20 ธ.ค. 2022 เวลา 08:46 • ยานยนต์
TOYOTA x C.P.GROUP ดีลที่พี่โตวิ่งหาเจ้าสัว
หน้าฉากคือการจับมือกันเพื่อผลักดันเป้าหมาย สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย แต่ทำไมต้องเป็น ซีพี บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรกรรม และปศุสัตว์
นี่คือดีลที่ดูเหมือนโตโยต้าวิ่งเข้ามาขอหารือกับทางซีพี ว่าจะหาทางออกให้กับโตโยต้าอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เพราะซีพี ถือเป็นหนึ่งในบริษัทสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งเรื่องของสินค้าทางการเกษตร อาหาร ที่ส่งผลต้องภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนของคนไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะซีพี ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทที่ทำธุรกิจด้านเดียวอีกต่อไป บริษัทนี้ยังครอบครองกิจการที่หลากหลาย อาทิ ธุรกิจการสื่อสาร บันเทิง หรือแม้แต่ยานยนต์ เป็นต้น
โตโยต้ากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันในเรื่องของภาพลักษณ์ด้านการลดการปล่อยมลพิษ (ซึ่งแท้จริงแล้วมันคือ เกมธุรกิจที่ต้องการจะเอากระแสมลพิษทุบโตโยต้าอยู่แล้ว) เพราะในความเป็นจริงโตโยต้าทำอยู่ตลอด แต่บริษัทที่ใหญ่ขนาดนี้ ไม่สามารถที่จะดีดนิ้วเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้ในทันที เพราะผลกระทบมันมหาศาล งานหลักคือผลิตของขาย แต่สินค้าจะขายได้ก็ต้องอยู่ในกระแส และภาพลักษณ์ก็ต้องเป็นไปตามที่สังคมเรียกร้องด้วย
การเดินทางเข้ามาในไทยครั้งนี้ของ อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหารของ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ชัดเจนว่า โตโยต้าต้องการให้ประเทศไทยเปิดทางไปสู่อนาคต การหยอดคำหวานว่าอยากมีบ้านอยู่ในไทย ตลอดจนการบอกว่าจะไม่ทิ้งเมืองไทยที่ออกมาจากปากของท่านประธานโตโยดะ มันชัดเจนว่า เขาตัดสินใจที่จะให้ไทยเป็นฐานสำคัญเพื่อต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต ฉะนั้นพันธมิตรที่จะทำให้โตโยต้าบรรลุเป้าหมายต้องเป็นบริษัทที่ใหญ่พออย่างซีพี
แม้ซีพีจะมีธุรกิจยานยนต์อันเป็นคู่แข่งในตลาดรถยนต์เมืองไทยอย่าง MG และ CP FOTON แต่โตโยต้าก็หงายไพ่ ยอมรับเงื่อนไขต่างๆด้วยบทพระเอกที่มองว่าการลดมลพิษเป็นสิ่งที่ค่ายรถทุกค่ายต้องช่วยกัน ฉะนั้นโตโยต้าจึงไม่ปิดกั้นความร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์รถยนต์สัญชาติไหนก็ตาม
โดยซีพี และโตโยต้า จะแสวงหาความร่วมมือทางสังคม ด้วยการเชื่อมโยงกันระหว่างสองบริษัทฯ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนกระบวนการผลิต การขนส่ง และการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใต้กรอบความร่วมมือดังนี้
1 ศึกษาการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ก๊าซชีวภาพที่ได้จากของเสียจากฟาร์มในประเทศไทย (การศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ)
2 การใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ในกิจกรรมของ ซีพี ซึ่งจะใช้ไฮโดรเจนดังกล่าว (นำเสนอแนวทางที่หลากหลาย เช่น BEV และ FCEV โดยพิจารณาจากระยะการเดินทางและน้ำหนักบรรทุก)
3 ศึกษาความร่วมมือด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยอาศัย เทคโนโลยีการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเส้นทางการจัดส่ง
ถึงกระนั้น ในห้องแถลงข่าว โตโยต้าโดนคำถามจากสื่อญี่ปุ่นที่ยิงคำถามแรง ว่า การที่โตโยต้าเอากลุ่มพันธมิตร CJPT ประกอบด้วย ISUZU, SUZUKI, DAIHATSU และ HINO เข้าร่วมความร่วมมือกับซีพีในครั้งนี้ ทั้งๆที่ HINO โดนคดีโกงค่ามลพิษในต่างประเทศ เหตุใดโตโยต้ายังให้ฮีโน่เข้ามาร่วมโครงการในครั้งนี้ คำตอบจากประธานโตโยต้า ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของฮีโน่ สรุปใจความได้ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีการตำหนิและบทลงโทษไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนการร่วมมือในครั้งนี้ คือหนึ่งในการให้โอกาสฮีโน่
เป้าหมายสำคัญของโตโยต้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ คือการดันตลาดรถยนต์ไปสู่สังคมไฮโดรเจน แต่ประเทศไทยจะเป็นที่พึ่ีงได้ดั่งที่โตโยต้าหวังไว้หรือไม่..? มันก็เป็นเรื่องของอนาคตต่อจากนี้ แต่สิ่งที่โตโยต้าได้ทันทีในวันนี้ คือภาพลักษณ์ที่กำลังบอกคนทั่วโลกว่า โตโยต้าไม่ได้นิ่งเฉยต่อการลดมลพิษ โตโยต้ามีโครงการต่างๆมากมาย อีกทั้งรถยนต์พลังงานทางเลือกหลากหลายที่วางจำหน่ายแล้วทั่วโลก
บทความโดย: MassAutoCar
โฆษณา