5 ม.ค. 2023 เวลา 00:00 • ธุรกิจ
มาทำความรู้จัก Bernard Arnault ผู้ชายที่รวยที่สุดในโลก แซงหน้า Elon Musk เป็นที่เรียบร้อย
ถ้าพูดถึงสินค้าแบรนด์เนม ชื่อที่หลายคนจะนึกถึงก็คงเป็น Louis Vuitton, TAG Heuer, Dior, Fendi, Rimowa, GIVENCHY ฯลฯ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อยู่ภายใต้ LVMH Group บริษัทเจ้าของแบรนด์หรู 70 แบรนด์ นั่นจึงทำให้ LVMH กลายเป็นบริษัทแบรนด์หรูที่รวยที่สุดในโลก และชายผู้เป็นเจ้าของอาณาจักรแห่งนี้มีชื่อว่า Bernard Arnault
1
Bernard Arnault คือใคร?
หลายคนอาจจะคิดว่า Bernard ต้องเรียนจบมาทางด้านแฟชั่น แต่คุณคิดผิด! เพราะเขาเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์จาก École Polytechnique สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส
ชีวิตของเขาส่วนใหญ่คลุกคลีอยู่แต่กับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ หลังจากเรียนจบเขาก็มาทำงานที่บริษัทก่อสร้างของพ่อของเขา จากนั้นอีก 10 ปีถัดมาก็ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัท
1
จากธุรกิจก่อสร้าง สู่อาณาจักรแบรนด์เนมที่ยิ่งใหญ่
ในปี 1984 เขาเริ่มสนใจในธุรกิจเกี่ยวกับแฟชั่นและแบรนด์เนม และเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าซื้อบริษัท Agache-Willot-Boussac ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Christian Dior และห้างสรรพสินค้า Bon Marché ซึ่งตอนนั้นกำลังประสบปัญหาเรื่องการเงินอยู่พอดี
1
ต่อมาในปี 1989 เขาได้ทำการเข้าซื้อหุ้นของ LVMH ด้วยมูลค่ากว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท และได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และ Chairman ของ LVMH และนั่นคือที่มาของอาณาจักร LVMH ที่ยิ่งใหญ่ของเขา
ความพิเศษของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่วิธีการขยายบริษัท หรือการที่เขากลายเป็นผู้ชายที่ร่ำรวยมากที่สุดในยุโรป แต่เป็นวิธีคิด ทัศนคติในการทำงานของ Bernard ที่ถูกถ่ายทอดไปสู่คนอื่นๆ ที่ทำงานภายใต้อาณาจักรเขา
Bernard Arnault เคยพูดถึงหลักการทำงานของเขาเอาไว้ว่า
"เงินเป็นเพียงผลลัพธ์จากสิ่งที่เราทำ อย่ามัวแต่ให้ความสนใจกับเรื่องของกำไรมากจนเกินไป เมื่อไหร่ก็ตามที่เราตั้งใจทำงานของเราออกมาให้ดี ถึงตอนนั้นเราก็จะได้เห็นผลกำไรเอง"
ครั้งนึงที่ Bernard Arnault เคยตั้งคำถาม Steve Jobs ว่า
“เขาคิดว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้าโทรศัพท์ iPhone ของ Jobs จะยังประสบความสำเร็จอยู่หรือเปล่า?”
Jobs ตอบกลับเพียงสั้นๆ ว่า เขาก็ไม่รู้กันและถาม Bernard Arnault กลับไปด้วยคำถามเดียวกัน และ Bernard ได้ตอบกลับไปอย่างมั่นใจว่า
“ผมรู้แต่ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ผู้คนก็จะยังดื่ม Dom Pérignon ของผมอยู่เหมือนเดิม”
(Dom Pérignon เป็นแชมเปญ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ในเครือ LVMH)
สุดท้ายแล้วการทำธุรกิจใดๆ มันคือการส่งมอบคุณค่าบางอย่างจากสินค้า จากบริการหรือจากตัวของเราเองออกไป และนี่แหละคือแนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืน
ข้อมูลจาก Entrepreneur, Economist

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา