27 ธ.ค. 2022 เวลา 07:53 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

♻️ Thailand Taxonomy คืออะไร และสำคัญอย่างไรในการผลักดันภาคธุรกิจสู่เทรนด์ ESG

🚩 กำเนิดกฎหมาย “Taxonomy Regulation”
✅️ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 สภายุโรปได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว “Regulation on the establishment of a framework to facilitate sustainable investment, and amending Regulation (EU) 2019/2088” หรือ “Taxonomy Regulation”
Taxonomy Regulation ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเงินอย่างยั่งยืน (Sustainable Finance) และแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป
สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าธุรกิจใดเข้าข่ายเป็นธุรกิจสีเขียวซึ่งจะส่งผลให้การระดมทุนสำหรับธุรกิจดังกล่าวสามารถติดฉลากได้ว่าเป็นการลงทุนอย่างยั่งยืน เช่น การออกพันธบัตร Green Bonds เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมาลงทุนในธุรกิจสีเขียว รวมทั้งเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าถึงกองทุนฟื้นฟูสีเขียวของคณะกรรมาธิการยุโรป ทั้งนี้ ยุโรปเป็นภูมิภาคแรกที่มีการจัดทำระบบหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว (“Green list”)
✅️ รู้หรือไม่️ สหภาพยุโรปจัดให้การลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์เป็นการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Investment) ภายใต้กฎหมาย EU Taxonomy โดยเห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาดที่เสถียรและปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ
ในขณะที่ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้อียูส่งเสริมเฉพาะการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในกลุ่มธุรกิจสีเขียว เนื่องจากเห็นว่ากากกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมหากจัดการไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี พลังงานนิวเคลียร์ยังคงจำเป็นสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของสหภาพยุโรป
🚩 “Thailand Taxonomy” กับการผลักดันภาคธุรกิจสู่เทรนด์ ESG
✅️ ประเทศไทยเองได้ผลักดันนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 โดยอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่พัฒนา เศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Bio-Circular-Green Economic Model (BCG)"
นอกจากนี้ ประเทศไทยเองได้แสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065
✅️ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะผู้แทนคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ภายใต้คณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน
เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้ใช้ประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
✅️ Thailand Taxonomy ใช้หลักการที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจะแบ่งการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับ (ระบบ Traffic-Light System) ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งในระยะที่ 1 จะเริ่มด้วยการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูง และจะดำเนินการในภาคสำคัญอื่น ๆ ในระยะต่อไป
โดย ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 อีกทั้งได้จัดสัมมนาออนไลน์ สรุปรายละเอียด Thailand Taxonomy (บรรยายเป็นภาษาไทย) ในวันอังคารที่ 10 มกราคม 2566 เวลา 13.00-15.00 น.
🚩 เเหล่งที่มาของข้อมูลและรูปภาพ:
---------------------------------------------------
ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
#NetZeroTechup #ClimateChange #NetZero #ThailandTaxonomy #GreenEconomy #ESG #BCG
โฆษณา