2 ม.ค. 2023 เวลา 05:50 • ประวัติศาสตร์
ย้อนมาเล่า ความเป็นมาของชื่อประเทศไทย
“ ประเทศสยาม ” กับ “ ประเทศไทย ”
หากจะกล่าวย้อนความเป็นมาของประเทศไทย ก็คงต้องย้อนกลับไปหลายปีดีดัก โดนเราจะขออธิบายการเปลี่ยนแปลงของชื่อจากสยามมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ตามหลักฐานที่มี หรือหลักฐานที่น่าเชื่อถือกัน
แผนที่ประเทศสยาม
1.บางคนอาศัยพจนานุกรมภาษาสันสกฤต-อังกฤษ ของเซอร์โมเนียวร์วิลเลียม (พิมพ์ในศตวรรษที่ ๑๘) เป็นหลักในการค้นหามูลศัพท์ภาษาไทยนั้น พบว่ามีคำสันสกฤตคำหนึ่งเขียนเป็นอักษรลาตินตามเครื่องหมายออกเสียงสำหรับสันสกฤตว่า
“ SYAMA ” ตรงกับอักขรวิธีไทย “ ศยามะ ” แปลว่า “ ดำ ” “ สีคล้ำ ” “ สีน้ำเงินแก่ ” “ สีน้ำตาลแก่ ” “ สีเขียวแก่ ” ฯลฯ บางคนที่กล่าวถึงนี้จึงสันนิษฐานว่า คำว่า “ สยาม ” มิได้มีมูลศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต
ครั้นแล้วก็สันนิษฐานว่าคำว่า “ สยาม ” แผลงมาจากคำจีน “ เซี่ยมล้อ ” อันเป็นภาษาของจีนแต้จิ๋วตามที่ผู้สันนิษฐานสันทัดในการได้ยินคนจีนส่วนมากที่อยู่ในสยาม โดยมิได้คำนึงว่าจีนแต้จิ๋วเป็นจีนเพียงในจังหวัดหนึ่งแห่งมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน อันที่จริงจีนส่วนมากหลายร้อยล้านคนในประเทศจีนนั้นพูดภาษาจีนกลาง หรือใกล้เคียงกับจีนกลาง เรียกชื่อประเทศสยามมาตั้งแต่โบราณกาลว่า “ เซียนโล๋ ” มิใช่ “ เซี่ยมล้อ ”
ส่วนชาวยุโรปที่เดินทางเรืออ้อมแหลมแอฟริกามายังอินเดียตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ แล้วเดินทางต่อมายังประเทศสยามนั้น ได้เรียกและเขียนชื่อประเทศสยามว่า “ SIAM ” มิใช่เขาเดินทางเรือไปประเทศจีนก่อนแล้วจึงวกกลับมาประเทศสยาม
ดังนั้นชาวยุโรปสมัยนั้นและสมัยต่อมาจึงเรียกชื่อประเทศสยามตามที่ชาวอินเดียใต้ ชาวสิงหฬ ชาวมลายู เรียกว่า “ เซียม ” และก็ตรงกับที่พระมหากษัตริย์สยามได้เรียกชื่อประเทศของพระองค์ในพระราชสาส์นที่มีไปยังประมุขประเทศต่าง ๆ จึงทำให้นานาประเทศรู้จักประเทศสยามในนามว่า “ SIAM ” มาหลายศตวรรษ เอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศสยามมีอยู่มากมายที่เราจะค้นดูได้จากสารบัญว่า “ SIAM ”
2.การศึกษาประวัติศาสตร์ทางนิรุกติศาสตร์ก็ดี นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ก็ดีนั้น จำต้องอาศัยเอกสารทางราชการเป็นหลักอ้างอิงด้วย ในบรรดาเอกสารทางราชการนั้นมีบทกฎหมายที่พระมหากษัตริย์สยามตั้งแต่สมัยโบราณได้จารึกไว้ เท่าที่ค้นได้ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีจารึกไว้ในสมุดข่อยที่เรียกชื่อประเทศสยามเป็นภาษาบาลีว่า “ สามปเทส ”
เมื่อจุลศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๗ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนากฎหมายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี ที่ยังใช้อยู่แล้วมีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม จารึกไว้บนสมุดข่อย (ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และฉบับต่อมาได้เอาอย่างมาจารึกรัฐธรรมนูญ) แล้วประทับตราสามดวง คือ ตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ บัวแก้ว กฎหมายนี้มีชื่อเรียกกันว่า “ กฎหมายตรา ๓ ดวง ” ซึ่งเป็นต้นฉบับเก็บไว้ห้องเครื่อง ๑ ฉบับ หอหลวง ๑ ฉบับ ศาลหลวงสำหรับลูกขุน ๑ ฉบับ
กฎหมายตราสามดวง
ในรัชกาลที่ ๔ หมอบรัดเลได้คัดมาพิมพ์โดยวิธีเรียงพิมพ์ เรียกกันว่า “ กฎหมาย ๒ เล่ม ”
ในรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรี (พระอิสสริยยศขณะนั้น) ได้คัดมาพิมพ์โดยวิธีเรียงพิมพ์ เรียกกันว่า “ กฎหมายราชบุรี ” มี ๒ เล่ม
ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ข้าพเจ้าได้พิมพ์โดยถ่ายภาพจากต้นฉบับสมุดข่อย แล้วทำบล๊อคเพื่อให้ตรงตามต้นฉบับเฉพาะ “ บานแพนก ” และ “ พระธรรมศาสตร์ ” แต่เพราะเหตุที่คำบาลีในต้นฉบับเขียนเป็นอักษรขอม ข้าพเจ้าจึงได้พิมพ์โดยวิธีเรียงพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง
ถ่ายทอดอักษรขอมนั้นเป็นภาษาไทย ส่วนข้อความใดที่เป็นอักษรไทยอยู่แล้วก็ได้เรียงพิมพ์ตามอักขรวิธีในต้นฉบับ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ (ภายหลังรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐) ได้ใช้หนังสือเล่มนั้นของข้าพเจ้าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่อ้างอิงไว้ด้วย ดั่งปรากฏในบัญชีอักษรย่อที่ใช้ในพจนานุกรมนั้นหน้า ๖ ว่าดังนี้
“ ตราสามดวง : กฎหมายตราสามดวงฉบับเรียงพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ รวบรวมโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ”
ความปรากฏว่า คำว่า “ สยาม ” มาจากภาษาบาลี “ สาม ” (สามะ) ข้าพเจ้าจึงขอคัดความตอนหนึ่งในหมวด “ พระธรรมศาสตร์ ” ดังต่อไปนี้
“ ...ยญจ สตฺถํ อันว่าคำภีรอันใด โลกหิตํเป็นปรฺโยชนแก่สัตวโลกย ปากฏํ ปรากฏิ ธมฺมสตฺถํ อิติ ชื่อว่าคำภีรพระธรรมศาสตร์ มนุสาเรน อันพระมโนสารฤาษี ภาสิตํ กล่าวอาทิโต ในต้นมูลภาสาย ด้วยมคธภาษา ปรฺมปราภตํ อันปรํมปราจารยนำสืบกันมา
ปติฏฐิตํ ตั้งอยู่ รามญฺเญสุ ในรามัญปรเทษ ภาสาย ด้วยภาษารามญฺญฺสฺสจ แห่งรามัญก็ดี อิทานิ ในกาลบัดนี้ ปุริเสน อันบุรุษผู้เป็นวินิจฉัยอำมาตย ทุคฺคาพฺหํ จะยังรู้เปนอันยาก อหิ สามเทเสในสยามปรเทษนี้ ตุสมาเหตุดั่งนั้น อหํ อันว่าข้า รจสฺสํ จักตกแต่ง ตํ ธมฺมสตฺถํ ซึ่งคำภีรพระธรรมสารทนั้นสามภาสาย ด้วยสยามภาษา ตุมเห อันว่าท่านทังหลาย สุณาถ จงฟัง ตํ สตฺถํ ซึ่งคัมภีรพระธรรมศาสตร์นั้น สนฺติกา แต่สำนักนิเม แห่งเรา ”
3.คำว่า “ เทเส ” เป็นคำบาลีที่แปลงท้ายคำตามไวยากรณ์บาลี (วิภัตติ) ของมูลศัพท์ “ เทส ” ซึ่งแปลว่า บ้านเมือง, แว่นแคว้น มีความหมายตรงกับ “ปเทส ” (PADESA)
คำว่า “ สาม ” (สามะ) ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่างตามที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ของริสเควิคส์กล่าวไว้ เช่น
3.1สีดำ
3.2 สีเหลือง, สีทอง ตามความหมายนี้ “ สามปเทศ ” จึงหมายถึงแว่นแคว้นแห่งเมืองทองหรือสุวรรณภูมิ ดังที่เพลงชาติของประเทศสยามก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยมีเนื้อร้องตั้งต้นด้วยประโยคว่า “ ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง.. ”
ต่อมาเมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทยแล้ว ทางราชการได้เปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติว่า “ ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ” ซึ่งไม่ตรงตามหลักวิชาว่าด้วยเชื้อชาติ เพราะในประเทศไทยมีคนเชื้อชาติอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย เนื้อเพลงนี้จึงเป็นการคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว เพื่อรวมคนเชื้อชาติไทยในดินแดนอื่น ๆ ด้วย โดยไม่คำนึงว่าคนเชื้อชาติไทยในดินแดนเหล่านี้จะยอมผนวกเข้ากับประเทศไทยหรือจะเรียกร้องเป็นอย่างอื่น
3.3 ข้าพเจ้าเห็นว่ายังมีความหมายที่อาจแผลงมาจากคำบาลี “ สม ” (สะมะ) ที่แปลว่า “ ความสงบเรียบร้อย ” “ ความเสมอภาค ” ถ้าพิจารณาถึงชื่อ “ กรุงศรีอยุธยา ” ที่แปลว่ากรุงแห่งไม่มีการรบอันประเสริฐ คือ สันติภาพอย่างยิ่ง แล้ว ก็ควรเชื่อได้ว่าพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนได้ใช้คำว่า “ สยาม ” โดยแผลงจากคำว่า “ สาม ” ทั้งในความหมายของ “ เมืองทอง ” และในความหมายที่แผลงมาจาก “ สม ” (สะมะ) ที่แปลว่าความสงบเรียบร้อยและความเสมอภาค เพราะพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนทรงทราบเป็นอย่างดีว่า
ราชอาณาจักรที่พระองค์ทรงเป็นประมุขนั้น แม้ประกอบด้วยชนเชื้อชาติไทยเป็นส่วนมากก็ตาม แต่ก็ยังมีคนเชื้อชาติอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย จึงทรงเห็นเป็นการเหมาะสมที่จะเรียกราชอาณาจักรนี้ว่า “ สยาม ” หมายความทุกชนชาติที่รวมอยู่ในประเทศของเรานี้มีความเสมอภาคกัน และมีอุดมคติสันติภาพตั้งอยู่ในแว่นแคว้นแห่งเมืองทองหรือสุวรรณภูมิ
ภาพวาดแสดงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติในสมัยอดีต
4. สาเหตุแห่งการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศและบรรดาศักดิ์ขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในบรรดารัฐมนตรีแห่งรัฐบาลนั้นมีข้าพเจ้าด้วยผู้หนึ่งซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นรัฐมนตรีลอย (ไม่ว่าการกระทรวง)
ระเบียบวาระ โดยให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แถลงให้เปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม ” เป็น “ ประเทศไทย ” โดยนำสำเนาแผนที่ฉบับที่สำนักตะวันออกไกล ฝรั่งเศส ทำไว้ ว่าด้วยแหล่งของชนเชื้อชาติไทยต่าง ๆ มาแสดงในที่ประชุมด้วย โดยอ้างว่า “ สยาม ” มาจากภาษาสันสกฤต “ ศยามะ ” แปลว่า “ ดำ ” จึงไม่ใช่ชื่อประเทศของคนเชื้อชาติไทยซึ่งเป็นคนผิวเหลือง ไม่ใช่ผิวดำ และอ้างว่าคำว่า “ สยาม ” แผลงมาจากจีน “ เซี่ยมล้อ ”
ข้าพเจ้าได้คัดค้านว่าโดยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้ค้นคว้ากฎหมายเก่าของไทย โดยอาศัยหลักฐานเอกสารที่จารึกไว้โดยพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อน รวมทั้ง “กฎหมายตราสามดวง ” ซึ่งรัชกาลที่ ๑ (พระพุทธยอดฟ้าฯ) ได้โปรดเกล้าฯ ให้สังคยานา (ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวในข้อ ๒ ) และมิใช่คำว่า “ สยาม ” แผลงมาจากคำจีนแต้จิ๋ว “ เซี่ยมล้อ ” (ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในข้อ ๑)
แต่จุดประสงค์เบื้องหลังของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนหนึ่งต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศว่าประเทศไทย เพื่อรวมชนชาติไทยในดินแดนต่าง ๆ เข้ามาในมหาอาณาจักรไทย ดังนั้นรัฐมนตรีส่วนมากจึงตกลงตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็น “ ประเทศไทย ” ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี
ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงมติเห็นชอบในการเปลี่ยนชื่อประเทศ ซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามให้ตราเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
5.เมืองขึ้นในแอฟริกาของอังกฤษ (สมัยนั้น) และเมืองขึ้นของฝรั่งเศส (สมัยนั้น) ที่ลงท้ายด้วยคำว่า “LAND” หรือ “LANDE” ข้าพเจ้าได้ให้ข้อสังเกตว่าประเทศ “IRELAND” ใต้เมื่อได้เป็นเอกราชจากอังกฤษแล้ว ก็ตัดคำว่า “LAND” ออก
โดยเรียกชื่อประเทศของตนว่า “EIRE” ส่วนในประเทศยุโรปบางประเทศที่มีคำท้ายว่า “LAND” เช่น “ICELAND” ก็เพราะภาษาของเขาอยู่ในตระกูลเดียวกันกับภาษาอังกฤษจึงไม่จำเป็นที่เราจะต้องเอาตัวอย่างนี้ แต่ความเห็นส่วนข้างมากในคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษด้วย ตามที่มีผู้เสนอให้เปลี่ยนเป็น “THAILAND” ในภาษาอังกฤษ และ “THAILANDE” ในภาษาฝรั่งเศส
ข้าพเจ้าได้เสนอต่อไปอีกว่าถ้าส่วนข้างมากต้องการให้ชาวโลกเรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสโดยมีคำว่า “THAI” เป็นสำคัญแล้ว ก็ขออย่าเอาคำว่า “LAND” หรือ “LANDE” ไปต่อท้ายไว้ด้วยเลย คือ ให้ใช้ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสทับศัพท์ตามที่สามัญชนคนไทยเรียกชื่อประเทศของตนว่า “ เมืองไทย ” เป็นภาษาอังกฤษ “ MUANC THAI ” ฝรั่งเศส “ MUANG THAI ” แต่ส่วนมากในคณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย
6.เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้สิ้นสุดลง รัฐบาลทวี บุณยเกตุ เห็นว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งเปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็นประเทศไทยนั้น ใช้บังคับเฉพาะชื่อประเทศไทยในภาษาไทยเท่านั้น รัฐบาลนั้นจึงได้ประกาศให้ใช้ชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า “ SIAM ” ตามที่เกือบทั่วโลกรู้จักประเทศไทยในคำนั้นมาหลายศตวรรษแล้ว
ฉะนั้นเอกสารทางราชการที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสจึงเรียกชื่อประเทศไทยว่า “ SIAM ” รวมทั้งหนังสือเดินทางให้เขียนเรียกชื่อประเทศในภาษาไทยว่า “ ประเทศไทย ” ส่วนในภาษาฝรั่งเศสให้เขียนว่า “ SIAM ” และสัญชาติของผู้ถือหนังสือเดินทางให้เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “SIAMOIS ”
ทั้งนี้ก็ตรงกับที่ข้าพเจ้าได้เคยเสนอดังกล่าวไว้แล้วในข้อ ๕ ว่าแม้ประเทศเยอรมนีเรียกชื่อประเทศของเขาเป็นภาษาเยอรมันว่า “ DEUTSCHLAND ” แต่ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “ GERMANY ” และในภาษาฝรั่งเศส “ ALLEMAGNE ” ส่วนในประเทศในตะวันออกไกลเช่นประเทศจีน ซึ่งเรียกตามภาษาจีนว่า “ จงกัวะ ” แปลว่า “ ประเทศกลาง ” นั้น ทางราชการจีนก็เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “ CHINA ” และภาษาฝรั่งเศสว่า “ CHINE ” ตามที่เกือบทั่วโลกรู้จักประเทศจีนในภาษานั้นมาแล้วหลายศตวรรษ
ประเทศญี่ปุ่นเรียกชื่อประเทศเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ นิปปอนโกกุ ” แปลว่าประเทศแห่งพระอาทิตย์อุทัย นั้น ทางราชการญี่ปุ่นเรียกเป็นภาษอังกฤษว่า “ JAPAN ” และภาษาฝรั่งเศสว่า “ JAPON ” ตามที่เกือบทั่วโลกรู้จักประเทศญี่ปุ่นในภาษานั้นมาหลายศตวรรษ แม้ว่าลัทธิแสนยานุภาพญี่ปุ่นจะมีทัศนะ “ คลั่งชาติ ” (CHAUVINISM) แต่ก็ไม่คลั่งจนถึงขนาดทำให้คนเกือบทั่วโลกงง ถ้าหากต้องเรียกชื่อประเทศญี่ปุ่นตามภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ
7.เมื่อได้เกิดรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๕๐ แล้ว นายควงเป็นนายกรัฐมนตรีประมาณ ๓ เดือนเศษ รัฐบาลนี้คงเรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า “ SIAM ” ต่อไปอีก  ต่อมาในเดือนเมษายน ๒๔๙๑ รัฐบาลพิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งแทนรัฐบาลควงแล้ว ก็ได้กลับเปลี่ยนชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษว่า “ THAILAND ” และในภาษาฝรั่งเศส “THAILANDE” ซึ่งรัฐบาลต่อ ๆ มาก็ได้ใช้ตามจนปัจจุบันนี้
8. ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๑ ที่ใช้เวลาร่างนานที่สุดประมาณ ๑๐ ปีนั้น ได้มีสมาชิกแห่งสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนเชื้อชาติไทยแท้ ๆ และมีนายทหารชั้นนายพลคนหนึ่งร่วมด้วยในการเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนชื่อประเทศไทยเป็นประเทศสยามตามเดิม แต่สมาชิกส่วนมากไม่ยอมรับความเห็นนี้
ต่อมาในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ ก็มีกรรมการบางคนเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนชื่อประเทศไทยเป็นประเทศสยาม แต่กรรมการส่วนมากไม่ยอมรับความเห็นนี้เพราะบางคนให้ความเห็นว่า
“ เรื่องชื่อประเทศเป็นเรื่องเล็ก ” ครั้นแล้วรัฐบาลได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ ต่อสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนได้แสดงความเห็นขอแก้ชื่อประเทศไทยให้เป็นประเทศสยามตามเดิม ดังนั้นคงมีหลายคนขอแปรญัตติในคณะกรรมาธิการ แต่เสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการและในสภานิติบัญญัติจะเห็นด้วยหรือไม่ก็สุดแท้แต่ทัศนะซึ่งท่านเหล่านั้นยึดถือ
9. ผู้สนใจที่ศึกษาปรากฏการณ์แห่งความเป็นมาของการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยย่อมเห็นได้ว่าปัญหานี้ไม่อาจจบลงได้อย่างง่าย ๆ แม้มีรัฐธรรมนูญแล้วก็ยังมีผู้ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนชื่อประเทศไทยเป็นประเทศสยามตามเดิม
หรือเปลี่ยนเฉพาะชื่อภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส เรื่องนี้ไม่ควรพิจารณาอย่างผิวเผินว่าเป็น “ เรื่องเล็ก ” เพราะการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยนั้นสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างคนเชื้อชาติไทยที่มีทัศนะทางสังคมแตกต่างกัน คือ ฝ่ายหนึ่งถือ “ ทัศนะรักชาติ ” (PATRIOTISM) กับอีกฝ่ายหนึ่งถือ “ ทัศนะเชื้อชาตินิยม ” (RACISM) ประกอบด้วย “ ทัศนะคลั่งชาติ ” (CHAUVINISM) ที่เกินขอบเขตยิ่งกว่าทัศนะคลั่งชาติของฮิตเลอร์และแสนยานุภาพญี่ปุ่น
(๑) ความขัดแย้งเกี่ยวกับที่มาแห่งมูลศัพท์ (นิรุกติศาสตร์) ของคำว่า “ สยาม ” นั้นเป็นปัญหารองซึ่งนักวิชาการผู้สนใจในวิชาการนิรุกติศาสตร์แท้จริง โดยไม่มีอุปาทานจากซากทัศนะเชื้อชาตินิยมและทัศนะคลั่งชาติก็ย่อมค้นคว้าหาสัจจะทางวิชาการนี้ได้
ส่วนผู้จงรักภักดีแท้จริงในสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คงศึกษาพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๔) หรือได้ยินพระภิกษุสงฆ์ที่รอบรู้เล่าให้ฟังบ้างว่า
พระจอมเกล้าฯ ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้ภาษาไทย ภาษาบาลี-สันสกฤต ภาษาลาติน ภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ปรากฏว่าคนในสยามจนถึงปัจจุบันนี้จะมีความรู้นั้นเท่าเทียมพระองค์ได้ ดังนั้นเราจึงควรใช้ความคิดว่าถ้าพระองค์เห็นว่าคำว่า “ สยาม ” ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนใช้เรียกราชอาณาจักรของพระองค์ไม่ถูกต้องในทางภาษาและนิรุกติศาสตร์แล้ว
พระองค์ก็คงจะได้เปลี่ยนชื่อราชอาณาจักรก่อนชนรุ่นหลังแล้ว ส่วนคำอังกฤษ ฝรั่งเศส “SIAM” นั้น พระองค์ก็ใช้ต่อมาในการเรียกชื่อราชอาณาจักรตามภาษานั้น ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเป็นภาษาลาตินตามมูลศัพท์ “SIAM” ว่า “ REX SIAMENSIS ” แปลว่า “ พระราชาแห่งสยาม ” ซึ่งตรงกับ “ สยามินทร์ ” หรือ “ สยามินทราธิราช ” ซึ่งมีคำนี้อยู่ในพระปรมาภิไธยเต็มของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งองค์ปัจจุบันดังต่อไปนี้
“ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ”
พระปรมาภิไธยขององค์ปัจจุบันได้จารึกในคำปรารภในรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรหลายฉบับ รวมทั้งจะจารึกในฉบับ ๒๕๑๗ ด้วย แต่น่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ เรียกชื่อราชอาณาจักรประเทศไทยซึ่งไม่สอดคล้องกับพระปรมาภิไธย
ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าความขัดแย้งเรื่องชื่อของประเทศนี้สืบเนื่องจากรากฐานแห่งทัศนะทางสังคมซึ่งผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ยึดถือเป็นสำคัญยิ่งกว่าทางวิชาการนิรุกติศาสตร์
(9.2) “ ทัศนะรักชาติ ” (PATRIOTISM) เป็นทัศนะประชาธิปไตยซึ่งรักทุกเชื้อชาติและชนชาติที่ประกอบเป็น “ ชาติ ” เดียวกัน ครอบครองดินแดนประเทศเดียวกัน คือ เป็น ปิตุภูมิ (PATRIE) เดียวกัน มีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจอันเป็นรากฐานของสังคมเดียวกัน ยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อชาติและปิตุภูมิเป็นส่วนรวม
ทุกชาติในปัจจุบันนี้ต่างกับกลุ่มเผ่าพันธุ์ที่ประกอบด้วยคนเผ่าพันธุ์เดียวหรือเชื้อชาติเดียว ทุกชาติเป็นผลแห่งวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ช้านาน ซึ่งประกอบด้วยหลายเชื้อชาติและชนชาติ ซึ่งเดิมมีดินแดนโดยเฉพาะ แล้วต่อ ๆ มาได้สมานกันประกอบเป็นชาติเดียวกัน
ประวัติศาสตร์ชาติไทยเพียง ๒๐๐ ปีก็แสดงให้เห็นแล้วว่าก่อนนั้นมีแว่นแคว้นหรือรัฐมากหลาย ซึ่งแต่ละเชื้อชาติและชนชาติแยกย้ายกันอยู่ ครั้นแล้วก็ค่อย ๆ วิวัฒน์ประกอบเป็นชาติเดียวกันแห่งประเทศสยาม เอกภาพของชาติจะมั่นคงได้ก็โดยระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ คือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทัศนะประชาธิปไตย ซึ่งรวมทั้ง “ ทัศนะรักชาติ ” (PATRIOTISM)
(9.3) “ ทัศนะเชื้อชาตินิยม ” (RACISM) เป็นทัศนะที่นิยมหรือรักเฉพาะคนเชื้อชาติเดียว อันเป็นทัศนะคับแคบที่สืบมาจากทัศนะสังคมต่างกลุ่มเผ่าพันธุ์โดยมิได้คำนึงถึงความเป็นจริงในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของ “ ชาติ ” ดังกล่าวในข้อ (๒)
ซากของ “ ทัศนะเชื้อชาตินิยม ” (RACISM) ยังคงตกค้างอยู่ในหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้คนจำนวนหนึ่งแห่งเชื้อชาติในชาตินั้น ๆ ถือว่าเชื้อชาติของตนอยู่เหนือเชื้อชาติและชนชาติอื่น ซึ่งเป็นส่วนข้างน้อยอยู่ในชาติเดียวกันอันเป็นการบั่นทอนเอกภาพของชาติ ซึ่งทำให้ชนส่วนน้อย (MINORITY) ในชาติดิ้นรนแยกดินแดนดังปรากฏอยู่ในหลายประเทศ
พวก “ เชื้อชาตินิยม ” ได้ผลักดันทัศนะของตนเป็นการ “ คลั่งเชื้อชาติ ” หรือ “ คลั่งชาติ ” (CHAUVINISM) เพราะถือว่าชาติเป็นของเชื้อชาติเขาเท่านั้น ครั้นแล้วก็คิดรวมคนเชื้อชาติเดียวกันที่อยู่ในดินแดนต่าง ๆ เข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันเช่นที่ฮิตเลอร์ได้ดำเนิน ซึ่งเป็นการล้มเหลวและนำความพ่ายแพ้มาสู่ประเทศเยอรมนี
ส่วนในสยามนั้น ความฝันของพวกเชื้อชาตินิยมที่จะสถาปนามหาอาณาจักรไทยรวบรวมคนเชื้อชาติไทยต่าง ๆ ในเอเชียนั้นไม่มีการเป็นไปได้ แต่ซากความฝันนั้นก็ยังคงมีอยู่ที่เป็นมรดกตกทอดมา
(9.4) นักโฆษณาและผู้เขียนประวัติศาสตร์ชนเชื้อชาติไทย ซึ่งโดยมากเขียนจากหนังสือที่ชาวยุโรปอเมริกันเขียนไว้ก็ดี เขียนจากการสันนิษฐานตามชื่อท้องที่แล้วเดาว่าเป็นภาษาไทยก็ดี ได้ทำให้ผู้อ่านที่บริสุทธิ์หลงเชื่อว่าชนเชื้อชาติไทยมีอยู่มากมายในทวีปเอเชีย ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรชี้แจงตามที่ได้เคยไปยังท้องที่นั้น และเท่าที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาค้นคว้าดังต่อไปนี้
(ก) ในประเทศจีนมีคนเชื้อชาติไทยในเขตปกครองตนเองของ ชนชาติจ้วง (ไทยช่วง) แห่งกวางซี (สี)  มีสถิติ ค.ศ. ๑๙๖๓ แจ้งว่า  มีประมาณ ๗,๗๘๐,๐๐๐ คน ชนชาติจ้วงนี้เป็นชนเชื้อชาติไทย พูดภาษาไทยเดิมคล้ายกันกับชนเชื้อชาติไทยอื่น ๆ ในสิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน สมัยก๊กมินตั๋งนั้นกวางซีเป็นมณฑลหนึ่งขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน ในสมัยปัจจุบันสาธารณรัฐของราษฎรจีนได้สถาปนากวางซีเป็นเขตปกครองตนเอง โดยมีคณะกรรมการบริหารและมีสภาผู้แทนราษฎรของเขตปกครองตนเอง
ในมณฑลยูนนานมีเขตปกครองตนเองของชนชาติไทยหลายเขต รวมประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน แต่ละเขตมีคณะบริหารและสภาผู้แทนราษฎรของเขต
ส่วนในเวียดนามเหนือ ในลาว ในพม่า และในมณฑลอัสสัมของอินเดียนั้น ข้าพเจ้ายังไม่มีตัวเลขแน่นอน
ปัจจุบันนี้สาธารณรัฐของราษฎรจีนได้แถลงแล้วหลายครั้งว่าไม่ต้องการผนวกดินแดนของชาติอื่น ข้าพเจ้าจึงหวนคิดว่าถ้าเป็นในสมัยก๊กมินตั๋งแล้ว ถ้าพวก “ เชื้อชาตินิยม ” ยังมีความคิดแผนการมหาอาณาจักรไทยอยู่อีกแล้ว สมมติว่าคนเชื้อชาติไทยในดินแดนดังกล่าวนี้
เกิดยอมรับว่าจะเข้าร่วมเป็นมหาอาณาจักรไทยขึ้นมาจริง ๆ แต่อ้างว่าพวกเขาเป็น “ ไทยเดิม ” จึงให้ประเทศสยามที่เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยซึ่งเขาเรียกว่า “ ไทยบางกอก ” อันเป็นไทยใหม่เข้าร่วมเป็นมหาอาณาจักรเดียวกันกับ “ ไทยเดิม ” ดังนี้ พวก “ เชื้อชาตินิยม ” ก็คงไม่ยอม ถ้าจะทำให้ได้ก็ต้องทำสงครามกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยจักรวรรดินิยมให้หนุนหลัง
(ข) นักประวัติศาสตร์บางคนเขียนประวัติศาสตร์เชื้อชาติไทยตามที่ฝรั่งเขียนไว้ เช่นเขียนว่าชนเชื้อชาติไทยเดิมอยู่ที่ “ ตาลีฟู ” และอ้างว่ากษัตริย์ไทยเดิมชื่อ ตีโล่โกะ โกะโล่ฝง อะไรทำนองนั้น ถ้าหากเราใช้สามัญสำนึกก็จะเห็นว่าชื่อนั้นไม่ใช่ภาษาไทยเลย
ส่วนคำว่า “ ฟู ” นั้น เป็นคำที่ราชวงศ์เช็ง (แมนจู) เมื่อประมาณ ๓ ศตวรรษมานี้ใช้เป็นชื่อเขตต่าง ๆ ในประเทศจีน ซึ่งเมื่อราชวงศ์เช็งล้มแล้ว สาธารณรัฐจีนได้แบ่งเขตปกครองโดยเลิกใช้คำว่า “ ฟู ” แต่ฝรั่งเขียนหนังสือนั้นในปลายสมัยวงศ์เช็งจึงเรียกตามชื่อสมัยนั้นซึ่งมิใช่เป็นชื่อเขตปกครองของจีนสมัยโบราณและสมัยปัจจุบัน
ส่วนคำว่า “ ตาลี ” นั้นภาษาจีนกลางออกสำเนียง “ ต้าหลี่ ” แปลว่า “ การปกครองสงบเรียบร้อยใหญ่ ” “ ศีลธรรมจรรยาใหญ่ ” ฯลฯ แต่นักสันนิษฐานบางคนเดา ๆ ว่า คำนี้ตรงกับภาษาไทยว่า “ ท่าดี ”
โดยให้เหตุผลว่าจีนพูดภาษาไทยไม่ชัด ออกสำเนียง “ ด ” ไม่ได้จึงต้องออกเป็น “ ล ” ข้าพเจ้าได้ไปเยือนชนชาติในเขต “ ต้าหลี่ ” ปรากฏว่าคนพื้นเมืองเป็นเชื้อชาติ “ ไป๋ ” พูดภาษาที่ต่างกับคนไทยเดิม แม้แต่การนับซึ่งคนจีนกวางตุ้งนับคล้ายกับคนไทย คือ ยัด ยี่ สาม สี่ อึ้ง ลก ชัค ปัค เก๋า สับ แต่คนเชื้อชาติ “ ไป๋ ” นับแล้วไม่มีคำใดคล้ายคำไทยเดิมเลย
ในมณฑลยูนนานปัจจุบันมีคนหลายเชื้อชาติ
(ค) เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ในระยะปลายสมัยรัฐบาลพิบูลฯ หลวงวิจิตรวาทการได้แสดงละครเรื่องพ่อขุนรามคำแหง และเขียนแผนที่แสดงว่าในสมัยโบราณแดนของชนชาติไทยแผ่คลุมไปถึงตอนเหนือของมณฑลเสฉวน
โดยเขียนชื่อที่ตั้งของเมืองจุงกิงปัจจุบันว่า “ แป ” เพื่อให้ตรงกับภาษาไทยที่หมายถึง “ ไม้เครื่องเรือนสำหรับเอากลอนพาด ” ท่านผู้นี้คงจำลองแผนที่สมัยเก่าซึ่งฝรั่งเขียนไว้ว่า “ PE ” แล้วสันนิษฐานว่าเป็นคำไทย ข้าพเจ้าได้ไปเยือนเมืองนี้และเมืองเฉิงตูนนครหลวงของเล่าปี่ แล้วล่องมาตามแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) สอบถามบัณฑิตโบราณคดีจีนได้ความว่า ในสมัยโบราณเมืองนี้จีนเรียกว่า “ เผ” แปลว่า “ กำแพงหลังบ้าน ” “ การเลี้ยงดู ” “ การอบรม ” “ ลำน้ำหนึ่งที่คดเดี้ยว ” ฯลฯ แต่ฝรั่งเขียนทับสำเนียงเพี้ยนไปเป็น “PE”
แผนที่ซึ่งหลวงวิจิตรฯ เขียนประกอบละครเรื่องนั้นได้ทำให้พวก “ เชื้อชาตินิยม ” สนใจมาก
(ง) บางคนหลงเชื่อว่าชนเชื้อชาติไทยเดิมอยู่ที่บริเวณภูเขา “ ALTAI ” โดยสันนิษฐานว่าท้องที่นั้นมีคำลงท้ายว่า “ TA I”
แต่คำว่า “ALTAI” นั้นเป็นภาษามงโกลแปลว่า “ ทอง ” มิใช่เป็นคำผสมระหว่าง “ อัล ” กับ ไท ” ภูเขาอัลไตจึงหมายถึง “ ภูเขาทอง ”
บริเวณนี้ตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ๔๘ ถึง ๕๓ องศา อยู่ในเขตสหภาพโซเวียต ติดต่อกับเขตแดนตะวันตกเฉียงเหนือของมงโกเลียและของจีน ฤดูหนาวอุณหภูมิใต้ศูนย์ ๓๕-๔๗ องศาเซนติเกรด
ตามประวัติชนชาตินั้น ในสมัยโบราณกลุ่มเผ่าพันธุ์ “ อัวรัต ” ซึ่งเป็นเผ่าผสมระหว่างมงโกลกับตุงกูอาศัยอยู่
ถ้าถือตามพวก “ เชื้อชาตินิยม ” ว่าชนเชื้อชาติไทยเดิมเป็นเจ้าของเขตนี้แล้ว ก็ขอคำอธิบายด้วยว่าอยู่ในยุดใดแล้วเคลื่อนมาทางเมือง “ แป ” (PE), ยูนนาน, กวางซี , ต่อมาถึงสยามตั้งแต่เมื่อใด โดยถูกเผ่ามงโกล-ตุงกู ขับไล่หรืออย่างไร เพราะเผ่านี้ก็มีจำนวนคนเล็กน้อยเท่านั้น หรือถูกรัสเซียขับไล่มา แต่รัสเซียก็เพิ่งไปยึดครองเขตนี้เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีมานี้เอง
ในด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น เขตนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์จนถึงสมัยปัจจุบัน คือ มีการเลี้ยงสัตว์ เพาะปลูกได้ผลสมบูรณ์ อุดมด้วยแร่ตะกั่ว สังกะสี และทองคำซึ่งยังทำกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าเชื่อตามพวก “ เชื้อชาตินิยม ” แล้ว เราก็ควรใช้สามัญสำนึกว่าเหตุใดชนเชื้อชาติไทยเดิมจึงทิ้งถิ่นที่อุดมสมบูรณ์รวมทั้งมีทองคำ แล้วพากันอพยพข้ามทะเลทรายที่อัตคัดหลายพันกิโลเมตรมาหาทองคำในดินแดนใหม่ที่เรียกว่า “ สามปเทส ” แล้วปล่อยให้เผ่ามงโกล-ตุงกู เสวยสุขสำราญจากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น
ปัจจุบันนี้สหภาพโซเวียตได้จัดตั้งเขตปกครองตนเองในบริเวณภูเขาอัลไตขึ้นหลายเขต โดยเฉพาะเขตปกครองตนเอง GORNOALTAYSKAYA AVTONOMNYA OBLAST เนื้อที่ ๙๒,๖๐๐ ตารางกิโลเมตรนั้น เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๙ พลเมือง ๑๖๙,๐๐๐ คน,
ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ๗ ล้านไร่ ที่เพาะปลูกเมล็ดพืช ๑ ล้านไร่ ๒๓๙ โรงเรียนประถมและมัธยม วิทยาลัยเทคนิคหลายโรงเรียนมีนักศึกษาชั้นอุดม ๔,๐๐๐ คน ๓๔ โรงพยาบาล และแพทย์ ๑๘๘ คน ๑๗๓ สถานเลี้ยงเด็กทารก และโรงเรียนอนุบาลสำหรับเด็ก ๖,๓๐๐ คน เราจึงน่าเทียบกับจังหวัดกำแพงเพชร ตาก ชุมพร ยะลา ที่มีพลเมืองจำนวนใกล้เคียงกัน และอีกหลายจังหวัดในสยามว่ามีความสมบูรณ์เทียบกันได้กับคนในบริเวณภูเขาอัลไตหรือไม่
แล้วใช้สามัญสำนึกตามธรรมชาติว่าสมควรที่คนเชื้อชาติไทย (หากเคยเป็นเจ้าของท้องที่นั้นจริง) จะพากันละทิ้งถิ่นอุดมสมบูรณ์เดินทางผ่านทะเลทราย โดยสมัยนั้นยังไม่รู้แผนที่ว่าจุดหมายปลายทางจะมีสุวรรณภูมิที่อุดมสมบูรณ์กว่าหรือไม่ สามัญสำนึกที่ปราศจากอุปาทาน “ เชื้อชาตินิยม ” เป็นพื้นฐานแห่งหลักวิชาว่าด้วยการอพยพของมนุษยชาติ ซึ่งต้องย้ายที่อยู่เดิมอันมีความอัตคัดไปสู่ดินแดนใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า
(จ) สมัยแผ่อำนาจช่วงชิงดินแดนของชาติอื่นนั้น จักรวรรดินิยมใช้วิธีหลายอย่างรวมทั้งวิธีเขียนบนกระดานแผนที่ แล้วประกาศเป็นทางการว่าดินแดนนั้น ๆ เป็นของตน เช่น จักรวรรดินิยมอังกฤษได้เขียน “ เส้นแมคมาฮอน (MAC MAHON LINE)”
บนแผนที่ระหว่างอินเดียกับธิเบตของจีน ถือว่าดินแดนใต้เส้นนั้นเป็นของอังกฤษ ประเทศจีนตั้งแต่ราชวงศ์เช็งได้คัดค้าน แต่จักรวรรดินิยมอังกฤษก็ได้ถือว่าดินแดนส่วนนั้นเป็นของอังกฤษ
ส่วนพวก “ เชื้อชาตินิยม ” จำพวกที่กล่าวแล้ว ใช้วิธีแปลกประหลาดง่ายยิ่งกว่าวิธีรุกรานทางแผนที่คือ ใช้วิธีทึกทักเอาจากชื่อที่เรียกท้องที่ว่าถ้ามีคำที่ออกเสียงว่า “ ไท ” หรือ “ ไต ” ก็ดี หรือเดาว่าเป็นคำไทยก็ดี ท้องที่นั้นเป็นของคนเชื้อชาติไทยมาก่อน ซึ่งไม่ถูกต้องตามความจริง
ก็จบไปแล้วสำหรับความเป็นมาของชื่อของประเทศไทย โดยเราได้หยิบยกมาแค่ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ของท่านปรีดีย์ พนามยงค์ สำหรับใครที่ค้องการอ่านฉบับเค็มสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ของ่ทานได้เลย
ขอขอบคุณ จดฟมายเหตุเรื่อง: ความเป็นมาของชื่อ
“ ประเทศสยาม ” กับ “ ประเทศไทย ”
เรียบเรียงจากเค้าความบางตอนในต้นฉบับของหนังสือ
Ma Vie Mouvementee
ปรีดี  พนมยงค์
โฆษณา