31 ธ.ค. 2022 เวลา 18:30 • ไลฟ์สไตล์
“ต้นแบบแห่งความดี” สวัสดี ปีใหม่ ๒๕๖๖
สวัสดีปีใหม่ ปีกระต่าย 66
เริ่มต้น ปีใหม่ ด้วยคำสอน 19 ข้อ และ
ส.ค.ส. ปีเถาะ ๒๕๖๖
“ต้นแบบแห่งความดี”
คำสอนของในหลวง ร.9 ที่ทรงฝากไว้เป็นมรดกแห่งแผ่นดิน
ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทำเพื่อปวงชนชาวไทย โดยไม่เคยมีวันใดที่ว่างเว้นจากการทรงงาน และไม่เคยมีวันใดที่ไม่ คำนึงถึงประโยชน์สุขของคนไทย แม้วาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ
นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจมากมายนับไม่ถ้วน และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงเป็น “ต้นแบบแห่งความดี” ของคนไทย คำสอนของพระองค์เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตและหลักประพฤติปฏิบัติให้คนไทยได้เจริญรอยตาม เพื่อเป็นของขวัญแห่งชีวิต แทนคำสอนที่ฝากไว้เป็นมรดกแห่งแผ่นดิน หากพวกเราได้เจริญรอยตามสิ่งที่พระองค์ทรงสอนไว้ นอกจากจะสร้างประโยชน์สุขส่วนตน ย่อมช่วยเสริมสร้างประเทศชาติให้เจริญขึ้นอย่างยั่งยืน
***************
1.คนดีทำให้คนอื่นดีได้
“คนดีทำให้คนอื่นดีได้ หมายความว่า คนดีทำให้เกิดความดีในสังคม คนอื่นก็ดีไปด้วย ความเลวนั้นจะทำให้คนดีเป็นคนเลวก็ยาก แต่เป็นไปได้ ถ้าคนดีเข้มแข็งในความดี จะทำให้คนเลวมาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก สำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนดี”
2.แม้ความดีทำยากและเห็นผลช้า ก็จำเป็นต้องทำ
“การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว”
3.ความรู้ตน
“อย่างง่ายๆก่อน คือ พิจารณาดูว่าตัวเองกำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร ให้รู้ตลอดเวลา แล้วรู้ว่าทำอะไรอย่างนี้เป็นวิธีอย่างหนึ่งที่จะทำให้ไม่มีภัย ถ้าเราคอยระมัดระวังตลอดเวลาให้รู้ว่าตัวทำอะไร ให้รู้ว่าการทำนี้เราทำอะไรตลอดเวลา ก็จะไม่ผิดพลาด เพราะว่าโดยมากความผิดพลาดมาจากความไม่รู้ในปัจจุบัน บางทีเราก็เผลอ”
4.มีความรู้ดีแล้ว ต้องมีศีลธรรมด้วย
“การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์”
5.ความซื่อสัตย์
“การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย”
6.ความเมตตากรุณา
“ผู้ที่มีจิตใจเมตตา กรุณา หมายถึงการที่จะมีจิตใจเห็นใจผู้อื่น มีจิตใจที่จะเห็นถึงความเดือดร้อน เราจะต้องช่วยเหลือ จิตใจนี้ก็เป็นจิตใจที่มีกำลังมาก ทั้งอ่อนโยนมาก จิตใจนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้งานการทุกอย่างก้าวหน้าได้ เพราะว่าถ้าคนที่มีเมตตากรุณาในใจ และเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น หมายความว่าผู้นั้นเป็นคนฉลาด”
7.ความสุจริตและมุ่งมั่น
“คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ”
8.ความเสียสละ
“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”
9.ความรับผิดชอบ
“วิธีที่จะปรับปรุงแก้ไขทำให้มีความปลอดภัย ความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ วิธีที่จะทำนั้นก็คือ แต่ละคนต้องปฏิบัติงานของตนด้วยความเข้มแข็งที่สุดโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น แล้วพยายามร่วมมือกัน ถ้าเห็นอะไรสิ่งใดที่ไม่ดีไม่งามให้ช่วยกันปราบปราม หรือช่วยกันแก้ไขด้วยความตั้งใจจริง มิใช่ว่าแต่ละคนก็มีชีวิตของตัว แล้วก็ไม่ทุกข์ถึงความไม่สบาย หรือความไม่ดีความทุกข์ของผู้อื่น”
10.ความเพียรและความอดทน
“การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลาต้องใช้ความเพียรต้องใช้ความอดทนเสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีควรต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตน”
11.เห็นแก่ประโยชน์ชาติบ้านเมือง
“ในชีวิตของเรานั้น เราต้องมีความรับผิดชอบและหน้าที่ผูกพันอยู่กับผู้อื่นสิ่งอื่นมาก ที่สำคัญที่สุดก็คือชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่เกิดที่อาศัย ดังนั้น ผู้ที่จะได้ชื่อว่ามีความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง จึงควรจะได้สร้างประโยชน์ ทั้งส่วนตนและส่วนรวมให้สมบูรณ์”
12.หลักการทำงาน
“การทำงานใดๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความเพียร ถึงหากแรกๆจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยลำบาก แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะกลับเป็นพลังอย่างสำคัญ ที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจัง ด้วยใจร่าเริง”
13.ส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง
“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
14.ไม่โลภมากก็อยู่เป็นสุข
“คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด คิดอันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
15.มีความรู้สูงแล้ว ต้องมีความละอายต่อบาป
“หากบุคคลใดมีความรู้สูง แต่ขาดหิริโอตตัปปะ คือไม่มีความละอายต่อบาป นำความรู้นั้นไปใช้ในทางมิชอบ ก็จะทำให้สังคมเดือดร้อน”
16.หน้าที่
“ทุกคนไม่ว่าทหาร หรือพลเรือน หรือประชาชนพลเมือง ตลอดจนตัวข้าพเจ้าเอง ต่างคนก็มีหน้าที่ในส่วนของตนที่จะต้องปฏิบัติเพื่อชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งนั้น ถ้าแต่ละคนต่างตั้งใจทำหน้าที่ของตนโดยเต็มที่และบริสุทธิ์ใจแล้ว ก็จะช่วยให้บังเกิดผลเป็นทางนำความรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติ”
17.ไม่ควรเหยียดหยามคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นเก่าจึงเกิดคนรุ่นใหม่
“การที่คนสมัยใหม่บอกว่า คนสมัยเก่ามีความรู้น้อยก็อาจเป็นจริง แล้วคนสมัยใหม่ดูถูกหรือเหยียดหยามคนสมัยเก่าก็มีสิทธิ์ แต่ถ้าพูดตามความจริงแล้ว สิทธิ์ที่จะเหยียดหยามคนรุ่นเก่าไม่ควรจะมี ด้วยเหตุว่า คนรุ่นเก่านี้เองทำให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้”
18.สามัคคีคือพลัง คิดต่างไม่เสียหาย หากใช้สติปัญญา
“ความสามัคคีนั้น อาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคม ย่อมต้องมีความขัดแย้งกัน ความคิดต่างกัน ซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่างๆย่อมเป็นประโยชน์ ถ้ามีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือ แต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความสุข มีความเป็นปึกแผ่น”
19.บ้านเมืองอยู่รอดมาได้ทุกวันนี้ เพราะคนไทยเรายังให้กันอยู่
“รู้ไหมบ้านเมืองอยู่รอดมาได้ทุกวันนี้เพราะอะไร เพราะคนไทยเรายังให้กันอยู่...ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นชาวไทยมีความสุขถ้วนหน้ากันด้วยการให้ คือให้ความรักความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน ให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ”
ทั้งนี้ แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ในหลวง ร.9 ก็ยังคงสถิตอยู่ในดวงใจ คนไทยยังคงคิดถึงในหลวง ร.9 มิเสื่อมคลาย
ขอน้อมนำ คำสอน มาใช้ในการดำเนินชีวิต
สำหรับ ปีใหม่นี้ และตลอดไปครับ
เครดิตข้อมูล : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ 13 ต.ค. 2560
#ต้นแบบแห่งความดี
#สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์
#น้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่๙
#ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โฆษณา