15 ธ.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
วัดสามพระยา-บางขุนพรหม
แถบวัดสามพระยาเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ทางเหนือปากคลองบางลำพูขึ้นมา บริเวณนี้เรียกกันตามชื่อวัดสามพระยาเดิมที่ชื่อวัดบางขุนพรหมว่าคลองบางขุนพรหมหรือคลองวัดสามพระยาก็เรียกกัน
ฝั่งนี้ตรงข้ามกับบางยี่ขันทางฝั่งธนบุรีที่เคยเป็นสวนเงาะชั้นดีที่ขยายพันธ์ุไปปลูกยังจันทบุรีและสวนผลไม้ขึ้นชื่อซึ่งเสียอากรสมพัตสรจำนวนไม่น้อย และมีวังเจ้าลาวครั้งเจ้าอนุวงศ์เคยมาประทับและเชื้อพระวงศ์ส่วนหนึ่งประทับอยู่ต่อมา ปัจจุบันพบเพียงแนวกำแพงวังส่วนหนึ่ง บางยี่ขันยังเคยเป็นที่ตั้งของโรงเหล้าและโรงสุราบางยี่ขันริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยุคหนึ่งผู้คนมักข้ามฟากไปมาเพื่อทำงานที่โรงสุรานี้ก่อนจะถูกประมวลจนกลายเป็นโรงงานสุราของเอกชนและย้านสถานที่โรงงานไปตั้งที่อื่น
คลองบางขุนพรหมหรือคลองวัดสามพระยานั้นเป็นคลองกว้างใหญ่ และปลายคลองแคบลงและข้ามผ่านถนนสามเสนออกไปยังที่สวนบริเวณวัดเอี่ยมวรนุชและวัดใหม่อมตรสก่อนที่จะถูกถมเรียกว่า “ถนนพายัพ” ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิติขจร
1
ปากคลองบริเวณนี้ด้านเหนือเรียกว่า “ท่าเกษม” เคยมีบ้านเรือนไม้สักชั้นเดียว ปลูกยื่นลงไปในแม่น้ำชื่อ “เรือนมัจฉาสุวรรณ” อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับโรงงานสุราบางยี่ขัน เรียกว่า “บ้านท่าเกษม” พื้นที่กว้าง ๑๓ ไร่ อยู่ริมถนนวิสุทธิกษัตริย์ของเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งอยู่อาศัยหลังจากขายบ้านนรสิงห์หรือทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบันให้กับรัฐบาลและต่อมาจึงขายบ้านและที่ดินบริเวณนี้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย
ถัดจากนี้คือถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่เริ่มจากถนนราชดำเนินนอก จนถึงวงเวียนบางขุนพรหมใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งร่วมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ พระขนิษฐาร่วมพระชนกพระชนนีซึ่งสิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์
ถนนนี้ถือเป็นการรวมกันตัดถนนกับราษฎรเพื่อทำให้เกิดความเจริญแก่พื้นที่ด้วย และต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตัดถนนจากวงเวียนบางขุนพรหม ผ่านชุมชนบางขุนพรหมจนถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนด้านเหนือของถนนนี้คือ “วังบางขุนพรหม” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โดยได้รับพระราชทานที่ริมแม่น้ำที่ตำบลบางขุนพรหม ฝั่งตรงข้ามกับคลองวัดสามพระยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ พระตำหนักออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน “มาริโอ ตามาญโญ”
วังบางขุนพรหมยังใช้เป็นที่จัดงานออกมหาสมาคมและสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งเป็นสถานที่ให้ครูชาวต่างประเทศใช้จัดสอนวิชาต่างๆ รวมทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากลให้กับพระธิดาและเจ้านายฝ่ายในของวังอื่นๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองกรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้แปรสถานไปประทับ ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์
พ.ศ. ๒๔๘๘ ธนาคารแห่งประเทศไทยเช่าวังบางขุนพรหมเป็นที่ทำการธนาคารจากกรมธนารักษ์ และต่อมาจึงซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดโดยแลกกับบ้านมนังคศิลา และปัจจุบันทั้งสองฝั่งของถนนวิสุทธิกษัตริย์หรือถนนท่าเกษมในอดีตช่วงนี้เป็นพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ละแวก “บางขุนพรหม” นี้มีที่มาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี “พระยาราชสงคราม” ซึ่งเป็นขุนนางเชื้อสายมอญตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ “บ้านลาน” มีภรรยาชื่อลมุน และมีบุตรธิดา ๔ คน คือ นายตรุษ นายสารท หญิงสุดใจ หญิงพวา มีอาชีพเป็นผู้ควบคุมดูแลจัดการให้คนงานปลูกต้นลานซึ่งผูกขาดจากหลวง โดยมีแหล่งปลูกต้นลานอยู่ที่บ้านบางตะไนย์ นนทบุรี
ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ “หลวงวิสุทธิ์โยธามาตย์ (ตรุษ)” ผู้เป็นบุตรพระยาราชสงครามขุนนางเชื้อสายมอญพร้อมด้วยญาติ ร่วมกันยกที่ดินพร้อมทั้งบ้านเรือนบริเวณเหนือปากคลองบางลำพูของ “ขุนพรหม (สารท)” ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งเคยเป็นนายช่างร่วมควบคุมการก่อสร้างพระมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี ตามพระบรมราชโอการและได้เสียชีวิตลงด้วยไข้ป่า
อุทิศถวายเป็นวัดเพื่อเป็นผลบุญและเป็นอนุสรณ์แก่ขุนพรหม (สารท) แล้วตั้งชื่อว่า “วัดบางขุนพรหม” “บ้านลาน” แต่เดิม จึงได้ถูกเปลี่ยนมาเรียกเป็น "บางขุนพรหม" ในเวลาต่อมา
จนมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดบางขุนพรหมแห่งนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ทั้งขุนพรหม (สารท) ไม่มีทายาทสืบสกุล ดังนั้น พระยาราชสุภาวดี (ขุนทอง) พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และพระยาเทพอรชุน (ทองห่อ) ซึ่งเป็นบุตรของนางพวา น้องสาวคนสุดท้องของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สารท) หลานของขุนพรหมทั้ง ๓ คน จึงพร้อมใจกันปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมจนสำเร็จบริบูรณ์ แล้วน้อมเกล้า ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร เห็นว่าวัดบางขุนพรหมที่ปฏิสังขรณ์ใหม่ก่อสร้างได้อย่างแข็งแรงงดงาม จึงโปรดเกล้าฯ รับขึ้นไว้ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อพระอารามหลวงในปี พ.ศ. ๒๓๖๖ พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสามพระยาวรวิหาร”
ในคำบอกเล่าสืบต่อกันมากล่าวว่าผู้สร้างวัดสามพระยา นอกจากพระยาทั้งสามแล้วยังมีอีกท่านหนึ่ง คือ “พระยาเกษตรรักษา (บุญชู)” ซึ่งเป็นน้องเล็กของพระยาทั้งสาม แต่ในเวลาที่สร้างวัดนั้น ยังมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระพิพิธโภไคย” จึงไม่ปรากฏชื่อในนามของผู้สร้างวัด มีบ้านเรือนอยู่กับครอบครัวบริเวณใกล้กับวัดสามพระยาและได้อุปถัมภ์บำรุงวัดตลอดมาจนถึงบุตรหลาน
พระเทพราชแสนยา (แม้น บุณยเกศานนท์) หลานของพระยาเกษตรรักษา (บุญชู) เป็นผู้เดียวที่ยังคงอยู่บ้านเดิมติดกับวัดสามพระยาจนกระทั่งถึงแก่กรรมและได้ยกทรัพย์สมบัติถวายวัดสามพระยาเป็นที่ดิน ๔ แปลง
การเป็นขุนนางที่สามารถสร้างและบูรณะวัดจนเป็นวัดชั้นพระอารามหลวงได้นั้น ควรต้องใช้ทุนทรัพย์มาก กิจการค้าใบลานที่บางขุนพรหมจึงถือว่าเป็นการสร้างรายได้มหาศาลให้กับตระกูลของขุนพรหมและคนบ้านลานในช่วงต้นกรุงฯ และในเวลาต่อมาทีเดียว
ที่วัดสามพระยานั้น พระอุโบสถถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อย่างชัดเจน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนไม่มีช่อฟ้าใบระกา หลังคาลด ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องลอนเคลือบสีแบบจีน ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นดอกพุดตาน บานประตูหน้าต่างเขียนลายลดน้ำ ลายพันธุ์พฤกษาแบบจีน เชิงราวบันไดตั้งตุ๊กตาหินรูปสิงโตแบบจีน
ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนลายโต๊ะเครื่องบูชา กรอบหน้าต่างเขียนสีรูปดอกและใบบัว มีภาพเขียนสีลายดอกพุดตานและผีเสื้อ ลายนก ดอกไม้และมังกร ที่บานประตูเขียนเป็นรูปเสี้ยวกาง คล้ายกับศิลปะตามวัดที่สร้างในครั้งรัชกาลนี้อีกหลายแห่ง
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา