที่ฉลาดล้ำเลิศกว่าใครๆปรับเงื่อนไขการเรียนรู้ของเด็กๆอย่างต่อเนื่อง และมุมมองของรุสโซที่มีต่อเด็กผู้หญิงก็ดูป่วยอย่างมาก ที่ให้เด็กผู้หญิงยอมจำนนต่อเด็กผู้ชาย (ไม่นับที่ทิ้งลูกตัวเองไว้ที่บ้านเด็กกำพร้าอีกต่างหาก)
"แต่" นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งที่รุสโซคิดจะไม่ดี ต้องขอบคุณทฤษฎีการศึกษาแบบให้เด็กเป็นศูนย์กลางของเขาอย่างยิ่ง ที่ไม่ปล่อยให้การศึกษาแบบเก่า ทำลายความคิดสร้างสรรค์ ฆ่าการเรียนรู้ ฆ่าความสงสัย เหลือแค่การนิ่งและยอมรับ ให้เด็กรู้แจ้ง ตื่นตัว มีชีวิตชีวา
หลังจากรุสโซไม่นาน Immanuel Kant หนึ่งในนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพล ได้รับอิทธิพลจากงานของรุสโซ เขากล่าวว่า "อำนาจ ความร่ำรวย ความสุข จะไม่มีคุณค่าอะไรเลย หากปราศจากศีลธรรม ความดีหนึ่งเดียวที่ทรงคุณในตัว คือ เจตนาที่ดี ต่อให้ไม่บรรลุสิ่งใดก็ยังเหลือเจตนาที่ดี รวมทุกสิ่งที่เรามีในอำนาจเรา สะท้อนประกายแสงดั่งอัญมณี"
อิมมานูเอล คานต์
"เราต้องครุ่นคิดถึงสิ่งที่เป็นและสิ่งที่พึงเป็นอย่างจริงจัง ถ้าอยากบรรลุความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่แค่ยอมตามๆไป แต่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง"
นอกจากนั้น คานต์ยังแสดงทัศนะว่า การเติบโต ไม่ใช่การยอมเลิกคิดฝันอย่างแน่นอน เราต้องไม่ยอมรับทุกสิ่งโดยไม่คิด และไม่ปฏิเสธทุกสิ่งโดยไม่คิด เหตุผลปลดปล่อย"ความไม่รู้จักโต"ในตัว หลายคนเลือกไม่มีวุฒิภาวะ เพราะขี้เกียจและหวาดกลัว ปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจแทนเราเพื่อความสบาย ในขณะที่ผู้มีอำนาจก็ไม่ยอมให้ประชาชนคิดเอง เพื่อหวังควบคุมให้ไร้ความขัดแย้ง แต่นั่นไม่ใช่สังคมของคนที่โตเป็นผู้ใหญ่ อนึ่ง การ"มีวิจารณญาณที่ดี" ว่าสิ่งใดควรเกรง สิ่งใดควรคาดหวัง ก็เป็นการแสดงถึง การเติบโตที่ชัดเจน
การเติบโตเป็นเรื่องของความกล้า มากกว่าความรู้ ความรู้ไม่สู้ความกล้าที่ใช้ดุลพินิจได้ ต้องมีดุลพินิจก่อนที่เชื่อตามคนอื่น-รัฐ แต่ไม่ใช่กล้าอย่างเดียว ต้องกล้าที่จะใช้ชีวิตกับรอยแตกในชีวิต ยอมรับว่าอุดมคติและเรื่องจริงจากประสบการณ์หลอมรวมเป็นเรา และเผชิญหน้ากับมันให้ดีที่สุด โดยรู้ว่าเราไม่สามารถทำสำเร็จได้ทั้งหมด แต่ไม่ยอมแพ้ให้ความงมงายและสิ้นหวัง มองเห็นว่าจริงๆอะไรมันเป็นอย่างไร ไม่ปฏิเสธโลก
ปัจจุบัน บางโรงเรียนถึงขนาดประยุกต์หลักปรัชญา 3 ข้อของคานต์ มาใช้เป็นปรัชญาโรงเรียนเลยทีเดียว
1. ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เด็กจะต้องได้รับอนุญาตให้เป็นอิสระในทุกเรื่อง (ยกเว้นเรื่องที่อาจทำให้ตนเองและผู้อื่นบาดเจ็บ)
2. ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่า เด็กจะบรรลุเป้าหมายก็ต่อเมื่อให้คนอื่นบรรลุเป้าหมายด้วยเช่นกัน
3. แต่ละคนต้องพิสูจน์ว่า ในการใช้เสรีภาพนั้น จะต้องมีความอดทนอดกลั้นอยู่ด้วย นั่นคือ การบ่มเพาะเพื่อวันหนึ่งจะได้เป็นอิสระ ซึ่งหมายความว่าไม่ต้องให้คนอื่นมาคอยดูแลอีกต่อไป
ถึงตรงนี้ทุกคนคงจะคิดว่าพูดแต่เรื่องโบราณจัง ไม่ทันสมัย งั้นตัดกลับมาที่ยุคปัจจุบันซักนิด
Susan Neiman
Susan Neiman ลูกศิษย์ของ John Rawls นักปรัชญาอเมริกัน ได้กล่าวในหนังสือ Why grow up? ว่า การเติบโตที่แท้จริง คือ ไม่หัวอ่อนเชื่อง่าย ปล่อยให้คนอื่นคิดให้ ตกอยู่ภายใต้การบอกให้เราจริงจัง หยุดฝัน ยอมรับสภาพที่เป็น ยอมรับโลกอย่างที่เป็น ตามภาพของความเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่จริง ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากความไม่รู้จักโต ก็ไม่อยากให้คนคิดวางแผนชัดเจน ดีกว่าที่เป็นอยู่ หรือเปลี่ยนแนวคิด เพื่อให้พวกตนได้รับประโยชน์ต่อไป
ลัทธิเสรีนิยมใหม่และลัทธิสุดโต่งทางศาสนาก็มีส่วนในโศกนาฏกรรมนี้บ่อยครั้ง; ถึงเวลาที่ผู้ที่โตต้องบริโภคอย่างชาญฉลาด แทนที่จะถูกวิถี-กระแสควบคุม จนรู้สึกเหมือนใครที่มีของเล่นมากที่สุดคือผู้ชนะ โตจริง ต้องปลุกตัวเองให้แข็งแกร่ง พร้อมเดินต่อไป และ จัดการอารมณ์ตัวเองได้
แนวคิดของคุณซูซานน่าสนใจไม่น้อย ถึงตรงนี้อาจจะยังมีคนสงสัยอีกว่า แล้วยุคเก่าๆไม่มีคุยเรื่องเติบโตเลยเหรอ ก็พอมีโสเครตีสสนทนากับโซโฟคลิสในRepublicของPlato ที่คุยถึง การเติบโต คือ การตระหนักว่า"ไม่มีช่วงเวลาไหนในชีวิตที่ที่ดีที่สุด รู้จักถนอมรักษาทุกวินาทีแห่งความสุขที่อยู่ใกล้ตัว โดยรู้ว่ามันจะผ่านไป"
โสกราตีส
แล้วทุกคน คิดว่าการเติบโตที่แท้จริง เป็นอย่างไร?
ผมขอจบด้วยประโยคเด็ดของคานต์ครับว่า
"ลองคิดด้วยตัวเองดู"
#คิดเห็นยังไงแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
โฆษณา