3 ธ.ค. 2022 เวลา 08:57 • ข่าว
กรมโยธาฯ ชี้แจงแล้ว! หลังภาค ปชช. ยื่น 3 ข้อเสนอยกเลิก "กำแพงกันคลื่น"
หลังจากที่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 กลุ่ม Beach for life และ เครือข่ายประชาชนทวงคืนหาดทราย ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการกำแพงกันคลื่นบนชายหาด
ซึ่งกลุ่ม Beach for life ได้เผยแพร่สื่อต่าง ๆ บนเพจ Facebook ของตนว่า โครงการกำแพงกันคลื่นได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชายหาดหลายแห่ง บางแห่งมีหาดทรายน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด บางแห่งมีสาหร่ายและตะไคร่น้ำเกาะทำให้ลงเล่นน้ำยาก และทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงบริเวณปลายกำแพงกันคลื่น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เผยแพร่ข้อชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว
ซึ่งคำชี้แจงจากกรมโยธาธิการและผังเมือง มีดังนี้:
ตามที่เพจเฟซบุ๊ก Beach for life เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เสนอข่าวประเด็น “3 ข้อเท็จจริงเรื่อง ‘กำแพงกันคลื่น: พร้อมนับถอยหลัง เพื่อร่วมทวงคืนชายหาดกับ Beach for life’” โดยมีรายละเอียดว่า กลุ่ม Beach for life และ เครือข่ายประชาชนทวงคืนหาดทราย เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้องสำคัญ ได้แก่
1) ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองในการป้องกันชายฝั่ง
2) กำแพงกันคลื่นต้องกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
และ 3) ต้องฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย
โดยกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ยื่นเงื่อนไขให้เวลารัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เมื่อครบ 10 วันจะกลับมาติดตามเรื่องจากรัฐบาล
กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอชี้แจงรายละเอียดและข้อเท็จจริง ดังนี้
ข้อเรียกร้องที่ 1. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งแก้ไขมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรชายหาด ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อทำลายชายหาด
ข้อเท็จจริงตามประเด็นข่าว มีดังนี้
1. กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินงานป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ตามอำนาจหน้าที่ในกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
- พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2557 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มอบหมายให้ กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการในการตั้งงบประมาณการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล
- มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำและริมทะเลทั่วประเทศ
กรมโยธาธิการและผังเมืองตั้งงบประมาณโดยมีคำขอจากพื้นที่ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
2. ขั้นตอนในการขอรับสนับสนุนงบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองในปัจจุบัน มีกระบวนการเริ่มต้นจากการได้รับคำขอโครงการจากท้องถิ่น ทำการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการ โดยมีหลักเกณฑ์ในการดำเนินการในพื้นที่ที่การกัดเซาะส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกัดเซาะทำลายทรัพย์สินของทางราชการ แล้วจึงดำเนินการศึกษา สำรวจออกแบบตามหลักวิชาการ
โดยในขั้นศึกษาออกแบบนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการตลอดทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ
สำหรับในส่วนของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และอ้างอิงจากแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในพื้นที่อย่างน้อย 2 ครั้ง
เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบแล้วเสร็จ จึงเสนอเข้าขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างต่อไป พร้อมนี้ ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นมาตรการควบคุมในการก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบ
3. การดำเนินการโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 กล่าวคือ ดำเนินการตามแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ระบุให้ดำเนินการตามแนวทางและรูปแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง 3 มาตรการ 8 รูปแบบ (ระบุในภาพรวม)
และหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 4 แนวทาง ประกอบด้วย การปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ การป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง ทำให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานและเกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง
โดย “คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ” ซึ่งแต่งตั้งโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล” ซึ่งอนุกรรมการฯ ได้แต่งตั้ง “คณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่”
โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นมา โครงการที่จะขอรับจัดสรรงบเพื่อก่อสร้าง จะต้องเสนอโครงการต่อคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ เพื่อให้ข้อคิดเห็น จากนั้นคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ จะได้เสนอข้อคิดเห็นดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ เพื่อเสนอต่อไปยังสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ
จะเห็นได้ว่าแนวทางการดำเนินการในปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เป็นกลไกที่ใช้พิจารณาการของบประมาณปัจจุบัน ในการกลั่นกรองโครงการ และมีหน่วยตรวจสอบดูแลที่มีประสิทธิภาพ
4. แนวทางการออกแบบของกรมโยธาธิการและผังเมืองในปัจจุบัน กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทบทวนและปรับแนวทางการออกแบบเป็นโครงสร้างป้องกันรูปแบบผสมผสานที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมตามมาตรฐานวิชาการ และเพิ่มการเสริมทรายชายหาดหน้าเขื่อน ซึ่งเป็นรูปแบบที่จะใช้แทนโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะที่มีขนาดใหญ่ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานวิชาการ ทำให้ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้าง และมีความสวยงามและกลมกลืนสอดคล้องกับสภาพพื้นที่มากขึ้น
โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างเพื่อป้องกันการกัดเซาะในพื้นที่เดือดร้อนเร่งด่วนและจำเป็น ตามหลักวิศวกรรมเท่านั้น ซึ่งโครงการต้องผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนของคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ
5. การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบัน เป็นการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันภารกิจในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมกันบูรณาการหลายหน่วยงาน เช่น กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากต้องการให้หน่วยงานใดยุติบทบาท ควรพิจารณาบทบาทหน่วยงานอื่นที่ทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบันไปพร้อม ๆ กัน เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะอย่างเป็นระบบ
ข้อเรียกร้องที่ 2 ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น
ข้อเท็จจริงตามประเด็นข่าว มีดังนี้
การทบทวนให้นำโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข้อเรียกร้องที่ 3 ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม
ข้อเท็จจริงตามประเด็นข่าว มีดังนี้
แนวทางการฟื้นฟูสภาพชายหาดบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยที่ได้รับความเสียหายมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558
กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้เสนอข่าวดังกล่าว ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนได้ทราบทันสถานการณ์ ตามนโยบายของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยที่มอบไว้ มา ณ โอกาสนี้
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์
อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
ที่มา:
โฆษณา