14 ธ.ค. 2022 เวลา 03:36 • ข่าวรอบโลก
ประสบการณ์การเป็นผู้ประสานสื่อมวลชนบรูไนฯ ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ๒๐๒๒
เมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders' Week: AELW) โดยตัวผมเองก็ได้รับหน้าที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ ในฐานะผู้ประสานงานสื่อมวลชน (Media Liaison Officer: MLO) โดยทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลคณะสื่อมวลชนทางการจากบรูไนดารุสซาลาม (บรูไนฯ)
ทีมงาน MLO และสื่อมวลชนจากบรูไนฯ ที่มา : ผู้เขียน
ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบถึงบทบาทของบรูไนฯ ในเวทีเอเปค ซึ่งแม้บรูไนฯ เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีพื้นที่ไม่มาก แต่กลับมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยผมขอแนะนำให้ทุกท่านรับชมบทสัมภาษณ์ของคุณบุศรา กาญจนาลัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน เมืองหลวงของบรูไนฯ เพื่อจะได้เรียนรู้
ถึงความสำคัญของบรูไนฯ ในเวทีเอเปคครับ (https://youtu.be/ZPi3UQuqswk)
ภารกิจการเป็น MLO ของผมย้อนกลับไปก่อนเริ่มต้นสัปดาห์ AELW ราว ๒ เดือน ตั้งแต่การสำรวจสถานที่ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นสถานที่การจัดประชุมฯ ในปีนี้ พร้อมทำงานร่วมกับนักการทูตและเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตบรูไนฯ ประจำประเทศไทย รวมถึงดำเนินงานร่วมกับทีมประสานงาน
ของหัวหน้าคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจ (Liaison Officer: LO) เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดในแต่ละประเด็นร่วมกัน พร้อมทั้งประสานงานระหว่างกันมาโดยตลอดจนเริ่มต้นการประชุมฯ
ในห้วงเวลาก่อนเริ่มต้นสัปดาห์ AELW ผมและพี่ดรีม (นางสาวญาณินท์ ก้านเหลือง) เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนสื่อมวลชนต่างประเทศ จากสำนักงานเลขานุการกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และคู่หู MLO ของผม ได้เตรียมความพร้อมร่วมกับสื่อมวลชนจากบรูไนฯ ในการลงพื้นที่สำรวจสถานที่ ณ ห้องประชุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุมที่จะใช้หารือในระดับพหุภาคีหรือทวิภาคี ตามกำหนดการที่เราได้รับจากสถานเอกอัคราชทูตบรูไนฯ เพื่อซักซ้อมและป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์จริง
1
ผู้นำของบรูไนฯ ที่เข้าร่วมการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค คือ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ สุลต่านและนายกรัฐมนตรีแห่งบรูไนฯ โดยเสด็จพร้อมด้วยพระราชโอรส เจ้าชายอับดุล มาทีน และแน่นอนว่า ตลอดทุกภารกิจของสมเด็จพระราชาธิบดีและพระราชโอรส นั้น จำเป็นต้องได้รับการบันทึกภาพถ่ายและวีดิทัศน์โดยสื่อมวลชน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผมในฐานะ MLO นั้นเอง
สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ พร้อมด้วยเจ้าชายอับดุล มาตีนแห่งบรูไนฯ ขณะถ่ายภาพร่วมกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก พ.ศ. ๒๕๖๕ พร้อมภริยา ที่มา : สำนักนายกรัฐมนตรีบรูไนฯ
วันแรกของการรับหน้าที่เป็น MLO แบบเต็มตัวของผม ก็คือการรับเสด็จสมเด็จพระราชาธิบดีและพระราชโอรส ณ ท่าอากาศยานทหาร ๒ กองบิน ๖ (บน.๖) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ต้องยอมรับเลยว่า ขณะนั้นผมตื่นเต้นมาก เพราะไม่เพียงแต่เป็นวันแรกที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ MLO อย่างเต็มตัว แต่ยังเป็นครั้งแรกที่ผมจะได้พบกับผู้นำระดับโลกด้วย และได้เข้าเฝ้าฯ ทั้งสองพระองค์ ซึ่งมีพระราชจริยวัตรที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง
วันนั้น ผมต้องพบกับอีกหนึ่งความท้าทาย คือ สื่อมวลชนที่ผมรับหน้าที่ดูแลจำเป็นต้องเดินทางติดตามไปพร้อมกับขบวนเสด็จฯ ทำให้หลังจากเสด็จฯ จากเครื่องบินพระที่นั่งและทรงมีพระราชปฏิสันถาร กับคณะผู้ถวายการต้อนรับจากฝ่ายไทยแล้ว สื่อมวลชนจำเป็นต้องรีบดำเนินภารกิจในการเก็บภาพและวีดิทัศน์ให้เรียบร้อย และรีบวิ่งไปขึ้นรถติดตาม ก่อนที่ขบวนเสด็จฯ จะเคลื่อนออกจากรันเวย์ของท่าอากาศยานฯ
สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ และเจ้าชายอับดุล มาตีนแห่งบรูไนฯ ณ ท่าอากาศยานทหาร (บน.๖) ที่มา : สื่อประชาสัมพันธ์ APEC2022
หลังจากผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจเดินทางมาถึงประเทศไทย AELW ก็ได้เริ่มต้นขึ้น และถึงแม้เราจะได้ทำการซักซ้อมกันมามากเพียงใด แต่แน่นอนว่า สถานการณ์จริงอาจไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้ เพราะกำหนดการต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
หนึ่งกำหนดการที่ผมรับผิดชอบ และเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทั้งเรื่องเวลาและสถานที่ คือ การหารือแบบทวิภาคีระหว่างบรูไนฯ และซาอุดีอาระเบีย โดยการหารือแบบทวิภาคี ณ สัปดาห์ AELW นั้น จะมีความซับซ้อนกว่าการประชุมหลักของเอเปค เนื่องจากแต่ละเขตเศรษฐกิจจะเป็นผู้กำหนดข้อปฏิบัติเอง โดยจะแตกต่างกันไปตามแต่ละเขตเศรษฐกิจที่สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านแห่งบรูไนฯ จะทรงหารือด้วย ซึ่งจะไม่เหมือนกับการประชุมหลักที่กำหนดโดยเจ้าภาพการประชุมในปีนั้น ๆ
โดยในการหารือแบบทวิภาคี ทีม MLO จะต้องประสานงานกับทีม LO อย่างใกล้ชิดในรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งเรื่องเวลาและสถานที่จัดการหารือ และจำนวนสื่อมวลชนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเก็บภาพ
สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ (กลาง) และเจ้าชายอับดุล มาตีนแห่งบรูไนฯ (ซ้าย) ขณะหารือกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย (ขวา) ที่มา : Instagram @tmski
ตลอดช่วง AELW ในฐานะ MLO ขอบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าและมอบบทเรียนและประสบการณ์หลายอย่างให้กับผม ผมได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา ‘Expect the Unexpected’ เพื่อที่จะได้ไม่ตื่นตระหนก โดยพร้อมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างราบรื่น ผ่านการพูดคุยและประสานงานระหว่างผู้ปฏิบัติงาน และการประสานงานร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และก่อให้เกิดเป็นผลสำเร็จของการรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕
สุดท้ายนี้ ประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดที่ผมได้เรียนรู้จากการรับหน้าที่เป็น MLO ก็คือ ‘การสื่อสารนั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่ง’ โดยการสื่อสารนั้นมี ๓ องค์ประกอบ คือ ๑. ผู้ส่งสาร ๒. เครื่องมือหรือช่องทางสำหรับการนำส่งสาร และ ๓. ผู้รับสาร
โดยสื่อมวลชนที่ผมรับหน้าที่ดูแล คือผู้ส่งสาร ซึ่งจะส่งข่าวสารผ่านบทความ ภาพถ่าย หรือภาพวีดิทัศน์ ไปสู่ผู้คนในเขตเศรษฐกิจนั้น ๆ ที่ไม่สามารถมาอยู่ในพื้นที่การประชุมฯ ให้ได้รับรู้ถึงความเป็นไปและผลการประชุมต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับคติประจำใจของกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศด้วย คือ #‎สื่อสารการทูตไทยเชื่อมไทยสู่สากล #communicateXconnect
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
ผู้ประสานงานสื่อมวลชนบรูไนฯ
ประจำสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ๒๕๖๕
โฆษณา