29 ธ.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
รู้จัก Analysis Paralysis เมื่อการคิดมากเกินไป ทำให้ตัดสินใจไม่ได้
หนึ่งในทักษะที่ช่วยให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ประสบความสำเร็จมาก คงต้องมีเรื่องของทักษะในการคิดวิเคราะห์ข้อมูล รวมอยู่ด้วย
เพราะหากเราขาดการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างดีแล้ว หลายครั้งก็มักจะทำให้การตัดสินใจนั้นผิดพลาด
แต่รู้ไหมว่า บางครั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่มากเกินไป อาจนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า “Analysis Paralysis” หรืออัมพาตในการวิเคราะห์ พูดง่าย ๆ คือ ความล้มเหลวที่เกิดจากการคิดมากเกินไป
Analysis Paralysis มีความน่าสนใจอย่างไร BillionMoney จะสรุปให้ฟัง ในแบบฉบับง่าย ๆ
Analysis Paralysis คือ กระบวนการที่เราใช้เวลาไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลมากเกินไป เกี่ยวกับสถานการณ์บางอย่าง จนทำให้การตัดสินใจหรือความตั้งใจที่จะทำบางอย่าง ไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นช้าเกินไป
โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว คือ
- ข้อมูลที่มีอยู่นั้นมากเกินไป จนทำให้แยกไม่ออกว่าอันไหนสำคัญ อันไหนไม่สำคัญต่อการตัดสินใจ
1
- ความวิตกกังวลว่า ถ้าตัดสินใจหรือเลือกที่จะทำแบบนี้ไปแล้ว อาจเกิดปัญหาใหญ่ตามมา
2
สรุปแล้วก็คือ การมีข้อมูลที่เยอะ รวมกับความวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมากเกินไป อาจไปขัดขวางการตัดสินใจที่ถูกต้องภายในเวลาที่เหมาะสม นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ หลาย ๆ คนจึงหลีกเลี่ยงปัญหานี้ด้วยการหันไปใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจมากกว่า
1
ตัวอย่างเช่น คุณ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon ที่เคยระบุว่า หลายครั้งเขามักใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจทางธุรกิจมากกว่าการนั่งวิเคราะห์ข้อมูล
1
โดยมีครั้งหนึ่งที่เขาเคยพูดว่า “การตัดสินใจที่ดีที่สุดในธุรกิจและในชีวิตทั้งหมดของผมนั้นมาจากหัวใจ สัญชาตญาณ รสนิยมที่ชื่นชอบ และความกล้า ไม่ใช่การวิเคราะห์”
ทั้งนี้ หนึ่งในการตัดสินใจครั้งสำคัญของคุณ Bezos คือ ช่วงที่บริษัทของเขาเริ่มพัฒนาโปรแกรม Amazon’s Prime membership และโปรแกรม Fulfillment by Amazon (FBA)
โดย Amazon’s Prime membership คือระบบสมาชิกที่ให้ผู้ใช้งาน สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของ Amazon ในราคาที่ถูกกว่าปกติ เช่น บริการดูหนังและฟังเพลงผ่านระบบ Streaming เป็นต้น
ส่วน FBA ก็เป็นโปรแกรมสนับสนุนการขาย ที่ให้ผู้ขายสามารถส่งสินค้าไปเก็บไว้ที่โกดังของ Amazon และเมื่อมีคำสั่งซื้อสินค้านั้นขึ้น ทาง FBA จะแพ็กและส่งสินค้าให้ด้วย
โดยในช่วงเริ่มต้นของทั้ง 2 โปรแกรมนั้น มีหลายคนมองว่า โปรแกรมดังกล่าวมีความเสี่ยงด้านการเงินสูง เพราะบริษัทจะต้องลงทุนในโปรแกรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม คุณ Bezos บอกในตอนนั้นว่า แม้สุดท้ายเขาจะไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่สัญชาตญาณและความรู้สึกภายในของเขาบอกว่า เขาควรที่จะทำโปรแกรมนี้ต่อไป แทนที่จะล้มเลิก
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน โปรแกรมทั้ง 2 ของ Amazon นั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยในปี 2021 ประมาณ 65% ของผู้ซื้อสินค้าผ่าน Amazon ในสหรัฐอเมริกา เป็นสมาชิก Amazon’s Prime membership
นอกจากนี้ สมาชิก Amazon’s Prime membership ในปัจจุบันนั้นก็มีมากถึงกว่า 200 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าจากปี 2015 ที่ 46 ล้านคน
หากในวันนั้น คุณ Bezos ไม่เชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง Amazon ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าทุกวันนี้
นอกจากเรื่องราวของคุณ Bezos แล้ว นักลงทุนระดับโลกอย่างคุณ Warren Buffett ก็ยังเคยใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจซื้อธุรกิจที่เขาสนใจ
อย่างกรณีที่เขาไปซื้อหุ้นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ Nebraska Furniture Mart หรือ NFM ในปี 1983
โดยคุณ Buffett ได้จ่ายเงินเป็นจำนวน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน ประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อขอซื้อหุ้น NFM ที่สัดส่วนราว 80%
ตอนที่คุณ Buffett ไปติดต่อคุณ Rose Blumkin เจ้าของ NFM ในตอนนั้น เขาบอกว่า แม้งบการเงินของ NFM จะไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกกังวลใด ๆ เพราะประทับใจในการบริหารงานของคุณ Blumkin
ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ตรวจสอบกิจการของ NFM มากนัก แต่เพียงแค่ถามคุณ Blumkin ว่า บริษัทของคุณมีหนี้เยอะไหม เมื่อคำตอบคือ ไม่มี ทางคุณ Buffett ก็ตัดสินใจซื้อหุ้นเลยทันที
1
ปัจจุบัน NFM นั้น เป็นบริษัทลูกของ Berkshire Hathaway โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา NFM มีรายได้กว่า 38,500 ล้านบาท
อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะเห็นว่าทั้งคุณ Jeff Bezos และคุณ Warren Buffett ต่างก็เคยใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจครั้งใหญ่ มากกว่าการนั่งวิเคราะห์ข้อมูลเพียงอย่างเดียว
จริงอยู่ที่ว่าเมื่อเราต้องตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ ๆ เราจำเป็นต้องมีข้อมูล รวมทั้งใช้เวลาในการวิเคราะห์เพื่อลดความผิดพลาดในการตัดสินใจของเรา
แต่ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เราต้องแยกแยะให้ได้ว่าข้อมูลไหนจำเป็นต่อการตัดสินใจ รวมทั้งไม่ควรใช้เวลานานเกินไปในการตัดสินใจไม่ว่าเรื่องใด ๆ นอกจากนี้ ในบางครั้ง เราก็อาจนำสัญชาตญาณ ความรู้สึก และความชื่นชอบมาประกอบ เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น
4
เพราะบางครั้ง การไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจช้า ก็มีผลเสียมากกว่าที่เราคิดได้เช่นกัน..
1
โฆษณา