22 ธ.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ญี่ปุ่นทำอะไรถึงทำให้เงินเยนแข็งค่ารวดเร็ว
1
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
เบื้องหลังเรื่องนี้ มันเกิดมาจากการปรับนโยบายการเงินอย่างน่าประหลาดใจ จากธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งเราจะมาเล่าในบทความนี้
ย้อนความปี 2022
ปี 2022 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความผันผวนอย่างแท้จริง
โดยปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของทั่วโลก คือ สภาวะข้าวของแพง เงินเฟ้อพุ่งสูง ซึ่งมีต้นเหตุมาจากภาวะสงครามในยูเครนเป็นหลัก
สถานการณ์เงินเฟ้อสูงบีบให้ธนาคารกลางเกือบทั่วโลก ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย เป็นการจ่ายยาแรงเพื่อจัดการเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
ที่บอกว่าเป็นยาแรง เพราะว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง
แต่สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางก็ต้องทำ เพราะ บทเรียนในอดีตสอนว่า เงินเฟ้อที่สูงเรื้อรังเป็นปัญหาที่รุนแรงกว่าการยอมให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะสั้น
แต่ในขณะที่ธนาคารกลางใหญ่ๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยกันเกือบหมด
ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ตัดสินใจจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายซึ่งตนเองได้ใช้มาก่อนหน้าหลายปีแล้ว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
3
โดยสาเหตุหนึ่งที่ญี่ปุ่นเลือกทำแบบนี้ อาจจะเป็นเพราะ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิดเต็มที่
และอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นก็อยู่ในช่วงต่ำ (จนเป็นเงินฟืด) มานาน
BoJ ก็อาจจะไม่กังวลกับเงินเฟ้อมากนัก
1
ทั้งหมดนี้ ทำให้ดอกเบี้ยของต่างประเทศเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยญี่ปุ่น สูงมากขึ้นเรื่อยๆ และก็ทำให้เงินทุนที่ไหลเวียนอยู่ในญี่ปุ่น ไหลออกไปหาที่ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าแทน
เงินที่ไหลออก แปลว่า จะมีคนนำ “เงินเยน” ออกมาขายเพื่อแลกเป็นเงินสกุลต่างชาติมากขึ้น ก็เลยทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่ามาอย่างต่อเนื่อง
1
นอกจากนี้ นักเก็งกำไรหลายคนก็มองเห็นโอกาสว่า สุดท้ายญี่ปุ่นต้องขึ้นดอกเบี้ยในตอนท้ายแน่นอน ก็เลยเข้ามาโจมตีค่าเงินญี่ปุ่นเพิ่มอีก
สุดท้ายค่าเงินเยนอ่อนค่าไปถึงระดับ 150 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี
2
เงินเยนอ่อนค่าแม้จะทำให้ภาคการส่งออกดีขึ้น แต่ระดับที่อ่อนค่าเกินไปก็ส่งผลร้ายต่อการนำเข้า ที่ญี่ปุ่นต้องซื้อของต่างชาติแพงขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าพลังงานซึ่งญี่ปุ่นนำเข้าเยอะและมีราคาแพงมากในปีที่ผ่านมา
1
ทำให้อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี
2
ก่อนหน้านี้ ก็ไม่ใช่ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะนิ่งนอนใจ แต่พยายามสื่อสารออกมาตลอดว่า พร้อมจะเข้ามาจัดการกับค่าเงินหากมันจำเป็น
1
และก็ทำถึงขั้นเข้ามาแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนโดยตรง แต่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะตราบใดที่ดอกเบี้ยต่างประเทศโลกสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็โอกาสที่ค่าเงินเยนจะอ่อนค่าต่อได้อีก
BoJ เคลื่อนไหวเซอร์ไพรส์ตลาด
แต่ในขณะที่ทุกคนเริ่มคาดการณ์กันว่า BoJ น่าจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นนี้ไปอีกสักพัก
1
อย่างน้อยก็จนกว่าท่านผู้ว่า BoJ คนปัจจุบัน “Haruhiko Kuroda” จะก้าวลงจากตำแหน่งในช่วงเมษายนปีหน้า
แต่ในประกาศนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็มีการประกาศเปลี่ยนนโยบายออกมาแบบเซอร์ไพรส์ตลาด
ที่แม้จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% แต่ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) ซึ่งจะขอเรียกสั้นๆ ว่า YCC
1
นโยบาย YCC พูดง่ายๆ คือ การกำหนดกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งทางธนาคารกลางต้องการให้เป็น
เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มีความสำคัญอย่างหนึ่งในแง่การเป็นฐานของดอกเบี้ยอื่นในระบบเศรษฐกิจ
ถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น ดอกเบี้ยอื่นก็จะสูงขึ้น เศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลง
แต่การกำหนดกรอบแบบนี้ก็มีต้นทุน เพราะ เมื่อไรที่อัตราผลตอบแทนฯ มันสูงเลยจากกรอบที่ธนาคารกลางต้องการไป พวกเขาก็ต้องเข้ามาแทรกแซงซื้อพันธบัตรรัฐบาล
 
โดยก่อนหน้าการประกาศวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา นโยบาย YCC ของ BoJ ใช้กับพันธบัตรฯ อายุไถ่ถอน 10 ปี
กำหนดกรอบอัตราผลตอบแทนไว้ที่ ไม่ต่ำกว่า -0.25% และไม่สูงกว่า 0.25%
ซึ่งทาง BoJ ก็ต้องดำเนินการแทรกแซงในตลาดมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้อัตราผลตอบแทนฯ อยู่ในกรอบที่ต้องการนั้น
1
จนทำให้ “ผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น” รายใหญ่ที่สุด คือ “ธนาคารกลางญี่ปุ่น”
หรือก็แปลว่า เจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลก็คือธนาคารกลางเอง
แต่ในประกาศนโยบายการเงินล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจขยายกรอบนโยบาย YCC
จาก -0.25% ถึง 0.25% กลายมาเป็นกรอบ -0.5% ถึง 0.5%
ซึ่งตลาดก็ตอบรับทันที อัตราพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น 10 ปี ปรับตัวขึ้นจาก 0.2% ไปสู่ระดับ 0.4%
นอกจากนี้ การปรับนโยบาย YCC เช่นนี้ ก็ถูกตีความว่าเป็นเหมือนสัญญาณที่บอกว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังจะดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดมากขึ้น ตามรอยธนาคารกลางอื่นทั่วโลก
การคาดการณ์ดอกเบี้ยญี่ปุ่นที่สูงขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝัน ทำให้เงินไหลกลับเข้าสู่ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทันที และก็ทำให้เงินเยนแข็งค่า จากความต้องการมันที่เพิ่มขึ้น
แต่ทั้งนี้ ท่านผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น คุณ Kuroda ก็บอกว่า การปรับนโยบายนี้ยังไม่ใช่สัญญาณยืนยันการเข้าสู่ช่วงการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องแต่อย่างใด
2
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะเป็นเรื่องจริงไหม แต่ถ้าดูจากทิศทางของตลาดในตอนนี้แล้ว ก็เหมือนจะตีความไปในทิศทางตรงกันข้ามกับคุณ Kuroda ไปแล้ว…
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา