1 ธ.ค. 2022 เวลา 09:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"Internet of Military Things (IoMT) กับอนาคตของสงคราม"
แปลและเรียบเรียงโดย
พ.อ. ชัยยศ ศุภมิตรกฤษณา
รูป IoMT ที่มา IEEE Computer Society เว็บไซต์ www.computer.org
Internet of Military Things (IoMT) เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อกันประเภทหนึ่งซึ่งใช้ทำสงครามในอนาคต มีการใช้งานอย่างกว้างขวางในการปฏิบัติการยุทธขั้นสูงและสงครามที่เน้นการข่าว ตัวอย่างเช่น ช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อระหว่างกันตามเวลาจริง (real time) เช่น ระหว่างยานพาหนะไร้คนขับและสถานีควบคุมกลาง
ในทำนองเดียวกัน มันจะช่วยทำให้แนวคิดการสู้รบที่ขยายขึ้นเป็น การควบคุมบังคับบัญชาร่วมทุกมิติ (JADC2 : Joint All Domain Command and Control) โดยกองทัพสหรัฐอเมริกา JADC2 ใช้เครือข่ายเซ็นเซอร์ที่คล้ายกันซึ่งเชื่อมต่อเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ในสนามรบทั้งหมด
หน่วยทหารที่มีวิทยาการสูงส่วนใหญ่ได้รวม IoMT เข้ากับการปฏิบัติการในสนามรบเพื่อเพิ่มความสามารถในการเฝ้าระวังและการโต้ตอบ แนวคิดนี้นำเสนอทางเลือกเชิงกลยุทธ์ที่หลากหลายแก่กองทัพ
ตัวอย่างเช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์ IoMT ที่หลากหลายข้ามมิติต่างๆ (อากาศ พื้นดิน ทะเล อวกาศ และไซเบอร์) ให้สามารถสนับสนุนข้อมูลเพื่อตระหนักรู้สถานการณ์ที่ครอบคลุมและเข้าใจระบบนิเวศข่าวสารของสนามรบ ซึ่งจะเพิ่มความเร็วของวงจรการตกลงใจแบบ OODA (Observ, Orient, Decide, Act) อย่างมาก และช่วยในการวางแผนและปฏิบัติการอย่างรวดเร็วและแม่นยำในสงครามอนาคต
IoMT ไม่เพียงแค่เชื่อมต่ออุปกรณ์ในสนามรบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกำลังทางทหารผ่านอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ ภายใต้ภูมิประเทศที่ท้าทาย เช่น ภูเขา ป่า หรือทะเลทราย อุปกรณ์สวมใส่ เช่น เสื้อแจ็คเก็ตหรือสายรัดข้อมือสามารถรับรู้และติดตามสถานะสุขภาพของกองกำลัง สถานะอาวุธ สภาพบรรยากาศ ตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดไปยังศูนย์บัญชาการ
ศูนย์บัญชาการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางยุทธวิธีของทหารเพื่อทำการตกลงใจโดยอ้างอิงข้อมูลจตามเวลาจริงที่เข้ามา คาดว่าด้วยความก้าวหน้าของโครงข่ายประสาทเทียม อุปกรณ์สวมใส่จะสามารถประเมินสภาพร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของนักบินได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าอุปกรณ์ในสนามรบอัตโนมัติ เช่น เครื่องซุ่มยิงจะติดตั้ง IoMT เครื่องซุ่มยิงดังกล่าวจะมีสองส่วน คือ ส่วนยิงและส่วนควบคุม กล้อง (webcam)และเซ็นเซอร์จะตรวจจับการเคลื่อนไหวในขณะที่ชุดควบคุมจะสั่งยิง
การประมวลผลแบบคลาวด์จะมีความจำเป็นสำหรับการจัดเก็บข้อมูลที่รวบรวมจากเซ็นเซอร์ที่หลากหลายของ IoMT ดังนั้นการเชื่อมต่อ 5G จึงมีความสำคัญสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลด้วยปริมาณข้อมูลต่อวินาที (bandwidth) สูง และเวลาที่ทำใช้ในการตอบสนอง (latency) ต่ำ ในทำนองเดียวกัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประมวลผลข้อมูล
รูป IoMT ที่มา The Convex Lens เว็บไซต์ digest.theconvexlens.co
สหรัฐอเมริกาและจีนได้ลงทุนใน IoMT อย่างแข็งขัน กองทัพสหรัฐฯ ได้พัฒนาเครือข่ายการยุทธแบบบูรณาการที่หลอมรวมและรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากเซ็นเซอร์ IoMT, เรดาร์ และดาวเทียม ข้อมูลนี้ถูกกรองเพื่อระบุข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้บรรลุภารกิจ แนวทางการใช้ IoMT ยังถูกนำมาใช้เพื่อรวมระบบป้องกันขีปนาวุธของกองทัพบกและเครือข่ายการสื่อสารที่มีชั้นความลับเข้าสู่ศูนย์กลางเดียวเพื่อโต้ตอบและปะทะกับภัยคุกคาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังคงพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ของเครือข่ายการยุทธแบบบูรณาการนี้
ในทำนองเดียวกัน จีนก็แสดงความสนใจอย่างมากใน IoMT แบบจำลองที่จีนนำมาใช้เพื่อพัฒนา IoMT รวมถึงความร่วมมือในระดับสูงระหว่างหน่วยงานวิชาการและหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล ภาคเอกชน และกลุ่มอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ
จีนได้พัฒนาโครงร่างยุทธศาสตร์สำหรับการทำสงครามแบบบูรณาการ สมุดปกขาวด้านกลาโหมแห่งชาติจีน (NDWP 2019) ระบุว่าสงครามในอนาคตเป็น 'สงครามอัจฉริยะ' เทคโนโลยี IoT ที่ล้ำสมัยจะขับเคลื่อนการพัฒนากองทัพอัจฉริยะและสร้างกองกำลังทหารที่ทันสมัยสำหรับอนาคตในที่สุด กระบวนการนี้คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2578
กองทัพบกอินเดียใช้ IoMT เพื่อวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร โดยได้พัฒนาเครือข่ายการสื่อสารเคลื่อนที่ LTE พร้อมเซ็นเซอร์ IoMT ในตัวเพื่อให้ระบบการสื่อสารที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย ระบบการสื่อสารนี้จะมีการรักษาความปลอดภัยสำหรับเสียง ข้อมูล และวิดีโอ และปกป้องเครือข่ายจากการบุกรุกและการสกัดกั้น
ระบบการสื่อสารนี้จะมอบให้กับทหารและหน่วยตามแนวชายแดนปากีสถานและจีน สำหรับการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารแบบ IoT นี้ กองทัพอินเดียจะเลือกเฉพาะบริษัทของอินเดียและบริษัทต่างชาติที่มีสำนักงานจดทะเบียน ซึ่งมีโรงงานผลิต บำรุงรักษา และซ่อมแซม ในประเทศอินเดีย
ระบบนิเวศ IoT ในปากีสถานเพิ่งเกิดขึ้นเนื่องจากประเทศขาดโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตอุปกรณ์ IoT ในขนาดใหญ่ ปัจจุบัน บริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กมีส่วนร่วมในการสร้างอุปกรณ์ IoT ผ่านการว่าจ้างจากภายนอก ส่วนใหญ่คือประเทศจีน สตาร์ทอัพเหล่านี้ได้พัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สวมใส่ได้ เครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ เครื่องติดตามการใช้พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ
อุปกรณ์ IoMT ต้องใช้งบประมาณก้อนโต อย่างไรก็ตาม เครื่องใช้เหล่านี้ให้ประโยชน์ในระยะยาว เนื่องจากมีแนวโน้มอย่างมากว่าปากีสถานจะพัฒนาขีดความสามารถในเทคโนโลยีเกิดใหม่ จึงไม่ควรละเลย IoMT เนื่องจากอาจเป็นตัวทวีกำลังที่ช่วยเครือข่ายการสื่อสารและการส่งข้อมูล ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและ 5G ทำให้ IoMT สามารถส่งมอบขีดความสามารถทางทหารที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ ซึ่งจะช่วยในการรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคามในอนาคต
Reference :
"Internet of Military Things (IoMT) and the Future of Warfare" โดย Maheen Shafeeq, 1 ธ.ค.65
โฆษณา