20 ธ.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
นโยบาย Zero Covid ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอีกครั้ง
ก่อนที่รัฐบาลจะผ่อนปรนนโยบาย Zero Covid อย่างกะทันหันในเดือนธันวาคม
กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนก็ได้ชะลอตัวลงไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน
โดยตัวชี้วัดที่สำคัญของจีนแสดงให้เห็นว่า Zero Covid ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น
เริ่มจากตัวชี้วัดแรก นั่นคือ การบริโภค จีนรายงานว่ายอดค้าปลีก (Retail Sales) ลดลงอย่างมาก
เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิดอีกระลอกและกฎระเบียบที่เข้มงวด เช่น การล็อกดาวน์ในหลายเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องพึ่งพาปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ เช่น ร้านอาหารและโรงแรม เป็นธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) รายงานว่า ยอดค้าปลีกจะหดตัวที่ 5.9%
ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ 2.5% และลดลงจาก 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตามการบริโภคออนไลน์ยังคงขยายตัวได้ดี
ในด้านการผลิต การล็อกดาวน์อย่างกะทันหันในเดือนพฤศจิกายนย่านใจกลางเมืองอย่างเจิ้งโจวและกวางโจว ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการดำเนินงานของบริษัท
การระบาดที่โรงงานผลิต iPhone ในเจิ้งโจว ทำให้มีการปิดเมือง การอพยพของคนงาน และการประท้วงที่รุนแรงทำให้การดำเนินงานของโรงงานช้าลง กระทบต่อการขนส่ง ทำให้ Foxconn ประกาศยอดขายลดลง 11.4% ในเดือนที่แล้ว
จากการสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์โดย Bloomberg พบว่า ในเดือนพฤศจิกายน
ผลผลิตของโรงงานอาจเพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อนหน้า
แต่ลดลงจากการเติบโต 5% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ อุปสงค์ทั่วโลกที่ลดลง ส่งผลให้ การผลิตในจีนลดลง
โดยการส่งออกจากจีนหดตัวเกือบ 9% ในเดือนพฤศจิกายน
ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020
ในเดือนพฤศจิกายน การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาลดลง เนื่องจากผลกระทบระยะสั้นจากการแพร่ระบาดของโควิด 19
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ และ เครื่องจักร เพิ่มขึ้น 5.3% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากที่เพิ่มขึ้น 5.8% ในช่วงเดือน มกราคม-ตุลาคม
รัฐบาลได้เพิ่มความช่วยเหลือสำหรับโครงการต่าง ๆ ในเดือนพฤศจิกายน
โดย การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง
แต่อุตสาหกรรม การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มอ่อนแอท่ามกลางตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งผลกระทบของการระบาดของไวรัสในเดือนพฤศจิกายนได้ทำให้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การใช้จ่ายด้านการลงทุน และยอดค้าปลีกลดลงมากที่สุด นับตั้งแต่การปิดเมืองเซี่ยงไฮ้
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิดในจีน ทำให้บริษัทต่าง ๆ ถูกบีบให้เลิกจ้างพนักงาน หยุดจ้าง หรือแม้แต่ปิดกิจการชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้สถิติการจ้างงานยังคงเป็นประเด็นที่น่าวิตกอย่างยิ่ง
การสำรวจอัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นเป็น 5.7% หลังจากคงที่ที่ 5.5% เป็นเวลา 2 เดือน
ซึ่งเกินขีดจำกัดที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 5.5% หรือน้อยกว่าตลอดทั้งปี 2022
โดยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราการว่างงานของกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุด เช่น คนหนุ่มสาวและแรงงานข้ามชาติ จะช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับความร้ายแรงที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้น
ในขณะที่อัตราการว่างงานตามการสำรวจของกลุ่มอายุ 16-24 ปี แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.9% ​​ในเดือนกรกฎาคม และยังคงสูงที่ 17.9% ในเดือนพฤศจิกายน
เศรษฐกิจของจีนจะซบเซาเนื่องจาก Zero Covid ที่เข้มงวดและข้อจำกัดการส่งออกที่เข้มงวดมากขึ้นของสหรัฐฯ ต่อจีน รวมไปถึงการขาดแคลนแรงงานในระยะยาวจากจำนวนประชากรที่ลดลงของประเทศจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจช้าลง
นโยบาย Zero Covid นี้ และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2022 การเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวที่ 3% ซึ่งเป็นหนึ่งในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1976
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา