22 ธ.ค. 2022 เวลา 01:08 • ธุรกิจ
สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็ก ปี 2022 และ 2023
ในช่วงปี 2022 อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผลการดำเนินงานที่แย่ที่สุด
ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ก็มาจาก ความกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศจีน และ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ยังคงทำให้ราคาเหล็กต่ำลง
ซึ่งภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กคาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ไปพร้อม ๆ กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ในระยะสั้น การเติบโตของอุตสาหกรรมเหล็ก คาดว่าจะยังไม่สดใสเท่าไรนัก
📌 อุปสงค์ยังคงอ่อนแอ
ราคาแร่เหล็ก ร่วงลงมาเหลือเพียงประมาณ 81 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ ตัน ซึ่งเป็นจุดต่ำที่สุดนับตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2020 โดยสาเหตุหลัก ๆ ก็มาจาก นโยบายควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 ของจีน และ วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของความต้องการแร่เหล็ก
ภาคอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นประมาณ 40% ของการบริโภคแร่เหล็ก
ซึ่งวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้น ทำให้การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลง 8.8%
การก่อสร้างใหม่ลดลง 37.8% ในช่วงเดือน มกราคม - ตุลาคม
องค์กร The World Steel Association คาดการณ์ว่าความต้องการเหล็กในประเทศจีนจะลดลง 4% ทั้งปี 2022 ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการเหล็กทั่วโลกลดลง 2.3%
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโครงการสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ในปี 2023 จะช่วยเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็กในปีหน้า
ในขณะที่อุปสงค์นอกประเทศจีนก็ยังคงอ่อนแอเช่นเดียวกัน
ซึ่งสะท้อนมาจากราคาพลังงานที่สูงและการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง
ในยุโรป ความต้องการเหล็กคาดว่าจะหดตัว 3.5% ในปี 2022 และ ด้วยสถานการณ์ขาดแคลนก๊าซ ก็จะยังคงทำให้ความต้องการเหล็กในยุโรปจะยังคงหดตัวต่อไปในปี 2023
ในฝั่งของการผลิตเหล็กช่วงเดือนมกราคม-กันยายนของปีนี้
การผลิตเหล็กดิบในยุโรปลดลง 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การผลิตเหล็กของญี่ปุ่นลดลง 6% ในขณะที่ปริมาณการผลิตของเกาหลีใต้ลดลง 4.4%
อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงเป็นประเทศที่สดใสของอุตสาหกรรมเหล็ก
โดยผลผลิตเหล็กจากอินเดียในช่วงเดือน มกราคม-กันยายนเพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
📌 ผลผลิตเหล็กในจีน
ผลผลิตเหล็กของจีนยังได้รับแรงกดดันตลอดทั้งปี
ซึ่งสาเหตุที่การผลิตเหล็กของจีนลดลง ส่วนใหญ่เป็นเพราะวิกฤติอสังหาริมทรัพย์
โดย การผลิตเหล็กทั้งหมดของจีนตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคมอยู่ที่ 860.57 ล้านตัน ลดลง 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ในขณะเดียวกัน การจำกัดปริมาณการผลิตเหล็กประจำปีของจีน เพื่อจำกัดการปล่อยคาร์บอนอาจทำให้ความต้องการแร่เหล็กในอนาคตลดลงได้
📌 การนำเข้าแร่เหล็กของจีนชะลอตัวลง
ในช่วงที่ผ่านมา จีนนำเข้าแร่เหล็กลดลง 1.7% และคลังแร่เหล็กที่ท่าเรือของจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยสินค้าคงคลังแร่เหล็กของจีนเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่สะท้อนถึงความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน
ซึ่งในช่วงฤดูกาลที่มีการก่อสร้างสูงสุดกำลังจะสิ้นสุดลงและอุปสงค์ยังฟื้นตัวไม่ถึงที่คาดไว้
ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ทั้งผลผลิตเหล็ก และ ความต้องการจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
ราคาแร่เหล็กคาดว่าจะลดลงในระยะสั้น
ความเสี่ยงหลักสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในขณะนี้ ก็คือ นโยบาย Zero-Covid
โดย ในระยะสั้น ความต้องการเหล็กในจีนจะยังคงต่ำ และราคาก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 ราคาเหล็กคาดว่าจะลดลงเหลือ 85 ดอลลาร์ ต่อ ตัน ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 90 ดอลลาร์ ต่อ ตัน ในไตรมาสที่ 2 และ 3 และเพิ่มเป็น 95 ดอลลาร์ ต่อ ตัน ในไตรมาส หลังจากจีนผ่อนคลายนโนบาย Zero-Covid
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา