3 ธ.ค. 2022 เวลา 09:39 • การตลาด
จบตำนาน Hypermarket ไทย
แล้ว.... Format อะไรจะมาแทน
Hypermarket คือ ร้านค้าปลีกที่รวมห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าด้วยกัน ซึ่งมักจะเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่มาก โดยมีสินค้าหลากหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, เสื้อผ้า, และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งช้อปปิ้งแบบครบวงจร เรียกง่าย ๆ ว่ามีทุกอย่างที่ผู้บริโภคต้องการ โดยแนวคิดเป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่นี้คือการจัดหาสินค้าทั้งหมดที่ผู้บริโภคต้องการในชายคาเดียวกัน/สถานที่เดียวกัน โดยไฮเปอร์มาร์เกตแบ่งโซนต่าง ๆ
จริงๆแล้วไฮเปอร์มาร์เก็ต ( Hypermarket) กับซูเปอร์เซ็นเตอร์ (Supercenter) เป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่รวมเอาหลักการของซูเปอร์มาร์เก็ตและดิสเคาท์สโตร์เข้าด้วยกัน เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค คุณภาพปานกลาง ราคาประหยัด เพียงแต่ Hypermarket พัฒนามาจากแนวคิดของประเทศในแถบยุโรป ส่วน Supercenter เป็นตามแนวคิดของประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยปกติพื้นที่ของไฮเปอร์มาร์เก็ตจะมีขนาดกว่า 10,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่า 6 เท่า ของขนาดซูเปอร์มาร์เก็ตและมีสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งสินค้าอื่นๆจำหน่ายหลากหลายถึง 50,000 ชนิด
สิ่งที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตแตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ต ก็คือ ซูปเปอร์มาร์เก็ตมีขนาดเล็กกว่ามาก และ มุ่งเน้นที่อาหารสด สัดส่วนหมวดสินค้า ประเภทอาหาร (Grocery + Fresh Food) ต่อ สินค้าทั่วไป (Softline + Hardline) จึงอยู่ราว 80 : 20 ในขณะที่ ไฮเปอร์มาร์ท ขนาดพื้นที่ใหญ่กว่ามาก สินค้ามีความหลากหลายทั้งชนิด ขนาด และราคาถูกกว่าสัดส่วนหมวดสินค้า ประเภทอาหาร (Grocery + Fresh Food) ต่อ สินค้าทั่วไป (Softline + Hardline) อยู่ที่ 55 : 45 ทำให้การบริหารการขายของไฮเปอร์มาร์เก็ตสลับซับซ้อนกว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วไป
ด้วยความที่ต้องบริหารต้นทุนให้ต่ำ ใช้ค่าใช้จ่ายน้อย โดยให้ลูกค้าบริการตนเอง ปัจจัยสำคัญในการบริหารร้านค้าแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นเรื่องการบริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงเพื่อให้รอบการหมุนเวียนสินค้าสูงตาม
ทวนความจำเหตุการณ์สามยุคตลาดไฮเปอร์มาร์ทในเมืองไทย
1. ยุคบุกเบิก ตลาดไฮเปอร์มาร์ท แข่งขันเสรี
สถานการณ์ไฮเปอร์มาร์เก็ต ยุคเริ่มต้น ปี พ.ศ.2536 กลุ่มเซ็นทรัลนับเป็นเจ้าแรกที่เข้ามาบุกเบิกธุรกิจค้าปลีกประเภทนี้ที่สาขาแจ้งวัฒนะ ใช้ชื่อว่า “Big C Supercenter” เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ชั้นบนเป็นดิสเคาท์สโตร์ ต่อมาในปี พ.ศ.2537 กลุ่ม CP หรือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิด “Lotus Supercenter” ในศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ด้วยพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร
ในเวลาใกล้กัน คุณอนันต์ อัศวโภคิน Land & House ร่วมทุนกับกลุ่มผู้บริหารโรบินสันเดิมที่มีคุณมานิตย์ อุดมคุณธรรม และคุณปรีชา เวชสุภาพร ก็ได้ก่อตั้ง“Save One Supercenter” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต อย่างไรก็ตาม ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างเซ็นทรัลกับโรบินสัน Save One Supercenter ได้โอนมาให้กับ Big C เป็น Big C สาขารังสิต จนทุกวันนี้
ในปีถัดไป พ.ศ.2538 ห้าง Carrefour จากฝรั่งเศส ร่วมทุนกับเซ็นทรัล ตั้งบริษัท CENCAR บริหารค้าปลีกรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเต็มตัว โดยสาขาแรกตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล 3 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นถนนรามคำแหง)
ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดก็ให้ความสนใจรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตและเริ่มขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง อาทิ Big King กลุ่มเมอรี่คิงส์, Save Co. ของกลุ่มเมเจอร์, เมโทร,T SQUARE กลุ่มตั้งฮั่วเส็ง อมรพันธุ์, เอดิสัน, เอ็กเซล, บิ๊กเบลล์, นิวเวิลด์, อิมพีเรียล และสยามจัสโก้
กล่าวได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคบุกเบิกตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างแท้จริง การค้าขายเป็นไปอย่างเสรี โครงสร้างการแข่งขันที่สมบูรณ์ ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก ทั้งทุนขนาดกลางและขนาดใหญ่ หลากหลายรูปแบบ ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตารางเมตร จนถึงขนาดเล็กราว 2,000-3,000 ตารางเมตร มุ่งชูจุดขายเรื่องราคาถูก มีทั้งไฮเปอร์มาร์ท แบบสากลเต็มรูปแบบ จนถึงไฮเปอร์มาร์ท แบบไทยๆ เน้นราคาถูกสุดๆ
เห็นได้ว่าพัฒนาการของไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย ส่วนใหญ่อิงกับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก โดยลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มีกำลังซื้อระดับปานกลางจนถึงระดับล่างในการจับจ่ายซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล ไม่สนใจแบรนด์เนม
ซึ่งการที่ ไฮเปอร์มาร์เก็ตมีทั้งส่วนที่เป็นสินค้าบริโภคประจำวัน (Food) และส่วนที่เป็นสินค้าอุปโภคที่จำเป็น (General Merchandise) ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เบ็ดเสร็จ อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกมาบริการมากมาย อาทิ ที่จอดรถกว้างขวาง มีธนาคารเปิดให้บริการ มีโรงภาพยนตร์ ทุกอย่างเบ็ดเสร็จในที่เดียว จึงทำให้ค้าปลีกรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นที่นิยมอย่างมาก
2. ยุควิกฤตหลังต้มยำกุ้ง Hypermarket สายพันธุ์แข็งแกร่งอยู่รอด
หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทยเริ่มประสบปัญหาหนี้สินต่างประเทศอย่างรุนแรง โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางขยายกิจการด้านค้าปลีกและการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เกินตัว เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ภาระหนี้จึงเพิ่มกว่าเท่าตัวโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตเปลี่ยนไปเป็นของต่างชาติมากขึ้น
หลังจากที่กฎหมาย ปว.281 อนุญาตให้นักลงทุนจากต่างชาติสามารถถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 50% ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีสิทธิ์ในการบริหารงาน นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป
- ปี พ.ศ.2540 ห้างท้องถิ่นอย่าง Save Co. Big King, Imperial, Tang Hua Seng และ ห้างขนาดกลางๆเลิกกิจการ
- ปี พ.ศ.2541 Lotus ขายกิจการให้ Tesco จากอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus
- ปี พ.ศ.2542 Central ขายหุ้นบริษัท Cen Car คืนให้กับ Carrefour
- ปี พ.ศ.2545 Big C ร่วมทุนกับ Casino จากฝรั่งเศส
- ปี พ.ศ.2546 Auchon ซึ่งมีอยู่สาขาเดียวที่เชียงใหม่ ขายกิจการให้ Big C
3. ยุค.. Hypermarket จาก 3 เหลือแค่ 2
คาร์ฟูร์ (Carrefour) เป็นกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจากฝรั่งเศส มีสาขาอยู่ทั่วโลก ถ้าคิดจากรายได้แล้ว คาร์ฟูร์จะเป็นกลุ่มค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแค่เพียงวอลมาร์ต
คาร์ฟูร์ เปิดสาขาแรกเมื่อปี พ.ศ.2538 สิบห้าปีผ่านไป คาร์ฟูร์ไม่อาจฉีกตัวเองให้โดดเด่นจากคู่แข่งที่แข็งแกร่งได้ คาร์ฟูร์เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีการขยายสาขาช้าที่สุดในบรรดาผู้เล่นทั้งหมด และมีจำนวนสาขารั้งท้าย ถือเป็นรายที่ 3 ในจำนวนผู้เล่นทั้งหมด โดยมี Tesco Lotus เป็นอันดับหนึ่ง และ Big C เป็นอันดับสอง
ในปี พ.ศ.2553 คาร์ฟูร์ประกาศถอนการลงทุนออกจากประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดค้าปลีกที่คาร์ฟูร์เข้ามาลงหลักปักฐานนานถึง 15 ปี แต่มีสาขาเพียง 45 สาขาเท่านั้นโดยขายกิจการ Hypermarket ในไทยทั้งหมดให้แก่ Big C
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2559 Casino Group ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่และบริหาร Big C ตัดสินใจออกจากตลาด ประกาศขาย Big C ในประเทศไทย ทางกลุ่ม BJC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ ปิดดีลเข้าซื้อกิจการ Big C มาจากกลุ่ม Casino Group ได้สำเร็จ ทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตเหลือเพียงสองเจ้าในตลาดตอนนี้ แบ่งเป็นของกลุ่มทุนไทย (Big C) และกลุ่มทุนต่างชาติ (Tesco Lotus)
ความจริงที่น่าคิด? ทำไมยุคบุกเบิกมีผู้เล่นในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า 10 ราย ผ่านไป 2 ทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างทำให้ทางเลือกในการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลง จาก 10 กว่าราย เหลือเพียง 2 ราย เท่านั้น
ตำนานตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตกำลังจะจบลง
ตลอด 27 ปีที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขยายสาขาเข้ามาในบ้านเรา จะใช้กลยุทธ์ด้านราคา เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายของคนไทยให้เข้ามาใช้บริการจนเกิดความเคยชิน มาถึงวันนี้ ประสบการณ์ในการ ช้อป กับไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เคยสร้างความตื่นตาในอดีตก็คือเรื่องของการขายสินค้าราคาถูกแบบ Everyday Low Price กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีความแปลกใหม่ไปแล้ว
และเมื่อผู้บริโภคเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจับจ่าย การมาที่ไฮเปอร์มาร์ทแล้วช้อปเป็นจำนวนมาก น่าจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอีกต่อไปแล้ว เพราะมีการสร้างรูปแบบมากมายหลากหลายของร้านค้าปลีกที่ทำให้เข้าถึงการซื้อได้ง่ายขึ้นแบบทุกที่ทุกเวลา ทั้งรูปแบบที่เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กกระจายเข้าไปในชุมชนต่างๆ
ช่วง 5 ปีนี้สมรภูมิการแข่งขันค้าปลีกไทยไซส์ใหญ่ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ออกอาการนิ่ง การค้าออนไลน์ที่มีส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้ออย่างมาก ในวันนี้ ประชากรไทยสัดส่วนกว่า 80% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่าย สินค้า “ราคาถูก” จึงไม่ใช่คำตอบในการเลือกซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตอบโจทย์ความสะดวกและประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ดี การที่จะมาใช้เวลาอยู่ในไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นเวลานาน อาจไม่ตอบโจทย์ ความถี่ในการมาจึงมีแนวโน้มลดลง
ดังนั้น ผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตปัจจุบันจะโฟกัสจำหน่ายสินค้าที่เป็น “จุดแข็ง” ในกลุ่มอาหารสด (Grocery) สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ส่วนสินค้าทั่วไป แฟชั่น เครื่องครัวเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งไม่ถนัด ก็จะลดพื้นที่ขายที่ลงปล่อยเป็น “ร้านค้าเช่า” หรือ ให้ร้านค้าอื่นมาเช่าแทน สถานการณ์จากการขายสินค้าหลากหลายหมวดหมู่กว่า 5-6 หมื่นรายการ ก็ลดลงเหลือเพียงหมื่นรายการ
ไฮเปอร์เก็ตจึงกลายเป็น ซูเปอร์มาร์เก็ต + พื้นที่เช่า เพราะภายใน 5 ปีที่ผ่านมานั้นผู้ประกอบการในไฮเปอร์มาร์เก็ตสามารถสร้างรายได้ค่าเช่าเติบโตกว่า 12% ต่อปี ในขณะที่รายได้จากยอดขายสินค้าเติบโตเพียง 1-2% ต่อปีเท่านั้น
1
อีกไม่นาน ไฮเปอร์มาร์ทคงเหลือเป็นเพียงตำนานแค่ให้เราจดจำเท่านั้น ซูเปอร์มาร์เก็ต + พื้นที่เช่า จะกลายเป็นรูปแบบหลักในการขยายสาขา
โฆษณา