23 ธ.ค. 2022 เวลา 12:39 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน Roopkund Lake ทะเลสาบโครงกระดูกมนุษย์
เมื่อเห็นภาพทางด้านบนทุกคนเห็นอะไรกันบ้าง หลายคนน่าจะเห็นเหมือนกันคือมีหัวกะโหลก และกระดูกมนุษย์วางอยู่บนก้อนหิน ท่ามกลางภูเขาหิมะ และสภาพอากาศที่ดูหนาวเย็น
แต่ที่ทุกคนไม่เห็นคือ ถ้ามองออกมาในมุมกว้างขึ้น ทุกคนจะได้พบกับกองกระดูกมนุษย์ที่กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ รอบ ๆ ทะเลสาบขนาดเล็กที่ถูกโอบล้อมไปด้วยเทือกเขาหิมาลัยอันงดงาม ที่นี่คือทะเลสาบ Roopkund ที่อยู่ในตอนเหนือของประเทศอินเดีย
กระดูกมนุษย์รอบ ๆ บริเวณทะเลสาบ Roopkund (Source: Pinterest)
ถ้าทะเลสาบแห่งนี้อยู่ใกล้กับเมือง หรือหมู่บ้าน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร แต่ทะเลสาบแห่งนี้อยู่ห่างจากหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดถึง 50 กิโลเมตร และต้องใช้เวลาเดินเท้าถึง 5 วัน ขึ้นลงภูเขา และร่องเขาต่าง ๆ กว่าจะเดินทางมาถึง
ทำไมที่นี่ถึงมีโครงกระดูกมนุษย์มากมายขนาดนี้ พวกเขาคือใคร พวกเขามาจากไหน และมาทำอะไรที่นี่ และที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขาพบจุดจบอย่างไร ไปตามหาคำตอบกันใน Kang’s Journal ตอนนี้กันครับ
ทะเลสาบ Roopkund (Source: Pinterest)
ทะเลสาบ Roopkund
ทะเลสาบ Roopkund หรืออีกชื่อหนึ่งคือทะเลสาบโครงกระดูก (Skeleton Lake) เป็นทะเลสาบที่เกิดจากธารน้ำแข็ง (Glacier) ตั้งอยู่ในรัฐอุตตราขัณฑ์ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย บริเวณแนวเขาตรีศูล ส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย โดยคำว่า Roopkund เป็นภาษาท้องถิ่นแปลว่า สวยงาม
รัฐอุตตราขัณฑ์อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ที่ตั้งของทะเลสาบ Roopkund (Source: wikipedia)
ทะเลสาบแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาขนาดเล็ก ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาหิมะสูง และธารน้ำแข็ง ที่ระดับความสูงประมาณ 5,000 เมตร หรือประมาณ 16,500 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเกือบเทียบเท่ากับความสูงที่เครื่องบินโดยสารใบพัดทำการบิน
ตลอดระยะเวลา 8-10 เดือนต่อปี ทะเลสาบแห่งนี้จะมีสภาพเป็นน้ำแข็ง และอีก 2-4 เดือนที่เหลือ น้ำในทะเลสาบ และธารน้ำแข็งรอบ ๆ จะละลาย เผยโฉมให้เห็นน้ำใสสะอาด และพื้นทะเลสาบ โดยขนาดของทะเลสาบจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40 เมตร และลึกประมาณ 3 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละปี
ในช่วงเวลา 2-4 เดือนต่อปี น้ำในทะเลสาบจะละลาย เผยโฉมให้เห็นทะเลสาบอันงดงาม (Source: https://www.traveltourguru.in)
การค้นพบอันน่าตื่นตะลึง
ปี 1942 เป็นปีที่โลกกำลังร้อนระอุด้วยไฟแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 และแน่นอนว่าอินเดีย ในฐานะอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ก็ต้องเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยเหลือเจ้าอาณานิคม และอินเดียยังถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ญี่ปุ่นต้องการจะยึดเอามาเป็นของตนเองให้ได้
ทหารอินเดีย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (Source: Twitter)
อย่างไรก็ตาม ดินแดนหิมาลัยอันห่างไกลทางตอนเหนือของประเทศอินเดียอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก ที่นี่คือบริเวณที่เต็มไปด้วยภูเขาหิมะสูงเสียดฟ้า และยากต่อการเดินทาง ใครที่หลงเข้าไปในเทือกเขาเหล่านี้โดยปราศจากคนนำทาง แทบจะไม่มีโอกาสรอดชีวิตกลับมาได้เลย
หนึ่งในเทือกเขาเหล่านี้คือเทือกเขาตรีศูล สถานที่แห่งนี้แทบจะไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เนื่องจากอากาศอันหนาวเย็น และสภาพภูมิประเทศที่แสนทุรกันดาร ทุรกันดารขนาดที่ว่ามีดอกไม้เพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่สามารถเติบโตในบริเวณนี้ได้
เทือกเขาตรีศูล ที่ตั้งของทะเลสาบ Roopkund (Source: https://www.thousandwonders.net/Trisul)
หนึ่งในดอกไม้เหล่านั้นคือดอก Brahman Kamal ซึ่งสามารถเติบโตได้ในเทือกเขาสูง และจะบานยามค่ำคืนเท่านั้น และดอกไม้ชนิดนี้นี่เองที่ H.K. Madhwal เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของอินเดีย ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลอังกฤษให้ไปเก็บตัวอย่างมาเพื่อทำการศึกษา
ดอก Brahman Kamal ดอกไม้หายาก ในแถบเทือกเขาหิมาลัยของอินเดีย (Source: https://curlytales.com)
ในเดือนกันยายน 1942 Madhwal และเพื่อนของเขา พร้อมกับไกด์นำทางท้องถิ่น ตัดสินใจออกเดินทางจากหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อค้นหาพืชหายากชนิดนี้ในบริเวณเทือกเขาตรีศูล การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะแม้จะเป็นช่วงฤดูร้อน แต่อากาศในบริเวณนี้ก็ยังหนาวเย็นอยู่ โดยอาจจะมีอุณหภูมิ 14-15 องศา ในเวลากลางวัน และลดลงเป็นอุณหภูมิติดลบในยามค่ำคืน
1
และที่ยากที่สุดคือเรื่องของสภาพอากาศ เพราะอากาศบริเวณภูเขาเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก แม้จะเป็นฤดูร้อน พายุหิมะ ลูกเห็บ ฝน และหมอกหนา ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยปราศจากซึ่งการเตือนใดใด
อากาศในบริเวณเทือกเขาตรีศูลที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตอดเวลา (Source: https://www.thousandwonders.net/Trisul)
ทะเลสาบแห่งความสยดสยอง
หลังจากเดินทางมาเป็นเวลาเกือบ 4 วัน ทางทีมสำรวจมองขึ้นไปบนท้องฟ้า และเห็นว่ามีกลุ่มเมฆฝนก้อนใหญ่ กำลังจะพัดผ่านพวกเขา ทุกคนจึงตัดสินใจเข้าไปหลบในซอกหินแห่งหนึ่งที่อยู่ข้างทางทันที แต่หารู้ไม่ว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้พวกเขาได้พบกับหนึ่งในปริศนาดำมืดครั้งใหญ่ที่สุดของโลก
เมื่อเมฆฝนผ่านพ้นไป พวกเขาตัดสินใจเดินตามซอกหินเข้าไปเรื่อย ๆ ภาพตรงหน้าของพวกเขาก็ปรากฎสิ่งที่ไม่คาดคิดออกมา ซอกหินค่อย ๆ เปิดกว้างออก เผยให้เห็นหุบเขาขนาดย่อม ๆ ที่เต็มไปด้วยหินเล็กใหญ่มากมาย และตรงกลางหุบเขาคือทะเลสาบน้ำใสแจ๋ว ขนาดไม่ใหญ่ เหมาะกับการลงไปพักผ่อนเป็นอย่างมาก
ทะเลสาบ Roopkund (Source: bbc)
ทางทีมสำรวจรีบมุ่งหน้าไต่ตามแนวเขาที่เต็มไปด้วยก้อนหินลลงไปยังทะเลสาบเบื้องล่างทันที บางทีอาจจะมีดอกไม้ที่พวกเขากำลังตามหาอยู่ขึ้นอยู่ริมทะเลสาบก็เป็นได้ แต่หลังจากการไต่อันแสนทุลักทุเล ภาพที่พวกเขาเห็นตรงหน้ากลับกลายเป็นความสยดสยอง ที่ทำให้ขนบนตัวของพวกเขาลุกขึ้นพร้อม ๆ กัน
1
ตรงหน้าของพวกเขาเต็มไปด้วยซากโครงกระดูกของมนุษย์ ชิ้นส่วนของกระดูกมากมายกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ ร่างบางร่างยังมีเศษเนื้อที่กำลังเน่าเปื่อยติดอยู่ เสื้อผ้า ผม ฟันของร่างผู้เสียชีวิตบางร่างก็ยังอยู่ครบ หัวกระโหลกมากมายจ้องมาที่พวกเขาด้วยดวงตากลวงโบ๋ ประดุจดั่งจะถามพวกเขาว่า เข้ามาสถานที่แห่งนี้ทำไม หรือในทางกลับกัน พวกเขาอาจจะดีใจที่ในที่สุดก็มีคนมาเจอพวกเขาซักที
กระดูกมนุษย์บริเวณรอบทะเลสาบ Roopkund (Source: https://www.balipuspanews.com)
ไกด์นำทางชาวท้องถิ่น ถึงกับร้องตะโกนออกมาด้วยความหวาดกลัว ก่อนที่จะวิ่งหนีกลับขึ้นไปทันที แต่ Madhwal และเพื่อนร่วมทีมบางคน ตัดสินใจที่จะลงไปสำรวจเพิ่มเติม
จากการนับจำนวนคร่าว ๆ Madhwal สรุปว่าน่าจะมีร่างผู้เสียชีวิตประมาณ 200 ร่างอยู่ในบริเวณทะเลสาบแห่งนี้ สภาพศพบางศพยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์เนื่องมาจากอากาศอันหนาวเย็น และหิมะ ที่คอยรักษาสภาพศพของพวกเขาเอาไว้ไม่ให้ย่อยสลาย ประกอบกับในบริเวณนี้มีความทุรกันดาร เลยไม่มีสัตว์กินเนื้ออาศัยอยู่
กระดูกมนุษย์มากมายกระจายอยู่รอบ ๆ ทะเลสาบ (Source: national geographic)
แต่ในเวลาเพียงไม่นาน เมฆฝนก้อนใหม่ก็เริ่มที่จะเคลื่อนที่เข้ามาอีกครั้ง พวกเขาจึงตัดสินใจรีบเดินทางออกจากบริเวณทะเลสาบทันที
เมื่อกลับมาถึงฐานที่พัก Madhwal รีบรายงานเรื่องนี้ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แน่นอนว่าทุกคนต่างก็มีคำถามเหมือน ๆ กันคือ โครงกระดูกพวกนั้นไปอยู่ที่นั่นได้อย่างไร พวกเขาไปทำอะไรที่นั่น และที่สำคัญที่สุด พวกเขาเป็นใคร
1
มีข้อสันนิษฐานในตอนแรกว่าร่างเหล่านั้นคือศพของทหารญี่ปุ่น ที่เข้ามาสำรวจหาเส้นทางเพื่อเข้าโจมตีกองทัพอังกฤษในประเทศอินเดีย แต่ไม่นานทฤษฎีก็ตกไป เป็นไปไม่ได้เลยที่ทหารญี่ปุ่นที่มีหน้าตาแตกต่างจากคนท้องถิ่น จะเดินทางผ่านเข้ามาในบริเวณนี้ได้เป็นกองร้อย โดยที่ไม่มีใครรู้เรื่องเลย มิหนำซ้ำสภาพศพก็ดูจะอยู่ตรงนั้นมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ใช่ศพที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อเร็ว ๆ นี้
2
ทะเลสาบ Roopkund มองจากด้านบน (Source: gettyimages)
มีการส่งเจ้าหน้าที่กลับไปสำรวจบริเวณทะเลสาบอีก 1 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้พวกเขาได้นำเศษผ้า และเครื่องใช้ที่ทำจากไม้ติดมือกลับมาด้วย และมีการสันนิษฐานคร่าว ๆ ว่าคนเหล่านี้น่าจะเสียชีวิตมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 100 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้รัฐบาลอังกฤษ มีเรื่องด่วนกว่าที่ต้องทำคือการเอาชนะสงคราม ดังนั้นเรื่องของทะเลสาบปริศนาแห่งนี้จึงต้องถูกเก็บพับไปก่อน รอวันที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
1
เรื่องราวจากชาวบ้าน
แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวตะวันตก แต่สำหรับบรรดาชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ หลายคนรู้เรื่องราวของทะเลสาบ Roopkund เป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุด พวกเขารู้ด้วยว่าโครงกระดูกเหล่านั้นคือใคร เพียงแต่พวกเขาเลือกที่จะไม่พูดถึงเท่านั้นเอง
ตามเรื่องเล่าพื้นบ้าน และบทเพลงพื้นเมืองของชาวบ้านในแถบนั้น ได้มีการกล่าวถึงเทพธิดาแห่งขุนเขาองค์หนึ่งนามว่า นันทาเทวี ซึ่งเป็นร่างจำแลงของพรนางปารวตี ชายาของพระศิวะ เทพแห่งการทำลายล้าง พระนางเป็นลูกของเทพแห่งขุนเขา และเป็นมารดาของพระพิฆเนศที่คนไทยเคารพนับถือ
พระนางนันทาเทวี พระศิวะ และพระพิฆเนศ (Source: Pinterest)
พระนางปารวตีได้รับการนับถือให้เป็นเหมือนกับพระแม่ธรณี ผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งบนโลก ซึ่งนั่นแปลว่าเธอจะสามารถรังสรรค์สิ่งต่าง ๆ รวมถึงทำลายผู้ที่มาลบหลู่เธอได้ด้วยเช่นกัน คนไทยอาจจะรู้จักเทพองค์นี้ในนาม พระอุมา
เรื่องเล่ามีอยู่ว่า ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 1000 ปีก่อน พระนางนันทาเทวี ได้เดินทางมายังดินแดนในแถบนี้ เพื่อมาเยี่ยมกษัตริย์นามว่า กษัตริย์จาซิวาลและราชินี แต่กษัตริย์กลับไม่ได้ให้การต้อนรับขับสู้ที่เหมาะสม พระนางจึงได้สาบดินแดนแถบนี้ ให้พบเจอแต่ความแห้งแล้ง และโรคระบาด จากนั้นเธอก็จากไป อาศัยอยู่ในภูเขาอันห่างไกล
พระนางปารวตีได้รับการนับถือให้เป็นเหมือนกับพระแม่ธรณี ผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งบนโลก (Source: https://thegoddessgarden.com)
เมื่อเวลาผ่านไป ดินแดนในบริเวณนี้ก็ประสบแต่ความโชคร้าย และประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก กษัตริย์ และเหล่าบรรดาขุนนางจึงตัดสินใจทำพิธีแสวงบุญด้วยการเดินทางไปยังภูเขาแห่งนั้น เพื่อไปขอขมาพระนางนันทาเทวี
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากษัตริย์พระองค์นี้จะไม่สามารถทอดทิ้งความลำบากได้ พระองค์ขนคนจำนวนมาก พร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวก รวมไปถึงพระชายาของพระองค์ที่กำลังตั้งครรภ์ไปด้วย ซึ่งการมีผู้หญิงเดินทางร่วมไปในขบวนแสวงบุญนั้น ถือเป็นเรื่องต้องห้าม
1
หลังเดินทางมาได้ระยะหนึ่ง ขบวนของพระองค์ตัดสินใจตั้งแคมป์เหนือบริเวณทะเลสาบ และที่พระองค์ทำคือ พระองค์เรียกเหล่าบรรดานางสนม จัดการแสดงร่ายรำให้พระองค์ชม ซึ่งถือเป็นการไม่ให้ความเคารพพระนางนันทาเทวีเป็นอย่างมาก นอกจากจะเอาผู้หญิงมาเข้าร่วมขบวนแสวงบุญแล้ว ยังมีการแสดงที่เห็นถึงเนื้อหนังของสตรีเพศอีก แต่ฟางเส้นสุดท้ายคือการที่พระชายาของพระองค์ให้กำเนิดบุตรของพระองค์ในคืนนั้น ทำให้ดินแดนของพระนางนันทาเทวีอันบริสุทธิ์ต้องแปดเปื้อน
1
มีเหล่าบรรดานางรำ เดินทางไปในขบวรแสวงบุญด้วย ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระนางนันทาเทวีอย่างมาก (Source: Pinterest)
เพื่อเป็นการลงโทษ พระนางนันทาเทวีจึงดลบันดาลให้เกิด “ลูกบอลเหล็ก” หล่นลงมาจากฟากฟ้า ลูกบอกเหล็กเหล่านั้นตกลงมากระแทกเหล่าบรรดาทหารและขุนนาง ไม่เว้นแม้แต่เด็ก และผู้หญิงในขบวน หลายคนเสียชีวิตคาที่ หลายคนที่วิ่งหลบพลาดตกเขาลงไปเสียชีวิตอยู่ที่บริเวณทะเลสาบ คนที่บาดเจ็บต่างก็เสียชีวิตไปในอากาศอันหนาวเหน็บ และพายุหิมะ และกลายไปเป็นโครงกระดูกรอบทะเลสาบ Roopkund ที่ Madhwal ค้นพบนั่นเอง
นันทาเทวี ในปัจจุบันเป็นชื่อของภูเขาในเทือกเขาตรีศูล และมีความสูงเป็นอันดับสองของอินเดีย (Source: tourmyindia)
ส่วนเหล่าบรรดานางสนมที่ออกมาร่ายรำนั้น ตามตำนานกล่าวว่าพระนางนันทาเทวี ลงโทษพวกนางด้วยการทำให้เกิดธรณีสูบ และส่งพวกนางไปยังนรกอเวจี ซึ่งในปัจจุบัน ภูเขาที่อยู่เหนือทะเลสาบ มีหลุมลึกอยู่ 5 หลุมด้วยกัน ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร
มาถึงตรงนี้ ทุกคนอาจจะเห็นว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเหมือนนิยายปรัมปรา ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ในปัจจุบันการแสวงบุญเพื่อไปทำความเคารพพระนางนันทาเทวี ซึ่งในปัจจุบันเป็นชื่อของภูเขาที่มีศาลของพระนางตั้งอยู่ ยังคงมีการจัดขึ้นทุก ๆ 12 ปี และถือเป็นพิธีแสวงบุญที่มีความสำคัญอย่างมากในศาสนาฮินดู
พิธีแสวงบุญ เพื่อศักการะพระนางนันทาเทวีที่จัดขึ้นทุก ๆ 12 ปี (Source: https://rishikeshdaytour.com)
เดินทางกลับอีกครั้ง
Madhwal ผู้ค้นพบทะเลสาบ Roopkund เป็นคนแรก ยังคงหมกมุ่น และไม่สามารถเอาภาพโครงกระดูกรอบทะเลสาบออกไปจากหัวของเขาได้ เขารอเวลาที่จะเดินทางกลับไปไขปริศนาของทะเลสาบแห่งนี้อีกครั้ง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง กว่าที่ทุกอย่างจะลงตัว และมีการสำรวจทะเลสาบแห่งนี้อีกครั้งก็เป็นเวลานานถึง 13 ปี ในปี 1955 Madhwal ได้บอกเรื่องนี้กับหัวหน้ากรมป่าไม้ของอินเดีย ซึ่งตัดสินใจที่จะเดินทางไปสำรวจทะเลสาบแห่งนี้ในเดือนกันยายน
หมู่บ้านวาน หมู่บ้านสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าสู่การเดินทาง 5 วันสู่ทะเลสาบ Roopkund (Source: https://www.euttaranchal.com)
ขอพูดถึงการเดินทางไปยังทะเลสาบแห่งนี้ซักเล็กน้อยนะครับว่าเป็นอย่างไร ก่อนอื่นทีมสำรวจจะต้องเดินทางขึ้นเขา ผ่านทางลูกรังและเขาสูง มายังหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดที่มีชื่อว่า วาน ที่นี่จะเป็นจุดสุดท้ายที่ทุกคนจะได้พักผ่อนเพื่อเตรียมเสบียง หาลูกหาบ และไกด์นำทาง
จากนั้นทีมสำรวจจะต้องเดินทางขึ้นเขาผ่านป่าทึบ จนเมื่อได้ความสูงระยะหนึ่ง ทางจะเปิดโล่งออกสู่บริเวณพื้นราบที่เรียกว่า Bugyals บริเวณนี้จะเป็นทุ่งหญ้าสลับหิน กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ตลอดเส้นทางจะมีศาลเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ และเมื่อเดินทางขึ้นลงเขามาสุดทาง ทีมสำรวจจะเจอกับยอดเขาสูงตระหง่านเบื้องหน้า และจะต้องปีนไต่ตามโขดหินขึ้นไป แล้วเดินทางไปยังช่องหินที่จะนำทุกคนไปยังทะเลสาบแห่งนี้
พื้นที่ราบที่เรียกว่า Bugyal ก่อนจะถึงทะเลสาบ Roopkund (Source: wikipedia)
จากนั้นทุกคนจะต้องเดินไต่ลงสันเขาที่เต็มไปด้วยโขดหินเพื่อไปยังทะเลสาบ การไต่โขดหินช่วงสุดท้ายนี่เอง ที่ต้องใช้ความระมัดระวังและโชคเป็นอย่างมาก เพราะพื้นบริเวณนี้จะลื่น และชัน จนมีคำกล่าวว่า “ถ้าก้าวพลาดเพียงครั้งเดียว คุณจะกลายไปเป็นอีกหนึ่งโครงกระดูกของทะเลสาบ Roopkund แน่นอน”
ถ้าก้าวพลาดเพียงครั้งเดียว คุณจะกลายไปเป็นอีกหนึ่งโครงกระดูกของทะเลสาบ Roopkund แน่นอน (Source: https://rishikeshdaytour.com)
ความยากลำบากของการเดินทางคืออากาศที่เบาบาง และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทีมของ Madhwal ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายจนในที่สุดพวกเขาก็เดินทางมาถึงทะเลสาบแห่งนี้อีกครั้ง แต่ทุกอย่างกลับดูแตกต่างออกไป เพราะดูเหมือนว่าโครงกระดูกหลายชิ้นถูกเคลื่อนย้าย และดูเหมือนว่าหลายชิ้นก็แตกหักมากกว่าเดิม
ใครเป็นคนเคลื่อนโครงกระดูกเหล่านี้ หรือโครงกระดูกเหล่านี้มีวิญญาณร้ายซ่อนอยู่ ซึ่งจะตื่นมามีชีวิตได้ในยามค่ำคืน
หัวกะโหลกบางหัวถูกเคลื่อนย้ายอย่างปริศนา (Source: Pinterest)
ใช้เวลาไม่นานทีมสำรวจก็ได้คำตอบ หินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งค่อย ๆ กลิ้งตกลงมาจากภูเขาเบื้องบน กระแทกใส่กองโครงกระดูกต่อหน้าต่อตาพวกเขา
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพื้นดินรอบบริเวณทะเลสาบมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหิมะ หิน หรือดินถล่ม ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ Madhwal และทีมรีบทำการสำรวจบริเวณนี้ทันที และการสำรวจครั้งนี้ทำให้ Madhwal ทราบว่ามีร่างอีกมากมายที่ถูกฝังอยู่ใต้เศษหิน ดังนั้นจำนวนของร่างของผู้เสียชีวิตจะต้องมากกว่า 200 ร่าง ที่เขาเคยคิดไว้ในตอนแรกอย่างแน่นอน
หัวกะโหลกบริเวณทะเลสาบ (Source: https://www.cityshor.com)
พวกเขารีบเก็บตัวอย่างเนื้อ และกระดูกจากร่างผู้เสียชีวิต รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั้งร่มโบราณ ไม้เท้าที่ทำมาจากไม้ไผ่ และอื่น ๆ แต่แล้วก็เกิดเรื่องขึ้น พวกเขาได้ยินเสียงก้อนหินกลิ้งลงมาจากภูเขาเบื้องบนหลายก้อน เคราะห์ดีที่พวกเขาหลบทัน แต่หินเหล่านั้นก็ได้ทำลายกระดูก และหัวกระโหลกไปอีกหลายชิ้น พวกเขาต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะครั้งหน้าถ้ามีอะไรกลิ้งลงมาจากด้านบนอีก พวกเขาอาจจะไม่โชคดีขนาดนี้
แต่ข้อมูลอีกอย่างที่ทีมสำรวจสังเกตได้คือ ร่างของผู้เสียชีวิตส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบ ใกล้กับบริเวณช่องหินที่เปิดเข้ามาสู่ทะเลสาบ ซึ่งนำไปสู่ทฤษฎีที่ว่าช่องหินตรงนี้ มีลักษณะคล้ายกับช่องลม ซึ่งลมจากภายนอกอาจจะพัดเข้ามาและถูกบีบจนมีความเร็วสูง คนที่เข้ามาอาศัยหลบพายุหิมะในนี้อาจจะโดนลมพัดจนต้องหนีออกมาบริเวณทะเลสาบ และแข็งตายก็เป็นได้
โครงกระดูกมนุษย์ที่อยู่บริเวณรอบทะเลสาบ (Source: wikipedia)
นี่อาจจะตอบคำถามว่าคนเหล่านั้นเสียชีวิตได้อย่างไร แต่นั่นก็ไม่ได้อธิบายอยู่ดีว่าคนเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน
ตำนานอีกเรื่อง
ในช่วงของการสำรวจในปี 1955 มีทฤษฎีเกิดขึ้นอีกหนึ่งทฤษฏีถึงที่มาของโครงกระดูกเหล่านี้ Madhwal สันนิษฐานว่าพวกเขาคือนักรบอินเดียที่สุลต่านเดลี ส่งมาให้ยึดครองดินแดนในแถบทิเบตในปี 1841 กองกำลังนี้มีความเก่งกล้าสามารถเป็นอย่างมาก และสามารถเข้ายึดครองดินแดนต่าง ๆ ตลอดเส้นทางโดยที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้
กองทัพแห่งสุลต่านเดลี (Source: https://objectiveias.in)
กองทัพทิเบตจึงตัดสินใจปรึกษานักบวชประจำดินแดน ซึ่งได้ให้เครื่องรางทองคำติดตัวทหารทุกคนไว้ และเมื่อทั้งสองกองทัพมาเผชิญหน้ากัน ปรากฏว่ากองทัพอินเดียพ่ายแพ้ไม่เป็นท่า และต้องหนีหัวซุกหัวซุนกลับไปยังอินเดีย และในตอนที่พวกเขากำลังผ่านพื้นที่ในบริเวณเทือกเขาตรีศูลนี่เอง พวกเขาได้พบเจอกับพายุหิมะ และลูกเห็บอันโหดร้ายจนมาเสียชีวิตที่ทะเลสาบ Roopkund แห่งนี้
ทฤษฎีนี้ดูมีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะมีบันทึกจริง ๆ ว่าในปี 1841 สุลต่านแห่งเดลีได้ส่งกองกำลังไปยึดดินแดนในทิเบต และพวกเขาก็เสียชีวิตท่ามกลางพายุหิมะ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการค้นพบอาวุธหนักเช่น ดาบหรือมีด ในบริเวณทะเลสาบเลย เป็นไปได้ยังไงที่กองทัพทั้งกองทัพจะไม่พกอาวุธเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ดังนั้นทฤษฎีนี้จะเป็นจริงหรือไม่ คงต้องรอการพิสูจน์เท่านั้น
กองทัพทิเบตในยุคปี 1880 (Source: https://tibarmy.hypotheses.org)
การค้นพบครั้งที่ 1
หลังจากทีมสำรวจเดินทางกลับมา เนื้อเยื่อและกระดูกถูกจัดส่งไปยังห้อง Lab ในอินเดีย เพื่อทำการหาอายุของร่างผู้เสียชีวิตด้วยวิธี Carbon Dating ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ค้นหาอายุของสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาเมื่อประมาณปี 1946 หรือ 1 ทศวรรษก่อนหน้า
หลักการของ Carbon Dating คือ ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีคาร์บอนอยู่ในตัว ซึ่งได้มาจากทั้งการกิน และการหายใจ หนึ่งในคาร์บอนที่มีอยู่ในบรรยากาศ จะเป็นกัมมันตรังสีที่มีชื่อว่า คาร์บอน-14 ซึ่งโชคดีที่เมื่อสิ่งมีชีวิตเสียชีวิตไปแล้ว คาร์บอน-14 ในเนื้อเยื่อจะแตกตัว และย่อยสลายไปในอัตราที่คงที่ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณย้อนกลับไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เสียชีวิตตอนไหน
การหาอายุของสิ่งมีชีวิตจากกระดูก ด้วยวิธี Carbon Dating (Source: https://www.sciencephoto.com)
และผลการทดสอบที่ออกมาปรากฏว่า กระดูกเหล่านั้นมีอายุประมาณ 800 ปี มิหนำซ้ำหลายชิ้นยังเป็นโครงกระดูกของผู้หญิง และเด็ก และหลังจากการสำรวจอีก 2-3 ครั้งต่อมา มีการค้นพบเครื่องครัว และลูกปัดที่เป็นเครื่องประดับสตรีอีก ดังนั้นตอนนี้ทฤษฎีที่ว่าโครงกระดูกเหล่านี้เป็นของกองทัพอินเดียในปี 1841 จึงอันตกไป ไม่มีทางที่เด็กและสตรีจะเดินทางมาร่วมในกองทัพอย่างแน่นอน
แต่การพบโครงกระดูกเด็ก และผู้หญิง รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ดูเหมือนจะสนับสนุนเรื่องเล่าของชาวบ้านเกี่ยวกับการแสวงบุญอันน่าเศร้า และที่สำคัญที่สุด หัวกระโหลกบางชิ้นยังมีร่องรอยชัดเจนว่าถูกของแข็งหล่นใส่ ซึ่ง “ลูกบอลเหล็ก” ที่พระนางนันทาเทวีส่งมาตามตำนานของชาวบ้านนั้น จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นหินที่ถล่มลงมา หรือลูกเห็บขนาดใหญ่นั่นเอง
ทฤษฎีอื่น ๆ
แน่นอนว่าหลังการตีพิมพ์ผลการตรวจสอบ ชาวตะวันตกหลายคนได้มีการคิดค้นทฤษฎีใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่ออธิบายที่มาของโครงกระดูก ซึ่งก็ล้วนมีความน่าสนใจทั้งสิ้น
ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าคนเหล่านี้อาจจะเป็นพ่อค้าที่เดินทางค้าขายระหว่างทิเบตและอินเดีย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าเส้นทางบริเวณนี้ทุรกันดารมาก และไม่ใช่เส้นทางค้าขายแต่อย่างใด มิหนำซ้ำในบริเวณรอบทะเลสาบ ไม่พบเจอสินค้าอะไรที่มีการค้าขายในสมัยนั้น หรือของมีค่าที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายเลย และยังไม่พบกระดูกสัตว์ด้วย เป็นไปไม่ได้ที่คาราวานของพ่อค้าจะเดินทางโดยไม่มีสัตว์ที่ช่วยในการบรรทุกสินค้า
ปกติกองคาราวานของพ่อค้า จะต้องมีวัตว์ร่วมเดินทางมาด้วย (Source: Kathmandu Post)
ทฤษฎีต่อมาคาดว่าสถานที่นี้ คือสถานที่กักกันโรค เวลามีโรคระบาด คนที่เป็นโรคจะถูกจับมาเพื่อปล่อยให้มาเสียชีวิตที่นี่ แต่จากการตรวจสอบเนื้อเยื่อ และโครงกระดูก พบว่าทุกคนมีสภาพร่างกายสมบูรณ์ ไม่ได้มีโรคภัยไข้เจ็บใดใด
ทฤษฎีสุดท้ายคือเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ เพื่อบวงสรวงอะไรบางอย่าง แต่โดยปกติเด็กและผู้หญิงจะไม่เข้ามายุ่งเรื่องพวกนี้ ดังนั้นทฤษฏีนี้จึงมีช่องโหว่อยู่
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของมนุษย์ต่างดาวว่าเป็นคนทำหรือไม่ ตัวเยติ สัตว์ประหลาดในตำนานของเทือกเขาหิมาลัยเป็นคนทำหรือไม่ และอื่น ๆ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวของการแสวงบุญที่ชาวบ้านเล่าขานกัน ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด
เยติ เป็นอีกหนึ่งทฤษฎีที่มีคนเสนอว่าคือผู้ที่ทำร้ายคนในบริเวณทะเลสาบ (Source: quora)
การท่องเที่ยวแบบไร้ความรับผิดชอบ
หลังปี 1955 ชื่อเสียงของทะเลสาบ Roopkund ก็กระจายไปทั่วโลก นักปีนเขาและนักผจญภัยหลายคนต่างเดินทางกันมายังทะเลสาบปริศนาแห่งนี้ และเนื่องจากรัฐบาลอินเดียยังไม่ได้มีการควบคุมอะไรที่จริงจัง ทำให้กระดูกหลายชิ้นถูกเคลื่อนย้าย วัตถุโบราณ ข้าวของเครื่องใช้ และกระดูกบางส่วนก็ถูกขโมย สร้างความเสียหายให้กับบริเวณทะเลสาบเป็นอย่างมาก
ตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวได้ทำลายสภาพแวดล้อมโดยรอบของทะเลสาบเป็นอย่างมาก (Source: https://travel.detik.com)
การสำรวจอีกครั้ง
มาถึงปี 1978 มีชาวอเมริกันคนหนึ่งนามว่า William Sax ที่รู้สึกสนใจเรื่องราวของทะเลสาบ Roopkund และตัดสินใจเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ แต่ปรากฏว่าระหว่างทาง เขาและทีมสำรวจ ต้องพบเจอกับพายุหิมะที่เลวร้าย และอากาศอันหนาวเหน็บ จนแทบจะเอาชีวิตรอดกลับมาไม่ได้ ว่ากันว่า William ต้องนอนในโรงพยาบาลนานถึง 10 วัน เพื่อฟื้นฟูร่างกายของตนเอง
William Sax นักมานุษยวิทยา ที่หลงใหลที่ในเรื่องของทะเลสาบ Roopkund (Source: researchgate)
แต่แทนที่จะตัดใจ ความตั้งใจที่จะไปยังทะเลสาบแห่งนี้ของเขายิ่งทวีมากขึ้นกว่าเก่า ต้องขอบอกก่อนว่า William Sax เป็นนักมานุษยวิทยา ที่จบจากมหาวิทยาลัยในอินเดีย ดังนั้นเขาจึงมีความตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะศึกษา และหาที่มาของคนเหล่านี้ให้ได้
และ William คือคนที่เชื่อในเรื่องเล่าของชาวบ้านแบบ 100% เพราะในทางมานุษยวิทยาแล้ว เรื่องเล่า เพลงพื้นเมือง และตำนานต่าง ๆ มักจะถูกอ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริง แต่มีการใส่สีสันลงไปให้เรื่องดูน่าสนใจขึ้น ดังนั้น William จึงตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่เคยมีชาวตะวันตกคนไหนทำมาก่อน
นั่นก็คือการเข้าไปใช้ชีวิตกับผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านในเทือกเขาหิมาลัย ใกล้ ๆ กับบริเวณทะเลสาบ Roopkund เขาใช้เวลาศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณี เรียนรู้ภาษาของชาวบ้าน ท่องจำเรื่องเล่า ตำนาน และบทเพลงพื้นบ้านจนจำได้ขึ้นใจ และที่สำคัญที่สุด เขาคือชาวต่างชาติคนแรกที่เข้าร่วมในพิธีแสวงบุญที่จัดขึ้นทุก ๆ 12 ปี
William Sax ทุ่มเทชีวิตในการศึกษาวัฒนธรรมท้องถื่นของชาวอินเดียในแถบเทือกเขาหิมาลัย (Source: facebook)
ทีมงานมืออาชีพ
และแล้วช่วงเวลาที่รอคอยของ William ก็มาถึง ในเดือนกันยายนปี 2003 National Geographic ได้ส่งทีมงานมืออาชีพที่ประกอบไปด้วยนักโบราณคดี นักชีววิทยา นักธรณีวิทยา และอื่น ๆ เพื่อเข้ามาทำสารคดีที่ทะเลสาบ Roopkund และหนึ่งในสมาชิกของทีมก็คือ William Sax ตัวแทนของนักมานุษยวิทยา
โครงกระดูกมนุษย์ รอบทะเลสาบ Roopkund (Source: wikipedia)
ในขณะที่ทีมงานชาวตะวันตกกำลังขมักเขม้นกับการเตรียมกล้อง และอุปกรณ์เดินทาง William ไปเข้าร่วมทำพิธีทางศาสนากับชาวบ้าน เขาสวดภาวนากับพระนางนันทาเทวี ให้การเดินทางครั้งนี้ราบรื่น และให้พวกเขาสามารถไขปริศนาของทะเลสาบแห่งนี้ให้ได้ซักที
การเดินทางไปยังทะเลสาบในปัจจุบัน ไม่ได้ลำบากเหมือนในสมัยก่อน เพราะมีนักเดินทางมากมายเดินทางมายังทะเลสาบแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1955 ทำให้เกิดเส้นทางการเดินที่ค่อนข้างชัดเจน มีการสำรวจจุดต่าง ๆ ที่ต้องใช้ความระมัดระวังไว้อย่างละเอียด แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือสภาพอากาศที่แทบจะคาดเดาไม่ได้นั่นเอง
บริเวณ Base Camp ก่อนเดินทางไปยังทะเลสาบ Roopkund ในวันที่มีพายุหิมะ (Source: https://rishikeshdaytour.com)
แต่เคราะห์ยังดีที่ สภาพอากาศในเดือนกันยายนยังพอมีรูปแบบอยู่บ้างนั่นคือ ในตอนเช้าอากาศมักจะสดใส เหมาะแก่การสำรวจ แต่พอถึงช่วงเวลาเที่ยง ๆ อุณหภูมิจะลดลง และลมจะพัดแรงขึ้นอย่างมาก และนั่นเป็นเวลาที่ทุกคนจะต้องรีบออกจากบริเวณทะเลสาบ ถ้าไม่อยากกลายเป็นร่างไร้วิญญาณอีกร่างของทะเลสาบแห่งนี้
และหลังจากเดินทางอย่างยากลำบากมาเป็นเวลานาน 5 วันพวกเขาก็เดินทางมาถึง Base Camp จุดนี้จะเป็นจุดพักสุดท้าย ก่อนที่ทีมสำรวจจะต้องเดินทางต่อไปอีก 3 ชั่วโมงเพื่อไปยังทะเลสาบ
บริเวณ Base Camp ก่อนเดินทางไปยังทะเลสาบ Roopkund (Source: bookmountaintours.com)
ในวันแรกที่ทีมสำรวจเดินทางมาถึง พวกเขาพบเจอกับกองกระดูกที่กระจัดกระจายไปทั่ว กว่า 50 ปีของการท่องเที่ยวที่ปราศจากการควบคุม ทำให้กระดูกหลายชิ้นถูกเคลื่อนย้าย หรือถูกนำมากองเอาไว้ ขยะของบรรดานักเดินทาง ผสมปนเปไปกับวัตถุโบราณจำนวนมาก แต่หลังจากสำรวจไปได้ไม่นาน หมอกหนาได้พัดเข้าปกคลุมบริเวณทะเลสาบ ทำให้ไม่สามารถทำการสำรวจอะไรต่อได้ ทางทีมจึงต้องเดินทางกลับ Base Camp พร้อมกับความผิดหวัง
ขยะขวดพลาสติก หนึ่งในสิ่งของแปลกปลอมที่ทำให้สภาพแวดล้อมรอบทะเลสาบเสียหาย (Source: abc.net.au)
วันที่สองก็มีพายุหิมะพัดโหมกระหน่ำ จนไม่สามารถเดินทางไปยังทะเลสาบได้ เป็นอีกวันที่ทุกคนผิดหวัง
แต่โชคดีที่ในวันที่ 3 เหมือนพระนางนันทาเทวีจะใจดีกับพวกเขา ดลบันดาลให้อากาศแจ่มใส ฟ้าเปิด เหมาะแก่การสำรวจเป็นอย่างยิ่ง ทีมสำรวจรีบลงไปยังบริเวณทะเลสาบทันที ที่นี่พวกเขาพยายามเก็บตัวอย่างกระดูก และเนื้อเยื่อเพิ่มเติม และยังมีการค้นพบข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ อีกมากมายทั้งเครื่องดนตรี ชิ้นส่วนของแก้ว รองเท้าหนังสัตว์ และหอกเหล็ก ซึ่งนี่คืออาวุธชนิดแรกที่มีการค้นพบในบริเวณนี้
ทางด้านซ้ายของภาพ เป็นรองเท้าหนังโบราณที่พบพร้อมกับบรรดาโครงกระดูกมนุษย์รอบบริเวณทะเลสาบ (Source: https://www.archaeology.wiki)
แต่ที่สำคัญที่สุดคือมีทีมสำรวจคนหนึ่งที่ไปพบกับวัตถุแข็งบางอย่างยื่นออกมาจากดินเบื้องล่าง อยู่หลังก้อนหินก้อนใหญ่ ทางทีมไม่รอช้า รีบขุดบริเวณรอบ ๆ วัตถุชิ้นนั้นอย่างระมัดระวัง และหลังจากขุดไปได้ไม่นาน พวกเขาก็พบว่าวัตถุชิ้นนั้นไม่ใช่อาวุธ ไม่ใช่เครื่องใช้ แต่มันคือชิ้นส่วนขาของมนุษย์ที่ล้มหน้าคว่ำอยู่ยื่นออกมา
และเมื่อพวกเขาขุดไปเรื่อย ๆ พวกเขาก็ได้ประจันหน้ากับร่างของผู้เสียชีวิตที่มีชิ้นส่วนทุกชิ้นอยู่ครบเกือบ 100% แถมบางส่วนยังมีชิ้นเนื้อติดอยู่อีก แถมด้านข้างยังมีร่างของผู้เสียชีวิตอีกร่างอยู่ด้วย ราวกับว่าทั้งสองกอดกันจนนาทีสุดท้ายของชีวิต
ทะเลสาบ Roopkund ในวันที่มีหมอกหนา (Source: http://www.slate.com)
ผลตรวจสอบครั้งที่ 2
เป็นอีกครั้งที่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ถูกส่งไปยังห้อง Lab ทั่วโลก โดยมาจากร่างทั้งหมด 5 ร่างด้วยกัน ต้องขอบอกก่อนว่ามาถึงตอนนี้ เทคโนโลยีเรื่อง Carbon Dating ได้พัฒนาไปไกลมาก มีการค้นพบว่าจริง ๆ แล้วปริมาณของคาร์บอน-14 ในแต่ละปีนั้น ไม่ได้คงที่ อาจจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศของโลกในปีนั้น ๆ ด้วย
โครงกระดูกมนุษย์รอบ ๆ ทะเลสาบ Roopkund (Source: forbes)
และเมื่อผลการตรวจสอบออกมา ทุกคนเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าร่างเหล่านั้นเป็นร่างของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงประมาณศตวรรษที่ 9 และทุกคนน่าจะเสียชีวิตพร้อม ๆ กัน ในเวลาเดียวกันจากพายุลูกเห็บ เพราะบางศพมีหลักฐานชัดเจนว่าโดนของแข็งบางอย่างตกใส่หัวอย่างรุนแรง
นอกจากนี้อีกเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา คือการตรวจหาเชื้อชาติจาก DNA ซึ่งเมื่อเอาชิ้นส่วนจากร่างทั้ง 5 ร่าง ไปตรวจสอบพบว่า พวกเขามีเชื้อสายเหมือนกับคนที่มาจากเอเชียใต้ แถบประเทศอินเดียและปากีสถาน และบางคนมาจากชนชั้นพราหมณ์ ชนชั้นปกครองในสมัยก่อน ในขณะที่บางคนมาจากชนชั้นรับใช้ เห็นได้จากการที่บริเวณกระโหลก มีรอยยุบที่เกิดจากการแบกของที่มีน้ำหนักมากไว้บนศีรษะเป็นเวลานานนั่นเอง
ผลการตรวจสอบหัวกะโหลกที่ค้นพบในบริเวณทะเลสาบ แสดงให้เห็นว่าร่างเหล่านี้ชนชั้นพราหมณ์ และคนรับใช้ (Source: ancient-origins.net)
การตรวจสอบยังระบุได้ค่อนข้างชัดเจนด้วยว่า ชนชั้นพราหมณ์นั้นน่าจะมาจากคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบ ในขณะที่บรรดาคนรับใช้เป็นคนที่มาจากพื้นที่ในเทือกเขาหิมาลัย ดังนั้นจึงอาจจะอนุมานได้ว่า ชนชั้นพราหมณ์ได้ว่าจ้างคนท้องถิ่น ให้เป็นไกด์นำทางและคนแบกของ เพื่อมาทำพิธีอะไรบางอย่างในบริเวณนี้นั่นเอง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยิ่งสนับสนุนเรื่องราวเล่าขานของชาวบ้านมากขึ้นไปอีก บทเพลงพื้นบ้านที่กล่าวถึงพิธีแสวงบุญน่าจะเป็นความจริง เพียงแต่นักวิทยาศาสตร์ต่างลงความเห็นว่าน่าจะเป็นขบวนแสวงบุญของคณะนักบวช มากกว่าที่จะเป็นขบวนของกษัตริย์ เนื่องจากไม่พบของมีค่า หรืออะไรที่บ่งบอกถึงราชวงศ์เลยแม้แต่น้อย
โครงกระดูกมนุษย์รอบ ๆ ทะเลสาบ Roopkund (Source: pinterest)
แต่ทฤษฏีนี้มีช่องโหว่เพียงข้อเดียวเท่านั้นคือ พิธีแสวงบุญ เพื่อไปเคารพพระนางนันทาเทวีที่จัดขึ้นทุก ๆ 12 ปีนั้น ได้รับการบันทึกไว้ว่าถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 12 แต่ร่างเหล่านี้เป็นร่างของคนที่เสียชีวิตไปในราวศตวรรษที่ 9 แล้วสรุปว่าพวกเขาไปทำอะไรบนเทือกเขากันแน่
ซึ่งในจุดนี้นักมานุษยวิทยาหลายคนลงความเห็นว่า อาจจะเป็นพิธีกรรมอะไรบางอย่างของคนในยุคนั้นที่ในปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว อาจจะเป็นการแสวงบุญรูปแบบหนึ่งที่คล้ายกับในปัจจุบัน เพียงแต่อาจจะมีการหยุดทำไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากความหายนะที่เกิดขึ้นกับผู้แสวงบุญชุดนี้ จนกระทั่งกลับมาทำใหม่อีกครั้งในศตวรรษที่ 12 นั่นเอง
ศาลที่บรรดานักแสวงบุญสร้างขึ้นระหว่างทาง (Source: bbc)
ปริศนาคลี่คลาย จริงหรือ?
ดูเหมือนว่าในที่สุด ปริศนาแห่งทะเลสาบโครงกระดูกก็ได้รับการเปิดเผยจนได้โครงกระดูกเหล่านี้เป็นของเหล่าบรรดานักแสวงบุญในศตวรรษที่ 9 ที่ต้องมาประสบพบเจอกับสภาพอากาศอันเลวร้าย โดยที่ไม่มีใครรอดชีวิตเลยซักคน
ปริศนาแห่งทะเลสาบ Roopkund ดูเหมือนจะได้รับการแก้ไขจริงหรือ (Source: wikipedia)
แต่แล้วในปี 2019 ก็เกิดการสำรวจที่เปลี่ยนโฉมหน้าของทะเลสาบแห่งนี้อีกครั้ง โดยในครั้งนี้มีการนำกระดูกจากร่างทั้งหมด 38 ร่างบริเวณทะเลสาบ มาทำการตรวจสอบอีกครั้ง ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความทันสมัยมากกว่าเดิม
ผลที่ออกมาสร้างความตื่นตะลึง และงงงันให้กับผู้ที่สนใจเรื่องของทะเลสาบแห่งนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากผลการตรวจสอบระบุว่าร่างทั้ง 38 ร่างนั้น ไม่ได้เสียชีวิตในเวลาเดียวกัน แต่มาจากการเสียชีวิตจาก 3 ช่วงเวลาด้วยกัน
โครงกระดูกมนุษย์รอบ ๆ ทะเลสาบ Roopkund (Source: pinterest)
การเสียชีวิตครั้งแรกเกิดขึ้นประมาณ 1000 ปีก่อน หรือประมาณศตวรรษที่ 7-10 โดยบุคคลที่เสียชีวิตในช่วงนี้มีเชื้อสายมาจากชาวเอเชียใต้ แถบอินเดียและปากีสถาน ซึ่งตรงกับการผลลการตรวจสอบเมื่อปี 2003 เพียงแต่ว่า พวกเขาไม่ได้เสียชีวิตในเวลาเดียวกันซะทีเดียว แต่อาจจะมีช่วงเวลาการเสียชีวิตที่กระจายออกไป โดยกินเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7-10
นั่นหมายความว่าถ้าทฤษฎีการแสวงบุญถูกต้อง การแสวงบุญอาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพียงแต่ในแต่ละครั้งก็อาจจะมีผู้เสียชีวิตบ้างประปรายนั่นเอง
แต่การเสียชีวิตอีก 2 ครั้งที่เหลือเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ในศตวรรษที่ 18-19 และที่สำคัญที่สุด DNA ของบุคคลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีเชื้อสายกรีก แถมเป็นชาวกรีกที่มาจากเกาะ Crete อีกด้วย ในตอนแรกนักวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อผลการตรวจสอบ จึงมีการนำตัวอย่างไปตรวจสอบลักษณะของอาหารที่พวกเขาทาน ซึ่งผลก็ยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตในกลุ่มนี้ทานอาหารคนละประเภทกับที่ชาวเอเชียใต้รับประทานอย่างสิ้นเชิง แต่ทานอาหารเหมือนกับคนกรีกทาน
ทหารกรีก ในช่วงศตวรรษที่ 19 (Source: Wikipedia)
ผลการตรวจสอบนี้นี่เองที่สร้างความงงงันให้กับนักวิทยาศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาทั่วโลก คนกรีกมาทำอะไรในดินแดนที่ห่างไกลขนาดนี้ เป็นไปได้ยังไงที่พวกเขาจะเดินทางเข้ามายังภูเขาอันห่างไกลในแถบนี้ โดยที่ไม่มีชาวบ้านรู้เรื่องเลย เพราะอย่าลืมว่าช่วงนั้นเป็นช่วงศตวรรษที่ 18-19 การบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่นี่กลับไม่มีข้อมูลที่บ่งบอกเลยว่ามีคนกรีกเข้ามาในดินแดนในแถบหิมาลัย
นอกจากนี้ยังมีอีกร่างหนึ่งที่เมื่อทำการตรวจสอบแล้ว มีเชื้อสายมากจากเอเชียอาคเนย์ เหมือนกับคนไทยเรานี่เอง ซึ่งเสียชีวิตไปพร้อม ๆ กับชาวกรีกเหล่านั้น
และถ้าทุกคนยังจำกันได้ มีการสรุปไปในปี 2003 ว่าผู้เสียชีวิต น่าจะเสียชีวิตจากพายุลูกเห็บ แต่จากร่าง 38 ร่างนั้น มีเพียง 6-7 ร่างเท่านั้น ที่หัวกระโหลกมีร่องรอยของการถูกของแข็งหล่นกระแทกใส่ ดังนั้นคนที่เหลือเสียชีวิตจากอะไรกันแน่
ผลการตรวจสอบเชื้อชาติของผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 38 ร่างจากรอบทะเลสาบ Roopkund  (Source: https://www.nature.com/articles/s41467-019-11357-9)
บทสรุป
William Sax ซึ่งในปัจจุบันเป็นหัวหน้าแผนกมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัย Heidelberg ในประเทศเยอรมันกล่าวไว้ว่า การปรากฎตัวของชาวกรีกในบริเวณนี้ไม่ “make sense” เลยแม้แต่น้อย แต่ก็มีอีกหลายคนที่พยายามออกมาหาข้อสรุปของที่มาของคนเหล่านี้
1
มีคนกล่าวว่าชาวกรีกเหล่านั้น อาจจะไม่ได้เป็นชาวกรีกที่เดินทางมาจากยุโรป แต่เป็นกลุ่มคนอิเอเชียใต้ที่มีเชื้อสายของชาวกรีกมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมาเข้าร่วมในพิธีแสวงบุญ แล้วเกิดเสียชีวิตลง แต่ที่น่าแปลกคือทำไมอาหารที่พวกเขาทานจึงเหมือนกับชาวกรีก มากกว่าชาวเอเชียใต้ ถ้าพวกเขาอยู่ในดินแดนนี้มานาน อาหารน่าจะต้องเหมือนอาหารที่คนอินเดียกินไม่ใช่หรือ?
บรรดาชาวกรีก เข้ามาทำอะไรในบริเวณนี้กันแน่ (Source: Wikipedia)
บางคนบอกว่าพวกเขาคือนักสำรวจที่เกิดชะตาขาด หรืออาจจะเป็นกลุ่มคนทางศาสนาที่มาหาสถานที่ฝังศพเพื่อประกอบพิธีบางอย่าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลยังคงไม่สามารถตอบข้อโต้แย้งเพียงหนึ่งเดียวได้ นั่นก็คือ ทำไมไม่มีบันทึกอะไรเกี่ยวข้องกับพวกเขาเลยแม้แต่น้อย
มีคนบอกว่าจริง ๆ แล้วผลการตรวจสอบที่ได้ในปี 2019 นำมาซึ่งคำถามมากกว่าคำตอบ ให้กับเรื่องราวของทะเลสาบแห่งนี้ด้วยซ้ำ ซึ่งก็ท่าจะเป็นเรื่องจริง
บางทีปริศนาของทะเลสาบโครงกระดูกแห่งนี้ คงจะต้องรอวันที่เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น เราจึงจะสามารถหาคำตอบได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นมาทำอะไรที่บริเวณแห่งนี้ และพวกเขาเสียชีวิตได้ยังไง ตอนนี้เราก็ได้แต่หวังว่าดวงวิญญาณของพวกเขาจะไปสู่ภพภูมิที่ดี และหวังว่าวันหนึ่ง โลกคงจะได้เรียนรู้เรื่องราวของพวกเขานั่นเอง
ปริศนาของทะเลสาบโครงกระดูกมนุษย์ คงจะต้องรอวันที่จะไขต่อไป (Source: nytimes)
จบไปแล้วนะครับ กับเรื่องราวของทะเลสาบ Roopkund หรือทะเลสาบโครงกระดูก ในปัจจุบันยังคงมีผู้คนที่ต้องการไขปริศนาของทะเลสาบแห่งนี้ นำตัวอย่างเนื้อเยื่อ และโครงกระดูก รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปทำการตรวจสอบอยู่
ส่วนในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวก็ยังสามารถเดินทางไปยังทะเลสาบแห่งนี้ได้อยู่ มีบริษัททัวร์มากมายที่ยินดีที่จะนำผู้ที่อยากรู้อยากเห็น เดินทางไปยังสถานที่แห่งนี้ โดยจะใช้เวลาทั้งหมด 7-10 วัน ด้วยสนนราคาประมาณ 5,000 ถึง 10,000 บาทต่อคน
ในปัจจุบันยังคงมีบริษัททัวร์ที่นำนักท่องเที่ยว มาเยี่ยมชมทะเลสาบแห่งนี้อยู่ (Source: http://www.slate.com)
โชคดีที่ทางการอินเดียได้เข้ามาช่วยจัดการ และออกกฎเพื่อกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าไปในบริเวณภูเขา เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และที่สำคัญ เพื่อเป็นการเคารพเหล่าบรรดาผู้เสียชีวิตที่บริเวณทะเลสาบ และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่ผมอยากจะนำเสนอในครั้งนี้ครับ
Podcast:
- Unexplained Mystery : The lake of skeletons
- Crime from the east : Skeleton Lake - Roopkund
โฆษณา