5 ธ.ค. 2022 เวลา 11:08 • การศึกษา
ถอดรหัสการสอนวิชา GenEd ที่โดนใจนิสิต
ภาพจากห้องเรียนวิชา Innovative Thinking ในวันปิดคลาส พฤหัส 24 พ.ย. 2565
ผมสอนวิชา Innovative Thinking ซึ่งเป็นวิชาการศึกษาทั่วไปหรือ GenEd ของจุฬาฯ มา 13 ปี และได้รับแบบประเมินการสอน ความเห็นของนิสิตจำนวนมากเกี่ยวกับวิชานี้
จากการอ่านแบบประเมินของนิสิต ทำให้ผมสังเกตคำต่าง ๆ ที่นิสิตใช้บ่อยในความเห็นเกี่ยวกับวิชา Innov Think ว่า ทำไมนิสิตบางกลุ่มชื่นชอบมาก จนบอกปากต่อปาก
ผมจึงถอดรหัสได้เทคนิคการสอนที่ใช้ในวิชา Innov Think แล้วนิสิตชื่นชอบคือ ส.ป.ช. คูณสอง ซึ่งมีความหมายต่อไปนี้
1. สนุก
รีวิววิชา Innov Think
คำที่ผมพบบ่อยที่สุดในความเห็นของนิสิตคือ “สนุก” และทำให้นิสิตบอกวิชา Innov Think ปากต่อปาก
ถ้าอยากหาไอเดียว่า สอนอย่างไรให้สนุก ลองคิดตรงข้ามว่า สอนอย่างไรให้คนเรียนเบื่อสุด ๆ เช่น บรรยายตลอด 3 ชั่วโมง โดยให้นิสิตนั่งฟังเฉย ๆ
การสอนให้สนุกเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะอาจารย์แต่ละคนมีสไตล์ไม่เหมือนกัน เช่น ผมไม่ใช่คนพูดตลก ไม่ใช่คนเล่าเรื่องเก่งชนิดที่คนฟังเคลิบเคลิ้ม ผมจึงต้องใช้วิธีอื่นที่เหมาะกับตัวเอง ในขณะที่อาจารย์บางคนพูดเก่งมาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย ก็ทำให้ผู้เรียนสนุกได้
เทคนิคที่ผมใช้ในวิชา Innov Think เช่น การโยน Juggling , การใช้การ์ดภาพ , การสร้างต้นแบบง่าย ๆ ด้วยสิ่งของรอบตัว , การใช้แอปหรือซอฟต์แวร์ เป็นต้น
2. สังสรรค์
ความเห็นของนิสิตที่เคยเรียนวิชา Innov Think
เคยมีนิสิตบอกผมหลายปีก่อนว่า เรียนวิชา Innov Think แล้วไม่รู้จักเพื่อนใหม่เลย นั่งกับเพื่อนคนเดิมตลอดทั้งเทอม ทำงานกับเพื่อนที่อยู่คณะเดียวกัน
ความเห็นของนิสิตคนนี้เองทำให้ผมฉุกคิดว่า การเรียนวิชา GenEd ควรทำให้นิสิตได้รู้จักเพื่อนใหม่ต่างคณะบ้าง เพราะวิชา GenEd เป็นวิชาที่เปิดกว้างให้นิสิตทุกคณะมาเรียน ไม่ใช่มาเรียนทั้งเทอมแล้ว ไม่รู้จักใครเลย
ปัญหาอีกอย่างของนิสิตที่มาเรียน GenEd คือ นิสิตบางคนมาเรียนคนเดียว เมื่อต้องทำงานกลุ่มกับเพื่อนคนอื่นที่มาเรียนกันเป็นกลุ่ม ก็จะไม่สบายใจ รู้สึกโดดเดี่ยว
ผมมีวิธีการที่ทำให้นิสิต Innov Think รู้จักเพื่อนใหม่ต่างคณะ เช่น
- สลับที่นั่งทุกคนในการเรียนทุกครั้ง ทำให้นิสิตทุกคนได้นั่งกับเพื่อนใหม่คนอื่น ไม่ใช่นั่งที่เดียวกับเพื่อนคนเดิม และให้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ทุกครั้ง
- ทุกครั้งที่มีงานกลุ่ม ผมจัดกลุ่มให้นิสิต ไม่ให้นิสิตจับกลุ่มกันเอง โดยใช้วิธีหยิบบัตรนิสิต แล้วเลือกบัตรนิสิตจากคณะที่ไม่ซ้ำกันเลยให้มาอยู่กลุ่มเดียวกัน เช่น วิศว นิเทศ อักษร , ครุ วิทยา บัญชี เป็นต้น
- การทำให้นิสิตสังสรรค์กับเพื่อนคณะอื่น ทำให้นิสิตส่วนใหญ่ชอบ เพราะนิสิตที่มาเรียนคนเดียว ก็ไม่รู้สึกแปลกแยก ส่วนนิสิตที่มาเรียนเป็นกลุ่ม ก็ได้สนิทสนมกับเพื่อนต่างคณะ และทราบวิธีคิดของนิสิตคณะอื่นเวลาทำงานด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานอย่างแน่นอน
นิสิตหลายคนจึงให้ความเห็นเกี่ยวกับวิชา Innov Think ว่า ชอบเพราะได้รู้จักเพื่อนใหม่ แถมยังมีกิจกรรมให้นิสิตไปเที่ยวด้วยกันอีก
3. แปลกใหม่
ความเห็นของนิสิตที่เคยเรียนวิชา Innov Think
ถ้าเป็นเนื้อหาบทเรียนธรรมดาที่เรียนทางยูทูบได้ ก็คงไม่มีใครอยากเข้าเรียนสักเท่าไร แต่ถ้าเป็นเนื้อหาแปลกใหม่ที่นิสิตไม่เคยทราบมาก่อน หรือเป็นเนื้อหาที่กำลังเป็นที่สนใจ ก็อาจทำให้นิสิตสนใจอยากเข้าห้องเรียน
เนื้อหาแปลกใหม่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเนื้อหาทันสมัยล่าสุด เช่น ผมสอนเรื่อง การโยน juggling ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีตั้งแต่โบราณนับพันปีแล้ว แต่แทบไม่เคยมีนิสิตคนไหนเคยโยน juggling มาก่อน จึงเป็นเรื่องแปลกใหม่ของนิสิตเกือบทุกคน
บางเรื่องก็เป็นเนื้อหาใหม่จริง ๆ เช่น เทอมต้น 2565 ผมสอนเรื่อง “การสร้าง Second Brain ด้วย Obsidian” ซึ่งคำว่า Second Brain เพิ่งเป็นคำที่กล่าวถึงอย่างมากในปี 2565 นี่เอง และไม่เคยมีนิสิตคนไหนได้ยินโปรแกรมชื่อ Obsidian มาก่อน
4. ปรับปรุง
ความเห็นของนิสิตที่เคยเรียนวิชา Innov Think
ไม่ว่าเนื้อหาจะแปลกใหม่แค่ไหน สักวันก็กลายเป็นเนื้อหาเก่าหรือเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็รู้จัก
ตัวอย่างเนื้อหาที่เคยเป็นเรื่องแปลกใหม่และฮือฮามากหลายปีก่อน เช่น เครื่องมือ Canvas ทั้งหลาย ได้แก่ Business Model Canvas , Lean Canvas หรือ Design Thinking ซึ่งตอนนี้เนื้อหาที่นิสิตจำนวนมากรู้จักดีแล้ว
ผมถามนิสิตว่า เคยเรียน Business Model Canvas ไหม นิสิตหลายคนบอกว่า เคยเรียนเรื่องนี้จากวิชาอื่นหรือเวิร์คชอปแล้ว
การสอนวิชา GenEd จึงควรปรับปรุงเนื้อหาตลอดเวลา ผมก็มีคติประจำตัวว่า จะเพิ่มเนื้อหาใหม่ ๆ ใน Innov Think เสมอ
เนื้อหาเรื่องไหนที่นิสิตหลายคนทราบแล้ว ก็ทำเป็นวิดีโอบทเรียนให้นิสิตคนอื่นเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องสอนในห้องเรียนอีกต่อไป
5. ใช้ได้จริง
ความเห็นของนิสิตเทอมต้น ปีการศึกษา 2565
คำที่ผมได้ยินบ่อยที่สุดอีกคำหนึ่งในความเห็นของนิสิตคือ “มีประโยชน์ ใช้ได้จริง”
ต่อให้วิชาสนุกแค่ไหน แต่คนเรียนแล้วไม่ได้ความรู้ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเรียน ก็คงไม่มีใครอยากเรียนเท่าไหร่
ใช้ได้จริง หมายถึงการที่นิสิตนำความรู้หรือกิจกรรมในวิชาไปใช้กับวิชาอื่นหรือชีวิตประจำวันได้ทันที
ตัวอย่างเนื้อหาในวิชา Innov Think ที่นิสิตหลายคนบอกว่า มีประโยชน์ นำไปใช้กับการเรียนวิชาอื่น เช่น
- การนำเสนอแบบสั้นกระชับที่เรียกว่า อุลตร้าพรีเซนเทชัน ซึ่งนิสิตทุกคนต้องออกแบบสไลด์ตามข้อกำหนด และนำเสนอไม่เกิน 3 นาที ทำให้นิสิตนำเทคนิคการนำเสนอนี้ไปใช้กับทุกวิชาที่มีการนำเสนอได้
- การสร้างต้นแบบอย่างง่ายด้วยวิธีต่าง ๆ ที่นิสิตนำไปใช้ในการแข่งขันสตาร์ทอัพหรือการทำงานวิชาอื่น
- แบบฝึกหัดการสร้างนิสัยใหม่ใน 21 วัน ที่นิสิตได้ประโยชน์ทันทีที่ทำ เช่น การอ่านหนังสือ การออกกำลังกาย การทานอาหารที่มีประโยชน์
แน่นอนว่า ไม่ใช่เนื้อหาทุกครั้งที่จะมีประโยชน์ใช้ได้ทันที ขอแค่มีเนื้อหาบางส่วนที่นิสิตนำไปใช้ได้เลย ไม่ต้องรอจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา แค่นี้ก็ทำให้นิสิตเห็นคุณค่าแล้วครับ
6. ชำนาญ
ความเห็นของนิสิตที่เคยเรียนวิชา Innov Think
เนื้อหาบางเรื่องอาจต้องมีการเรียนหรือทบทวนหลายครั้ง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญหรือเชี่ยวชาญ
วิชา Innov Think มี กิจกรรมการจดบันทึก ที่นิสิตทุกคนต้องจดบันทึกสัปดาห์ละ 3 วันตลอดทั้งเทอม กิจกรรมนี้ทำให้นิสิตเกิดความเชี่ยวชาญในการจดบันทึก
แบบประเมินส.ป.ช.คูณสอง
ลองทำแบบประเมินตนเองว่า คุณใช้เทคนิคส.ป.ช. คูณสองมากน้อยแค่ไหนครับ
1. วิชาที่คุณสอนใช้กิจกรรมมากน้อยแค่ไหน
ก. คนเรียนนั่งฟังบรรยายอย่างเดียว ไม่มีกิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น
ข. มีกิจกรรมบ้างนาน ๆ ครั้ง
ค. ใช้กิจกรรมทุกครั้ง มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในชั้นเรียนเป็นประจำ
2. ผู้เรียนในวิชาคุณรู้จักเพื่อนใหม่หรือไม่
ก. ทุกคนนั่งที่เดียวตลอดทั้งเทอม ไม่รู้จักคนอื่นเลย
ข. มีกิจกรรมให้ผู้เรียนได้รู้จักกันบ้างเล็กน้อย
ค. ผู้เรียนได้รู้จักเพื่อนใหม่คนอื่นเกือบทุกครั้ง
3. วิชาที่คุณสอนมีเนื้อหาแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครเรียนมาก่อนหรือไม่
ก. ใคร ๆ ก็เรียนทางยูทูบได้โดยไม่ต้องมาเรียนในห้อง
ข. มีบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว
ค. เนื้อหาแปลกใหม่ทุกครั้ง คนเรียนไม่เคยทราบมาก่อน
4. วิชาของคุณปรับปรุงเนื้อหาบ่อยแค่ไหน
ก. สอนเรื่องนี้มาหลายสิบปีแล้ว เนื้อหาเหมือนเดิม
ข. ปรับปรุงเนื้อหาบ้าง ตอนที่ถูกบังคับให้ปรับหลักสูตร
ค. วิชานี้มีเนื้อหาใหม่เกือบทุกเทอม
5. นิสิตบอกว่าวิชาของคุณมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
ก. คนสอนเองยังไม่รู้เลยว่า วิชานี้มีประโยชน์อะไร
ข. รอเรียนจบแล้วไปทำงาน รับรองว่าได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน
ค. เดินออกจากห้องเรียน ใช้ประโยชน์ได้ทันที
6. วิชาคุณมีการให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทบทวนบ่อยแค่ไหน
ก. เรียนครั้งเดียวก็พอแล้ว ไม่เคยฝึกทบทวน
ข. มีฝึกบ้างนิดหน่อย
ค. ฝึกทบทวนเป็นประจำ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา