12 ธ.ค. 2022 เวลา 11:55 • การศึกษา
แนวทางการสอบใบอนุญาตว่าความ 👩🏻‍⚖️⚖️❤️
🌷ประวัติ🌷
คุณชนิสรา บุบผา (ฝัน)
ที่ 1 ทนายความรุ่น 45 (ภาคทฤษฎี 68 คะแนน ภาคปฏิบัติ 82 คะแนน)
นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เนติบัณฑิตไทย สมัย 70
นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปัจจุบัน ประกอบอาชีพทนายความ
🌷อ่านหนังสืออะไรบ้าง🌷
หนังสือหลัก ๆ ที่ต้องอ่าน คือ ข้อสอบเก่าค่ะ
ข้อสอบเก่าจะทำให้เราเห็นภาพรวมของข้อสอบ แนวทางในการออกข้อสอบ ตัวอย่างการเขียนตอบข้อสอบ โดยจะต้องใช้หนังสือเล่มนี้ในการฝึกฝนการเขียนตอบข้อสอบค่ะ ซึ่งการฝึกเขียนตอบถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญของการสอบในสนามนี้เลยค่ะ เพราะการสอบในสนามนี้ ไม่ใช่การตอบข้อสอบกฎหมายเหมือนในระดับปริญญาตรีหรือเนติบัณฑิต
แต่เป็นการร่างคำคู่ความและเอกสารทางกฎหมายต่าง ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยศึกษามาก่อนค่ะ
นอกจากข้อสอบเก่าแล้วก็จะอ่านหนังสือที่เป็นหลักกฎหมายทั่ว ๆไป สำหรับทำข้อสอบส่วนปรนัยค่ะ เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พยานหลักฐาน พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ทรัพย์สินทางปัญญา นิติวิทยาศาสตร์ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน เป็นต้น
(ส่วนนี้ศึกษาจากข้อสอบเก่า ว่าออกวิชาใดบ้าง ออกในลักษณะใด จะไม่ได้อ่านลึกมากเหมือนการสอบเนติบัณฑิตนะคะ)
🌷วิธีอ่านหนังสือ🌷
สำหรับวิธีการอ่านของฝัน เริ่มแรกจะต้องทราบก่อนว่าข้อสอบที่จะต้องสอบมีกี่ส่วน อะไรบ้าง เพื่อที่จะทราบว่ามีปริมาณเนื้อหาที่เราต้องใช้เวลาในการอ่านมากน้อยเพียงใด รวมทั้งระยะเวลาที่จะต้องแบ่งไปฝึกเขียนตอบ จากนั้นก็จัดตารางเวลาในการอ่านและฝึกเขียนให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่มีอยู่ก่อนถึงวันสอบค่ะ ฝันประเมินตามสัดส่วนคะแนนแล้วว่าข้อสอบอัตนัยมีสัดส่วนที่เยอะกว่าปรนัยมาก เลยจะให้น้ำหนักความสำคัญที่อัตนัยมากกว่า
นั่นก็คือการร่างคำคู่ความและเอกสารทางกฎหมายต่าง ๆ ค่ะ แต่ข้อสอบปรนัยก็ไม่ได้ทิ้งนะคะ เรียกว่าห้ามทิ้งจะดีกว่าค่ะ พึงระลึกไว้เสมอว่าทุกคะแนนมีค่านะคะ 😀
ในส่วนของอัตนัย จะศึกษาวิธีการเขียน โครงสร้างการเขียนคำคู่ความ หรือเอกสารแต่ละแบบก่อนค่ะ ว่าแต่ละอย่างจะต้องมีการเขียนในส่วนใดบ้าง เป็นไปตามหลักกฎหมายเรื่องอะไร หลักนั้นมีว่าอย่างไร มีถ้อยคำใดในกฎหมายที่ควรต้องเขียนลงไป
เช่น กรณีร่างพินัยกรรม ควรมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าได้ทำพินัยกรรมในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ด้วยความสมัครใจยินยอมของข้าพเจ้า ข้อความในพินัยกรรมถูกต้องตรงตามเจตนาของข้าพเจ้าทุกประการ และข้าพเจ้าได้ลงชื่อไว้ในพินัยกรรมต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และพยานทั้งสองคนได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมต่อหน้าข้าพเจ้าในขณะเดียวกัน” (เป็นการเขียนล้อตามตัวบทกฎหมาย) เป็นต้น
เมื่อเราทราบถึงโครงสร้างในการเขียนคำคู่ความและเอกสารต่าง ๆ แล้วก็จะมาฝึกเขียนจากการทำข้อสอบเก่าค่ะ ฝึกจนกว่าจะเขียนคล่อง จนกว่าจะเขียนได้ด้วยตัวเองทั้งหมด พยายามอย่าแอบดูธงคำตอบค่ะ 🤣 เมื่อเขียนเสร็จแล้วค่อยมาตรวจเช็คหาจุดบกพร่องเทียบกับธงคำตอบอีกครั้ง ว่าเราเขียนตรงไหนผิด ลืมเขียนอะไรไปบ้าง แล้วลองเขียนใหม่ ทำไปซ้ำ ๆ ค่ะ
สังเกตว่าฝันจะใช้คำว่าโครงสร้างการเขียนแต่ละแบบนะคะ ไม่ใช่การท่องจำธงคำตอบ เพราะข้อสอบไม่ได้ออกซ้ำเดิม และอาจจะออกในเรื่องที่เราไม่เคยอ่านมาก่อน แต่ถ้าเราเข้าใจหลักในการเขียน เราจะสามารถทำข้อสอบได้ไม่ว่าข้อสอบจะออกเรื่องอะไรค่ะ ให้คิดเสมอว่าในการฝึกฝนเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเราในอนาคต ยิ่งกว่าการสอบได้และมีใบอนุญาตฯ คือการนำสิ่งที่ฝึกฝนมาทั้งหมดไปต่อยอดในการทำงานจริงให้ได้ค่ะ
ส่วนการท่องจำก็ไม่ใช่ว่าไม่จำเป็นนะคะ ยังคงต้องจำหลักกฎหมายและถ้อยคำที่เป็นคีย์เวิร์ดที่ควรเขียน ดังที่ได้อธิบายมาข้างต้นค่ะ และถ้าหากมีเวลาเหลือ ก็อาจจะจำถ้อยคำตามธงคำตอบ เพื่อให้การเขียนตอบของเรามีภาษาที่สละสลวยมากยิ่งขึ้นก็ได้เช่นกันค่ะ
ส่วนข้อสอบปรนัยซึ่งให้ความสำคัญรองลงมา ฝันจะใช้วิธีอ่านเนื้อหา แล้วฝึกทำข้อสอบเก่าเยอะ ๆ ค่ะ (ส่วนนี้อาจจะมีที่ออกซ้ำ ๆ อยู่บ้าง)
สุดท้ายคือการลองจับเวลาในการทำข้อสอบค่ะ เมื่อเราเขียนจนคล่องแล้ว อ่านเนื้อหาส่วนปรนัยมาจนครบแล้ว ก็จะทดลองทำเสมือนว่าเข้าห้องสอบจริง ๆ จะได้ประเมินได้ว่าเราใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ในการทำข้อสอบแต่ละข้อ ลายมืออ่านออกหรือไม่ ซึ่งในตอนฝึกจะเผื่อเวลาให้มีเวลาเหลือมากกว่าเวลาที่ทำข้อสอบจริงๆ เพราะในวันสอบจริง จะต้องเสียเวลาไปกับการเขียนชื่อ ฝนเลขประจำตัว ลงในกระดาษคำตอบ ทั้งยังมีความตื่นเต้น ความกดดันหลาย ๆ อย่าง ที่อาจจะทำให้เราคิดหรือเขียนได้ช้ากว่าปกติค่ะ
🌷วิธีการจัดสรรเวลาในการทำข้อสอบ🌷
วิธีการของฝันคือจะเข้าห้องสอบทันทีที่ได้รับอนุญาตค่ะ เพื่อใช้เวลาตรงนั้นเข้าไปเขียนชื่อ ฝนกระดาษคำตอบ ตรวจทานให้เรียบร้อยก่อนที่จะถึงเวลาทำข้อสอบค่ะ
เมื่อถึงเวลาทำข้อสอบได้จะเริ่มทำจากปรนัยก่อน ถ้าอ่านคำถามและคำตอบรอบแรกแล้วคิดไม่ออก หรือไม่แน่ใจจะข้ามไปทำข้ออื่นก่อน แล้วค่อยวนกลับมาทำใหม่ โดยในรอบที่สองถ้ายังไม่แน่ใจอีก ก็จะเลือกคำตอบที่ชอบเลยค่ะ ไม่เสียเวลาคิดแล้ว 🤣
หลังจากนั้นก็จะทำอัตนัย โดยจะอ่านคำถามให้ครบทุกข้อก่อนว่าจะต้องร่างอะไรบ้าง แล้วจึงกลับไปอ่านส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงในโจทย์ค่ะ ตอนอ่านก็จะโน้ตคำตอบย่อ ๆ ที่ต้องใช้ตอบในทุกข้อไว้เลย จากนั้นก็จะลงมือทำในข้อที่มั่นใจก่อน ไล่ไปเรื่อยๆ จนครบ พยายามดูเวลาตลอด อิงจากตอนที่เราฝึกค่ะ ว่าเราใช้เวลาเขียนในข้อนั้น ๆ ประมาณเท่าไหร่ อย่าลืมเผื่อเวลาในการตรวจทานก่อนส่งกระดาษคำตอบด้วยนะคะ
🌷ต้องไปอบรมที่สำนักอบรมฯไหม🌷
ในการสอบไม่ได้บังคับว่าต้องเข้าอบรมฯ ค่ะ แต่ถ้าใครพอมีเวลาไปนั่งฟังได้ ก็จะเป็นประโยชน์มาก ๆ ทั้งในการสอบและในการทำงานด้านทนายความจริง ๆ ค่ะ
🌷ควรไปติวไหม🌷
การติวเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการทบทวนความรู้ และสถาบันติวส่วนใหญ่ก็มักจะรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการสอบไว้ให้แล้ว ถ้าใครมีเวลาในการเตรียมตัวน้อย หรืออยากทบทวนเพิ่มเติม และมีทุนทรัพย์เพียงพอ การติวก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีค่ะ แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการสอบผ่านหรือไม่ผ่านขึ้นอยู่กับตัวเรานะคะ คนที่ไปติวก็มีทั้งคนที่สอบผ่านและไม่ผ่านปะปนกันไป คนที่ไม่ได้ติวแล้วสอบผ่านก็มีอีกเยอะเลยค่ะ
🌷รีวิวการฝึกงาน🌷
การฝึกงานจะเป็นคะแนนส่วนหนึ่งของการสอบ โดยจะฝึกงานหลังจากสอบผ่านภาคทฤษฎีแล้ว การฝึกงานจะทำให้เราได้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความจริง ๆ ในทุกกระบวนการของการทำงานที่มีมากกว่าการร่างคำคู่ความหรือเอกสารฯ ที่ต้องนำมาใช้สอบ ซึ่งในส่วนที่นำมาใช้กับการทำข้อสอบหลัก ๆ ในการสอบภาคปฏิบัติ คือ การเลือกใช้แบบฟอร์มศาลให้ถูกต้อง หรือในการสอบปากเปล่า คณะกรรมการมักจะถามเกี่ยวกับกระบวนการทางศาลตามที่เราได้ไปฝึกงานมาแล้วค่ะ
🌷วิธีการสร้างแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือ🌷
เวลาที่เหนื่อยหรือท้อให้นึกถึงเป้าหมายของตัวเองเอาไว้ค่ะ ว่าเราต้องการอะไร ทำไปเพื่ออะไร หรือทำไปเพื่อใคร นึกถึงภาพในวันที่ตัวเองทำสำเร็จเข้าไว้ค่ะ คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้ ✌️
🌷ฝากถึงคนที่กำลังเตรียมตัวสอบ 🌷
การสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความเป็นเหมือนใบเบิกทางในการประกอบอาชีพทางกฎหมายหลาย ๆ อย่าง บางคนอาจจะไม่ได้อยากเป็นทนายความ หรือบางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอาชีพอะไรดี ก็ขอให้คิดว่าการสอบครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นหรือเส้นทางหนึ่งของการประกอบอาชีพของเราในอนาคตได้
ในการสอบทุกสนามล้วนมีคนสมหวังและผิดหวัง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราผิดหวัง เราต้องเรียนรู้ที่จะลุกขึ้นสู้ใหม่ให้ไว หาข้อบกพร่องของตัวเองให้เจอ และแก้ไขให้ได้ เชื่อมั่นในตัวเองให้มาก ว่าเราก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถมากพอที่จะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้ ไม่ว่าก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยเกเร ไม่ตั้งใจเรียน ทำคะแนนสอบได้ไม่ดี แต่เราสามารถทำปัจจุบันให้ดีขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเองได้เสมอ
จงมีวินัยและหมั่นฝึกฝน ตัวเราในวันนี้คือคนที่กำหนดอนาคตของตัวเองในวันข้างหน้า ฝันขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังเตรียมตัวสอบนะคะ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จดั่งใจหวังค่ะ
#ทนายความ #ตั๋วทนาย #สอบทนาย #นิติศาสตร์
โฆษณา