Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สำนักข่าวดีดี
•
ติดตาม
13 ธ.ค. 2022 เวลา 15:19 • ข่าว
สาธยาย “ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ”
บันทึกมรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดิน
เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคมที่ผ่านมา ศิลปากรสมาคมร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์โขนจากสถาบันพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักการสังคีต กระทรวงวัฒนธรรม กองทุนท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ลูกศิษย์และผู้มีอุปะการคุณ จัดพิธีสาธยายท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ณ พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า)
ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรักษาจารีตประเพณีและการสืบทอดท่ารำองค์พระพิราพ ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของแผ่นดินไทย
วงการนาฏศิลป์และดุริยางค์ไทยเคารพนับถือองค์พระพิราพ เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของเทพอสูรที่มีมหิทธานุภาพสูงสุด มีฤทธิ์อำนาจดลบันดาลความสุขให้แก่ผู้ที่เคารพกราบไหว้บูชา กระบวนท่ารำและการบรรเลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพนี้ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เชื่อกันว่าหากพลาดพลั้งไปอาจถึงแก่ชีวิตได้
ดังนั้น ก่อนการแสดงต้องเซ่นสรวงบูชาและบริกรรมคาถาเพื่อคุ้มกันภยันตราย ซึ่งหากมีการปฏิบัติอย่างครบถ้วนตามจารีตประเพณีก็จะเกิดความสวัสดิมงคลแก่ศิลปินผู้แสดง ผู้บรรเลง ตลอดจนผู้ที่อยู่ในบริเวณจัดงาน
หน้าพาทย์องค์พระพิราพ เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงสุดที่มีจารีตประเพณี การถ่ายทอดกระบวนท่ารำที่เคร่งครัดมีระเบียบแบบแผนและพิธีกรรมที่ยึดถือสืบต่อกันมาแต่โบราณ
สถานที่ถ่ายทอดต้องเป็น “วัง” หรือ “วัด” เท่านั้น เพราะเป็นสถานที่มงคลสมพระเกียรติพระมหาเทพผู้มหิทธานุภาพ ไม่ต่อท่ารำกันในบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสามัญชนหรือโรงเรียนเป็นอันขาด
ทั้งผู้ที่สืบทอดท่ารำก็ต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อม มีฝีมือในเชิงการรำ ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว กตัญญูต่อครูอาจารย์ มีกำลัง มีความจำ มีสมาธิ
องค์พระพิราพ และพิราพ
นายประเมษฐ์ บุณยะชัย
เพลงองค์พระพิราพเป็นเพลงหน้าพาทย์ ที่เป็นสัญลักษณ์ถึงการเสด็จมาของพระพิราพเทพอสูรที่มีมหิทธานุภาพสูงสุด มีฤทธิ์อำนาจที่จะดลบันดาลความสุขให้ผู้ที่เคารพบูชา
การบรรเลงและการร่ายรำหน้าพาทย์นี้จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เชื่อกันว่าหากพลาดพลั้งไป อาจมีภัยถึงแก่ชีวิตได้ จึงต้องมีพิธีเซ่นสรวงบูชา และเสกคาถาอาคม เพื่อคุ้มกันอันตรายและเป็นสิริมคลแก่ศิลปิน ผู้แสดงและผู้บรรเลง ตลอดจนผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นถ้วนทุกคน
พระพิราพในเรื่องรามเกียรติ์เป็นเพียงอสูรเทพบุตร ที่มีวิมานอยู่บนสวรรค์และมีสวนสำหรับเป็นที่ท่องเที่ยวพักผ่อน ให้พวกรากษสบริวารอยู่ดูแลรักษา ทุกเจ็ดวันพิราพจะลงมาเที่ยวสวน
ครั้งหนึ่งพระรามพระลักษมณ์และนางสีดาหลงเข้ามาในสวนนี้ พวกรากษสเข้าไปขับไล่ถูกพระรามพระลักษณ์ไล่ตีบาดเจ็บ เมื่อพิราพลงมาเที่ยวสวนตามเคย ทราบเรื่องจึงตามไปรบกับพระรามและตายด้วยศรพระราม บทบาทในเรื่องรามเกียรติ์มีอยู่เพียงนี้
เรื่องการเคารพเกรงกลัวพระพิราพของเหล่านาฏดุริยางคศิลปินนั้น นับถือว่าพระพิราพเป็นปางดุร้ายของพระอิศวรเทพผู้ให้กำเนิดท่ารำ ซึ่งดร.มัทนี รัตนิน โมชดารา ได้ศึกษาค้นคว้าไว้ (มัทนี รัตนิน :ข้อสันนิษฐานความเป็นมาของพระพิราพ, ๑๕๑๘ : ๖๕-๖๖)
การที่ปรมาจารย์ศิลปินทางด้นนาฎดุริยางค์ได้ผนวกความเชื่อพระพิราพในรูป "เทพเจ้า" และ "ตัวโขน" เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น เหตุว่าหน้าพาทย์หรือท่ารำองค์พระพิราพ ซึ่งเป็นหน้าพาทย์สูงสุดทางด้านนาฎศิลป์และดุริยางค์หรือเป็นหน้าพาทย์เฉพาะองค์ พระพิราพในฐานะเทพเจ้า ไม่มีโอกาสนำไปใช้กับการแสดงอื่นใด ด้วยเหตุนี้โบราณาจารย์จึงได้นำมาบรรจุไว้ในการแสดงตอนพระรามเข้าสวนพิราพ พิราพในเรื่องเป็นเพียงอสูรเทพบุตรตนหนึ่งเท่านั้น มิได้มีความสำคัญอยู่ในระดับเทพแต่อย่างใด
ความชาญฉลาดของโบราณาจารย์ที่นำภาพของเทพเจ้าและตัวโขนมารวมไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสมลงตัวในการแสดงตอนนี้ได้ แต่ถ้าพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งสามารถมองเห็นรอยต่อ พระพิราพในฐานะเทพเจ้าจะปรากฏอยู่ในตอนออก
ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ หรือหน้าพาทย์อื่น ๆ มีความสำคัญรองลงมา เช่น พันพิราพ รอนพิราพ หรือพิราพรอน แม้กระทั่งหน้าพาทย์คุกพาทย์พระพิราพจะออกท่ารำหน้าพาทย์ในตอนต้นที่กล่าวถึงพระพิราพ ไปยังอุทยานเพื่อปลูกต้นพวาทอง ผู้แสดงเป็นองค์พระพิราพจะถือกำใบมะยมด้วยมือซ้าย ถือหอกด้วยมือขวา
2
ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพในการแสดงโขนตอนพระรามเข้าสวนพิราพมีลักษณะเป็นเอกเทศเปรียบเสมือนการเบิกโรงด้วยหน้าพาทย์ จากนั้นจึงเข้าสู่เรื่องที่แสดง ทั้งเรื่องที่แสดงและหน้าพาทย์สามารถแยกออกจากกันได้โดยไม่เสียรูปแบบและเนื้อเรื่อง แต่ถ้านำมารวมกันก็เท่ากับหน้าพาทย์องค์พระพิราพเป็นส่วนของการแสดงเบิกโรงต้นเรื่อง ที่มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ความงดงามของท่วงท่าที่ดุดันแข็งแรงของพระพิราพ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนรำจึงเป็นการดำเนินเรื่องตามบทบาทของพระพิราพอสูรเทพบุตรในเรื่องรามเกียรติ์
จารีตในการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
การที่นำหน้าพาทย์องค์พระพิราพและเรื่องราวของอสูรเทพบุตร ที่ชื่อว่า พิราพ มารวมกันอาจเป็นเพราะว่า มีชื่อตัวแสดงที่พ้องกัน คือ พระพิราพ กับพิราพ ในเรื่องรามเกียรติ์
การที่นาฏดุริยางคศิลปินมีความเกรงกลัวและเชื่อในมหิทธานุภาพขององค์พระพิราพว่าเป็นปางดุร้ายของพระอิศวร ดังกล่าว จึงเกิดเป็นจารีตประเพณีในการถ่ายทอดท่ารำและทำนองเพลง ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์รายละเอียดทั้งในเรื่องของครูผู้ถ่ายทอด และศิษย์ผู้รับการถ่ายทอด
จารีต ซึ่งเป็นแบบแผนขั้นตอนในการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ มีขั้นตอนในการถ่ายทอดประกอบไปด้วย พิธีกรรมทั้ง พุทธศาสตร์ และไสยศาสตร์
องค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย
1. ลักษณะการถ่ายทอดท่ารำ
2. ผู้รับการถ่ายทอด
ลักษณะการถ่ายทอดท่ารำ เนื่องจากหน้าพาทย์องค์พระพิราพเป็นหน้าพาทย์ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เป็นหน้าพาทย์ประจำองค์พระพิราพซึ่งเป็นปางดุร้ายของพระอิศวร เป็นท่ารำของมหาเทพแห่งการทำลายความตาย และผู้ให้กำเนิดนาฏศิลป์
ลักษณะการถ่ายทอดท่ารำ หรือการต่อท่ารำ จึงมีระเบียบพิธีที่เคร่งครัดยึดถือเป็นจารีตสืบต่อมาว่า สถานที่ที่จะถ่ายทอดท่ารำจะต้องเป็น “วัง” หรือ “วัด” ไม่ต่อท่ารำในบ้านเป็นอันขาด
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลจากประสบการณ์และข้อมูลจากการสอบถามท่านผู้รู้ทางด้านนาฏศิลป์(สัมภาษณ์นายเจริญ เวชเกษม ศิลปินฝ่ายยักษ์ของกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๗ ปัจจุบันกรรม) ประมวลไว้ว่า
เมื่อเป็นท่ารำของมหาเทพผู้มีมหิทธานุภาพ “วัด” และ “วัง” จึงเป็นสถานที่มงคลที่จะต้อนรับให้สมพระเกียรติได้ ส่วน “บ้าน” เป็นที่อยู่อาศัยของสามัญชน จึงไม่สมพระเกียรติของพระมหาเทพ
อีกประการหนึ่ง “วัง” และ “วัด” เป็นสถานที่กว้างขวาง แข็งแรง ที่จะรองรับผู้เข้าร่วมพิธีจำนวนมากได้ ปัจจุบันแม้ว่า
บ้านจะกว้างขวางก็ยังคงยึดถือจารีตเดิมคือ ต่อท่ารำที่วัดและวังเท่านั้น วิธีการถ่ายทอดท่ารำ หรือต่อท่ารำ มี ๒ วิธี
วิธีที่ ๑ ครูถ่ายทอดท่ารำให้แล้วจึงไปประกอบพิธีครอบ เช่น พระราชพิธีครอบและต่อท่ารำองค์พระพิราพ ในวันพฤหัสที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๗ การปฏิบัติในพิธี เริ่มด้วยการบูชาครูเป็นการภายใน และครูผู้ถ่ายทอดท่ารำจะรำนำ หน้าศิษย์เป็นการต่อท่า จากนั้นฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ แม่นยำ เมื่อวันพระราชพิธีจึงโปรดเกล้าให้ครูครอบ หรือทรงฯครอบพระราชทาน
จากนั้นจึงเป็นการออกหน้าพาทย์ต่อเบื้องพระพักตร์ในพระราชพิธีอีกครั้ง ความเหมาะสมในวิธีที่ ๑ เพื่อให้เกิดความพร้อมและความเรียบร้อย ในการรำถวายต่อเบื้องพระพักตร์
พระราชพิธีครอบและต่อท่ารำองค์พระพิราพ ครั้งนี้ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำหน้าที่ถวายหัวโขน-ละคร ที่จะทรงใช้ครอบ ได้แก่ ศีรษะเทริด ศีรษะพระภรตมุนี และศีรษะพระพิราพ
(ย่อหน้านี้เพิ่มเติมจากข้อเขียนของ ครูประเมษฐ์ บุณยะชัย)
ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี
วิธีที่ ๒ ประกอบพิธีครอบให้ก่อน แล้วครูจึงต่อท่ารำให้ (รำตามครู)จากนั้นจึงไปทบทวนฝึกฝนท่ารำต่อไปเช่น พระราชพิธีครอบและต่อท่ารำองค์พระพิราพ เมื่อวันพฤหัสบดีที่มกราคม ๒๕๐๖ การปฏิบัติวิธีที่ ๒ เริ่มขึ้นในวันพระราชพิธี
เมื่อประกอบพิธีไหว้ครูแล้ว ครูผู้ถ่ายทอดท่ารำจะเป็นผู้ครอบให้ หรือเป็นการครอบพระราชทาน แล้วแต่จะพระกรุณาโปรดเกล้าฯ (พ.ศ. ๒๕๐๖ นายรงภักดี เป็นผู้ครอบให้กับศิษย์) จากนั้นครูจะรำนำหน้าศิษย์ ให้ศิษย์รำตาม เป็นการถ่ายทอด ท่ารำ หลัง
จากนั้นศิษย์ไปทบทวนท่ารำกับครูให้เกิดความแม่นยำ ในสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป
คุณสมบัติของผู้รับการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพเป็นกระบวนท่ารำที่สูงสุดของท่ารำเพลงหน้าพาทย์ในนาฎศิลป์ไทย ดังนั้นผู้สืบทอดทำรำจึงต้องเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ซึ่งครู อาจารย์ใด้กำหนด เป็นจารีต สืบมาดังนี้(ราฆพ โพธิเวส, ๒๕๓๑ : ๒๘)
๑. เป็นผู้ที่มีฝีมือในเชิงการรำ เป็นหนึ่งในหมู่ของตัว (หมายถึง ตัว ยักษ์ - พระ)
๒. เป็นผู้ที่บวชเรียนมาแล้ว มีศีลธรรม
๓. มีความกตัญญูต่อครูอาจารย์
๔. มีกำลังมาก (หน้าพาทย์นี้มีความยาว จึงใช้พลังมาก)
๕. มีความจำดี มีสมาธิ
นอกจากนี้ นายรงภักดี ( เจียร จารุจรณ )ได้อธิบายถึงบุคลิกลักษณะของศิษย์ที่สมควรได้รับการถ่ายทอดไว้ว่า(นายรงภักดี, ๒๕๓๑ : ๕๙)
๑.ต้องเป็นผู้อุปสมบทบวชเรียนแล้ว (ผู้ที่บวชเรียนมาแล้ว เป็นผู้ที่ได้ผ่านการอบรมในพุทธศาสนา รู้จักผิดชอบชั่วดี มีความยั้งคิดละเว้นในสิ่งไม่ควรต่างๆ)
๒. ต้องเป็นผู้ที่มีศิลปะ ฝีไม้ลายมือเป็นหนึ่งในหมู่ จะเป็นยักษ์ มนุษย์และลิงก็ได้ ไม่เฉพาะแต่ยักษ์อย่างเดียว ในประวัติศาสตร์เคยมีมาแล้ว ดูแค่ผู้บรรยาย (หมายถึงนายรงภักดี) ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพระยานัฏกานุรักษ์ซึ่งท่านก็ฝึกหัดมาเป็นมนุษย์
๓. ตามปกติ ต้องเป็นผู้มีอัธยาศัยดี อ่อนน้อมต่อครูอาจารย์ และท่านผู้ใหญ่ เป็นผู้มีวัฒนธรรมอยู่บ้าง
๔.. ต้องเป็นผู้สงบเสงี่ยมกิริยาวาจา ไม่เป็นผู้พูดพร่ำทำเพลง ไม่โอ้อวด อุตริมนุษยธรรม
๕.. เป็นผู้รู้พระคุณครูบาอาจารย์ ไม่ลบหลู่ เป็นผู้ควรเว้นในสิ่งที่ควรเว้น ประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ
ใน ๕ ข้อนี้ ผู้ที่จะรับการถ่ายทอดจะขาดตกบกพร่องไปบ้างเล็กน้อย ก็ควรให้อภัยรับการถ่ายทอดได้
ข้อห้ามที่คุณครูนายรงภักดี (เจียร จารุจรณ)กำชับเป็นพิเศษ ให้ผู้รับการถ่ายทอดยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อีกข้อหนึ่งก็คือ
" ห้ามการอวด อ้างตนว่า เป็นผู้มีฝีมือมีความสามารถในเพลงหน้าพาทย์นี้อย่างเด็ดขาด" (จุมพล โชติทัตต์, ๒๕l๒๗ : : )
ข้อห้ามนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของผู้เข้ารับการถ่ายทอด ตามความประสงค์ของครูที่ต้องการให้ผู้รับการถ่ายทอดมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวดว่าตนมีความรู้เหนือผู้อื่น เป็นการกระตุ้นให้เกิดความสำนึกรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา
อนึ่ง การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลรอบข้างเกิดความเมตตารักใคร่ปราศจากศัตรู จึงเป็นวัตรปฏิบัติที่ "ครู" ต้องการให้เกิดกับ "ศิษย์" และจากการที่ผู้เขียนได้มี โอกาสเห็นท่าทางของคุณครู นายรงภักดี ท่านได้ปฏิบัติตน ดังที่ท่านได้สอนศิษย์ทุกประการ เป็นตัวอย่างที่ดีให้ศิษย์ได้ปฏิบัติตาม ตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
เชื่อกันว่าท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ แสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ส่วนทำนองเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ มีมาก่อนหน้านั้น ปรากฎหลักฐานในตำราไหว้ครูโขน - ละคร ฉบับครูเกษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๓(ประเมษฐ์ บุณยะชัย, ๒๕๔๓: ๒๙)
จากหลักฐานที่ปรากฏ มีการถ่ายทอดท่ารำองค์พระพิราพอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. ๒๔๗๐, ๒๕๒๗ และ ๒๕๔๕ จำนวน ๔ ครั้ง
การถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ)
รุ่นที่ ๑ พระยานัฏกานุรักษ์(ทองดี สุวรรณภารต) ถ่ายทอดให้
นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ราวเดือน ตุลาคม - พฤศจิกายน ๒๕๗๐
คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต)
รุ่นที่ ๒ นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ถ่ายทอดให้
นายอาคม สายาคม ,นายอร่าม อินทรนัฏ , นายหยัด ช้างทอง ,นายยอแสง ภักดีเทวา
ครูหยัด ช้างทอง
ครูอาคม สายาคม
ครูอร่าม อินทรนัฏ
รุ่นที่ ๓ นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ถ่ายทอดให้
นายราฆพ โพธิเวส ,นายไขยยศ คุ้มมณี ,นายจตุพร รัตนวราหะ ,นายจุมพล โชติทัตต์, นายสุดจิตต์ พันธุ์สังข์,นายสิริพันธ์ อัฏฎะวัชระ และนายสมศักดิ์ ทัดติ
เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๗
ครูราฆพ โพธิเวส
รุ่นที่ ๔ นายราฆพ โพธิเวส ,นายจตุพร รัตนวราหะ, นายชุมพล โชติทัตต์, นายสุดจิตต์ พันธุ์สังข์ และนายสมศักดิ์ ทัดติ ถ่ายทอดให้
นายประเมษฐ์ บุณยะชัย, นายปรีชา ศิลปะสมบัติ, นายมนัส สงค์ประพันธ์,
นายคิษฐ์ โพธิยารมย์,นายสุรเชษฐ์ เฟืองฟู ,นายประดิษฐ์ ศิลปะสมบัติ,
นายสมรักษ์ นาคปลื้ม, นายสถาพร ชาวรุ่งเรือง, นายเจตน์ ศรีอ่ำอ่วม, นายวราวุธ ศิดาพันธ์ ,นายคำรงศักดิ์ นาฎประเสริฐ,นายอจุลชาติ อรัณยะนาล,นายวิธาร จันทราและนายเขาวนาท เพ็งสุข
เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๕
ในปีเดียวกันนี้ได้มีการถ่ายทอดให้กับ นายนุสรณ์ สกุลณี เพิ่มเดิมอีกหนึ่งคน
ภาพในงาน
ภาพ
BIGGYPHOTO
ชัยยุทธ์ เคหะนันท์
1
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย