27 ธ.ค. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
ทำไมเซ็นทรัล ต้องสร้างห้างติดกัน แถวชิดลม
เคยสงสัยไหมว่าทำไมเซ็นทรัล ต้องสร้างห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี รวมถึงโครงการใหม่บนสถานทูตอังกฤษเดิม โดยทั้งหมดที่ว่านั้นกระจุกตัวอยู่บริเวณ ชิดลมและเพลินจิต
2
นอกจากเซ็นทรัลแล้ว ย่านธุรกิจหรือย่านการค้าที่มีชื่อเสียง เช่น สยาม หรือสุขุมวิท ก็มักจะมีโครงการที่มีเจ้าของเดียวกัน ตั้งอยู่ติดกัน
แล้วทำไมเครือธุรกิจเหล่านี้ เลือกที่จะตั้งศูนย์การค้าให้อยู่ใกล้ ๆ กัน แทนที่จะไปปักหมุดในพื้นที่อื่นที่ยังไม่มีใครครองตลาด
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น เราไปรู้จักศูนย์การค้าชื่อดังที่เป็นตัวอย่างในกรณีศึกษานี้กันก่อน ได้แก่
- Central Bangkok ของกลุ่มเซ็นทรัล ประกอบด้วย เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ซึ่งอยู่แถวชิดลม-เพลินจิต
- The Em District ของกลุ่มเดอะมอลล์ ประกอบด้วย เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ และเอ็มสเฟียร์ ที่กำลังจะเปิดให้บริการ ซึ่งอยู่แถวสุขุมวิท 39
- One Siam ของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ประกอบด้วย สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ที่ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ ซึ่งอยู่แถวสยาม
จะเห็นได้ชัดว่าโครงการที่กล่าวมานั้น มีเจ้าของเดียวกัน และสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกันทั้งหมด
โดยเหตุผลสำคัญเรื่องแรกเลยก็คือ “การรักษาส่วนแบ่งการตลาด” ในทำเลที่มีศักยภาพสูง
2
หากลองสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ากลุ่มศูนย์การค้าเหล่านี้ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ แต่ละแห่งตั้งอยู่ในทำเลทองที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
- Central Bangkok ตั้งอยู่ในย่านชิดลม-เพลินจิต
- The Em District ตั้งอยู่ในย่านสุขุมวิท
- One Siam ตั้งอยู่ในย่านสยาม
1
การตั้งศูนย์การค้าในทำเลทองนั้น ทำให้ในแต่ละวันมีผู้คนหมุนเวียนเข้าสู่ศูนย์การค้าอย่างมหาศาล และทำให้พื้นที่ดังกล่าว กลายเป็นที่จับจ้องของบรรดาคู่แข่งด้วย
1
เจ้าของโครงการจึงไม่ต่างอะไรไปจากเจ้าถิ่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายพื้นที่ให้บริการของตัวเองแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาดของตัวเองไว้ ไม่ให้คู่แข่งเข้ามาได้ง่าย ๆ แม้ศูนย์การค้าแห่งใหม่ จะมาแย่งส่วนแบ่งของศูนย์การค้าเดิมก็ตาม
โดยเราเรียกกลยุทธ์นี้ว่า “Cannibalization” หรือการที่กิจการเพิ่มสินค้าหรือบริการใหม่มา เพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งอาจกระทบกับสินค้าหรือบริการที่มีอยู่เดิมของตนเอง
2
โดยแนวคิดนี้มองว่า กิจการยอมให้เกิดการแย่งส่วนแบ่งกันเอง ดีกว่าให้ส่วนแบ่งดังกล่าว ตกไปอยู่ในมือของคู่แข่ง
7
ลองนึกภาพดูว่า หากสยามพิวรรธน์ มีศูนย์การค้าอยู่เพียงสองแห่งในพื้นที่สยาม คือ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามเซ็นเตอร์ โดยสมมติว่า ทั้งสองแห่งนั้น มีผู้คนหมุนเวียนรวม วันละ 100,000 คน
ในขณะที่พื้นที่ที่สยามพารากอนตั้งอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นของคู่แข่งอย่างกลุ่มเซ็นทรัล
1
การเปิดตัวศูนย์การค้าใหม่ของคู่แข่ง ในพื้นที่ดังกล่าว ถึงแม้ว่าโดยภาพรวมแล้ว จะทำให้ผู้คนเดินทางมายังสยามมากขึ้น แต่ก็ทำให้สยามพิวรรธน์ ต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดในย่านสยาม ไปให้กลุ่มเซ็นทรัลได้
2
จึงไม่แปลกที่สยามพิวรรธน์ จะเปิดสยามพารากอนขึ้นมาเพื่อให้ส่วนแบ่งการตลาดในพื้นที่สยาม ยังคงเป็นของสยามพิวรรธน์อยู่ และยังได้ยอดขายมากขึ้น
ในขณะที่บรรดาคู่แข่ง ก็เข้ามาชิงส่วนแบ่งได้ยาก เพราะพื้นที่ว่างเหลือน้อยลง และผู้เช่าภายในศูนย์การค้า ก็มักจะยังเลือกเช่ากับสยามพิวรรธน์ ที่เป็นเจ้าถิ่นเหมือนเดิม
นอกจากนี้ การเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ อาจทำให้บริษัท สามารถเจาะกลุ่มลูกค้า ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น ในกรณีของกลุ่ม The Em District ที่แต่เดิม มีแต่ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีฐานะดี
2
แต่สุดท้าย กลุ่มเดอะมอลล์ก็ตัดสินใจ ที่จะสร้างเอ็มควอเทียร์ขึ้น บนพื้นที่ฝั่งตรงข้ามกับเอ็มโพเรียม เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นพนักงานบริษัท ในย่านสุขุมวิท รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มเติม
3
ซึ่งการเปิดเอ็มควอเทียร์ ส่งผลให้มีผู้คนหมุนเวียนในย่านสุขุมวิทมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เอ็มโพเรียมเองก็ได้ประโยชน์
3
หรืออย่างกรณีที่กลุ่มเซ็นทรัล สร้างเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีฐานะดีโดยเฉพาะ จากเดิมที่มีเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าในทุกระดับอยู่แล้ว
สรุปแล้ว การที่เจ้าของรายเดียว สร้างศูนย์การค้าหลายแห่งใกล้ ๆ กัน นอกจากจะเป็นการขยายกิจการแล้ว ยังทำให้บริษัทสามารถรักษาส่วนแบ่งในพื้นที่เอาไว้ได้ รวมถึงสามารถเจาะกลุ่มลูกค้า ได้มากขึ้นอีกด้วย
2
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ใช้กลยุทธ์นี้ ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ศูนย์การค้าที่เปิดใหม่ มีกลุ่มเป้าหมายที่ซ้อนทับกัน และเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง จากศูนย์การค้าเดิมมากจนเกินไป
1
ไม่อย่างนั้นแล้ว แทนที่การเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้มากขึ้น
อาจกลายเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงถึงหลักพันหรือหลักหมื่นล้านบาท แต่กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่คุ้มกับที่ลงทุนไปนั่นเอง..
3
ใครอยากมีความรู้เรื่องตลาดหุ้น ลงทุนแมนแนะนำ หนังสือ BLACK SWAN เล่มนี้ ราคา 380 บาท ที่เล่าถึงความล้มเหลวก่อนที่จะสำเร็จของนักลงทุนในตำนาน 12 คน สามารถสั่งจอง ได้ที่
1
โฆษณา