จีนไฟเขียวแผนการควบรวมกิจการระหว่าง Korean Air และ Asiana Airlines ส่วนทางการไทยระบุ ไม่จำเป็นต้องยื่นแผนให้พิจารณา
สายการบิน Korean Air จากเกาหลีใต้ เปิดเผยถึงผลการพิจารณาแผนการควบรวมกิจการ (ฺBusiness Combination Plan) ระหว่าง Korean Air กับ Asiana Airlines ว่าได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (MOFCOM) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในตอนแรก ทางการจีนมีความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขัน จึงได้ให้ Korean Air ปรับแผนการควบรวมบางส่วน โดยเฉพาะการลดส่วนแบ่งทางการตลาดของสายการบินใหม่ภายหลังการควบรวม โดย Korean Air ได้เสนอให้โยก Slot ของ 9 เส้นทางที่ทั้ง Korean Air และ Asiana Airlines เคยทำการบินไปให้สายการบินใดก็ได้ที่ต้องการ โดยในจำนวนนี้ 5 เส้นทางเสนอโดยคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรมของเกาหลีใต้ (Korea Fair Trade Commission - KFTC) ส่วนอีก 4 เส้นทางเสนอโดยทางการจีนเอง
การที่ทางการจีนอนุญาตให้ควบรวมนี้ ทำให้ปัจจุบัน ยังเหลืออีก 3 ที่ที่ยังไม่ได้แจ้งผลพิจารณา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ระบุว่าจำเป็นต้องส่งแผนการควบรวมกิจการเพื่อพิจารณา นอกจากนี้ Korean Air ยังรอผลการพิจารณาจากหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหราชอาณาจักร (Competition and Markets Authority - CMA) ที่มีการยื่นแก้ไขแผนไป แม้สหราชอาณาจักรไม่ได้ระบุไว้ว่าจำเป็นต้องยื่นแผนดังกล่าว
นอกจากนี้ Korean Air ระบุว่า สายการบินได้ยื่นแผนการควบรวมกิจการนี้ไปยัง 9 ประเทศที่ระบุว่าจำเป็นต้องยื่นไปในเดือนมกราคม 2021 โดยประเทศที่ตอบอนุมัติมาแล้วคือ จีน เกาหลีใต้ ตุรกี ไต้หวัน และเวียดนาม ส่วนประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ไม่ได้พิจารณา เพียงประกาศว่าไม่จำเป็นต้องยื่นแผนควบรวมกิจการดังกล่าว
ส่วนประเทศที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องมีการพิจารณา ปัจจุบัน Korean Air ได้รับการอนุมัติแผนมาแล้วจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ส่วนฟิลิปปินส์ระบุว่าไม่จำเป็นต้องยื่นแผนเช่นเดียวกัน
- Korean Air วางแผนจะเพิ่มทุนด้วยการจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายตามสัดส่วน (Right Offering: RO) ประมาณ 70,000 ล้านบาทหลังการซื้อสำเร็จ โดยเงินจากการเพิ่มทุนดังกล่าว 40,000 ล้านบาทจะนำไปซื้อหุ้นของ Asiana Airlines ส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนใน "ตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท" (Perpetual Bond)
- เจ้าหนี้หลักของ Asiana Airlines อย่าง Korean Development Bank จะอัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมประมาณ 22,000 ล้านบาทให้กับบริษัทแม่ของ Korean Air อย่าง Hanjin KAL ในรูปแบบของ การจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายตามสัดส่วน และ หุ้นกู้แปลงสภาพ เพื่อทำการลงทุนในหุ้นของ Asiana Airlines
วิธีการเข้าซื้อข้างต้น จะทำให้บริษัทแม่ของทั้งสองสายการบินยังมีหุ้นอยู่ในสายการบินใหม่นั่นเอง และถ้าเป็นไปตามที่วางแผนไว้ Korean Air จะมีหุ้นใน Asiana สูงถึง 63.9% และจะกลายเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลกในด้านของฝูงบินทันที
📌จากการเปิดเผยล่าสุดของ Cho Won-tae ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของ Korean Air ระบุว่า แม้กระบวนการควบรวมบางส่วนจะล่าช้า แต่ยังคงดำเนินการอย่างเต็มกำลัง คาดว่าทั้ง 2 สายการบินจะควบรวมได้สำเร็จ และดำเนินการภายใต้แบรนด์เดียวได้ภายในปี 2024