2 ม.ค. 2023 เวลา 14:37 • ปรัชญา
ตามหน้าเพจต่างๆ จำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับข่าวล้มป่วยแบบเฉียบพลันของเจ้าหญิงพระองค์หนึ่ง, มีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับตรรกะหรือหลักการใช้เหตุผลของคนเราปรากฏให้เห็นอยู่มากมาย.
ความเห็นที่พบเห็นได้อยู่บ่อยๆ ก็คือการถือว่าการล้มป่วยของเจ้าหญิงเป็นอำนาจของกรรม, เป็นกรรมตามสนองที่ส่งผลมาจากการกระทำบางอย่างของผู้เป็นพ่อ:
"ฆ่าแกงคนอื่นไว้มาก", "ทำลูกสาวคนอื่นไว้เยอะ", นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ.
แนวการใช้เหตุผลเช่นนี้เป็นตรรกะวิบัติหรือการทิ้งเหตุผล (fallacy) รูปแบบหนึ่ง, ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาละตินว่า post hoc ergo propter hoc (after this, therefore because of this), ซึ่งเป็น false cause รูปแบบหนึ่ง (อ้างสาเหตุผิด).
เหตุผลวิบัตินี้เกิดขึ้นเมื่อเราเชื่อว่าเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทีหลังเป็นผลของอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า; กล่าวคือ, เมื่อสองเหตุการณ์เกิดขึ้นไล่ๆ กัน, เช่น เมื่อเหตุการณ์ A เกิดขึ้นแล้วตามติดมาด้วยเหตุการณ์ B, มันไม่จำเป็นเสมอไปว่า เหตุการณ์ A จะต้องเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์ B. ดังนั้น, การที่เจ้าหญิงล้มป่วย (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทีหลัง) จึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลมาจากการกระทำของพ่อ (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน).
1
อีกตัวอย่างหนึ่ง, เช่น มีคนบวชพระแล้วสึกก่อนกำหนด. หลังจากสึกมาได้สามวัน, เขาก็ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเสียชีวิต. ผู้คนสรุปกันว่า สาเหตุที่เขารถคว่ำจนถึงแก่ความตายนั้นเป็นเพราะเขาสึกก่อนกำหนด. มันเป็นเรื่องไม่ดีที่จะสึกก่อนกำหนด. เห็นได้ชัดเลยว่า นี้เป็นเหตุผลวิบัติแบบ post hoc. การที่รถคว่ำเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการสึกก่อนกำหนด, ก็ไม่ได้หมายความว่าการสึกก่อนกำหนดเป็นสาเหตุให้รถคว่ำ.
ตรรกะวิบัติแบบนี้เกิดจากการเข้าใจผิดเรื่องความเป็นสาเหตุและความเป็นผล. และบางครั้งเมื่อเราอธิบายเหตุการณ์บางอย่างที่มีปัจจัยซับซ้อนหรือตัวแปรมากมายเกินเข้าใจไม่ได้, เราก็มักจะอธิบายเหตุการณ์นั้นแบบตัดทอนหรือแบบง่ายๆ ด้วยการอ้างอะไรบางอย่างที่มีลักษณะเป็นหลักการครอบจักรวาล (ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเลย), อย่างเช่นการบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม.
โฆษณา