2 ม.ค. 2023 เวลา 06:12 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Alice in Borderland การหยิบเอาคอนเซ็ปนิทาน Alice in Wonderland ที่ไม่ได้มาแค่ชื่อเรื่อง
แค่ชื่อก็พ้องกันแล้ว ไม่ต้องสงสัยว่า Alice in Borderland ซีรีส์ที่ทำมาจากมังงะชื่อเดียวกันได้แรงบันดาลใจมาจาก Alice in Wonderland หนังสือวรรณกรรมที่เราคุ้นเคยหรือเปล่า
Alice in Wonderland ถูกเขียนขึ้นในยุควิคตอเรียนในประเทศอังกฤษ เป็นยุคที่สังคมมีกฎระเบียบบีบคั้น และตีกรอบความคิด เช่น เศรษฐีห้ามทำงาน คนทำงานคือพวกคนจน ผู้หญิงต้องแต่งงานมีลูก ทำตัวโง่ๆไว้จะน่ารักกว่าผู้หญิงรู้งานบ้านเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย ดังที่เราจะเห็นได้ในภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง
Alice in Wonderland ดูเผินๆ เป็นนิทานเด็ก แต่ความจริงกำลังท้าทายแนวคิดการตีกรอบของสังคมเหล่านี้อยู่ ด้วยการดัดแปลงสภาพสังคมมาเป็นเรื่องราวแนวแฟนตาซีในแบบสมัยนั้น
ในขณะที่ Alice in Borderland ดูจะเป็นการตีความสไตล์ที่โหดกว่ามาก แต่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่านอกจากชื่อเรื่องพ้องกันแล้ว ตัวละครหลายตัวก็น่าจะมีต้นฉบับมาจากนิทานดั้งเดิมเหมือนกัน
วันนี้จะพาไปดูทฤษฎีที่มาของตัวละครหลักว่ามีใครมาบ้าง
♦อลิส
อลิส เป็นเด็กหญิงที่เป็นตัวแทนของคนที่ต้องการแสวงหาความรู้ใหม่และอิสระ ตกลงไปสู่โลกแฟนตาซี
ในขณะที่อริสุ เด็กหนุ่มที่ไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิตจับพลัดจับผลูมาสู่โลกที่ไม่รู้จัก และท้ายที่สุดแล้วเขาต้องการแสวงหาความหมายของการมีชีวิต
♠กระต่ายขาว
กระต่ายขาวเป็นตัวแทนของการจุดประกายความอยากรู้อยากเห็น ในนิยายต้นฉบับเจ้ากระต่ายวิ่งนำอลิสจนตกลงไปในหลุมทะลุมิติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง นอกจากนี้ยังโผล่มาในเรื่องอีกหลายครั้ง ในยามที่อลิสหลงทาง ครั้งหนึ่งอลิสผล็อยหลับ ก็ได้เจ้ากระต่ายเข้ามาปลุกให้
อุซางิ เป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ‘กระต่าย’ แม้ว่าอริสุจะไม่ได้ตามสาวคนนี้มาตอนต้นเรื่อง แต่เธอถือเป็นแสงสว่างนำงานของเขาเกือบจะทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะยามสูญเสียเพื่อน หรือยามที่สิ้นหวัง
และตอนท้ายที่สุด อุซางิก็รับบทปลุกอริสุจากภาพหลอนที่ขังใจตัวเอง ช่วยเขาหาคำตอบจนถึงที่สุด
♣Mad Hatter
ปกติปาตี้น้ำชาของผู้ดีอังกฤษจะเต็มไปด้วยกฎมากมาย การอวดร่ำอวดรวย ดูๆไปก็จอมปลอม แต่จะเห็นว่าปาตี้น้ำชาของ Mad Hatter คือฉีกทุกกฎของสังคม ผู้ร่วมงานเป็นสัตว์นานาชนิด แต่ละตัวมานั่งกินอย่างชิลล์ ทำนั่นทำนี่ตามใจ เป็นตัวแทนของความขบถ
เปรียบเป็นเหมือนคนขายหมวกในเรื่อง ทั้งที่โลกที่พวกเขาอยู่เต็มไปด้วยกฎที่มุ่งให้คนเข่นฆ่ากัน เขาเลือกจะตั้ง ‘บีข’ เขตปกครองตนเองขึ้นมา ท้าทายกฎของโลกบอเดอร์แลนด์ ต่อสู้กับเกมในรูปแบบของตนเอง
♥ควีนโพแดง
ไม่ต้องแปลกใจทำไมถึงเป็น MVP ของเรื่อง เพราะตามเรื่องอลิส Queen of Hearts ก็เป็นราชินีตัวร้ายเหมือนกัน เธอปกครองคนบังคับให้ทำตามกฎบ้าๆบอๆ แต่ทุกคนก็ทำตามเพราะความหวาดกลัว
ไม่ต่างจากควีนโพแดงในเรื่อง เธอเก่งกาจและเชี่ยวชาญด้านการควบคุมคนด้วยความหวาดกลัว แถมความโหดยังเลเวลอัพไปอีก จนทำลายจิตใจของผู้เล่นเกมได้เลย
ดังนั้น Last Boss เกมสุดท้ายจึงเป็นอริสุแข่งเกมกับควีนโพแดงนั่นเอง
แมวเชสเชียร์
อีกหนึ่งตัวละครที่น่าจะได้คาแรคเตอร์มาก็คือเจ้าแมวเชสเชียร์ เชสเชียร์ดูจะเป็นตัวละครสร้างสีสัน ฉลาดแต่ก็แสนกล บางอารมณ์ก็ช่วยอลิส บางอารมณ์ก็มาแกล้ง
ชื่อเชสเชียร์ออกเสียงคล้ายๆ คำว่า Chishiya แม้จะไม่ได้ แถมยังพกนิสัยความเป็นแมวมาเต็มเปี่ยม มีความยียวน ฉลาดแกมโกง และออกจะขี้เบื่อหน่อยๆด้วย
ทั้งนี้นี่เป็นการคาดเดาเท่านั้น แล้วคุณคิดว่าใช่ไหม? มีตัวละครอื่นอีกหรือเปล่า?
source: ภาพจากซีรีส์ Alice in Borderland และภาพยนตร์ Alice in Wonderland
#ARTof #ARTofFilm #AliceinBoderland #AliceinBoderlandS2 #AliceinBoderland2 #Netflix #AliceinWonderland
เติมความคิดสร้างสรรค์แบบย่อยง่ายจาก Art of ได้ที่
โฆษณา