11 ธ.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
จากสามปลื้มถึงสามเพ็ง
ก่อนที่ชาวตะวันตกจะสามารถเซ็นสนธิสัญญาเพื่อการค้าและสิทธิพิเศษต่างๆ กับรัฐบาลสยามได้นั้น มิชชั่นนารีหรือผู้เผยแพร่ศาสนาที่เข้ามาก่อนหน้านั้นก็ยังไม่ได้รับความสะดวก เช่น มีสถานกงสุลของชาติต่างๆ ไว้พึ่งพิง
ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บริเวณวัดเกาะหรือวัดสัมพันธวงศ์ มีมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ และเมื่อหมอบรัดเลย์เดินทางเข้ามาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มาเช่าบ้านที่วัดเกาะ ก่อนจะย้ายไปอยู่แถบหน้าวัดประยุรวงศาวาส
แม้ความแออัดนั้นจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับ “ไฟไหม้” หลายครั้ง ซึ่งไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นไฟไหม้ครั้งใหญ่ในสำเพ็ง กล่าวว่า เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่วัดสามปลื้มตลอดลงไปถึงตลาดน้อยวัดสามเพ็งเป็นระยะทางกว่าหนึ่งกิโลเมตร
ถึงจะมีไฟไหม้ใหญ่แต่ก็ไม่ทำให้ย่านสำเพ็งลดจำนวนผู้คนลงไป และเมื่อการค้าสำเภาจีนระหว่างรัฐกับรัฐเจริญจนถึงขีดสุดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันจะพบว่าศิลปะตามพระราชนิยมนั้นได้รับอิทธิพลงานช่างจีนมาเป็นส่วนใหญ่ และการค้าสำเภาระหว่างรัฐรุ่งเรืองมากพร้อมกับการเข้ามาของคนจีนจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
จนถึงรัชกาลพระบาทพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ขึ้นชื่อในเรื่องมีสินค้าจากต่างประเทศ สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำจากโลหะ เสื้อผ้า เครื่องแก้วนำเข้า พ่อค้าที่สำเพ็งนอกจากค้าขายในย่านนี้ แล้วยังขายส่งโดยติดต่อกับพ่อค้าหัวเมืองต่างๆ อีกด้วย
ส่วนพ่อค้าที่อื่นซึ่งส่งสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ต้องติดต่อกับคนจีนในสำเพ็งให้ช่วยรับสินค้าส่งออกไปจำหน่ายต่ออีกต่อหนึ่ง ทำให้เกิดอาชีพการนำเข้าและส่งออกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งความรุ่งเรืองทางการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้ เป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปสู่กลุ่มพ่อค้าต่างๆ ที่รัฐบาลสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษและประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งตามมา
ชาวจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยในย่านสำเพ็งนั้นเกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มๆ โดยสร้างศาลเจ้าเฉพาะตนเองเป็นหลัก ที่มีมากที่สุดคือ ชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว และชาวฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำ แคะ มีศาลเจ้า เช่น ศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้าฮ้อนหว่อง ในตรอกศาลเจ้าโรงเกือกของคนจีนฮากกาหรือจีนแคะ ศาลเจ้าเซียงกงของชาวฮกเกี้ยนซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
1
เมื่อเริ่มสร้างศาลเจ้าของกลุ่มคนต่างๆ เป็นเบื้องต้นแล้ว ก็มีพระสงฆ์จีนพระอาจารย์สกเห็งจาริกเข้ามาในเมืองไทย จึงปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ย่งฮกยี่” มีป้ายชื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ และขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ “วัดบำเพ็ญจีนนพรต”
ต่อมาเมื่อพระสงฆ์ฝ่ายจีนมีมากขึ้น พระอาจารย์สกเห็งเห็นควรขยายอารามให้พอเหมาะแก่จำนวนพระสงฆ์ จึงได้สร้างวัดมังกรกมลวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ บนถนนเจริญกรุง สังกัดคณะจีนนิกายและเป็นศูนย์กลางการบริหารปกครองคณะสงฆ์จีนนิกาย ปัจจุบันมีวัดในคณะสงฆ์จีนนิกายรวมกันทั้งประเทศจำนวน ๑๔ แห่ง
ในราว พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงจัดสร้าง “โรงเรียนเผยอิง” บริเวณหลังศาลเจ้าปุนเถ้ากง ริมถนนทรงวาด เพื่อสอนภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมให้กับชาวจีนโพ้นทะเล โดยพระอนุวัติราชนิยมและกลุ่มพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วเป็นผู้อุปถัมภ์ โดยเริ่มแรกใช้หลักสูตรจากประเทศจีน
ในยุครัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการปิดโรงเรียนและมีนโยบายไม่ต้องการให้คนเรียนภาษาจีน ลดชั่วโมงการเรียนและห้ามสอนหลักสูตรภาษาจีนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นอุปสรรคจนทำให้โรงเรียนที่สอนภาษาจีนต้องยุติไปเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นมีความต้องการเรียนภาษาจีนอย่างมาก และมีปัญหาในการหาครูผู้สอนที่ขาดช่วงไปในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งเป็นโรงเก็บสินค้าของเรือสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณจอดตามท่าแถบคลองสานบริเวณตลาดน้อยแถบอนุวงศ์ ถนนทรงวาด ซึ่งเคยเป็นย่านท่าเรือสินค้าก่อนการสร้างท่าเรือคลองเตย ทำให้คนจีนที่เข้ามาเมืองไทยหางานแรกๆ โดยการขายแรงงานแบกสินค้าตามโรงเก็บสินค้าต่างๆ จึงมีผู้คนอยู่แถบนี้เป็นจำนวนมาก
สำเพ็งกลายเป็นย่านการค้าใหญ่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นศูนย์การค้าสำคัญของกรุงเทพฯ ที่ประชาชนสามารถซื้อสิ่งของได้ตั้งแต่ของใช้ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยโถโอชาม ภาชนะและของกินเกือบทุกชนิด เช่น ผักผลไม้สด ผลไม้แห้ง ของดอง ยาจีน ผ้าแพรพรรณต่างๆ ทองรูปพรรณ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ลงน้ำมัน เครื่องใช้ในการศึกษาเล่าเรียน
เครื่องมือทำจากเหล็กและเครื่องยนต์เรือ สินค้าที่ไม่อาจหาได้จากแหล่งอื่น โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากเมืองจีน เป็นแหล่งขายสินค้าทั้งปลีกและส่ง จนนายบุศย์ที่แต่ง “นิราศสำเพ็ง” บรรยายบรรยากาศของการซื้อหาของในตลาดอย่างเห็นภาพว่า
“ชมตลาดแถวทางที่วางขาย ทั้งเครื่องแก้วเครื่องขวัญพรรณราย
ดูเหลือหลายที่จะจำทำสารา คนควักไขว่ไปมาเที่ยวหาของ
บ้างขึ้นล่องอึงอื้อเที่ยวซื้อหา ที่ต่อตกยกให้ได้ราคา
สาวแม่ค้านวลนางสำอางกาย นึกรักอยากเกี้ยวเขาเราก็แก่
ก็ได้แต่แลโลมนางโฉมฉาย ยืนภิรมย์ชมชื่นกลืนน้ำลาย
น่าแค้นกายไม่ควรด่วนชรา ฯ”
ถนนสำเพ็งยังมีธุรกิจให้บริการทางเพศเป็นที่ขึ้นชื่ออีกด้วย ซึ่งน่าจะสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงฯ “สุนทรภู่” บรรยายไว้ในนิราศเมืองแกลงกล่าวถึงย่านสำเพ็งว่า
เมื่อเดินทางมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดสามเพ็งก็จะเห็น “เก๋ง” หรืออาคารหมู่ตึกปลูกอยู่ริมน้ำและเรือนแพ และเป็นในยามค่ำคืนสำเพ็งก็ยังมี “....นางจ้างประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง” อันหมายถึงมี “นครโสเภณี” ซึ่งเป็นคำเก่าที่ใช้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาอันหมายถึงแหล่งสถานบริการทางเพศ ย่านสำเพ็งจึงถูกเห็นเป็นแหล่งเที่ยวผู้หญิงโสเภณีที่คึกคักและเป็นที่รู้จักของคนในพระนครและยังปรากฏบันทึกถึงความเป็นย่านโสเภณีในอีกหลายแหล่ง
จนเมื่อเมื่อปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการออก “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก ๑๒๗, พร้อมด้วยประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรคในกรุงเทพฯ และตามหัวเมือง และประกาศกระทรวงมหาดไทย” หรือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ตอนหนึ่งมีความว่า “ต้องโคมแขวนไว้หน้าโรงเป็นเครื่องหมาย…” เพื่อง่ายต่อการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นโคมสีอะไร แต่กลายเป็นใช้การแขวนโคมกระจกสีเขียว จึงแขวนโคมเขียวกันทั่วไป
ชาวบ้านเรียกโรงหญิงนครโสเภณีในสมัยนั้นว่า “โรงโคมเขียว” และเรียกหญิงนครโสเภณีว่า “หญิงโคมเขียว” ไปด้วย กฎหมายฉบับนี้กำหนดรายละเอียดอีกว่าผู้ที่จะเป็นนายโรงหญิงนครโสเภณีได้ จะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อนจึงจะตั้งโรงหญิงนครโสเภณีได้
นายโรงต้องทำบัญชีหญิงโสเภณีที่มีอยู่ประจำและเข้ามาอยู่ใหม่ และห้ามรับหญิงที่ไม่มีใบอนุญาตและเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ห้ามกักขังและทำสัญญาผูกมัดหญิงนครโสเภณี ตลอดจนห้ามไม่ให้ล่อลวงหญิงที่ไม่สมัครใจเป็นหญิงนครโสเภณีอีกด้วย ซึ่งใช้สืบต่อกันมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเปลี่ยนมาใช้ “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ และเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙ จนถึงปัจจุบัน
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา