11 ธ.ค. 2022 เวลา 12:17 • ปรัชญา
เมื่อก่อนไปภาวนาตามวัดครูบาอาจารย์
หลวงพ่อไปกับน้องคนหนึ่ง
ไปหาครูบาอาจารย์ก็ไปด้วยกันทุกที่
เวลาเขานั่งสมาธิจิตเขาจะรวม
เขาชอบนั่งพิงผนัง
พอจิตเขารวมแล้วขาเขาก็เหยียดออกไป
ตัวก็เอียงไปเอียงมา คนก็จะไปว่า
ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกอย่าไปว่าเขา
ร่างกายเขาไม่ตรง แต่จิตเขาตรงเป๊ะเลย
เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเขาอย่างหนึ่ง
งั้นงานกรรมฐาน
ตัวสำคัญก็คือจิตใจของเรานี่เอง
ต้องค่อยๆฝึกมัน
จิตเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้
แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้
การฝึกจิตฝึกใจก็มี ๒ อย่าง
อันหนึ่งฝึกให้จิตสงบ แล้วก็ตั้งมั่น
อีกอันหนึ่งก็คือฝึกให้จิตมันฉลาด ให้มันมีปัญญา
ตรงทำความสงบนั้นก็คือฝึกสมาธิ
แต่คนฝึกสมาธิได้จริงๆ มีไม่มาก
ส่วนใหญ่จะฝึกสัมมาสมาธิไม่ได้
จะได้มิจฉาสมาธิ
นั่งเคลิ้มๆบ้าง นั่งเครียดๆบ้าง
อย่างนั้นไม่ได้เรื่องอะไร
งั้นนั่งต้องมีสติกำกับตลอดสาย
งั้นการปฏิบัติ
เราก็ต้องมีสติกำกับตลอดสายของการปฏิบัติ
ถ้าเราขาดสติเมื่อไหร่ก็คือขาดการปฏิบัติ
อันนี้หลวงปู่มั่นท่านสอนไว้
"มีสติก็มีการปฏิบัติ ขาดสติก็คือขาดการปฏิบัติ"
นี้ไปนั่งสมาธิแล้วมุ่งไปที่สงบ
มันก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว
นั่นไม่เรียกการปฏิบัติธรรมนะ
เรียกว่าหลงอยู่
งั้นเราก็ต้องค่อยๆฝึก
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
เคล็ดลับมันอยู่ที่จิตเรานี่เอง
สงบก็จิตมันเป็นคนสงบ
ฟุ้งซ่านจิตมันก็เป็นคนฟุ้งซ่าน
งั้นเวลาเราภาวนานะอย่าทิ้งจิต
ถ้าจะทำความสงบ
ก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด
เราคอยรู้ทันจิตของตนเองไป
อย่างหลวงพ่อถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
ครูบาอาจารย์สอนมาตั้งแต่ ๗ ขวบ ทำทุกวัน
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
ใจมันชอบ ทำแล้วใจมันก็สบาย สงบ
ทีแรกก็ยังไม่ได้หลัก
แต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
ลมหายใจระงับไปเป็นแสงสว่าง
จิตมันก็ถลำลงไปจ้องแสงสว่าง
มันก็ออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก
สิ่งที่เราไปรู้ไปเห็นจริงหรือไม่จริง ไม่รู้หรอก
แต่มันเห็นจริงๆ
ต่อมาเราค่อยๆภาวนานะ
ก็พบว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร
จิตตามแสงสว่างออกไปข้างนอก
ก็อย่างนั้นแหละเหมือนเราดูหนัง
ดูหนังจบแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรติดไม้ติดมือออกมา
แล้วอีกอย่างนะเวลาจิตออกข้างนอก
บางทีไปรู้ไปเห็นเทวดา เห็นสวรรค์
เห็นอะไรอย่างนี้จิตมันไม่กลัว
แต่วันหนึ่งก็มานึกขึ้น
เห็นเทวดาได้ก็ต้องเห็นผีได้
(ตอนเด็ก)หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี
ตั้งแต่เด็กๆแล้ว กลัวผีมากเลย
ทั้งๆที่ไม่เคยเห็น ก็กลัว
แล้วเรารู้ว่าตอนที่เห็นเนี่ย
จิตมันตามแสงสว่างส่งออกข้างนอกไป
งั้นต่อไปนี้เราจะไม่ส่งออกข้างนอก
เวลาเราอยู่กับแสงสว่าง
หรือถ้าภาวนาไม่ถึงแสงสว่าง
อย่างเราหายใจอย่างนี้
อยู่กับลมหายใจ อย่าถลำลงไปที่อารมณ์กรรมฐาน
อย่างเราเห็นแสง
ถลำลงไปในแสง จมลงไปในแสง
เดี๋ยวนิมิตต่างๆมันก็เกิดแล้ว
เรารู้สึกท้องพองท้องยุบ
ก็อย่าให้จิตมันจมลงไปที่ท้อง
เดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า
ก็อย่าให้จิตมันจมไปที่เท้า
ขยับมือทำจังหวะ อย่าให้จิตมันจมเข้าไปในมือ
คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้
จิตเราจะเคลื่อน เรารู้ทัน
อย่างที่หลวงพ่อหัดก็คือเกิดแสงสว่างขึ้นมา
แล้วลมหายใจมันระงับ แสงมันเกิด
จิตมันจะเคลื่อนเข้าไปที่แสง รู้ทัน
พอรู้ทันมันก็ไม่เคลื่อน จิตมันก็ตั้งมั่น
หลักอันนี้เราใช้กับกรรมฐานได้ทุกอย่างเลย
อย่างเราดูท้องพองท้องยุบนะ
จิตจะเคลื่อนไปที่ท้อง เรารู้ทัน
ขยับมือ จิตจะเคลื่อนไปที่มือ เรารู้ทัน
หายใจออก หายใจเข้า
จิตจะเคลื่อนไปที่ลมหายใจ เรารู้ทัน
หรือเราภาวนาอยู่ พุทโธๆ
จิตจะหนีไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทัน จิตมันเคลื่อนไป
พอหลวงพ่อภาวนามาเห็นถึงตรงนี้นะ
หลวงพ่อก็จะรู้ว่ากรรมฐานอะไรก็ได้
ไม่มีดีไม่มีเลวกว่ากันหรอก
ใครถนัดใช้กรรมฐานอะไรก็ใช้อันนั้นแหละ
แต่จุดสำคัญนะ หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ
ก็คือต้องรู้ทันจิตตนเอง
อย่างหายใจออก หายใจเข้า
จิตจะเคลื่อนไปที่ลมหายใจ เรารู้ทัน
จิตจะหนีไปคิด เรารู้ทัน
จะดูท้องพองยุบ
จิตจะเคลื่อนไปที่ท้อง รู้ทัน
จิตจะหนีไปคิด รู้ทัน
ขยับมือทำจังหวะ
จิตจะเคลื่อนไปที่มือ รู้ทัน
จิตจะหนีไปคิด รู้ทัน
เดินจงกรม
จิตจะถลำเคลื่อนไปเพ่งที่เท้า รู้ทัน
จิตจะหนีไปคิด รู้ทัน
หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ
ก็คือการรู้ทันจิตตนเอง
กรรมฐานอะไรเหมือนกันหมดแหละ
ไม่มีดีกว่ากัน ไม่มีเลวกว่ากัน
แล้วแต่ความถนัด ใครถนัดอะไรก็ใช้อันนั้น
แต่ที่สำคัญก็คือ"ต้องรู้ทันจิตตนเอง"
ถ้ารู้ไม่ทันจิตนะจะหลง
อย่างพอเราเห็นแสง
จิตเราไหลไปอยู่ในแสง
เดี๋ยวนิมิตต่างๆมันก็เกิดแล้ว
คือถูกกิเลสหลอกเอา
เพราะงั้นเราภาวนานะ เราอย่าทิ้งจิต
จิตสำคัญที่สุด จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า
เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง
จะดีหรือจะเลวก็อยู่ที่จิตของเรานี่แหละ
จะทุกข์หรือจะไม่ทุกข์
ก็อยู่ที่จิตของเรานี่แหละ
เพราะงั้นการทำกรรมฐานทั้งหลายนะ
ก็คือการฝึกจิตของเรานั่นเอง
ในขั้นต้นที่เราทำสมถกรรมฐาน
ก็ทำเพื่อให้เรารู้เท่าทันจิตของตนเอง
ไม่ใช่เพื่อสงบนะ เพื่อสงบเนี่ยกิ๊กก๊อก ง่าย
ถ้ารู้ทันจิตตัวเองแล้วมันสงบเองแหละ
ไม่ต้องทำอะไรหรอก จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน
จิตก็ตั้งมั่นปุ๊บขึ้นมา ก็สงบแล้ว
งั้นเราทำสมถะ ทำวิปัสสนา อย่าทิ้งจิต
จะทำสมถะก็รู้ทันจิตไป
หายใจ แล้วจิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้
เนี่ยสมมุตินะ สมมุติเราถนัดหายใจ
ทำไปเรื่อยๆนะ จิตจะค่อยๆตั้งมั่นขึ้นมา
พอจิตหนีแล้วรู้ หนีแล้วรู้นี่แหละสำคัญ
ในที่สุดจิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ตรงนี้เราได้จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมาแล้ว
สมาธิไม่ใช่เคลิอบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว
สมาธิก็คือความตั้งมั่นของจิต
อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น
แล้วความตั้งมั่นของจิตจะเกิดขึ้นเอง
รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่นเป็นยังไง ?
จิตหนีไปคิดก็รู้
จิตหนีไปจม ไปเพ่ง ไปแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ก็รู้
รู้ทันจิตอย่างนี้
จิตมันไหลออกไปนะ
ไหลไปคิดก็รู้ ไหลไปเพ่งก็รู้
ตรงที่เรารู้นั่นแหละเรียกว่าเราฝึกมีสติ
อาศัยว่ามีสติกำกับการปฏิบัติอยู่
ไม่ใช่ไหลแล้วเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว
ไม่มีสติอันนั้นใช้ไม่ได้ เป็นมิจฉาสมาธิ
เพราะงั้นจิตไหลแล้วรู้
จิตไหลแล้วรู้สติของเราก็จะแข็งแรงขึ้น
แล้วตรงที่จิตไหลแล้วเรารู้เนี่ย
สมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ทีแรกก็เกิดขึ้นนิดเดียว
เกิดขณะเดียว แว็บ เดี๋ยวก็ไหลอีก รู้อีก
ไหลอีก รู้อีก หลง-รู้ ๆ ไปเรื่อยๆ
ในที่สุดกำลังของจิตมันจะเพิ่มขึ้น
จิตจะตั้งมั่น สำนวนเขาบอกตั้งมั่นเด่นดวง
ที่จริงไม่มีดวงอะไรหรอก จิตไม่มีรูปร่างอะไรหรอก
แต่มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ จิตมันตั้งมั่นเด่นขึ้นมานะ
โดยไม่ได้เจตนา อย่าลืมคำนี้"โดยไม่ได้เจตนา"
ถ้าเจตนาจิตจะไม่ตั้งมั่นหรอก
จิตจะเครียด จิตจะไม่มีความสุข
ถ้าจิตไม่มีความสุข สมาธิไม่เกิดหรอก
งั้นเราทำกรรมฐานแล้วนะ
ทำไปสบายๆ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง
แต่ว่าพอไม่สงบเนี่ย จิตหนีไปคิด รู้ทัน
จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน
จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ
พอมันตั้งมั่นถี่ ถี่ๆ ขึ้นมา
มันเหมือนเรารู้ตัวอยู่ได้ทั้งวัน
นั่นแหละจิตมันมีกำลังแล้ว
อย่าว่าแต่โยมเลยนะ
พระบวชเข้ามาอยู่กับหลวงพ่อ
บางทีตั้งหลายเดือนกว่าจิตจะมีกำลังขึ้นมา
ถ้าจิตไม่มีกำลังอย่าไปคุยเรื่องทำวิปัสสนาเลย
ไม่ต้องรีบหรอกวิปัสสนา
ฝึกจิตให้มันมีกำลัง ให้มันตั้งมั่นซะก่อน
ถ้าจิตยังฟุ้ง ยังป้อแป้ หลงโน่นหลงนี่อยู่
จะไปเจริญปัญญาได้ยังไง
สัมมาสมาธินั้นเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
งั้นเราต้องฝึกให้จิตทรงสัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิบอกแล้วว่า
คือการทำสมถะที่มีสติประกอบอยู่
ถ้าขาดสติจะไม่ใช่สัมมาสมาธิทันทีเลย
มันจะเป็นมิจฉาทันทีเลย
เพราะงั้นเวลาเราทำสมาธินะ
ทุกวันต้องฝึก ของฟรีไม่มี ของฟลุ๊คไม่มี
ต้องฝึก!
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วคอยรู้ทันจิตตนเองสม่ำเสมอไป
รู้ยังไง ? จิตหนีไปคิดก็รู้
จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้
แค่นี้แหละ เคล็ดลับมันอยู่ที่ตรงนี้แหละ
"ทำสมาธิแล้วก็มีสติรู้ทันจิต"
ไม่ใช่ทำสมาธิแล้วก็รู้แต่อารมณ์กรรมฐาน
อันนั้นปลายทาง ห่างไกลความสำเร็จมากเหลือเกิน
พอทำสมาธิแล้วก็หลงเพลินอยู่กับลม
อีกกี่ปีมันก็อยู่แค่นั้นแหละ
ไปดูท้องพองยุบจิตก็จมลงไปอยู่ที่ท้อง
กี่ปีมันก็อยู่แค่นั้นแหละ
งั้นให้รู้ทันจิตตัวเองว่าจิตมันไหลไปแล้ว
เพราะงั้นเราทำสมาธินะ ทุกวันต้องทำ
บอกว่าของฟรีไม่มี
อยากให้จิตตั้งมั่นมีกำลัง
มีเรี่ยวมีแรงที่ไปเดินปัญญาได้
ก็ต้องฝึกทุกวัน
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด
แล้วก็รู้ทันจิตของตนเองไป
_/|\_ _/|\_ _/|\_
พระธรรมเทศนา #หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565
กราบคุณพระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสูง
กราบพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูง
โฆษณา