14 ธ.ค. 2022 เวลา 11:42 • หนังสือ
จิด.ตระ.ธานี #ป้ายยาหนังสือ : #กลลวงซ่อนตาย : 容疑者Xの献身 | The Devotion of Suspect X [ Detective Galileo Series#3 ]
จะว่าไปผมค่อนข้างใหม่ในการอ่านหนังสือประเภทนิยาย (ส่วนใหญ่ชอบซื้อหนังสือที่ออกแนวสารคดี ศิลปะ หรือปกิณกะความรู้มากกว่า) ยิ่งหนังสือประเภทสืบสวนฆาตกรรมอะไรนี่ สมัยก่อนไม่เคยคิดจะอ่านเลย (เพราะติดภาพว่า เนื้อเรื่องมันจะต้องมีศพถูกฆ่าตายเละๆ โหดๆ นั่นแหละ) แต่.....สุดท้ายก็อ่านจนได้ (ฮา) แล้วมันก็...ไม่ได้มีแต่อะไรเละๆ เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือดอย่างที่คิด
นิยายแปลแนวสืบสวนญี่ปุ่น ที่ผมเริ่มอ่านจริงๆ จังๆ ส่วนใหญ่เวลานี้จะเป็นผลงานของป๋าเคโงะ (ฮิงาชิโงะ เคโงะ東野 圭吾 : Keigo Higashino) เป็นหลัก ไม่ได้ชอบไปทุกเรื่อง แต่...ก็ อ่านได้เรื่อยๆ จริงๆ นั่นแหละ เพราะสิ่งที่เคโงะนำเสนอผ่านตัวอักษร ไม่ได้มีแค่การฆาตกรรม แต่กลับเหมือนกระจกสะท้อนส่องชีวิตของผู้คนในสังคมญี่ปุ่น (น่าจะรวมไปถึงสังคมโลกด้วย) ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน และต่างมีเบื้องหลังที่เต็มไปด้วยความมืดหม่น ดาร์ค เศร้าสลด และนั่นคือสาเหตุของวิธีคิด และแรงจูงใจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรม
ผมเริ่มสังเกตว่าหลายๆ เล่ม ทำไม? ฆาตกรมักเป็นผู้ชาย (มีตั้งแต่เด็กชายวัยรุ่น วัยหนุ่ม วัยกลางคน ยันชายสูงวัย) ในนิยายเคโงะ (เท่าที่อ่านตอนนี้) ตัวละครชาย มักเป็นฝ่ายต้องอดทน กล้ำกลืน อมทุกข์ เป็นฝ่ายแบกรับความเจ็บช้ำทุกข์ทรมาน ในขณะที่ตัวละครฝ่ายหญิงถึงจะมีปมในชีวิต แต่มักสวย เก่ง ฉลาด และบางครั้งกลับมีอิทธิพลทางจิตใจ เหนือกว่าหรือสามารถบงการชีวิตผู้ชายได้ก็มี (ไม่ว่าจะด้วยความรัก หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ฝ่ายชายมักเป็นผู้เสียสละได้ แม้กระทั่งชีวิต)
หรือนั่นอาจเป็นความรู้สึกที่แท้จริง...ภายในใจของเคโงะ? ... อันนี้ไม่ทราบได้ เพราะเกิดจากการเดาล้วนๆ (ฮา)
แน่นอนว่าเคโงะมักหักมุมในตอนท้ายเรื่อง และชอบจบห้วนๆ แบบทำให้คนอ่านรู้สึกค้าง (สำหรับผมคือ...เฮ้ย! จบแบบนี้ได้ไงฟร่ะ เอาอีกแล้ว) บางทีก็ชอบเล่าถึงสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกันเลย โดยเข้ามาแว้บๆ ตอนต้นๆ เรื่อง จนเรารู้สึกว่า (ใส่มาทำไมเนี่ย?) แต่พอท้ายเรื่องกลับกลายเป็นจุดหักสำคัญ ที่คลี่คลายปมปริศนาและหลอกคนอ่านได้สำเร็จ ... หลังๆ เลยชักระแวง 555+ ก็ไอ้ที่เคยคิดว่าไม่สำคัญ แต่กลับกลายเป็นจุดหักไปได้ไงเนี่ย? 555+
ตอนนี้ผมอ่านนิยายเคโงะจบไปหลายเล่ม แต่จะไม่หยิบมารีวิวทุกเรื่องนะครับ หากไม่รู้สึกอะไรร่วมด้วย แต่กับเรื่อง ‘กลลวงซ่อนตาย’ มีความน่าสนใจ ตรงที่ไม่ใช่เป็นแค่นิยายลำดับที่ 3 ในซีรี่ย์นักสืบกาลิเลโอ (Detective Galileo Series) แต่ยังเป็นหนังสืออันดับ 1 ในใจคนญี่ปุ่นที่แต่งโดยเคโงะ ปัจจุบันถูกแปลไปแล้วกว่า 21 ภาษา แต่...เพราะหนังสือเล่มนี้…คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เคโงะลืมตาอ้าปากได้ในวงการ จนกลายเป็นนักเขียน best seller แนวรหัสคดี ผู้ทรงอิทธิพลในเวลาต่อมา
อย่างที่ผมเคยเล่าไปก่อนหน้าว่า ชีวิตเคโงะในจุดเริ่มต้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถึงแม้หลังจากเขาได้รับรางวัลใหญ่อย่าง Edogawa Rampo Prize (‘เอโดกาวะ รัมโป’ คือนักเขียนนิยายแนวสืบสวนลึกลับในตำนานของญี่ปุ่น รางวัลนี้ก่อตั้งในปี 1955 (2498) ถือเป็นรางวัลใหญ่ในวงการ #วรรณกรรมแนวรหัสคดี ของญี่ปุ่น) จากผลงาน #หลังเลิกเรียน : After school (放學後) ในปี 1985 (2528) เวลานั้นเคโงะมีอายุ 27 ปี จึงทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ก้าวเข้าสู่อาชีพนักเขียนเต็มตัว
แต่เคโงะก็ยังต้องฝ่าฝันอีกหลายด่านในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ เพราะชื่อยังไม่ติดตลาด แถมผลงานยังไม่ค่อยถูกตีพิมพ์ซ้ำ เขาต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 ปี ด้วยความอดทน และต้องส่งผลงานเข้าประกวดอีกหลายครั้ง จนกระทั่งเรื่อง ‘กลลวงซ่อนตาย’ 容疑者Xの献身 (The Devotion of Suspect X) ได้รับรางวัลนาโอกิ (NAOKI AWARD) ครั้งที่ 134 ในปี 2005 (2548) เคโงะจึงเริ่มโด่งดังเป็นพลุแตก เพราะนิยายเรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และกวาดรายได้มหาศาล
容疑者 (‘โยกิฉะ’ Yōgi-sha) แปลว่า สงสัย (ผู้ต้องสงสัย), 献身 (‘เคนชิน’ Kenshin) แปลว่า การทุ่มเท อุทิศ เสียสละ
ชื่อเรื่อง 容疑者Xの献身 นี้จึงแปลว่า ‘การอุทิศเสียสละของผู้ต้องสงสัย X’ ตรงตามคำแปลชื่อเรื่องในภาษาอังกฤษ แต่ชื่อไทยแปลไปอีกอย่าง
เรื่องนี้เคยถูกสร้างเป็น
▸ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นในปี 2008 (2551) ชื่อเรื่อง Suspect X : 容疑者Xの献身 มีการดัดแปลงเนื้อเรื่องและตัวละครบางตัว
▸ ปี 2012 (2555) ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เกาหลีชื่อเรื่อง Perfect Number : 용의자X
▸ ปี 2017 (2560) ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์จีนชื่อเรื่อง 嫌疑人X的献身 : The Devotion of Suspect X
▸ ได้ข่าวว่ากำลังจะสร้างเป็นภาพยนตร์ Bollywood ฉายใน Netflix’s Indian ในปี 2023 (2566)
แน่นอนว่าผมจะไม่ดูหนังก่อน เพราะกลัวเสียอรรถรส (เพราะหนังจะมีการดัดแปลงแน่นอน ไม่มากก็น้อย) ต้องอ่านหนังสือให้จบก่อน แล้วค่อยย้อนกลับไปดูหนังอีกที สิ่งที่ผมสนใจคือนักแสดงที่จะมารับบท ‘เท็ตสึยะ อิชิกามิ : Tetsuya Ishigami’ ครูสอนคณิตศาสตร์ที่มีมันสมองระดับอัจฉริยะ ตัวละครสุดมืดหม่นคนสำคัญของเรื่องนี้ แสดงได้ดีทั้งเวอร์ชั่นญี่ปุ่นและจีน (เกาหลียังไม่ได้ดูอะ) ... แต่ผมชอบ อิชิกามิ ที่แสดงโดย ‘ชินอิจิ สุสุมิ’ ( 堤 真一 : Shinichi Tsutsumi) ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นมากกว่า
การฆาตกรรมใน ‘กลลวงซ่อนตาย’ จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่วิธีการอำพรางคดี ที่จะหลอกล่อ ลวงตาให้ตำรวจจับไม่ได้ต่างหาก นั่นคือประเด็นสำคัญของเรื่อง และหากถูกจับได้จะมีวิธีจัดการอย่างไรเพื่อปิดเกมให้ได้ นั่นคือวิธีคิดอันแยบยลของฆาตกร ถึงแม้ผู้อ่านจะรู้ว่าใครคือฆาตกรตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ก็เดาทางไม่ถูกว่า...สุดท้ายจะไปจบลงตรงไหน และแล้ว......ก็หักมุมแบบจุกๆ
อิชิกามิ คือครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยม เช่าอพาร์มเมนท์อยู่ห้องติดกับ ยาสึโกะ แม่หม้ายลูกติดที่เพิ่งย้ายเข้ามาเช่าห้องข้างๆ กัน และได้รับรู้การฆาตกรรมอดีตสามี (ที่มาคุกคาม ทำร้าย และไถเงิน 2 แม่ลูก) โดยไม่ได้ตั้งใจของยาสึโกะ อิชิกามิแอบชอบแม่หม้ายคนนี้มาตลอดตั้งแต่พบกันครั้งแรก ทำให้เขาพยายามใช้มันสมองอันฉลาดล้ำ คิดแผนอำพรางคดีเพื่อให้ 2 แม่ลูกคู่นี้ปลอดภัยที่สุด
หากไม่มีอาจารย์ยุกาว่า มานาบุ (นักฟิสิกส์อัจฉริยะ เจ้าของฉายากาลิเลโอ) เข้ามาเกี่ยวข้อง แผนที่ไร้จุดอ่อนของอิชิกามิจะสำเร็จอย่างราบรื่น แต่.....มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น สุดท้ายก็หักมุมแบบ เฮ้ย! จนผมต้องร้องว่า ทำไมป๋าเคโงะเลือกจบห้วนๆ แบบนี้ (อีกแล้ววะ)......ค้างว่ะ 555+
ไม่สปอยล์ใดๆ ทั้งสิ้นนะครับ เพราะอยากให้ได้ลิ้มลองอรรถรส วรรณกรรมป๋าเคโงะ #เจ้าพ่อนิยายแนวลึกลับสืบสวน ที่มีแฟนคลับอยู่ทั่วโลก ว่าเป็นยังไงมากกว่า
เล่มนี้ผมซื้อเป็นฉบับ E-book ใน MEB ข้อดีคือไม่ต้องกังวลเรื่องที่เก็บอีก เอาไปอ่านที่ไหนก็ได้ ขอแค่มีเน็ต แต่....ทำให้วิธีการอ่านเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ไม่เหมือนเล่มกระดาษ หากคุณใช้ tablet หรือ PC ซึ่งมีหน้าจอใหญ่ การดาวน์โหลดรูปเล่มแบบ PDF จะให้อรรถรสคล้ายกับการอ่านหนังสือเล่ม
แต่หากเลือกอ่านในมือถือ การดาวน์โหลดรูปแบบ ePUB (Electronic Publication) จะสะดวกกว่า เพราะสามารถปรับขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ได้ถึง 5 - 6 ระดับ (ก็...หน้าจอมือถือมันเล็กกว่าแท็บเล็ตไงล่ะ) ตอนแรกก็ไม่ค่อยคุ้น แต่ตอนนี้ปรับตัวได้แล้ว เทียบกับหนังสือเล่ม ยิ่งถ้าเล่มไหนหนามากๆ ตอนยกอ่านก็หนักนิ แต่พออ่านในมือถือเล็กๆ ก็เบากว่ากันเป็นไหนๆ
แนะนำวิธีอ่านอีบุ๊ค : การอ่านแบบ ePUB ในแอพ MEB นอกจากสามารถเลือก font และปรับขนาดตัวอักษรได้ตามใจเราแล้ว เรายังสามารถปรับแสงหน้าจอให้จ้าน้อยลงได้ ด้วยการเลือกโหมด Sepia (จากหน้าจอพื้นขาวๆ จะกลายเป็นสีครีมอมเหลืองหน่อยๆ) จะทำให้ถนอมสายตาได้มากยิ่งขึ้นครับ
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
โฆษณา