12 ธ.ค. 2022 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
“เงินธุรกิจ” ไม่เท่ากับ “เงินส่วนตัว” บทเรียนเรื่องการบริหารเงิน ที่เจ้าของกิจการต้องรู้!
อยากซื้อรถใช้ส่วนตัวแต่เอาเงินธุรกิจไปผ่อน
จะซื้อของเข้าร้านแต่ใช้บัตรเครดิตตัวเองจ่าย
จะไปเที่ยวกับครอบครัวแต่กลับใช้เงิน O/D
1
ธุรกิจ SMEs หรือธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะกิจการที่บริหารต่อจากคนรุ่นก่อนๆ มักมีวิธีการจัดสรรเงินในรูปแบบที่ยกตัวอย่างข้างต้น คือไม่มีการแยกเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจออกจากกัน เหมารวมเงินทั้ง 2 ก้อนนี้ว่าเป็นเงินกงสี และนำมาใช้จ่ายกันทั้งครอบครัว
เพราะหลายคนมองว่า เราคือเจ้าของธุรกิจ
เงินธุรกิจก็คือเงินเรา เราอยากใช้จ่ายอะไรก็เรื่องของเรา การต้องคอยมาแยกที่มาที่ไปของเงิน แยกระหว่างเงินส่วนตัวและเงินของธุรกิจเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และปวดหัวเปล่าๆ
หรือบางคนอาจจะบอกว่า เดี๋ยวค่อยมาแยกทีหลังก็ได้ แต่เชื่อเลยครับว่าไม่ได้มาจดแยกจริงๆ จังๆ อยู่ดี และในท้ายที่สุดก็จะไม่รู้ที่มาที่ไปของเงินเลย
วิธีคิดแบบ ‘ไม่แยกบัญชี’ นี้อันตรายมากๆ สำหรับการทำธุรกิจ
และท้ายที่สุดแล้ว คุณจะเจอปัญหาสำคัญ นั่นคือ “ขายดีนะ แต่ไม่รู้เงินหายไปไหนหมด”
ทำไมการไม่แยกบัญชีจึงเป็นหายนะของการทำธุรกิจ?
การไม่แยกเงินให้ชัดเจนจะทำให้เงินส่วนตัว เงินครอบครัว และเงินธุรกิจปนกันไปหมด คุณจะมองไม่เห็นเลยว่าธุรกิจของคุณมีสถานะการเงินเป็นอย่างไร มีกำไรเท่าไร ขาดทุนเท่าไร รวมไปถึงเงินหายไปไหน ใช้เพื่ออะไรไปบ้าง หรือกระแสเงินสดของกิจการเป็นอย่างไร
1
และอย่างที่ผมเคยเขียนในบทความที่แล้วว่า กระแสเงินสดคือเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงธุรกิจ ดังนั้น การไม่ควบคุมการใช้จ่ายของธุรกิจ จึงไม่ต่างอะไรกับการกรีดแขนตัวเองให้เลือดไหลออกไปเรื่อยๆ เลยนะครับ ซึ่งหากเพิ่งเริ่มทำไม่นานก็อาจจะยังไม่เป็นอะไรมาก แต่หากปล่อยไว้นานๆ ก็จะสะสมต่อไปเรื่อยๆ จนส่งผลให้ธุรกิจเกิดปัญหาใหญ่ได้เลย
1
ผลกระทบใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่จะตามมาโดยเฉพาะธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว คือ จะก่อให้เกิดเป็น ‘เงินกู้ยืมกรรมการ’ ในทางบัญชีได้ ซึ่งเป็นเงินที่ไม่รู้ที่มาที่ไป และจะส่งผลเรื่องภาษี รวมถึงอาจโดนตรวจสอบจากทางกรมสรรพากรได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีโอกาสสับสนในการจ่ายภาษี ระหว่างภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกต่างหาก
เมื่อรู้สาเหตุแล้วว่าทำไมเราถึงควรแยกเงินเหล่านี้ออกจากกัน
คำถามถัดมาคือ แล้วจะทำอย่างไร?
จริงๆ แล้วการแยกเงินส่วนตัว เงินครอบครัว และเงินธุรกิจออกจากกันไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอะไรเลย เพราะไม่ว่าธุรกิจใดก็ตามจะสามารถจ่ายผลตอบแทนได้เพียง 2 ส่วนเท่านั้น คือ
1. คนทำงาน ได้รับเงินเดือน สวัสดิการ และเงินโบนัส
2. คนถือหุ้น ได้รับเงินปันผล
1
เจ้าของธุรกิจเองก็เปรียบเสมือนพนักงานคนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร ดังนั้น เมื่อเราเป็นพนักงานคนหนึ่ง สิ่งที่ต้องได้รับก็คือ “เงินเดือน”
หลายคนไม่เข้าใจเรื่องนี้จึงไม่เคยตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง และเลือกนำเงินจากธุรกิจไปใช้จ่ายส่วนตัวโดยตรง หลายๆ ครั้งการทำแบบนี้จะทำให้เราฟุ่มเฟือย และใช้เงินเกินตัวมาก เพราะจำนวนเงินในแง่ของเงินธุรกิจและเงินส่วนตัวนั้นให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน
เงินแสนในมุมของธุรกิจอาจจะดูเป็นเงินที่ไม่เยอะ แต่เงินแสนในมุมของเงินส่วนตัวเป็นเงินที่เยอะ
การไม่แยกเงินให้ชัดเจนจะทำให้เรามีมุมมองว่า เงินแสนที่นำมาใช้จ่ายส่วนตัวกลายเป็นจำนวนไม่เยอะเลย เพราะเราจะเทียบกับเงินของธุรกิจ
ดังนั้น เราต้องมองตัวเองเป็นผู้บริหารคนหนึ่ง
ตั้งเงินเดือนที่เหมาะสมกับตัวเองและจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองทุกๆ เดือน
และเน้นย้ำว่า ต้องเหมาะสมจริงๆ นะครับ
นอกจากเจ้าของธุรกิจจะเป็นเหมือนผู้บริหารแล้ว อีกหมวกหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจสวมอยู่คือผู้ถือหุ้นด้วยครับ
แน่นอนว่า เมื่อเป็นผู้ถือหุ้น ผลตอบแทนที่พึงได้รับอีกส่วนหนึ่งก็คือ “เงินปันผล” ซึ่งหลายคนอาจมองข้ามไป
สำหรับเงินปันผลนี้เราอาจจะให้มาก ให้น้อย ให้บางปี หรือจะไม่ให้บางปีก็ได้ครับ ขึ้นกับผลประกอบการหรือสถานการณ์ของธุรกิจในปีนั้นๆ บางคนอาจจะอยากบริหารธุรกิจโดยสั่งสมความมั่งคั่งเอาไว้ที่ตัวธุรกิจ แต่ตัวเจ้าของไม่ต้องมีเยอะมากก็ได้ หรือบางคนอาจจะอยากให้ธุรกิจผอมหน่อย ก็สามารถโยกกำไรกลับมาสะสมไว้ที่ตัวเจ้าของก็ได้ครับ
สุดท้ายการตั้งเงินเดือนและปันผลให้กับตัวเองนี้มีประโยชน์มากมายนะครับ คือทำให้เราแยกเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจออกจากกันได้ ส่งผลให้บริหารเงินของตัวเองและธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมองเห็นภาพรวมสถานการณ์ของธุรกิจได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ การตั้งเงินเดือนและปันผลยังนำไปใช้ในการบริหารภาษีได้อีกด้วยครับ โดยเป็นการบริหารระหว่างภาษีนิติบุคคลของธุรกิจและภาษีเงินได้ของเจ้าของธุรกิจ เพื่อให้เราเสียภาษีในจำนวนที่เหมาะสมมากที่สุดนั่นเอง
ใครที่ยังไม่แยกเงินส่วนตัวกับเงินทำธุรกิจ ลองนำวิธีนี้ไปใช้ดูนะครับ
ผู้เขียน: คุณกวาง เสสินัน นิ่มสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้งเพจ ทำที่บ้าน
#inspireproject
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา