25 ธ.ค. 2022 เวลา 03:21 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
30 อันดับภาพยนตร์ประจำปี 2022
ปีนี้ถือว่าเป็นการพยายามตามเก็บหนังที่อยากจะดูเยอะมากที่สุดหากเทียบกับปีที่ผ่านมา และคิดว่าทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้พอสมควร ต้องยอมรับว่าช่วงท้ายๆ ของปีนี้ทั้งหนังและซีรีส์อัดแน่นเข้ามาพร้อมกันมากมายเลยทีเดียว หลายๆ เรื่องได้กลายเป็นประสบการณ์ประจำปีอันน่าจดจำสำหรับเราไปอย่างไม่ต้องสงสัยเลย
อันดับหนึ่งประจำปีนี้ ที่ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนเทียบผลงานก่อนๆ ของชานวุคเองไม่ได้ แต่ Decision to Leave ก็คมคายและหนักหน่วงเอาตายได้เหมือนกันสำหรับเรา บรรยากาศมันเป็นหนังรักที่ปนดราม่าระทึกขวัญของคดีฆาตกรรมได้อย่างแยบยล การลำดับทั้งภาพและภาษาสนุกในตัวมากๆ ความเก่งกาจของชานวุคที่หยิบจับใช้สอยประโยชน์จากรายละเอียดระหว่างทางมาเป็นพื้นที่ในการเล่นงานคนดูช่วงตอนท้ายยังคงเด็ดขาดเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนตัวชอบ ‘ถัง เหว่ย’ ที่รับบทนางเอกมากๆ อินตามไปกับความลึกลับบนความงดงามอย่างถอนตัวไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม เรายังชอบบรรยากาศของหมอกในหนังที่ปกคลุมอย่างหนาแน่นผ่านภูเขาหน้าผาแตะลงมาถึงบริเวณชายหาดและตัวเมือง เหมือนเป็นการคอยสื่อสารแบบนัยๆ ถึงความคลุมเครือตลอดเส้นทางการเดินทางของทั้งสองคนที่รอวันให้มันจางหายไปได้เห็นสิ่งตรงหน้าชัดเจนขึ้นมา
ทั้งนี้ ชื่อของหนังก็เหมือนเป็นเส้นบางๆ ให้คนดูก้าวข้ามระหว่างความสับสนของสถานการณ์ว่าอันไหนจริง อันไหนเป็นเพียงเรื่องหลอกบังหน้า เป็นการตัดสินใจเลือกที่จะจากลาของฝ่ายไหนกันแน่ ซึ่งเดาไม่ออกจริงๆ จนกระทั่งตอนจบ
2. Aftersun
เป็นหนังที่ชอบไปแบบไม่ทันตั้งตัว และรู้ตัวเองดีว่าผลลัพธ์มันมาจากความเศร้า ความรู้สึกเจ็บปวดที่หนังมอบให้ในแบบที่เราก็ไม่ทันตั้งตัวด้วยเช่นกัน หนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกสาวในทริปพักร้อนสัปดาห์หนึ่งของพวกเขา ทั้งคู่ใช้เวลาร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกอย่างนับเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขและปกติดี หลายๆ โมเมนต์ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นห้วงความทรงจำระยะเวลาอันสั้นที่ถูกบันทึกไว้ผ่านกล้องวิดีโอตัวหนึ่งที่ลูกสาวหยิบมาบันทึกเล่นด้วยความสนุก ไร้เดียงสา
แต่แล้วจนกระทั่งกลับมาเปิดมันดูอีกครั้งในวันที่เธอโตขึ้น ภาพบันทึกและรายละเอียดต่างๆ ในช่วงเวลานั้นได้กลายเป็นทั้งความทรงจำดีๆ ที่โอบกอด และทำทำให้ชวนใจสลายได้ในเวลาเดียวกัน เมื่อมีบางสิ่งที่มันต้องเปลี่ยนไป บางอย่างที่ไม่อาจเหมือนเดิมได้อีก และบางคำถามในวันนั้น จนกระทั่งวันนี้คำตอบก็อาจจะยังไม่ชัดเจนขึ้นมา
3. Everything Everywhere All at Once
สิ่งที่โดดเด่นมากๆ ของหนังคือ การเดินทางทะลุข้ามมิติของ ‘เอเวอลิน’ (Michelle Yeoh) หญิงชาวจีนเจ้าของร้านซักรีดธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีกิจวัตรประจำวันอันยุ่งเหยิง สารพัดสิ่งอย่างและทุกปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าอยู่นั้นชวนให้จะบ้าตายรายวันไม่ต่างอะไรจากคนทั่วไปที่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตให้รอดพ้นไปหนึ่งวัน แต่ทั้งหมดกลับต้องวุ่นวายและหนักหนาขึ้นไปอีก เมื่อการมาของวายร้ายจากอีกมิติหนึ่งทำให้เธอต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อครอบครัวรวมถึงปกป้องผู้คนที่อยู่ในจักรวาลเดียวกันนี้
นอกจากจะเป็นการค้นพบพลังเหนือมนุษย์แล้ว ยังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่ตัวตนของเธอมีส่วนเกี่ยวพันกันอย่างไม่คาดคิด ประเด็นนี้เองยังแอบสอดรับกับคอนเซ็ปต์หนึ่งของหนังที่ว่า ‘จักรวาลกว้างใหญ่มหาศาลกว่าที่เราคิด’ ซึ่งชอบพาร์ทนี้เป็นการส่วนตัวมาก ยิ่งหนังเดินทางผ่านมิติจักรวาลมากมายแค่ไหน หากแต่ตัวละครยิ่งดูตัวเล็กลงเรื่อยๆ อันเหมือนเป็นการสะท้อนปัญหามนุษย์ที่เมื่อเจอกับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
4. Nope
ปีนี้คงไม่มีเรื่องไหนเป็นประสบการณ์ชวนว้าวได้เท่ากับ Nope ของ จอร์แดน พีล อีกแล้ว คือมันว้าวแบบน่าทึ่ง ตื่นตาตื่นใจ มีความรู้สึกเร้าอารมณ์อยู่ข้างในเต็มไปหมดในขณะที่ชม และถ้าหากจะมองในแง่ของหนังสยองขวัญก็ทำได้สำเร็จอีก ไม่คิดว่าการมาเยือนของ UFO จะเล่าได้น่ากลัวและสามารถแตกประเด็นออกไปให้ถกเถียงได้มากถึงขนาดนี้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ว่าทำยากแล้ว การทำให้หนังมันออกมาสดใหม่นั้นยากกว่า แต่ผลลัพธ์คือหนังสอบผ่านแบบสบายๆ ยกให้เป็นความเจ๋งสุดขีดแห่งปี
5. The Banshees of Inisherin
ผลงานล่าสุดของผู้กำกับ มาร์ติน แม็คโดนาห์ (Three Billboards Outside Ebbing, Missouri) ที่กลายเป็นผู้เล่นคนสำคัญบนเวทีออสการ์ที่กำลังจะมาถึงช่วงต้นปีหน้าไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นกระแสตอบรับที่ดีเกินคาดตั้งแต่การเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองเวนิสเมื่อสามเดือนที่ผ่านมา รวมถึงการที่มีรายชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำมากที่สุดในตอนนี้
อีกทั้งการแสดงของ โคลิน ฟาร์เรลล์ และ เบรนดัน กลีสัน แน่นอนว่าก็ชวนให้ลุ้นไปตามๆ กันได้ไม่ยาก หรือแม้กระทั่ง แบร์รี คีโอกัน ที่เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ก็ทำเอาเราเชื่อสนิทใจไปกับความซื่อ เคอะเขินในบทบาทที่ได้รับอย่างน่าสนใจ เชื่อว่าคงได้เห็นกันไม่บ่อยนักในผลงานของเขา
6. Bones and All
สำหรับเรา Bones and All คงต้องใช้คำว่ามันเป็นหนังที่ทั้งพิลึก ทั้งโรแมนติก และก็ได้ปลอบประโลมคนดูในเวลาเดียวกัน ประเด็นที่เราชอบมากที่สุดคือการที่หนังหยิบยกเรื่องของกลุ่มคนชายขอบมาเล่า ซึ่งพอมันนำมาผสมกับพาร์ทความสัมพันธ์คู่วัยรุ่นหนุ่มสาวที่ต้องเติบโต ได้มาพบกันในช่วงชีวิตที่กำลังสับสน พัฒนาการจากคนไม่เคยรู้จัก
คอยประคับประคองสิ่งที่แตกสลายซึ่งกันและกัน จนขยับไปสู่สถานะคนรัก ดังเป็นเหมือนที่พักพิง และพื้นที่ปลอดภัยของทั้งสองจากความแปลกแยกที่สังคมผลักพวกเขาออกมา จึงเป็นอารมณ์ที่หนักหน่วงตลอดการเดินทางสำหรับคนดูอย่างเรา รวมถึงการก้าวผ่านในช่วงที่ยากเย็นที่สุดของ ‘แมเรน’ กับ ‘ลี’
การเป็นมนุษย์กินคนของทั้งคู่คือองค์ประกอบสำคัญที่หนังพาเราไปสำรวจพร้อมกับสภาพความรกร้าง เร่ร่อน เปล่าเปลี่ยว แสนจะเงียบสงัด ณ ที่แถบชนบทของสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 มันสะท้อนความยากลำบากของกลุ่มคนชายขอบในยุคนั้นที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย และบอกตามตรงว่ามันชวนหดหู่ใจอยู่ไม่น้อยเลย
7. Pearl
ปีนี้หนังสยองขวัญของผู้กำกับ ไท เวสต์ โดดเด่นเป็นไฮไลท์เอามากๆ และส่วนตัวมองว่าผลงานของเขาได้เป็นก้าวสำคัญของวงการหนัง ฮอร์เรอร์-ทริลเลอร์ แห่งปีไปเลยด้วยซ้ำ
เรื่องราวของ เพิร์ล เด็กสาวชนบทที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในฟาร์ม ชีวิตถูกตีกรอบด้วยระบบระเบียบจากแม่ผู้เคร่งศาสนาของเธอ ชีวิตที่ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการก้มหน้าก้มตาทำงานฟาร์มให้กับครอบครัว นอกจากจะเป็นการแบกรับภาระเกินตัวอย่างสะสม และต้องทนอยู่กับความขื่นขม เธอยังไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองรักดูสักครั้ง
ความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นดาวดาราบนจอภาพยนตร์ของเธอไม่เคยได้เริ่มต้นหรือเกิดขึ้นจริงเลยสักครั้ง เหมือนกำลังติดกับดักวังวนของความเอาแต่ใจไม่มีเหตุผลของแม่ ซึ่งยากที่จะหลุดพ้น หนทางเดียวเห็นจะเป็นเส้นทางสู่การ ‘อิสระ’ ที่เธอต้องรีบไขว่คว้าก่อนที่จะทำอะไรไม่ได้อีกเลย
8. The Batman
ถือเป็นการเปิดตัวอย่างสวยงาม ที่ทำสำเร็จทั้งคะแนนจากฝั่งคนดู รวมถึงรายได้ทั่วโลกที่ขึ้นสู่อันดับ 2 ในฐานะหนังฮีโร่ทำรายได้สูงสุดในช่วงโควิด (ตามหลัง Spider-Man: No Way Home) ซึ่งแน่นอนว่าทิศทางหนังสไตล์สืบสวนอย่างเต็มรูปแบบของ แมท รีฟส์ มันมอบความสดใหม่ให้กับเราได้ดีมาก พาไปสำรวจเบื้องลึกอีกแง่มุมของทั้งแวดล้อม และสภาพจิตใจของแบทแมน ที่นิยามของคำว่า ‘ล้างแค้น’ ในภาคนี้มันดิบเถื่อนดีจริง
9. The Northman
เดิมทีเราเป็นคนที่ชื่นชอบผลงานของ โรเบิร์ต เอ็กเกอร์ส มากพออยู่แล้ว ประกอบกับที่ก็ชอบธีมในยุคไวกิ้งอีกด้วยเหมือนกัน The Northman จึงเป็นโปรแกรมที่เราค่อนข้างเปิดใจรับและรู้สึกว่าต้องชอบแน่ๆ ตั้งแต่ก่อนจะเข้าไปดู ซึ่งผลลัพธ์ก็คือชอบอย่างที่ตั้งตาตั้งใจไว้จริงๆ
ทั้งที่เนื้อเรื่องแทบไม่มีอะไรซับซ้อน มันว่าด้วยการตามล่าล้างแค้นของตัวเอกที่พ่อซึ่งเป็นกษัตริย์ถูกฆ่า ฝั่งแม่ก็ถูกจับตัวไปในเวลาเดียวกัน กลายเป็นจุดประกายไฟครั้งสำคัญตั้งแต่ช่วงชีวิตวัยเด็กเมื่อเหตุการณ์ครั้งดังกล่าวทำให้เขาได้แต่หลบซ่อน มองดูความเลวทรามที่ครอบครัวตนถูกกระทำ จากนั้นจึงจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่รอดเพื่อรอวันที่จะนำเลือดกลุ่มคนพวกนั้นออกมาล้างบางให้มันสาสม
10. Triangle of Sadness
ผลงานจากผู้กำกับชาวสวีเดน รูเบน ออสต์ลุนด์ (The Square) ที่ตัวหนังได้คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเมืองคานส์ของปีนี้ไปครอง โดยเป็นเรื่องราวทริปเที่ยวบนเรือยอร์ชลำใหญ่สุดหรูหราลำหนึ่ง เต็มไปด้วยเหล่าบรรดาเซเลบริตี้ และอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ นานา
ภายนอกที่ประดับประดาไปด้วยชื่อเสียง หน้าตา ตลอดจนถึงคำพูดที่บ่งบอกว่าตนนั้นสนับสนุนความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศหรือฐานะชนชั้นก็ตาม แต่แล้วตัวตนแท้จริงของแต่ละคนที่ถูกซ่อนด้วยเปลือกนอกอยู่กลับต้องเผยมันออกมาในที่สุด เมื่อค่ำคืนหนึ่งของทริปสุดแสนจะหรรษานี้ได้กลายเป็นความเละเทะบนคราบความหรูหรา หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในเวลาต่อมา
11. The Fabelmans
ผลงานล่าสุดของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่ตัวหนังได้รับคำชมจากนักวิจารณ์รวมถึงคนดูในเชิงบวกไปอย่างล้นหลาม ตั้งแต่รอบพรีเมียร์ในเทศกาลหนังโตรอนโตเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เล่าเรื่องราวและประสบการณ์ที่เป็นความส่วนตัวมากๆ ของสปีลเบิร์ก ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพความทรงจำครั้งวัยเยาว์
พาไปสำรวจชีวิตของเด็กชายคนหนึ่งผู้หลงใหลในภาพยนตร์ จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่ทำให้เขากลายมาเป็นคนทำหนัง และหนึ่งในผู้ที่มอบอะไรไว้มากมายให้แก่วงการ โดยบอกเล่าผ่านความสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่เขากำลังเติบโต คลุกคลีอยู่กับครอบครัว เพื่อน และคนรัก ซึ่งพาร์ทตรงนี้เองเป็นสิ่งที่โดดเด่นมากๆ ไม่แพ้กันกับประเด็นความฝันที่เขามีต่อภาพยนตร์
12. After Yang
นับว่าเป็นผลงานไซไฟ-ดราม่าที่มีคอนเซปต์แข็งแรงและลุ่มลึกดีมาก ถึงแม้ลักษณะการเล่าของหนังจะเนิบช้า ค่อยเป็นค่อยไป และแม้ส่วนตัวจะรู้สึกว่าหนังสั้นไปนิดนึงก็ตาม แน่นอนว่าโจทย์ของหนังไซไฟทุกวันนี้ยากขึ้นพอสมควร เรามักจะเห็นการตั้งคำถามที่สร้างประเด็นถึงรากเหง้าของความเป็นมนุษย์อยู่เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ซึ่ง After Yang ทำหน้าที่ตอบคำถามเหล่านั้นได้ดีและแทบจะครบถ้วนในประเด็นที่ว่า โดยเล่าถึงความทรงจำของ ‘หยาง’ ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกครอบครัวหนึ่งซื้อมาเพื่อเลี้ยงดูลูกสาวบุญธรรมของพวกเขา วันหนึ่งแกนในระบบของ หยาง เกิดขัดข้องและมีอาการไม่สู้ดีนัก ทั้งนี้ทางเลือกที่เหลืออยู่กลับมีไม่มากนอกจากจะต้องเปลี่ยนหุ่นยนต์ตัวใหม่ แต่แล้วก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เมื่อลูกสาวคนดังกล่าวมีความสนิทสนม ผูกพันกับ หยาง เหมือนกับเป็นพี่ชายแท้ๆ ไปแล้ว
13. The Quiet Girl
ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหญิงที่มีครอบครัวผิดปกติ อยู่ในสถานะไม่พร้อมเลี้ยง วันหนึ่งพ่อแม่เธอจำเป็นต้องส่งตัวไปพักอาศัยอยู่กับญาติของเขาที่ฟาร์มชนบทในช่วงซัมเมอร์ เธอได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีนับตั้งแต่วันแรก อาจพูดได้ว่าดีในแบบที่เธอไม่เคยได้รับมาก่อนเลยด้วยซ้ำ
เพียงไม่นานความรู้สึกผูกพันได้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นต่อทั้งสองฝ่ายพวกเขาดูแลเธออย่างโอบอ้อมและเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นานวันเข้ากลับกลายเป็นความเสียใจ เจ็บปวดอย่างมหาศาลเมื่อถึงเวลาที่ต่างฝ่ายต้องแยกจากกันไป
14. Cha Cha Real Smooth
นี่ถือเป็นรอม-คอมโดนๆ อีกเรื่องหนึ่งของปีนี้เลยนะ เราว่าเสน่ห์จริงๆ ของหนังคือความเป็น coming of age ที่ตั้งใจจะเล่าผ่านความเรียบง่าย และมักจะมีความเจ็บแสบมากๆ อยู่ในนั้น ซึ่ง Cha Cha Real Smooth ทำออกมาได้สวยเลย ประทับใจมาก ถึงแม้จะขัดใจกับตัวตนของพระเอกอยู่หน่อยก็เถอะ - อีกอย่างคือพอได้เห็น ดาโกต้า จอห์นสัน มีเคมีกับบทที่โตขึ้น (โดยรับบทเป็นแม่) ยิ่งอยากเห็นผลงานต่อๆ ไปในอนาคตทันทีเลย ชอบตั้งแต่ The Lost Daugther แล้วล่ะ
15. Avatar: The Way of Water
สิ่งหนึ่งที่เราชอบในภาค The Way of Water คือการที่หนังยังสามารถนำเอาหลายๆ ส่วนจากภาคที่แล้วเมื่อปี 2009 มาใช้เล่าและขับเคลื่อนเนื้อเรื่องบทใหม่ได้อย่างกลืนกันดีมากๆ อยู่ เพราะขณะเดียวกันก็เหมือนเป็นการฟื้นคืนความประทับใจเก่าๆ สำหรับผู้ชมกลับมา ซึ่งทำได้อย่างดีเยี่ยม ถึงแม้จะมีบางส่วนของภาคก่อนที่เราอินมาก นำกลับมาใช้ในภาคนี้กลับไม่อินเท่าที่ควรแล้วก็มี
แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่เป็นประสบการณ์การดูหนังแห่งปีสำหรับเรา จินตนาการงานสร้างโลกใต้น้ำบนดาวแพนดอร่านั้นทั้งงดงาม และได้ไปไกลกว่าคำว่าน่าทึ่งมากจริงๆ ตลอดสามชั่วโมงของหนังคือความสุขที่เราได้รับกลับมา คำนี้คงกล้าพูดได้อย่างไม่มีความเคอะเขิน
โดยรวมแล้ว The Way of Water นอกจากจะเป็นการกลับมาในรอบ 13 ปี ที่ทำให้หายคิดถึงกันไปแล้ว ยังเป็นข้อพิสูจน์ว่าแฟรนไชส์ชิ้นนี้ของ เจมส์ คาเมรอน ยังไม่ตายจากไปจริงๆ มันคือการมีตัวตนอยู่ที่เรารับรู้ได้ว่า ภาคนี้มันเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งใหม่ ที่กำลังจะมาถึงในอนาคต และจะอีกยาวไกลแน่นอน
16. Top Gun: Maverick
สิ่งที่ท็อปกันทำได้ดีในภาคนี้เราคิดว่าคงเป็นการที่หนังใช้ตัวละครนำมาสานต่อเส้นเรื่องจากภาคแรกได้อย่างทรงพลัง ทั้งการกลับมาอีกครั้งของ ทอม ครูซ ตลอดจนถึงพื้นหลังของตัวละครอื่นๆ ที่หนังให้ความสำคัญกับมันมากๆ ทั้งสิ้น กระทั่งสถานที่อย่างโรงเรียนฝึกเหล่านักบินก็สามารถดึงหลายๆ ห้วงอารมณ์เก่าๆ กลับมาได้เป็นอย่างดี
ซึ่งอีกหนึ่งความสุดพิเศษที่หนังสามารถทำให้เราตกหลุมรักเข้าอย่างจังคงจะหนีไม่พ้นบรรดาฉากขับเครื่องบินอันโลดโผนทั้งหลาย ที่มันชวนตื่นตา ทำออกมาได้เร้าใจไปซะหมด พอถึงในยุคที่เทคโนโลยีภาพยนตร์กำลังเดินหน้าอย่างก้าวกระโดด ฉากดังกล่าวจึงเป็นประสบการณ์ดูหนังสุดพิเศษของเราในรอบปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย และคิดว่าหลายคนก็คงจะชอบมากๆ ไม่แพ้กัน
17. Glass Onion: A Knives Out Mystery
ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่าเราชอบภาคแรกมากๆ (Knives Out) ไรอัน จอห์นสัน เปิดอีกมิติหนึ่งในการดูหนังสืบสวนคดีฆาตกรรมของเราไปได้อย่างเหนือความคาดหมาย กับภาคนี้ก็เช่นกัน ที่กล้าพูดได้เต็มปากเลยว่าจอห์นสันเป็นคนมีของจริงๆ เรารักในงานกำกับที่มันมีลูกเล่นเยอะ แพรวพราว แล้วก็สร้างสรรค์ในดีเทลของเขาเสมอมา ขณะเดียวกันการที่หนังวางตัวเป็นสืบสวนไขคดี นั่นก็ยังคงมีความตรงไปตรงมาแบบที่ไม่โกงคนดูอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งเบาะแส แอบสื่อสารกับผู้ชมแบบนัยๆ
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นหนึ่งในเสน่ห์สุดแยบยลที่หนังบอกคนดูแบบโฉ่งฉ่างเอาไว้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น เพียงแต่เทคนิคการถ่ายทอดมันทำให้จับเจอยากมากๆ เท่านั้นเอง ซึ่งภาคนี้ทำเอาหัวปั่นมาก และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความบันเทิงที่หนังมอบให้นอกจากจะเป็นเส้นเรื่องของคดีฆาตกรรมแล้ว นักแสดงชุดใหญ่ที่เรียงรายกันเข้ามาคือสีสันบันเทิงอย่างแท้จริง ตกหลุมรักแฟรนไชส์หนัง Whodunit ของผู้กำกับคนนี้ไปแล้วอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
18. All Quiet on the Western Front
หนังสงครามหนึ่งเดียวของปีนี้ อาจไม่ได้โดดเด่นหรือเป็นความสดใหม่อะไรขนาดนั้น แต่หากพูดถึงงานสร้างที่สมจริง ละเมียดละไม ขณะเดียวกันก็ถาโถมคนดูเข้ามาเหมือนจับเราไปอยู่ในพื้นที่สนามรบจริง ทั้งหมดถือว่าทำออกมาได้ดีทีเดียว (ถึงแม้ว่าฉากรบจะน้อยก็เถอะ) แต่พาร์ทดราม่ารุนแรงบาดใจสุดๆ
อันที่จริงมันคือหนังต่อต้านสงคราม นำเสนอภาพของฝ่ายที่พ่ายแพ้ในสนามรบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เหล่าบรรดาเด็กหนุ่มชาวเยอรมันที่ถูกรัฐบาลชวนเชื่อให้เข้าสมัครเป็นทหารรับใช้ชาติ ความฝันและค่านิยมอันสูงส่งจูงมือพวกเขาเข้ามาในที่ที่ไม่สมควร
ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงวงจรที่วนเวียนอย่างไม่จบสิ้นจากการตัดสินใจชี้นิ้วสั่งของคนมีอำนาจไม่กี่คน กลายเป็นว่าในสงครามจริงไม่ได้เหมือนกับภาพหรือคำกล่าวปลุกใจสวยหรูที่พวกเขาเคยได้ยินก่อนจะก้าวเท้าเข้ามา ความโหดร้ายคือนรกบนดินที่ว่างเปล่าและแสนจะไร้ความหมาย แต่ทว่า กว่าจะรู้ตัวพวกเขาก็ถอยออกมาไม่ได้แล้ว
19. The Eternal Daughter
ส่วนตัวมีความประทับใจไปกับบรรยากาศชวนขนลุกสไตล์คลาสสิคของหนังมากทีเดียว เซอร์ไพรส์ระดับนึงเลยที่ได้เห็นผลงานดราม่าอารมณ์หลอนรูปแบบนี้ในปีนี้ หนังเล่าเรื่องของหญิงสาวผู้กำกับที่พาแม่วัยชราของเธอมาพักผ่อน ณ ที่โรงแรมคฤหาสน์เก่าแก่แห่งหนึ่ง เธอตั้งใจจะเก็บข้อมูล รวมถึงเรื่องราวชีวิตจากแม่เพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นหนังเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกันก็อยากจะบันทึกเรื่องราวความทรงจำที่ได้ใช้ร่วมกันกับแม่ และสำรวจพื้นที่ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันให้มากขึ้นไปด้วย
โรงแรมเก่าแก่อันใหญ่โตดังกล่าว ที่ซึ่งไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลยนอกจากพนักงานต้อนรับเพียงคนเดียว แต่เธอกลับได้ยินเสียงแปลกประหลาดชวนให้รบกวนอยู่ข้างหูนับบ่อยครั้ง โดยเดิมทีแล้วพื้นที่ที่ก่อนจะกลายมาเป็นโรงแรมแห่งนี้ได้เคยเป็นที่พักอาศัยของแม่และครอบครัวเธอมาก่อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การได้กลับมาอีกครั้งทำให้หลายๆ ประสบการณ์ในความทรงจำย้อนหวนคืนมาอีกครั้งเหมือนเรื่องต่างๆ เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นาน แน่นอนว่าก็ตามมาด้วยเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นรอยร้าวฝังใจด้วยเช่นกัน เสียงปริศนาที่เป็นเหมือนสิ่งคอยหลอกหลอนอย่างใกล้ชิดนั้นอาจจะเป็นปัญหารบกวนใจ อาจเป็นหนึ่งในความเชื่อมโยงระหว่างความทรงจำของแม่ระหว่างสถานที่เก่าแก่แห่งนี้ที่เธอไม่อาจล่วงล้ำ เธอคงต้องหาคำตอบที่แท้จริงให้ได้
20. Apollo 10½: A Space Age Childhood
ผลงานหนังแอนิเมชั่นของผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ บอกเล่าเรื่องราวย้อนไปในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ผ่านสายตาชายคนหนึ่งที่พยายามจะดึงห้วงเวลาในอดีต นาทีประวัติศาสตร์ ความหลงใหลทั้งหมดที่เขามีให้กับวิทยาศาสตร์อวกาศ (การปล่อยยานขึ้นสู่ดวงจันทร์ของนาซ่า) ในช่วงวัยเด็กของเขา ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวเส้นทางความฝันอันหอมหวานให้เราได้ชมกัน
ซึ่งต้องยอมรับว่าไอเดียเรื่องความฝันของหนังประกอบกับงานภาพที่นุ่มนวลชวนอบอุ่นเหล่านี้ทำเราแพ้ทางจริงๆ เผยภาพจินตนาการของเด็กคนนึงที่อยู่กับครอบครัวและเติบโตมาในเมืองฮูสตัน มีความฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศ ฟังดูอาจเป็นความคิดเพ้อฝัน แต่นั่นก็ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าทางใจมากๆ ต่อคนๆ หนึ่ง ซึ่งหนังพาเราไปแตะจุดนั้น จุดที่ฝันแล้วได้ไปถึงพร้อมกับตัวละครได้อย่างดีเยี่ยม
21. Armageddon Time
ผลงานล่าสุดของผู้กำกับ เจมส์ เกรย์ (Ad Astra) ที่หยิบนำเอาเรื่องราวของตัวเองเมื่อครั้งวัยเยาว์มานำเสนอ ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังดราม่าที่ว่าด้วยความฝันของเด็กชายคนหนึ่ง ผู้ซึ่งเผชิญกับความสับสน แปลกแยก ท่ามกลางสังคมการเหยียดผิวในอเมริกาช่วงยุค 80 กลายเป็นว่าสิ่งที่น่าสนใจคือประเด็นของมิตรภาพที่เขาได้รับและมีให้กันกับเพื่อนต่างสีผิว ที่ขณะเดียวกันครอบครัวของเขาคอยกีดกั้น และไม่เห็นด้วยกับการคบหาอย่างสิ้นเชิง
เราจะได้เห็นช่วงเวลาของเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมกับรอยแผลใจ ความรู้สึกแปลกแยกไม่เข้ากับสังคม ไม่ว่าจะเรื่องชนชั้นหรืออะไรก็ตาม แต่ต้องนับว่าเป็นความโชคดีที่เขายังมีคุณตาคอยอยู่เคียงข้างเสมอ เป็นเหมือนทั้งผู้ที่ปลอบใจ และคนที่คอยสั่งสอนเมื่อเวลาที่รู้สึกหลงทาง ไม่ว่าเรื่องนั้นมันจะเล็กน้อยเพียงใด
ซึ่งพาร์ทความสัมพันธ์ระหว่างหลานกับคุณตาเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีงามมากๆ เป็นมวลความรู้สึกที่โอ้บอ้อม จริงใจ ซื่อตรง เห็นถึงความงดงามของมิตรภาพที่มาในรูปแบบของคนในครอบครัว และแน่นอนว่าการแสดงของ แอนโทนี ฮ็อปกินส์ ได้ใจเราไปเต็มๆ
22. Broker
อินไปกับบรรยากาศความเป็น ‘ครอบครัว’ ของหนังมากๆ ที่ต้องพูดแบบนี้เพราะก่อนหน้านี้ไม่คิดว่าจะอินเลยด้วยซ้ำ โดยเป็นประเด็นถนัดมือของ โคโรเอดะ ฮิโรคาสึ ที่ครั้งนี้ก็ยังคงสร้างความประทับใจให้กับเราได้อยู่เหมือนเคย subject ของครอบครัวคราวนี้น่าสนใจตรงที่เป็นเหล่า ‘ผู้คนที่ถูกทอดทิ้ง’ เพียงไม่กี่คน (นายหน้าขายเด็ก กับ ผู้เป็นแม่ที่ตัดสินใจนำลูกทารกของตัวเองไปฝากยังกล่องรับทารก)
พวกเขาใช้ช่วงเวลาอันสั้นในการเดินทางเพื่อจุดหมายเดียวกันที่จะนำทารกไปขายให้กับคนอื่น ให้ผู้ที่ไม่สามารถมีบุตรได้หรือคนที่หวังจะรับเลี้ยง กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความหวังเล็กๆ น้อยๆ ที่ก่อเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่น่ายินดีสำหรับพวกเขา
23. Prey
หากจะบอกว่าเป็นหนึ่งในความเซอร์ไพรส์ของปีนี้ก็คงไม่ผิดนัก มากไปกว่านั้นเราว่ามันเป็นผลงานแจ้งเกิดหนังพรีเดเตอร์สำหรับยุคนี้ได้เลย เนื้อเรื่องที่มาที่ไปไม่ต้องเล่าอะไรให้มากความ ซัดกันด้วยแอ็คชั่นอันเป็นเอกลักษณ์แค่นี้พอแล้วจริงๆ ภาพรวมมันทั้งสนุก ดีไซน์ชุดกับฉากต่อสู้ก็เจ๋งเป็นบ้าเป็นบอ ถ้าทำได้ถึงขนาดนี้ คงต้องขอคาดหวังภาคต่อไปในแฟรนไชส์นี้แล้วล่ะ
24. The Black Phone
อีกหนึ่งผลงานทำเอาเซอร์ไพรส์จากค่ายหนังสยองขวัญอย่าง บลัมเฮาส์ ที่หลายสิ่งอย่างกระทั่งตัวพล็อตเองทำได้แม่นยำและเกินความคาดหมายเราไประดับนึงเลย จะว่าเฮี้ยนก็เฮี้ยน แต่ดูเหมือนว่าหัวใจสำคัญกลับไม่ได้ตกไปอยู่ที่บรรดาความน่ากลัวของหนัง ภายใต้การปกคลุมด้วยการตามล่าจับตัวเด็กของฆาตกรโรคจิตดูเบาบางลงไปเลยเมื่อเทียบกับสิ่งลี้ลับอีกมิติอย่างการสื่อสารวิญญาณผ่านโทรศัพท์จากปลายสาย ซึ่งเป็นวิธีที่เด็กผู้ตกเป็นเหยื่อใช้ในการดิ้นรนเอาตัวรอดก่อนที่จะสายเกินไป
ไม่รู้ว่าเป็นการคิดไปเองคนเดียวหรือเปล่า ด้วยความที่เซ็ตติ้งของหนังย้อนยุค สร้างบรรยากาศทริลเลอร์คลาสสิคขนาดนั้น ทำให้บางองค์ประกอบ กระทั่งสกอร์เองแอบนึกถึงซีรีส์ Stranger Things ขึ้นมาอยู่ไม่น้อย ซึ่งเราว่ามันสร้างสรรค์และสนุกดี อีกอย่างคืออยากเชียร์ให้ไปดู อีธาน ฮอว์ก กันด้วย รับบทฆาตกรโรคจิตนิ่งเงียบได้น่ากลัว ชวนหลอนจับใจจริงๆ
25. The Last 10 Years
หนังดัดแปลงมาจากนิยายขายดีของ รุกะ โคซาดะ ที่นำประสบการณ์จริง (อาการป่วยโรคร้ายแรง) ของตัวเองมาเขียนลงหนังสือ ถ่ายทอดผ่านเป็นเรื่องราวของ ‘มัตสึริ’ หญิงสาวที่ตอนอายุ 20 ปี พบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคร้าย อย่างที่ไม่มีทางจะรักษาให้หายได้ ซึ่งเป็นโรคที่พบเพียงหนึ่งในหมื่นคนเท่านั้น
ผลตามมาคือเธอจึงได้รู้ว่า ตัวเองเหลือเวลาในชีวิตอีกแค่ 10 ปีต่อจากนี้ วันหนึ่งในงานเลี้ยงรุ่นเธอได้เจอกับ ‘คาซึโตะ’ เพื่อนร่วมห้องคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงกำลังตัดพ้อ สิ้นหวังกับชีวิต การโคจรมาเจอกันของทั้งสองคนในครั้งนี้ ทั้งการได้ใกล้ชิด ความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้น นำไปสู่แรงผลักดันและสร้างความหมายในชีวิตให้แก่กันอย่างเปี่ยมล้น
26. Three Thousand Years of Longing
เป็นผลงานโรแมนซ์-แฟนตาซีที่ทั้งแปลกตา และมหัศจรรย์ในเวลาเดียวกัน กลิ่นอายความเป็นเรื่องราวเทพนิยายอันเหนือจินตนาการถูกเล่าออกมาได้เพลิดเพลินและอบอวลไปด้วยบรรยากาศที่แสนโรแมนติกมากๆ อยู่ในตัว
เป็นการพบกันระหว่าง อลีเธีย หญิงสาวนักปราชญ์ กับ จินน์ ที่ปรากฏตัวออกมาจากตะเกียงแก้วพร้อมกับมอบความปราถนาสามข้อให้กับเธอ เพื่อแลกกับอิสรภาพของเขาจากการจองจำ นำไปสู่เรื่องราวปูมหลังของจินน์ที่ย้อนกลับไปนับพันปีก่อนที่จะได้พบหญิงสาววัยกลางคนคนนี้ (อลีเธีย) และได้เปลี่ยนมุมมองความคิดรวมถึงชีวิตของทั้งคู่ไปอย่างสิ้นเชิง
เราชอบตรงที่จู่ๆ มันก็กลายเป็นหนังรักไปได้อย่างแนบเนียนโดยที่ไม่ทันตั้งตัว ชอบการออกแบบเรื่องราวของคนต่างทิศทาง ต่างมิติ กลับกลายเป็นเส้นทางที่ค่อยๆ มาบรรจบกัน และต่างได้มอบบทเรียนรักให้แก่กันในที่สุด เหมือนเรื่องที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นจริงตรงหน้ายังไงอย่างงั้น โดยรวมแล้ว Three Thousand Years of Longing ของผู้กำกับ จอร์จ มิลเลอร์ จึงกลายเป็นผลงานสุดแปลกที่ทำเราหลงรักไปแบบงงๆ
27. Fire of Love
อย่างแรกคงต้องขอชื่นชมการเรียบเรียงและถ่ายทำของฟุตเทจการสำรวจภูเขาไฟ ที่สามารถถ่ายทอดนำเสนอออกมาอยู่ในรูปแบบสารคดีภาพยนตร์ได้งดงามขนาดนี้ ซึ่งมันทำให้เป็นผลงานสุดมหัศจรรย์ในแง่การเล่าเรื่องไปโดยปริยาย
“ชีวิตเราเป็นเพียงแค่ชั่วพริบตา เมื่อเทียบกับชีวิตของภูเขาไฟ” ประโยคนี้บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ที่ คาเทีย กับ มอริซ คู่รักนักภูเขาไฟวิทยามอบให้กับธรรมชาติหรือที่เรียกว่า ‘ภูเขาไฟ’ ได้เป็นอย่างดี ทั้งคู่เป็นคนที่ไม่เลื่อมใสในศาสนา เชื่อเพียงวิทยาศาสตร์ และแน่นอนพวกเขาก็เชื่อในเรื่องความรักด้วย
การผจญภัยของพวกเขาคือข้อพิสูจน์ และเป็นดั่งหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงความรักที่เรามีให้ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเป็นไปอย่างมุ่งมั่นเสมอมา แม้จะต้องอยู่กับมันในนาทีสุดท้ายของชีวิต พวกเขาก็ขอได้เคียงข้างกันไปแบบนี้ กับสิ่งนี้ตลอดไป
28. The Menu
นำเสนอเล่าเรื่องของสองคู่รักที่ถูกเชื้อเชิญไปทานดินเนอร์สุดพิเศษบนเกาะชายฝั่งแห่งหนึ่ง แต่แล้วก็พบว่า 'เมนู' ที่เชฟเสิร์ฟ รวมถึงสถานที่เหล่านั้น กลับเป็นเซอร์ไพรส์อันสุดสยองขวัญที่พวกเขารวมถึงเหล่าอีลิทต้องเผชิญ และหาทางเอาชีวิตรอดก่อนจะตกไปเหยื่อ หรือ เมนูอาหารซะเอง
ส่วนตัวชอบการจับคู่มาลงเอยบนโต๊ะอาหารของสองคนระหว่าง คนที่หลงใหลในพิธีกรรมการรับประทานอาหารต่างๆ นานาแบบแทบจะบ้าคลั่ง กับคนที่ไม่อินกับอะไรพวกนี้เลย ขอแค่กินๆ ไปให้มันจบ รสชาติอร่อยก็พอไม่ต้องสนประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของวัตถุดิบหรือกระทั่งข้อมูลบุคคลของคนทำอย่างเชฟ ผลลัพธ์มันเลยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมากระทันหัน
29. Bodies Bodies Bodies
อีกหนึ่งในผลงานจากค่าย A24 ที่อยากนำเสนอ เป็นหนังสแลชเชอร์ที่สะท้อนพฤติกรรม ความคิด บรรดาคาร์แรคเตอร์ทั้งหลายของวัยรุ่นยุคนี้ออกมาได้สุดจะเจ็บแสบ เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากการเล่มเกมปิดไฟแปะหลังตามหาฆาตกรของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่นำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อจู่ๆ เพื่อนหนึ่งคนในกลุ่มได้กลายมาเป็นศพจริงๆ หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยปากเสียง ชี้นิ้วโทษกันไปมาว่าเอ็งนั่นแหละเป็นคนทำ
สุดท้ายแล้วจะเป็นฝีมือใครลงมือทำนั้น คงไม่สนุกและตื่นเต้นเท่ากับระหว่างทางที่เห็นเพื่อนด้วยกัน กลับมาแทงข้างหลังกันเอง ซึ่งอันที่จริงมันมีทั้งคนที่ไม่ชอบหน้ากันอยู่แล้ว แต่แสร้งยิ้มทำเป็นดีตอนอยู่ต่อหน้า แล้วก็พวกคนที่ในตอนแรกก็ดูจะรักกันดีจริงอยู่หรอก พอเจอเหตุการณ์หลังชนฝาเข้าก็เผยธาตุแท้ออกมาเพื่อเอาตัวเองให้รอดก่อนซะอย่างงั้น ซึ่งภาพรวมมันเป็นการที่หนังใส่ไดอะล็อกมาเชือดเฉือนกันได้ชวนประสาท สติแตกไปตามๆ กัน และบางทีบทเรียนอันเละเทะเหล่านี้ก็ไม่ได้สอนอะไรพวกเขาเลย
30. Causeway
Causeway เล่าเรื่องของบุคคลที่ต้องรับมือและฝ่าฟันกับตัวเองในสภาพอาการความขื่นขม จมอยู่กับเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งอดีตที่เป็นดั่งภาพอันยากจะลืม ทั้งนี้ อาการที่เต็มไปด้วยความไม่รู้สึก เย็นชา ไร้ชีวิตชีวา อันเป็นผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว ทำให้ถึงแม้อาจจะดูปิดรับจากเหล่าผู้คนภายนอก หากแต่ลึกลงไปแล้วยังคงแสวงหาการบำบัด ต้องการการเติมเต็มและเยียวยาความรู้สึกที่มีให้มันพอจะบรรเทาลงไปบ้าง
ในช่วงเวลาสั้นๆ หนังใช้พื้นที่เล็กๆ ทำการละลายพฤติกรรมของทั้งหญิงสาวและชายหนุ่มที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก ต่างค่อยๆ เดินเข้าหากันทีละก้าวผ่านการบอกเล่าถึงปัญหา หยิบยื่นความช่วยเหลือในเรื่องที่พอจะช่วยได้ เปิดอกยกเรื่องหนักใจมาวางไว้ตรงกลางระหว่างทั้งสองโดยมีรอยแผลจากความหลังเป็นสิ่งเชื่อมโยงหากัน ก่อเกิดเป็นโมเมนต์ friendship ที่แสนจะเรียบง่าย ธรรมดาๆ ซึ่งกลายเป็นพาร์ทปลอบประโลมที่ดีงามมากๆ อย่างหนึ่งของหนังไปโดยปริยาย
โฆษณา