8 ธ.ค. 2022 เวลา 10:27 • กีฬา
#SSColumn
‘วาลิด เรกรากี’ ชายผู้สั่งการราชสีห์แห่งแอตลัส
โดย : เบียร์ หลังหนาม
เมื่อเทียบกับโค้ชฟุตบอลทีมชาติหลาย ๆ คนแล้ว ‘วาลิด เรกรากี’ มีเวลาในการเตรียมทีมน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เขาเพิ่งเข้ามารับหน้าที่เป็นนายใหญ่ให้กับ ‘ทีมชาติโมร็อกโก’ เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากที่ ‘วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช’ โค้ชคนเก่า มีความเห็นไม่ตรงกันกับสมาคมฟุตบอลโมร็อกโก จนในที่สุดก็ต้องแยกทางกันไป
ราชสีห์แห่งแอตลัส ไม่ใช่ทีมฟุตบอลที่น่าเกรงขามสำหรับชาวโลก ผสมโรงกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงภายในทีม หลายคนสร้างความเชื่อและบันทึกลงไปในเซรีบรัมทันทีว่า โมร็อกโกคืออีก 1 ทีมที่ได้โอกาสเข้าร่วมแต่ยากที่จะเข้ารอบ
1
เรกรากีไม่ได้เป็นโค้ชฟุตบอลที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง ชื่อของเขาเพิ่งมาถูกการค้นหาในอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มอีกไปถึง 100 วัน สิ่งที่น่าสนใจในตัวเรกรากีคือ เขาเป็นกุนซือที่สามารถพา ‘วีแดด คาซาบลานก้า’ สโมสรในโมร็อคโก คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศ และแชมป์สโมสรแอฟริกาในฤดูกาล 2021/2022 ที่ผ่านมา
แต่ดีกรีประมาณนี้ มันเพียงพอสำหรับการประสบความสำเร็จในรายการใหญ่อย่างฟุตบอลโลกได้แล้วหรือยัง ? … คำตอบของหลาย ๆ คนคือ “ไม่เห็นแวว”
เรกรากีรู้ดีว่าตัวเขามีเวลามากน้อยแค่ไหนในการเตรียมทีมลุยศึกฟุตบอลโลก การสร้างทีมขึ้นมาใหม่ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เป็นเรื่องที่บ้าบอเกินไป และการสานงานต่อจากโค้ชคนเก่าก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรจะทำ เรกรากีเริ่มต้นทุกอย่างด้วยการเรียนรู้ก่อนว่า...ในตอนนี้เขามีอะไรบ้าง ?
การเข้าใจและรับรู้ถึงความสามารถของนักเตะแต่ละคนในทีม คือสิ่งที่โค้ชทุกคนต้องทำ แต่สำหรับเรกรากีแล้ว นอกจากทักษะและความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน อีกสิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ ‘ประสบการณ์ของนักเตะแต่ละคน’ เพราะเขาเชื่อสุดหัวใจว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสู่ความสำเร็จ
ทว่านอกเหนือจากนักเตะภายในทีม ประสบการณ์ของเหล่าสตาฟโค้ชเองก็เช่นกัน เรกรากีศึกษาคนที่ร่วมงานด้วยอย่างถ่องแท้ ว่าแต่ละคนทำอะไรได้ และผ่านอะไรมาบ้าง
ความโชคดีอย่างที่หนึ่งของเรกรากีคือ นักเตะโมร็อกโกชุดนี้เต็มไปด้วยนักเตะที่มีประสบการณ์ หลายคนค้าแข้งอยู่กับสโมสรดังในยุโรป และโชกโชนไปด้วยการแข่งขันระดับสูง
ต่อมาคือความโชคดีอย่างที่สอง คือเขาได้ตัว ‘ฮาคิม ซีเย็ค’ ปีกตัวจี๊ดจากสโมสร ‘เชลซี’ กลับมาร่วมทีมอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดาวเตะคนดังตัดสินใจไม่เล่นให้กับทีมชาติเพราะมีปัญหากับโค้ชคนก่อน...ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเพราะเรกรากีนี่แหละ ที่ซีเย็คตัดสินใจกลับมา
เมื่อเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่มีจนครบถ้วนแล้ว เรกรากีก็เริ่มทำความเข้าใจกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญ แคนาดา , เบลเยียมและโครเอเชีย คือศัตรูร่วมกลุ่มที่น่าเกรงขาม
โดยเฉพาะ 2 ทีมหลังที่โลกยกย่องให้เป็นยอดทีม เบลเยียมคือทีมที่เป็นอันดับ 2 ของโลกจากการจัดอันดับตารางคะแนนของฟีฟ่า ส่วนโครเอเชียก็เป็นถึงรองแชมป์ในฟุตบอลโลกหนก่อน
รู้เขารู้เราจนเสร็จ เรกรากีเริ่มก็เข้าสู่กระบวนการทำงานที่เขาถนัดที่สุด นั่นก็คือ ‘การวางแผน’ เรกรากีไม่ใช่จำพวกวางแผนการทำทีมแบบนัดต่อนัด ถึงแม้ปากจะบอกว่าโฟกัสทีละเกม แต่แบบแผนของเรกรากีคือการมองทุกอย่างสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
ส่วนรูปแบบแผนการเล่นในสนามนั้น ก็ถูกปรุงแต่งมาจากทักษะและประสบการณ์ของนักเตะแต่ละคน เพื่อให้ทีมได้ประโยชน์สูงสุดและได้รับผลลัพธ์ที่เขาต้องการ
แต่ใช่ว่าเรกรากีจะไม่มีสไตล์ที่ตัวเองต้องการ เขาเป็นโค้ชที่มักจะทำทีมให้เล่นกันในรูปแบบที่เรียกว่า ‘สมดุล’ ที่สุด ถ้าเกมรุกจะเด่นที่สุด เกมรับเองก็ต้องเด่นที่สุดแบบเท่า ๆ กัน ซึ่งความยากของเรกรากีคือ จะใช้ทักษะและประสบการณ์ของนักเตะแต่ละคนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร โดยที่ทีมยังต้องคงความสมดุลเอาไว้... ซึ่งเขาทำได้
ในนัดแรกที่โมร็อกโกต้องเจอกับทีมชาติโครเอเชีย เรากรากีพูดออกมาเต็มปากว่าเขาไม่ได้ต้องการชัยชนะ แต่สิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือ ‘การไม่แพ้’ ทั้งนี้ก็เพราะเพื่อปลุกระดมความมั่นใจแรกให้กับทุกคนในทีม หากพวกเขาไม่เสีย 3 แต้มให้กับรองแชมป์เก่าได้ ก็ไม่มีเหตุผลต้องกลัวทีมไหนในโลกอีกต่อไป !
เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผน โมร็อกโกสไตล์สมดุลของเรกรากีก็ทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง พวกเขาสู้กับเบลเยียมได้ดีจนสามารถเก็บ 3 แต้มมาจากปีศาจแดงแห่งยุโรปมาได้ จากนั้นก็ไปเอาชนะแคนาดาในนัดสุดท้าย จนทีมขึ้นแท่นเป็นจ่าฝูงของกลุ่ม F
ผลงานของโมร็อกโกในรอบแบ่งกลุ่มนั้น ได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ต่อสายตาแฟนบอลทั้งโลกแล้วว่า พวกเขาอันตรายขนาดไหน การจะเอาชนะทีมฟุตบอลที่เน้นความแบบบาลานซ์ฉบับราชสีห์แห่งแอตลัสนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันง่าย ๆ
เข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ทีมชาติโมร็อกโกของเรกรากีต้องสู้กับทีมชาติสเปนที่เน้นเกมรุกดุดัน การต่อบอลบนพื้นอย่างสวยงามตามสไตล์ ‘ตีกี-ตาก้า’ แบบดั้งเดิม หลายคนเชื่อว่าทัพกระทิงดุคงเขี่ยราชสีห์แห่งแอตลัสตกรอบไปในนัดนี้ ทว่าลูกทีมของเรกรากียังสู้ได้ดี สู้จนคนดูลืมคิดไปเลยว่าเดิมทีคือบอลคนละเกรด และในท้ายที่สุด...ทัพกระทิงดุก็เป็นฝ่ายที่ถูกเขี่ยตดรอบไป หลังจากที่ดวลจุดโทษกัน
เรกรากีเผยกับสื่อภายหลังว่า แผนการที่เขานำมาใช้กับการเจอกับสเปนนั้น ถูกปรับใช้มาจากค่าประสบการณ์ของนักเตะที่คุ้นเคยกับการค้าแข้งอยู่ในลีกสเปน และสตาฟบางคนที่เคยทำงานในสเปนมาก่อน
ปรากฏการณ์นี้ ทำให้แฟนบอลในโมร็อกโกหลายพันคนออกมาเต้นรำอย่างมีความสุขตามท้องถนนทั่วประเทศ ไม่เว้นแต่กรุงโดฮา เมืองหลวงของประเทศกาตาร์ พวกเขาทั้งหลายเฉลิมฉลองให้กับทีมชาติโมร็อกโกที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเอง พวกเขาคือประเทศจากแอฟริกาเหนือชาติแรก และเป็นประเทศอาหรับกลุ่มแรกที่เข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกได้สำเร็จ
ในนัดหน้าของโมร็อกโก ถือว่าเป็นอีก 1 บททดสอบที่ยิ่งใหญ่ พวกเขาต้องไปเผชิญหน้ากับ ‘ทีมชาติโปรตุเกส’ ที่ก็ทำผลงานได้ดีไม่แพ้กัน แถมถ้าดูจากระดับชั้นแล้ว...โปรตุเกสก็ยังดูเหนือกว่าโมร็อกโกอยู่เป็นเท่าตัว
เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า กุนซือวัย 46 ปีอย่างเรกรากีจะรับมือกับทัพฝอยทองอย่างไร ? ทั้งเขาและทีมชาติโมร็อคโกจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเองได้อีกมั้ย?
แต่ก่อนที่พวกเขาจะเจอกับโปรตุเกสในอีกไม่กี่วันนี้ เรกรากีก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อเอาไว้ว่า “เราตั้งเป้าไปที่ท้องฟ้า เราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เราจะเป็นทีมที่ยากจะเอาชนะ ดังนั้นทำไมไม่ฝันถึงการคว้าถ้วยรางวัลล่ะ!!”
...คืนวันเสาร์นี้มีเรื่องให้สนุกอีกแล้วสิ 😉
SoccerSuck พร้อมนำเสนอรายการที่ได้รู้ความจริง ได้ยิ่งกว่าฟุตบอล!
ผ่านทุกช่องทางของ SoccerSuck TH แล้วที่
สนใจติดต่อโฆษณา
Tel. 065-4695416 (คุณหวา)
โฆษณา