31 ธ.ค. 2022 เวลา 04:54 • ข่าว
การระบุบุคคลในศพ ทำอย่างไร ?
ในปี 2565 ประเทศไทยมีโศกนาฏกรรมหลายเหตุการณ์ที่ท้าทายต่อกระบวนการระบุบุคคลอย่างยิ่ง เช่น
คดีไฟไหม้ผับ mountain B
คดีเรือหลวงสุโขทัยล่ม
ล่าสุด คดีไฟไหม้บ่อนการพนันที่ปอยเปต
ทำไมต้องระบุบุคคล?
ก็คงรู้กันอยู่แล้วในทางปฏิบัติ โดยสรุปก็คือว่า เพื่อสิทธิและหน้าที่ของคนนั้น
สำหรับทารกแรกเกิด เมื่อคลอดออกมาก็มีสภาพบุคคลทันทีเมื่อมีชีวิต ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามมาด้วย แต่สิทธิของเด็กแรกคลอดนั้นให้ย้อนกลับไปตั้งแต่อยู่ในครรภ์ถึง 310 วันก่อนคลอด สิทธิ์นี้ก็จะเป็นเรื่องมรดก ความเป็นพ่อ-ลูก (ประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 1536, 1604)
นอกจากสิทธิของคนนั้นแล้ว ยังมีผลต่อสิทธิตามกฎหมายอย่างอื่นๆ ด้วย เช่น หากมีคดีฆาตกรรม แต่การชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จสิ้น จะฟ้องผู้ต้องหาไปยังศาลไม่ได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญามาตรา 129) ซึ่งการระบุบคคลเป็นส่วนสำคัญในการชันสูตรพลิกศพเลยก็ว่าได้ นอกจากสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
• เหตุผลทางจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน คือ สิทธิในชีวิต “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด สิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายบุคคลจะต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ” ตาม สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อที่ 6 ประกอบสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ตามมาตรา 28 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560)
• ป้องกันการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือผิดกฎหมาย เช่น กรณีสวมศพเพื่อให้ได้รับเงินประกันชีวิต หรือเพื่อหนีคดีความ (ตามกฎหมายอาญา) เป็นต้น
• เหตุผลทางประกันชีวิต ทรัพย์สิน และหนี้สินต่างๆ โดยบริษัทประกันและญาติต้องการทราบสาเหตุการตายเพื่อเบิกเงินประกันชีวิตตามเงื่อนไขที่กำหนด
• เพื่อป้องกันความวุ่นวายในสังคม เช่น กรณีระบุบุคคลตายผิดไป ต่อมาทราบว่าบุคคลผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่ จึงต้องมีการรื้อฟื้นสิทธิและหน้าที่ของบุคคลนั้นขึ้นมาใหม่ เป็นต้น
เอาเป็นว่าเกริ่นแค่นี้ก่อน
แล้วเราระบุบุคคลจากอะไร ?
ลองนึกดูถึงตัวเรา คนรู้จักเราหรือเรารู้จักคนอื่นจากอะไร ?
ใช่แล้ว เราจำคนๆนึงได้จาก "หน้าตา" เพราะเป็นการรับรู้จากประสาทสัมผัสที่ง่ายและแพร่หลายที่สุด คือ การมองเห็น นอกจากลักษณะท่าทาง เสียง สำเนียง เป็นต้น
นึกถึงตอนเราเกิดมา เราไม่รู้จักเราเอง แต่คนที่บอกว่าเป็นเรา คือ หมอและพยาบาล เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ตอนเราคลอด แล้วก็แม่เรา บุคคลทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มแรกที่บอกว่า เราเป็นใคร จากนั้นพอเติบโตขึ้นเรื่อยๆเมื่อเราเจอคนมากขึ้น เราก็บอกเค้าว่า เราคือใคร ชื่ออะไร เค้าก็ต้องเชื่อแหละ ดังนั้น คนอื่นที่ "รู้จัก" เรา ก็เพราะเราบอก หรือ คนอื่นที่เคยรู้จักเราบอกคนอื่นอีกที ส่วนมากก็มาจากการดูรูปร่างหน้าตา
วิธีการที่ว่ามา เค้าเรียกว่า visual recognition ซึ่งมีความไม่แน่นอน ถ้าหากจะนำมาใช้พิสูจน์บุคคลเพื่อให้ได้รับสิทธิ์หรือหน้าที่ต่างๆที่มีผลกระทบมาก ประกอบกับสถานการณ์สภาพบุคคลหรือศพที่ปรากฏ
ดังนั้น เนื่องจากประชากรโลกมีจำนวนหลายพันล้านคน การที่จะระบุว่าใครเป็นใครนั้นจำเป็นต้องมีวิธีการต่างๆซึ่งละเอียดแตกต่างกันไปขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการระบุบุคคลและการนำไปใช้ เช่น เพื่อนเจอหน้ากันก็อาศัยแค่การดูหน้า ฟังเสียง การใส่เสื้อผ้าก็พอให้รู้ว่าเป็นใครและทักทายกันตามปกติ แต่ถ้าเป็นศพที่ตายมาหนึ่งปี การระบุบุคคลก็อาจต้องอาศัยการตรวจฟันหรือดีเอ็นเอ หรือในคดีลักทรัพย์อาจต้องอาศัยการตรวจพบลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อจับคนร้าย เป็นต้น
โดยสรุป การเลือกวิธีการระบุคคลสำหรับศพก็ขึ้นกับว่าสภาพศพเป็นอย่างไรเป็นหลัก
วิธีการระบุบุคคลจากศพ (personal identification)
การพิสูจน์บุคคลแบ่งได้เป็นสองขั้นตอนหลักดังนี้
1. General identification (Non-specific identification) เป็นการใช้คุณสมบัติโดยทั่วไปที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น เพศ ความสูง เชื้อชาติ อายุ สีผิว ลักษณะของเส้นผม หมู่เลือด รวมทั้งหลักฐานประกอบรอบข้างอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับที่ติดมากับศพ ซึ่งสามารถช่วยจำกัดจำนวนคนหรือศพที่เข้ากันได้กับผู้ที่ต้องสงสัย เพื่อ “คัดเข้า” หรือ “ปฏิเสธ” ออกจนได้จำนวนที่เหลือน้อยที่สุดมาพิจารณา
2. Comparative identification (Specific identification, Positive identification) เมื่อพิสูจน์โดยใช้วิธีเบื้องต้นแล้วพบว่าศพนั้นเข้ากันได้กับบุคคลที่สงสัย ก็ต้องตรวจยืนยันโดยวิธีเปรียบเทียบ (comparative) ข้อมูลต่างๆ ที่มีลักษณะที่จำเพาะเจาะจง (specific) เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ-ฝ่ามือ-ฝ่าเท้า, ลักษณะและหรือประวัติการทำฟัน, DNA, ภาพถ่ายทางรังสีที่มีลักษณะจำเพาะ เป็นต้น
ตอนหน้า ค่อยมาต่อนะครับ เราจะลงรายละเอียดแต่ละวิธีการ และการเลือกวิธีชันสูตรในศพประเภทต่าง ...(รอคนเข้ามาดูซัก 300 คนก่อน)
โฆษณา