15 ธ.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
Arnold vs Hunter การประลองของเทรดเดอร์ ที่มีกองทุนแสนล้าน เป็นเดิมพัน
ในปี 1974 ที่เมืองแดลลัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เด็กชาย John D. Arnold ได้ลืมตาดูโลก เช่นเดียวกับ เด็กชาย Brian Hunter ที่เกิดในเมืองแคลกะรี ประเทศแคนาดา
จนกระทั่งปี 2006 โชคชะตาก็ได้นำพาทั้งคู่มาพบกันจนได้ ในฐานะเทรดเดอร์คู่แข่ง ที่ต่างก็กำลังกุมชะตากรรมของกองทุน ที่ตัวเองบริหารอยู่ไว้ในมือ
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ระหว่างการแข่งขันกันของเทรดเดอร์ 2 คนนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
เส้นทางในการเป็นเทรดเดอร์ของคุณ John D. Arnold เริ่มขึ้นในปี 1995 ที่เขาเข้าทำงานในบริษัท Enron ในตำแหน่งนักวิเคราะห์
แต่หลังจากทำงานเป็นนักวิเคราะห์ได้เพียงปีเดียว เขาก็ถูกย้ายตำแหน่ง ไปเป็นเทรดเดอร์ ในแผนกแก๊สธรรมชาติแทน ซึ่งเขาก็ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น จนได้รับฉายาว่า “ราชาแห่งแก๊สธรรมชาติ” จากเพื่อนร่วมงาน
1
เพราะเขาทำกำไรให้กับ Enron ได้มากถึง 43,800 ล้านบาทในปี 2001 จนทำให้บริษัท Enron ให้โบนัสกับเขาถึง 467.9 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นโบนัสก้อนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท
อย่างไรก็ตาม บริษัท Enron ก็ได้ล้มละลายลง ในปี 2002 จากการที่บริษัทตกแต่งบัญชี เพื่อปกปิดหนี้สินจำนวนมหาศาล นั่นจึงทำให้คุณ Arnold ต้องตกงานไปด้วย
เขาจึงตัดสินใจนำเงินโบนัสที่ได้ มาตั้งเป็นกองทุน Hedge Funds ชื่อว่า Centaurus ที่เน้นลงทุนในสิ่งที่เขาถนัดอย่างพลังงาน พร้อมกับชักชวนเพื่อนร่วมงานจาก Enron ให้มาเป็นทีมเดียวกันด้วย
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง คุณ Brian Hunter เทรดเดอร์หนุ่มชาวแคนาดา ก็กำลังทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ที่ Deutsche Bank สาขานิวยอร์ก
โดยเขาทำกำไรได้ 4,000 ล้านบาท ภายในเวลาแค่ 2 ปี จนถูกเลื่อนขั้นให้เป็นหัวหน้าเทรดเดอร์ แผนกแก๊สธรรมชาติ ในปี 2003
เขาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน ก็ถูกไล่ออก เพราะรูปแบบการเทรดที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงของเขา ได้ทำให้บริษัทประสบกับการขาดทุน มากถึง 5,800 ล้านบาท ในอาทิตย์เดียวเท่านั้น
แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้เข้าทำงานกับกองทุน Amaranth Advisors ในตำแหน่งเทรดเดอร์แก๊สธรรมชาติ อย่างที่เขาถนัด
กลยุทธ์ที่คุณ Hunter ใช้ในการเทรดแก๊สธรรมชาติก็คือ เขาจะทำการขายชอร์ต สัญญาซื้อขายแก๊สธรรมชาติในช่วงหน้าร้อน และเข้าซื้อสัญญาในช่วงหน้าหนาว
เพราะช่วงหน้าร้อนนั้น คนไม่ต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ทำให้ราคาของแก๊สธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลง และในทางกลับกัน เมื่อถึงช่วงหน้าหนาว ผู้คนจำเป็นต้องเปิดเครื่องทำความร้อน ส่งผลให้ราคาของแก๊สธรรมชาติ จะปรับตัวสูงขึ้นนั่นเอง
โดยในปี 2005 กลยุทธ์นี้ของคุณ Hunter ทำกำไรให้กับกองทุน Amaranth ได้เป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากในปีนั้น พายุเฮอริเคนได้เข้าถล่มบริเวณอ่าวเม็กซิโกถึง 15 ลูก การผลิตแก๊สธรรมชาติจึงได้รับความเสียหาย จนทำให้ราคาแก๊สธรรมชาติ พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงหน้าหนาว
จากเหตุการณ์นี้ ก็ได้ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน Amaranth เพิ่มขึ้นเกือบ 1.5 เท่า ส่วนคุณ Hunter เองก็ได้กำไรเข้ากระเป๋ามากถึง 7,300 ล้านบาท จนติด 1 ใน 30 เทรดเดอร์ที่มีรายได้มากที่สุด ในปีนั้น
แต่ในขณะเดียวกัน กองทุน Centaurus ภายใต้การนำของคุณ Arnold ก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน เพราะในปี 2005 พวกเขาทำกำไรได้ถึง 178% ทั้งที่ในปีนั้น กองทุนพลังงานเจ้าใหญ่ ๆ ทำกำไรกันได้เพียงแค่ 35% เท่านั้น
ด้วยความที่กองทุนซึ่งทั้งคู่บริหารอยู่ ต่างก็เติบโตอย่างรวดเร็วแบบนี้ แถมยังลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานเหมือนกันอีก
ความต้องการเอาชนะ เพื่อพิสูจน์ว่าใครเป็นเทรดเดอร์พลังงานเบอร์ 1 นั้น ย่อมต้องเกิดขึ้นในใจของทั้ง 2 คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จนในปี 2006 จากผลงานอันโดดเด่นของคุณ Hunter ทางกองทุน Amaranth ก็ได้สนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ ด้วยการให้วงเงินเทรดมากถึง 333,400 ล้านบาท
มูลค่าวงเงินในการเทรดครั้งนี้ คิดเป็น 62% จากมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน Amaranth เลยทีเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทางกองทุน เชื่อใจในตัวของเทรดเดอร์คนนี้ มากแค่ไหน ซึ่งสิ่งนี้เองก็เสริมให้คุณ Hunter ยิ่งรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นไปอีก
อีกทั้งฟ้าฝนก็ดูจะเป็นใจให้กับกลยุทธ์ของคุณ Hunter ด้วย เนื่องจากพยากรณ์อากาศได้บอกว่า ปีนี้มีโอกาสสูงที่พายุจะเข้าถล่มอ่าวเม็กซิโกอย่างหนักอีกครั้ง ซึ่งจะดันราคาแก๊สธรรมชาติให้สูงขึ้นในหน้าหนาวดังเช่นปีก่อน
แต่คุณ Arnold กลับมองต่างออกไป พื้นฐานของตลาดนั้น ไม่เหมือนกับปีก่อนแล้ว เพราะเมื่อมีการเตือนว่าพายุจะเข้า ผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติ ก็จะต้องพากันผลิตแก๊สตุนไว้ เพื่อขายในหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจที่จะขายชอร์ตสัญญาซื้อขายแก๊สธรรมชาติในช่วงหน้าหนาว สวนทางกันกับคุณ Hunter ที่พนันว่าราคาแก๊สธรรมชาติ จะต้องเพิ่มขึ้นเหมือนในปีก่อนแน่นอน ด้วยวงเงินเทรดอันมหาศาล
นั่นเท่ากับว่าในตอนนี้ เทรดเดอร์ทั้ง 2 คน กำลังพนันกันอยู่ว่าใครจะเป็นคนที่คิดถูก ด้วยมูลค่าสัญญาซื้อขายแก๊สธรรมชาติ จำนวนหลายแสนล้านบาท
ทำให้รางวัลสำหรับคนที่คิดถูก ก็คือกำไรมูลค่ามหาศาลที่รออยู่ แต่ในทางกลับกัน ผลลัพธ์ของคนที่คิดผิด ก็คือการขาดทุนอันมหาศาล จนสามารถทำให้กองทุนล้มละลายได้เลยทีเดียว..
เมื่อฤดูใบไม้ผลิของปี 2006 มาถึง สถานการณ์ก็เป็นไปตามที่คุณ Arnold คาดการณ์ เนื่องจากโรงงานผลิตแก๊สธรรมชาติ ที่เสียหายไปเมื่อปีก่อน ก็ได้รับการซ่อมแซมเรียบร้อย แถมพายุเฮอริเคนปีนี้ ก็ยังไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด
โรงงานผลิตแก๊สธรรมชาติ จึงสามารถเดินเครื่องเต็มกำลังเพื่อรองรับความต้องการในหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง จนทำให้ปริมาณแก๊สธรรมชาติในคลังสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ถึงตรงนี้คุณ Hunter ก็ยังไม่ยอมรับความจริง ว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว แถมเขายังถัวซื้อสัญญาเพิ่มเข้าไปอีก จนกองทุน Amaranth ถือสัญญาขายแก๊สธรรมชาติถึง 75% ของตลาดเข้าไปแล้ว เพราะเขายังคงหวังว่าราคาแก๊สธรรมชาติ จะกลับมาพุ่งสูงขึ้นในหน้าหนาวเหมือนเดิม
แต่สิ่งที่คุณ Hunter หวังนั้น ก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากพยากรณ์อากาศ ได้รายงานว่า หน้าหนาวปีนี้จะอบอุ่นกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ปริมาณแก๊สธรรมชาติในคลังจำนวนมาก จึงถูกเทขายออกมาในราคาถูก ๆ
ทำให้ในเดือนกันยายน ปี 2006 มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน Amaranth ได้ลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ส่งผลให้คุณ Hunter ที่กำลังสิ้นหวัง จึงพยายามหาทางออก ด้วยการส่งอีเมลไปหากองทุนหลายแห่ง เพื่อให้ช่วยซื้อสถานะลงทุนของตนเอง รวมไปถึงคุณ Arnold คู่แข่งของเขาด้วย
แต่สิ่งที่คุณ Arnold ตอบกลับมา ก็เพียงแค่การบอกว่า ตัวเขาจะไม่อยู่ออฟฟิศไปอีกสัก 2-3 วัน เท่านั้น คงไม่สามารถดำเนินการซื้อขายให้คุณ Hunter ได้
จนท้ายที่สุดแล้ว กองทุน Amaranth ก็ได้ล้มละลายลงไปในปลายเดือนนั้น จากผลการขาดทุนสะสมถึง 210,500 ล้านบาท พร้อมกับทำการฟ้องร้องคุณ Hunter ให้รับผิดชอบ จากการเทรดที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปของเขา
ส่วนกองทุน Centaurus ของคุณ Arnold ก็ได้รับผลตอบแทนกว่า 317% และก้าวขึ้นไปเป็นกองทุนพลังงานรายใหญ่ ด้วยสินทรัพย์มูลค่ากว่า 210,500 ล้านบาท ในปี 2009
ก่อนจะปิดตัวลงในปี 2012 เนื่องจากคุณ Arnold ทำการวางมือไปทำองค์กรการกุศลอย่างเต็มตัว ด้วยสินทรัพย์ส่วนตัวมูลค่ากว่า 115,700 ล้านบาท และเป็นผู้จัดการกองทุน Hedge Funds ที่รวยที่สุดเป็นอันดับที่ 24 ของโลก
การกระทำของคุณ Hunter นี้เอง ก็เป็นบทเรียนให้กับเราได้ว่า ในเรื่องของการลงทุนนั้น การยึดติดกับผลงานในอดีตของตัวเอง สามารถส่งผลเสียได้มากกว่าที่เราคิด
เพราะการยึดติดกับผลงานดี ๆ ในอดีต จะทำให้เรามั่นใจมากจนเกินไป และไม่พร้อมจะยอมรับความจริง เมื่อสถานการณ์ของตลาดเปลี่ยนไปแล้ว
อย่างเช่นคุณ Hunter ที่เลือกจะถัวซื้อสัญญาขายแก๊สธรรมชาติ ทั้งที่ถ้าหากเขาตัดสินใจปิดสถานะการลงทุนไปก่อนหน้านั้น ก็คงจะไม่ประสบกับการขาดทุนจำนวนมหาศาล จนทำให้กองทุน Amaranth ต้องล้มละลายแบบนี้..
โฆษณา