17 ธ.ค. 2022 เวลา 09:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เหตุใดจึงมีธนาคารกลาง? : แล้วธนาคารกลางจะปรับตัวอย่างไร (4)
2
หลังจากที่ได้ชวนท่านผู้อ่านไปสำรวจความท้าทายสำคัญ ๆ ที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศ ผู้ได้รับพันธกิจดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ต้องเผชิญในบทความตอนที่แล้วนั้น และแล้วก็มาถึงตอนสุดท้ายของซีรีย์วิวัฒนาการของธนาคารกลาง ซึ่งถือเป็นบทสรุปสำคัญว่า ธนาคารกลางควรจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว และธนาคารกลางจำเป็นต้องมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเงินปัจจุบันหรือไม่
ประจวบเหมาะพอดีกับการจัดงาน BOT-BIS conference เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานครบรอบ 80 ปีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จัดร่วมกันระหว่าง ธปท. และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS)
โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าการธนาคารกลางมากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานเพื่อหารือเกี่ยวกับการทำหน้าที่ตามพันธกิจหลักของธนาคารกลางท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง (Central Banking Amidst Shifting Ground) ผู้เขียนจึงขอนำข้อคิดดี ๆ จากงานวันนั้นมาผนวกเข้ากับบทความวันนี้ด้วยครับ
1
การดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนและเอื้อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและผันผวนจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร (การขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ) และปัจจัยเชิงโครงสร้าง (เช่น climate shock และ geopolitical risk ดังที่ได้กล่าวในบทความก่อน) ทำให้ธนาคารกลาง ซึ่งมีพันธกิจสำคัญคือ การดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ต้องดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายให้ได้
1
โดยต้องทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะ climate shock ขณะที่การสื่อสารทางนโยบายที่มีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากนี้ การผสมผสานระหว่างนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาสมดุลของการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย รวมถึงเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน
2
การดูแลระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะจากแผลเป็นที่วิกฤตโควิดได้ทิ้งไว้
แผลเป็นจากโควิด-19 ที่ทิ้งไว้กับเศรษฐกิจ เช่น หนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวสูงขึ้น ถือเป็นอีกพันธกิจสำคัญของธนาคารกลางในการดูแลเพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต โดยธนาคารกลางจำเป็นต้องมีแนวนโยบายและเครื่องมือที่แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที ที่สำคัญ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลากหลายฝ่ายนอกเหนือจากธนาคารกลาง การประสานงานและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหลายภาคส่วนมากขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ธนาคารกลางจำเป็นต้องปลูกฝังความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ให้กับประชาชนอย่างมีกลยุทธ์และอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ความมั่นคงทางการเงินของประชาชนเข้มแข็งขึ้นได้ในระยะยาว โดยเฉพาะในหลายประเทศที่ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว
การสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงในโลกยุคดิจิทัล
เทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ เอื้อให้เกิดระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance: DeFi) ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมมากมาย และเอื้อให้เกิดการแข่งขันจากผู้เล่นรายเล็กที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีใหม่ ๆ
1
แต่ขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งความเสี่ยง เช่น ปัญหาเสถียรภาพของระบบการเงิน (ดังที่เห็นในหลายกรณีปัจจุบันไปแล้ว และได้สร้างความเสียหายทางการเงินต่อผู้คนจำนวนมาก) การสูญเสียนโยบายการเงินซึ่งเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นหรือชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ การขาดผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย (lender of last resort) ในยามที่จำเป็น เพราะไม่มีตัวกลางที่คอยดูแล
1
แต่ละประเทศอาจมีจุดสมดุลต่อเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินดังกล่าวแตกต่างกัน เพราะมีบริบทต่างกัน แต่ธนาคารกลางควรหาจุดสมดุลที่เหมาะสมที่สุดของแต่ละประเทศ และควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลซึ่งจะช่วยให้ภาคการเงินสามารถทำหน้าที่ให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
1
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ธนาคารกลางในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัวอย่างยิ่งยวดเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และคงเห็นคำตอบชัดเจนจากพันธกิจสำคัญแต่ละประการที่ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยที่ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องตอบโต้ง ๆ แล้วว่า ยังมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีธนาคารกลางอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเงินครับ…
3
ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
5
*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด*
โฆษณา