2 ม.ค. 2023 เวลา 05:30 • ธุรกิจ

ธนาคารอิสลามก็มี “ดอกเบี้ย” คำว่ากำไรก็แค่ “เลี่ยงบาลี” ?

คำพูดยอดฮิตของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องต่างศาสนิกหรือพี่น้องมุสลิมของเราเองที่เข้าใจว่าคำว่า “อัตรากำไร” หรือ “เงินปันผล” ที่ธนาคารอิสลามใช้เรียกนั้นคือ “การเลี่ยงบาลี”
แต่คำพูดนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีมูล หรือไม่มีการเปรียบเทียบกับอะไรบางอย่าง สรุปแล้วคำพูดดังกล่าวมันเป็นจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ความเข้าใจผิด ในโพสต์นี้ Money Halal จะสรุปให้ครับ
สิ่งแรกที่เราต้องแยกแยะให้ออกก่อนคือ ความหมายของคำว่า “ดอกเบี้ย” และ “กำไร”
ดอกเบี้ย (เกิดจาก) “การให้กู้ยืม” แล้วมีการคิดเพิ่มเติมจาก “เงินต้น” ส่วนเกินนั้นจะเรียกว่า “ดอกเบี้ย” หรือ “ริบา” ตามหลักการอิสลาม
กำไร (เกิดจาก) “การซื้อขาย” ที่มีการบวกเพิ่มจาก “ต้นทุน” ส่วนที่เพิ่มขึ้นจากมันจึงถูกเรีกยว่า “กำไร”
ดูเพิ่มเติม b2dbce921b92577aed39ecbb3653d05a.jpg (1208×455) (ibank.co.th)
ข้อสังเกตุของความแตกต่างระหว่างสองคำนี้คือ
ดอกเบี้ย จะถูกเพิ่มจาก “ตัวเงิน” ส่วน กำไร จะถูกเพิ่มจาก “ตัวสินค้า”
ดังนั้น สิ่งที่จะ “ตัดสิน” ว่าธนาคารอิสลามฯ มีดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ก็ต้องมาดูว่าธนาคารอิสลามฯ บวกเพิ่มจาก “ตัวเงิน” หรือ “ตัวสินค้า” ?
ถ้าคำตอบคือบวกเพิ่มจากตัวเงิน แน่นอนนั่นคือ ดอกเบี้ยหรือริบา
แต่ถ้าบวกเพิ่มจากตัวสินค้า มันก็คือกำไร อย่างไม่ต้องสงสัยเช่นกัน
แต่เมื่อไปดูรายละเอียดแล้ว จะพบว่าธนาคารอิสลามให้บริการกับลูกค้าโดยใช้หลักการ
“มุรอบาหะฮฺ” (Murabahah) คือ “การขายโดยบวกกำไรและเปิดเผยต้นทุน”
เช่น นายอะหมัดต้องการซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท โดยกู้ยืมจากธนาคารอิสลามฯ
ธนาคารฯจะมอบหมายให้นายอะหมัดไปซื้อบ้านนั้นมา จากนั้นธนาคารจะบวกกำไรเพิ่มจากตัวสินค้า นั่นก็คือ “บ้าน” ในอัตรากำไรที่ธนาคารกำหนด
เช่น บ้านราคา 1 ล้าน บวกกำไรเพิ่มอีก 5 แสน (โดยเป็นที่รู้กันในเรื่องต้นทุนและกำไรที่บวกเพิ่ม) ดังนั้น ราคาสุทธิของบ้านหลังนี้คือ 1.5 ล้านบาท โดยผ่อนชำระ 240 งวด
จากนั้นการซื้อขายจะเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ คือหลังจากที่ตกลงราคากันเรียบร้อยแล้ว
แต่เนื่องจากนายอะหมัดไม่มีเงินที่จะจ่ายให้ธนาคารฯ ในจำนวนดังกล่าวได้ ธนาคารจึงให้นายอะหมัดกู้ยืมเงิน หลักการนี้เรียกว่า อัล-ก๊อรฎฺ (การกู้ยืม) โดยทำการผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ หลักการผ่อนจ่ายนี้เรียกว่า “บัยอฺ บิตตักซีร” หรือ “บัยอฺ บิซซะมัน อาญิล”
รูปแบบที่เกิดจากการทำธุรกรรมในครั้งนี้คือ
1.(มุรอบาหะฮ) คือ การซื้อขายโดยเปิดเผยต้นทุนและกำไร
2.(อัล-ก๊อรฎ) คือ การให้กู้ยืม
3.(บัยอฺ บิตตักซีร) คือ การซื้อแบบผ่อนชำระ
สรุป สิ่งที่ธนาคารอิสลามฯบวกเพิ่มคือ “กำไร” เนื่องจากเป็นการบวกเพิ่มจากตัวสินค้า
ดูเพิ่มเติม 18481a07e1108c9c30d502d7eaf059c8.jpg (1207×452) (ibank.co.th)
ข้อสังเกตุ
1.การกู้ยืมในอิสลาม มีรูปแบบเดียวเท่านั้นคือ ก๊อรฎุ้ล-ฮะซัน (การให้กู้ยืมที่ดี) คือการให้ยืมโดยไม่หวังผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ เช่น ให้เพื่อนยืม 100 ก็ต้องคืน 100
2.การเรียกเก็บค่าปรับ กรณีผิดนัดชำระของธนาคารอิสลามฯ สามารถทำได้ตามการให้ความเห็นของ (AAOIFI) อ่านเพิ่มเติม 868129f7c75f47a958323a836e96cef3.pdf (ibank.co.th)
สุดท้าย ผมอยากฝากกับพี่น้องทุกท่านว่า ธนาคารอิสลามฯ มีคณะกรรมการชะรีอะห์ที่คอยตรวจสอบดูแลการดำเนินงานของธนาคารอิสลามอยู่ ดังนั้น ให้เรามั่นใจว่าพวกเขาเหล่านั้น ก็หวังดีต่อศาสนาไม่น้อยกว่าเรา เขาคงไม่ยอมทำในสิ่งที่ผิดหลักการเด็ดขาด ถ้าเขาทำผิด นั่นคือสิ่งที่เขาต้องไปตอบกับอัลลอฮฺ ไม่ใช่หน้าที่เรา
ธนาคารอิสลามฯเองบริหารจัดการท่ามกลางความท้าทายในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายบ้านเมืองที่อาจจะเป็นข้อจำกัดบางอย่าง ทั้งนี้ เราในฐานะผู้ใช้บริการควรช่วยในการเสนอแนะหรือตักเตือนกันด้วยวิถีอิสลามดีกว่า อย่าเอาเวลามาโจมตีและทำลายกันเลย
ถ้าไม่ช่วยทำให้ “ระบบการเงินอิสลาม” แข็งแกร่งขึ้น นั่นเท่ากับเรายอมรับกับ “ระบบดอกเบี้ย” โดยไม่ต้องสงสัย
สินค้าที่มีตราฮะลาล เราสามารถกินได้ เพราะเรามอบอะมานะห์ให้คนตรวจฮะลาล ฉันใด
ธนาคารอิสลาม ก็ไร้สิ่งผิดหลักการ ถ้าเรามอบอะมานะห์ให้บอร์ดชะรีอะห์ ฉันนั้น
เขียนโดย Money Halal
โฆษณา