26 ธ.ค. 2022 เวลา 02:19 • ประวัติศาสตร์
พระประโทณเจดีย์ นครปฐม
เดิมก่อนมีการขุดแต่ง มีลักษณะเป็นเนินดิน มีเพียงส่วนยอดพระปรางค์ที่โผล่พ้นออกมา ทำให้มีเรื่องเล่าว่าด้านใต้เป็นอุโมงค์ลับที่ไปขึ้นยังโบราณสถานวัดธรรมศาลา ที่เป็นพูนดินเช่นกัน
โดยพิจารณาส่วนฐานเจดีย์ที่สร้างด้วยอิฐ เป็นเจดีย์ผัง 4 เหลี่ยมลักษณะเดียวกับศิลปะที่พบในนครปฐม อู่ทองและศรีเทพ จึงสรุปได้ว่าเป็นเจดีย์สมัยทวารวดี ส่วนยอดเป็นพระปรางค์ น่าจะถูกสร้างทับในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือหลังกว่านั้น เข้าใจว่าอาจจะมีเจ้านายพระองค์ไดมาพบแล้วจึงสร้างพระปรางค์ทับลงไป
ส่วนฐานเริ่มจากฐานเขียงในผัง 4 เหลี่ยมแล้วตามด้วยบัววลัย จากนั้นเป็นฐานเขียงสูง แบ่งส่วนเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนมีการทำเสาหลอกเพื่อแบ่งช่องใช้ประดับปูนปั้นเล่าเรื่อง ขนาดความสูงต่างกันไป จากนั้นเป็นฐานเขียงแบบเดิมที่แบ่งเป็น 3 ส่วน ทุกส่วนมีเสาหลอกแบ่งช่องขนาดต่างกัน แต่ตรงกลางมีเจาะช่องจรนำซุ้มคาดว่าอาจจะประดิษฐานพระพุทธรูป
ถัดขึ้นไปเป็นชั้นฐานเขียงที่ทำเสายื่นออกเพื่อแบ่งช่อง คาดว่าอาจจะเพื่อใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 5 ช่อง และส่วนบนสุดน่าจะเคยเป็นสถูปทรงโอ่งคว่ำแบบที่นิยมในสมัยทวารวดี แต่พังทลายไปจนสิ้น ในส่วนด้านหน้าทิศตะวันออก มีบันไดจากพื้นขึ้นไปส่วนบนสุดเพื่อไปนมัสการหรือประทักษิณที่องค์สถูป
ส่วนพระปรางค์นั้นไม่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีระเบียบแบบแผนที่ต่างกับที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงอาจจะมีการบูรณะในภายหลังที่ผิดเพี้ยนไปมาก เริ่มจากฐานเขียง 3 ช้้นเตี้ยๆ ในผัง 8 เหลี่ยม จากนั้นเป็นชุดบัวคว่ำบัวหงาย คาดลวดบัวลูกฟักในผัง 8 เหลี่ยม 3 ชั้น ตัวปรางค์ผัง 4 เหลี่ยมย่อมุม มีทวิมุขทั้ง 4 ด้าน ยอดปรางค์เรียบมีประดับเดินเส้นตั้งคล้ายเจดีย์ทรงมะเฟีือง แต่ห่างกว่าและไม่เป็นสันคม ไม่มีการสร้างชั้นครุฑและชั้นซ้อนแบบปรางค์ทั่วไป จนไม่อาจระบุช่วงเวลาการสร้างจากศิลปะได้เลย
ถือว่าเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่ผู้เดินทางไปภาคตะวันตกอย่างราชบุรี กาญจนบุรีต้องสัญจรผ่าน แต่แทบไม่มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมนัก เพราะที่นครปฐมมักให้ความสำคัญกันเฉพาะองค์พระปฐมเจดีย์ จนโบราณสถานยุคทวารวดีที่มีหลายแห่งถูกละเลยไป
โฆษณา