15 ธ.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สงครามการค้า Semiconductor สหรัฐฯ vs จีน
ในช่วงไม่นานมานี้ สหรัฐอเมริกาได้ทำการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเพื่อรักษาฐานะผู้นำในตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลก…
ทั้งการออกกฎหมายเพื่อดึงดูดบริษัทในอุตสาหกรรมให้เข้ามาตั้งโรงงานและทำการวิจัยในดินแดนสหรัฐฯ โดยกฎหมายฉบับนี้เรียกกันว่า “Chips Act”
และก็ยังได้มีมาตรการการค้าระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ ทำการควบคุมบริษัทในประเทศของตน ให้ส่งชิปที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนไปให้บริษัทจีนยากขึ้น
นโยบายนี้ถือเป็นนโยบายล่าสุดในเหตุการณ์สงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจที่ต้องจับตามองว่าจะส่งผลกระทบต่อใคร อย่างไรบ้าง
แต่ก่อนอื่นใด เราลองมาสำรวจตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกกันพอสังเขป
📌 สหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำ แต่จีนก็หวังจะไล่ตามให้ทัน
เริ่มจากมูลค่าทางตลาด โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา ตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกมีมูลค่ารวมกันราว 556,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง ​McKinsey ก็คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของเซมิคอนดักเตอร์จะพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าโดยตัวมันเองก็มหาศาลมากแล้ว
แต่เซมิคอนดักเตอร์ก็ยังมีความสำคัญต่อการอุตสหากรรมอื่นๆ หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ เครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ รถยนต์ ไปจนถึงระดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์
ทำให้ผู้ครอบครองการผลิตชิปเหล่านี้ ก็จะกุมความได้เปรียบในการผลิตสินค้าอื่นไปด้วย
โดยประเทศผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์หลักในตอนนี้ไล่ตามลำดับมูลค่าการขาย ได้แก่
  • 1.
    สหรัฐฯ (46% ของตลาดโลก)
  • 2.
    เกาหลีใต้ (21% ของตลาดโลก)
  • 3.
    ญี่ปุ่น (9% ของตลาดโลก)
  • 4.
    EU (9% ของตลาดโลก)
  • 5.
    ไต้หวัน (8% ของตลาดโลก) และ
  • 6.
    จีน (7% ของตลาดโลก)
เราจะขอเน้นไปที่สหรัฐฯ กับจีนเป็นหลัก โดยจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่มีรายได้จากการขายชิปมากที่สุดในโลก ในขณะที่จีนยังตามหลังอยู่ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ลักษณะของชิปที่ทั้งสองประเทศผลิตก็ยังมีความแตกต่างกันทางด้านเทคโนโลยี
สหรัฐฯ จะผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่า ใช้กับอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนมากกว่า สังเกตได้จากราคาขายเฉลี่ยของชิปอเมริกาที่สูงถึง 2.16 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น
ในขณะที่จีนผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้มาไม่นาน แต่ก็มีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า จึงทำให้สร้างอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมาได้
สะท้อนออกมาที่ราคาขายเฉลี่ยของชิปจีนอยู่ที่ 0.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น ต่ำกว่าของสหรัฐฯ พอสมควร
แต่แค่รายได้และราคาขายเฉลี่ยต่อชิ้น ไม่ได้ฉายภาพทั้งหมดของอุตสาหกรรมนี้
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพิจารณา คือ ดินแดนที่ตั้งโรงงานผลิต
เนื่องจากบริษัทสหรัฐฯ บางส่วนไม่ได้มีโรงงานผลิตในประเทศตนเอง แต่ไปตั้งโรงงานผลิตชิปที่ประเทศอื่น หรือไม่ก็จ้างบริษัทประเทศอื่นผลิตแทน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในทวีปเอเชีย)
ทำให้เวลามีปัญหาทางด้านการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นจากเหตุการณ์อุบัติเหตุ โรคระบาด หรือแม้แต่ปัญหาทางด้านนโยบายในประเทศผู้ผลิต บริษัทสหรัฐฯ ที่เป็นผู้สั่งผลิตก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
📌 นโยบายสนับสนุนภายในและการต่อแย้งกันทางการค้า
ทางสหรัฐฯ จึงได้มีออกกฎหมายที่ชื่อ “Chips Act” เพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิปในดินแดนตนเองมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
พวกเขายังไม่หยุดแค่นโยบายสนับสนุนภายในเท่านั้น แต่ยังมีมาตรการชะลอการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนไปพร้อมกัน
ผ่านการควบคุมการส่งออกชิป หรือการเข้าไปช่วยพัฒนาเทคโนโลยีชิปจีน ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในช่วงเจรจากันว่า บริษัทของสหรัฐและพันธมิตรจะร่วมมือกันมากแค่ไหนในการปิดกั้นจีน
ประเด็นนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะ ปัจจุบันจีนกำลังพยายามพัฒนาสร้างชิปที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วยตัวเองให้ได้ แต่หากประเทศมหาอำนาจอื่นรวมกันกีดกัน ก็อาจจะทำให้กระบวนการพัฒนาล่าช้าออกไป
ซึ่งทางจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตอบโต้สหรัฐฯ โดยการร้องเรียนไปที่องค์การการค้าโลก (WTO) ว่า การกีดกันการส่งออกของสหรัฐฯ เช่นนี้ เป็นการผิดข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ
ที่มีแนวคิดว่า การตั้งกำแพงกีดกันทางการค้าไปมาจะทำให้ต้นทุนการผลิตของทั่วโลกสูงขึ้น และเป็นการฉุดรั้งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
เพราะในปัจจุบัน การที่สหรัฐฯ ขายชิปที่ราคาแพงกว่า และจีนขายชิปที่ถูกกว่า ก็เป็นการอาศัยข้อได้เปรียบของแต่ละประเทศ คือ สหรัฐฯ ที่มีการวิจัยมามากกว่า ส่วนจีนก็อาศัยค่าจ้างที่ถูกกว่า
แต่สิ่งที่ทางสหรัฐฯ ออกมาพูดนั้น พวกเขาก็บอกว่า การควบคุมการส่งออกนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องของการค้า แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศด้วย
นโยบายที่ออกมาก็เริ่มส่งผลออกมาแล้ว ทั้งการประกาศเข้าไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศสหรัฐฯ ของหลายบริษัทซึ่งมีบริษัทนอกสหรัฐฯ อย่าง TSMC ที่ลงทุนถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสร้างโรงงานที่แอริโซนา
นอกจากนี้ ประเทศอย่างเวียดนามหรืออินเดียก็อาจจะได้รับส้มหล่น กลายเป็นทางเลือกใหม่ของการตั้งโรงงานผลิตชิปที่ไม่ซับซ้อนมาก เพราะจุดเด่นทางด้านต้นทุนแรงงานที่ยังไม่สูง
ทางประเทศในทวีปยุโรปเองก็กำลังหารือกันเช่นกันว่า พวกเขาจะเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดมูลค่ามหาศาลนี้มากขึ้นได้หรือไม่
โดยในปัจจุบันองค์ประกอบบางอย่างของชิปก็ผลิตในยุโรปอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “the extreme ultraviolet lithography (EUV)” ที่มีแค่โรงงานเนเธอแลนด์เท่านั้นเป็นผู้ผูกขาดการผลิตคนเดียวของโลกด้วย…
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา