2 ธ.ค. 2022 เวลา 11:43 • ธุรกิจ
ปัจจัยที่ทำให้ค่าระวางเรือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเหวี่ยงขึ้นลงเหมือนรถไฟเหาะ
ในช่วงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงมากเป็นประวัติการณ์ นอกจากผลกระทบทางด้านสาธารณสุข ที่มีผู้ติดเชื้อรวมกว่า 643 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก COVID-19 ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
2
ในเดือนกันยายน 2021 อัตราค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดมากกว่า 22,000$ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 800% เมื่อเทียบกับค่าระวางในเดือนกรกฎาคม 2020 ที่มีค่าระวางอยู่ที่ 2,700$ ก่อนที่จะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2021 และลดลงต่ำกว่า 4,500$ ในเดือนพฤศจิกายน 2022 คิดเป็นอัตราที่ลดลงมากกว่า 76% จากจุดสูงสุด ซึ่งการขึ้นลงที่รุนแรงของค่าระวางเรือในครั้งนี้คล้ายกับการเคลื่อนที่ของ "รถไฟเหาะ"
ในปี 2020 เป็นช่วงการเริ่มต้นของการแพร่ระบาดและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องใช้มาตรการคุมเข้มในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
มาดูกันว่าอะไรที่ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤติ COVID-19 ?
หากอธิบายง่ายๆ คือ Demand (ความต้องการขนส่งสินค้า) มีมากกว่า Supply (พื้นที่ระวางที่ใช้ในการขนส่งสินค้า) จึงทำให้ราคาค่าระวางปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยอะไรที่ทำให้ Demand และ Supply เปลี่ยนแปลง
1
จากมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกจากที่พักอาศัยเพื่อใช้จ่ายเงินไปกับการท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านได้ ทำให้การใช้เงินส่วนใหญ่เป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ รวมทั้งผู้ผลิตและแบรนด์สินค้าต่างๆ ออกโปรโมชั่นลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า สังเกตได้จากตลาด e-Commerce และ Logistics มีการเติบโตอย่างมาก
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าการค้าระว่างประเทศทั่วโลกในปี 2022 อยู่ที่ 28.5 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 25% จากปี 2020 และเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนการแพร่ระบาด โดยการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั่วโลกจะใช้การขนส่งทางทะเลมากกว่า 80% ของการค้าระหว่างประเทศ
เมื่อมี Demand มากกว่า Supply ประกอบกับการ Lockdown ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในท่าเรือต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถเร่งระบายตู้คอนเทนเนอร์เปล่าออกจากท่าเรือได้ มีตู้ตกค้างตามท่าเรือเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณตู้คอนเนอร์ที่นำมาใช้ในการขนส่งมีจำนวนลดลง จนเกิดเป็นวิกฤตตู้คอนเทนเนอร์ขาดแแคลน (Container shortage) ส่งผลอุปทานลดลงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน เป็นเหตุผลสำคัญที่ค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลปรับตัวพุ่งสูงขึ้นไปทำ All time high มากกว่า 22,000$ ในเดือนกันยายน 2021 เพิ่มขึ้นมากกว่ากว่า 800% โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี 2 เดือน (อ้างอิงเส้นทาง Asia - US East Coast)
1
แต่หลังจากค่าระวางทำ All time high ได้ไม่นาน สถานการณ์กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อค่าระวางปรับตัวลดเหลือเพียง 4500$/FEU ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ซึ่งลดลงกว่า 76% จากจุด All time high โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี 3 เดือน เท่านั้น
3
สาเหตุหลักมาจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง และวิกฤต Container shortage เริ่มมีการคลี่คลายลง
โดยมีปัจจัยของอัตราเงินเฟ้อ (ราคาสินค้า) ทั่วโลกพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.1% YoY เป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งส่งผลกระทบกับอำนาจการซื้อของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
1
อัตราเงินเฟ้อทำให้ผู้บริโภคต้องวางแผนการใช้จ่ายให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยในไตรมาส 4/2022 คาดว่าประชาชนประเทศอังกฤษกว่า 60% จะลดการบริโภคสินค้าที่ไม่ใช่อาหารลง ประชาชนในยุโรปและอังกฤษคาดว่าจะลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟื้อยลง 15% จากไตรมาสก่อนหน้า
ปัจจัยที่สองคือผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงที่ทุกประเทศทั่วโลกอยู่ภายใต้การ Lockdown ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับการซื้อสินค้า เนื่องจากไม่สามารถใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ภายนอกบ้านได้
แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย หลายประเทศยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศได้ ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจการใช้เงินไปกับการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าการใช้จ่ายในการซื้อสินค้า อีกทั้งในช่วง Lockdown คนส่วนใหญ่ได้กักตุนสินค้าที่ต้องการไว้หมดแล้ว จึงทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าลดลงภายหลังการเปิดประเทศ
3
ปัจจัยที่สามคือการคลี่คลายของปัญหา Container shortage ภายหลังยกเลิกมาตรการ Lockdown ประชาชนและธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ พนักงานทยอยกลับเข้ามาทำงาน ท่าเรือต่างๆ มีพนักงานในการจัดการปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกค้างในแต่ละท่าเรือ ทำให้สายเรือมีตู้คอนเทนเนอร์เพียงพอในการรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเล
2
เมื่อ Demand ของการขนส่งสินค้าทางทะเลปรับลดลงจากผลกระทบของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ด้าน Supply ของตู้คอนเทนเนอร์มีเพิ่มขึ้นจึงทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินของการขนส่งสินค้าทางทะเล ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวลดลง
1
สำหรับแนวโน้มของค่าระวางเรือในปี 2566 คาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าทั่วโลกที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก และในบางประเทศมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
โฆษณา