1 ธ.ค. 2022 เวลา 06:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อีกหนึ่งความสำเร็จของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กับการแยกแอป Messenger ออกจาก Facebook
1
ถ้าจะให้พูดชื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ประสบความสำเร็จ
จนมียอดผู้ใช้งานทะลุ 1,000 ล้านคนในปัจจุบัน มาสัก 3-4 ชื่อ
2
หลายคนคงจะนึกถึงแพลตฟอร์มอย่าง
- Facebook ที่มียอดผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกที่ 2,958 ล้านคน
- Instagram ที่มียอดการเข้าถึงโฆษณาไปแล้ว 1,400 ล้านคนในปีนี้
- TikTok แพลตฟอร์มมาแรงประจำปี ที่เพิ่งมียอดผู้ใช้งานทะลุ 1,000 ล้านคนในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มันมีอยู่อีกแพลตฟอร์มหนึ่ง.. ที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าเป็นแอปที่ประสบความสำเร็จ
จนมีผู้ใช้งานทะลุ 1,000 ล้านคนเช่นกัน
นั่นก็คือ “Messenger” หนึ่งในแอปที่โดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก ตอนที่แยกออกมาจาก Facebook ว่ามันรวมกันก็ดีอยู่แล้ว..
แต่หลังจากโดนวิจารณ์อย่างหนักในวันนั้น Messenger กลับกลายเป็นแอปที่โตวันโตคืน
1
โดยปัจจุบัน Messenger มียอดผู้ใช้งานทั่วโลกทะลุ 1,000 ล้านคน
คิดเป็นสัดส่วน 12.5% ของจำนวนประชากรโลก
และเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีคนใช้งานเยอะที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก
3
ส่วนประเทศไทยของเรา Messenger ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 3
คิดเป็นสัดส่วนการเข้าถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ 84.7% เป็นรองแค่ Facebook และ LINE เท่านั้น..
แล้วตอนนั้นมาร์กมองเห็นอะไร ทำไมต้องทำแอป Messenger แยกออกมาจาก Facebook ทั้ง ๆ ที่มีแต่เสียงต่อต้าน ?
ในบทความนี้ TechBite จะพาทุกคนไปย้อนรอยความเป็นมาของแอปที่หลายคนมองว่า “วุ่นวาย”
แต่ก็มีติดโทรศัพท์มือถือกันแทบทุกเครื่อง มาสรุปให้อ่านกัน..
เริ่มจากคำถามที่ว่า “ทำไมต้องแยก”
 
ตอนนั้นมาร์กบอกว่า Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมาซึ่งโฟกัสไปที่การให้ผู้คน
เพลิดเพลินไปกับฟีดข่าว และอัปเดตข้อมูลข่าวสารของเพื่อนและครอบครัวเท่านั้น
1
แต่ตอนนั้นมันมีสถิติที่น่าสนใจคือ ยอดการส่งข้อความของ Facebook เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทะลุวันละ 10,000 ล้านข้อความต่อวัน
แถมยังพบอีกว่า จริง ๆ แล้วยอดคนที่เข้าถึงโทรศัพท์มือถือทั่วโลก มีแนวโน้มใช้โซเชียลมีเดียที่ 85% ซึ่งก็ถือว่าเยอะมากแล้ว
1
แต่คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อ “ส่งข้อความ” นั้น กลับมีมากกว่าที่ 95%..
2
ซึ่งตอนนั้นแพลตฟอร์มที่เน้นไปที่การส่งข้อความอื่น ๆ อย่าง
WhatsApp หรือ iMessage (ของ Apple) ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะแค่เปิดแอป ก็สามารถส่งข้อความได้เลย ไม่ต้องมีขั้นตอนเยอะ
2
ผิดกับการส่งข้อความผ่านฟีเชอร์ Message บน Facebook ที่กว่าจะล็อกอิน กว่าจะเปิดแท็บ ก็ต้องดาวน์โหลดกันหลายหน้า จนทำให้มีขั้นตอนเยอะ และไม่สะดวกต่อผู้ใช้
พอเป็นแบบนี้ มาร์กจึงเริ่มมีความคิดที่จะแยกฟีเชอร์ Message ออกจาก Facebook
เพราะปกติก็มียอดคนส่งข้อความกันเกินวันละ 10,000 ล้านข้อความ
ซึ่งถ้า Facebook แยกเป็นแอปสำหรับส่งข้อความโดยเฉพาะออกมา อย่างไรก็มีคนรอใช้งานอยู่แล้ว
3
แถมการแยกออกจากกัน ยังทำให้ประสบการณ์โดยรวมของผู้ใช้งาน Facebook ลื่นไหลยิ่งขึ้น ไม่ถูกขัดจังหวะเวลาไถฟีด
แล้วยังตอบโจทย์ด้านการแข่งขันกับแพลตฟอร์มแช็ตหน้าใหม่ ที่อาจมาเป็นศัตรูของ Facebook ในอนาคตได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การจะแยกฟีเชอร์ Message ออกจาก Facebook
กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด..
1
เพราะในตอนนั้น หน่วยความจำของอุปกรณ์มือถือ ยังไม่ได้เยอะจนล้นเหมือนกับทุกวันนี้
อย่างเช่นในยุคนั้น iPhone มีหน่วยความจำเริ่มต้นที่ 16 GB เท่านั้น ต่างจากตอนนี้ที่เริ่มต้น 64 GB
1
ดังนั้นการจะทำฟีเชอร์ใหม่ ให้แยกออกมาเป็นแอป ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
เพราะมันเสี่ยงกับการที่คนจะไม่ยอมดาวน์โหลดแอป เพราะอาจเห็นว่ารกเครื่องไป
1
ซึ่งตรงนี้เอง ที่น่าจะทำให้มาร์ก เลือกที่จะตัดฟีเชอร์แช็ตออกจากแอป Facebook ไปเลย..
ถ้าลองดูดี ๆ จะเห็นได้ว่ามาร์ก สามารถเลือกที่จะทำแอป Messenger แยก โดยไม่ตัดฟีเชอร์นี้ออกก็ได้
(แบบในเว็บเบราว์เซอร์ ที่ยังใช้ฟีเชอร์ Message ควบคู่กับการไถฟีดได้)
แต่ที่ต้องตัดออก เพราะต้องการบังคับให้คนที่ใช้ Facebook ดาวน์โหลดแอปนี้มาใช้งานด้วย ไม่อย่างนั้นจะติดต่อกับเพื่อน ๆ ไม่ได้
แถมมันยังเป็นการใช้ประโยชน์จาก Network Effect ของตัวเองมากที่สุด
ลองนึกภาพว่า ถ้าผู้ใช้ต้องเลือกเก็บแอปแช็ตสักแอปไว้ในเครื่องเพื่อเซฟหน่วยความจำ
คนส่วนใหญ่ก็มีโอกาสที่จะเลือกเก็บแพลตฟอร์มที่มีเพื่อนของตัวเองอยู่เยอะที่สุดไว้ก่อน เป็นอันดับแรก ๆ
(และตรงนี้ก็ทำให้มีโอกาสตัดคู่แข่งออกไปได้ง่าย ๆ)
ซึ่ง Facebook เป็นโซเชียลมีเดียที่มีคนใช้งานเยอะที่สุดในโลก
จึงไม่มีแพลตฟอร์มไหนสู้จุดนี้ของ Facebook ได้ในตอนนั้น
ดังนั้น ผู้ใช้ก็เลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องเก็บแอป Messenger ไว้ในเครื่องนั่นเอง
แม้หลายคนจะบ่นเรื่องนี้กันเยอะในช่วงแรก ๆ แต่กาลเวลาก็พิสูจน์แล้วว่าครั้งนี้
Facebook ตัดสินใจถูก..
เพราะต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้แพลตฟอร์มหนึ่ง มีผู้ใช้งานมากถึง 1,000 ล้านคนได้
ซึ่งถ้า Facebook ตัดสินใจช้ากว่านี้ จนคู่แข่งสร้าง Network Effect ของตัวเองได้สำเร็จ
คงยากที่แอป Messenger จะประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้
พูดให้เห็นภาพกับกรณีที่คล้ายกันคือ ความสำเร็จของแอป LINE ในบ้านเรา
1
ที่แม้จะมีคู่แข่งอย่าง WhatsApp, WeChat หรือ Kakao มาตีตลาด
แต่ด้วยความที่ LINE เป็นแอปแช็ตที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเรา เป็นเจ้าแรก ๆ
จึงทำให้มี Network Effect ที่แข็งแกร่ง จนไม่มีใครมาสู้ได้นั่นเอง..
สุดท้ายนี้ ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ก็ดูเหมือนว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังอยู่ในจุดที่จะต้องพิสูจน์การตัดสินใจของเขาอีกครั้ง
3
ว่าการฝืนทำในสิ่งที่เรียกว่า “Metaverse” ซึ่งผลาญงบประมาณมหาศาล จนหลายคนมองว่าเขา “บ้า”
จะสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า นี่เป็นอีกครั้งที่เขาคิดถูกได้หรือไม่..
2
โฆษณา