4 ม.ค. 2023 เวลา 01:48 • สุขภาพ
วัคซีนรุ่นใหม่ (Bivalent vaccine)คืออะไร? ดีกว่ารุ่นเก่าขนาดไหน?
จะรอฉีดรุ่นใหม่ดีหรือจะฉีดวัคซีนรุ่นเก่ากระตุ้นภูมิไปก่อน
แต่ก็เบื่อฉีดวัคซีนแล้วนะ ไม่ฉีดเพิ่มได้หรือเปล่า 3 เข็มก็พอแล้วไหม ?
ถ้าไม่ฉีดเพิ่ม มีทางเลือกอื่นๆอีกไหม
ตอนที่ 2 (ใช้เวลาอ่าน 10-15 นาที)
Cr. https://www.atlantanewsfirst.com/2022/09/07/new-bivalent-covid-19-boosters-offer-enhanced-protection-officials-say/
ความเดิมจากตอนที่แล้ว
Q3: ถ้าไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกินไป
ไม่นานเกินไปนี่ ฉีดกระตุ้นกี่เดือนดี
A3: ข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจได้ดีกว่า คือ
- ประสิทธิภาพในชีวิตจริง ว่า ติดตามไปแล้ว
ระยะเวลานานเท่าไร ถึงจะเริ่มมีโอกาสป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากขึ้น
ซึ่งมี Registry ใหญ่ๆใน 2 ประเทศ คือ US+ UK ที่น่าสนใจ
1. ข้อมูลของกรมควบคุมโรคประเทศสหรัฐ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1.1 คนภูมิต้านทานต่ำ (Immunocompromised host)
Ref : 1
ข้อมูลจากฐานข้อมูลของ ประชากรภูมิต้านทานต่ำ
แบบรวมมิตร ทั้ง ปลูกถ่ายอวัยวะ เปลี่ยนไต รับตับ
มะเร็งรับคีโม โรคเลือด หรือ ทานยากดภูมิ
ที่ติดเชื้อโควิดและแอดมิดในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
ช่วงการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ BA.1+.2 กับ BA.5
จากจำนวนผู้เข้ารับการรักษาโรงพยาบาล 34,000 คน
พบว่า ไม่ฉีดวัคซีน 25% อีก 75 % ที่ฉีดวัคซีน
ฉีดเป็น pure m-RNA ที่กระตุ้นภูมิได้ดี สูงถึง 95.5%
1
แต่แม้กระนั้นเมื่อติดตามประสิทธิผลของวัคซีน
ในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตพบว่า
3 เดือนผ่านไปประสิทธิผลในการป้องกันป่วยหนัก
เหลือต่ำกว่า 50% โดยพบว่าเหลือเพียงแค่ 32-35%
และถ้าดูตัวเลขดิบของ % ผู้เสียชีวิต
จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตใกล้เคียงกับคนไม่ฉีดวัคซีนเลย
1.2 กลุ่มเปราะบาง มีโรคประจำตัวแต่ภูมิปกติ หรือก็คือ กลุ่ม 608 นั้นเอง
Ref : 2 ฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด และเข้ารับการรักษาในรพ. 4730 คน อายุเฉลี่ย 65 ปี ไม่ฉีดวัคซีน 32% มีโรคประจำตัว 88% พบว่า 4 เดือนแรกหลังฉีด ประสิทธิผลต่อโอไมคอนยังดีอยู่ แต่พอเลย 4 เดือนเป็นต้นไป (ค่าเฉลี่ยอยู่ 180-237 วัน) จะไม่สามารถป้องกันป่วยหนักได้ ดังรูปที่ 3
1.3 กลุ่มคนปกติ ที่รับวัคซีน mRNA รุ่นเดิมมาแล้ว 2-4 เข็ม
ไม่เคยติดและไม่มีโรคประจำตัว
Ref : 3
ฐานข้อมูลนี้ พึ่งเก็บมาช่วงเร็วๆนี้คือ เดือน ก.ย.-พ.ย.65
เพื่อคำนวณประสิทธิผลของวัคซีนmRNAรุ่นใหม่เทียบกับรุ่นเก่า
แต่มีการเก็บข้อมูลของจำนวนผู้ป่วยหนัก
ว่าฉีดวัคซีนรุ่นเก่าเข็มสุดท้ายมานานเท่าไรด้วย
โดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่มาด้วยห้องฉุกเฉิน
ด้วยอาการคล้ายโควิด 78,303 คน
--> ซึ่งส่วนใหญ่อายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว
ฉีดวัคซีนอยู่แล้วอย่างน้อย 2 เข็ม
Admit ไป 15,527 คน (19.8%)
--> ในกลุ่มที่ Admit นี้จะเป็นกลุ่มอายุเยอะและมีโรคประจำตัว
โดยพบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันป่วยจนต้องมารพ. (ER Visit)
ของวัคซีนรุ่นใหม่ จะเหนือกว่า รุ่นเก่า >50%
ก็ต่อเมื่อไม่ได้ฉีดวัคซีนกระตุ้นมานานเกิน 8 เดือน
และยังพบว่า เมื่อไม่ได้รับเข็มกระตุ้นเลย 8 เดือนเป็นต้นไป
จะ มีสัดส่วนทั้ง
ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใส่ท่อ และเสียชีวิต สูงขึ้น อย่างชัดเจน
เช่น โอกาสป่วยหนักจนต้องต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
จาก 7/100 คนในช่วงหลังฉีดวัคซีน2-4เดือนแรก
พุ่งขึ้น 2 เท่าเป็น 14.3 คน/100 ในช่วงเกิน 8 เดือนไป
2. UK Study (Ref 4+5)
ข้อมูลทางอังกฤษไม่ได้แจกแจงรายละเอียดมากเท่ากับทางฝั่งUSA
แต่ผลออกมาคล้ายกันกล่าวคือ
ประสิทธิผลในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต
มีแนวโน้มลดลงตามกาลเวลา
และตกมากที่สุดในช่วงหลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไป
สำหรับประเทศไทยที่มีการใช้สูตรวัคซีน
แบบไขว้เชื้อตายผสมกับ mRNA (Ref 6)
ก็มีข้อมูลเปรียบเทียบประสิทธิผลในสิงคโปร์พบว่า
สูตรไขว้เชื้อตาย+ mrna 3 เข็ม
มีประสิทธิผลด้านป้องกันป่วยแบบนอนโรงพยาบาล
ด้อยกว่า สูตร วัคซีน mRNA 3 เข็มประมาณ 8%
ถ้าจะเท่ากับ mrna 3 เข็ม จะเป็นสูตรวัคซีนเชื้อตาย 4 เข็ม
ซึ่ง จำนวนประชากรค่อนข้างน้อยทำให้ความน่าเชื่อถือต่ำ
สรุป สำหรับ mRNA vaccine รุ่นแรก
** ถ้ายังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศ **
- คนภูมิต่ำ รับคีโม โรคเลือด หรือ ทานยากดภูมิ
อาจจะต้องกระตุ้นทุก 3-4 เดือน
- กลุ่ม 608 อายุเยอะมีโรคประจำตัว
= ถ้าหวังกันป่วยหนักแบบไม่ต้องเข้า ICU
อาจจะต้องกระตุ้นทุก 4-6 เดือน
= ถ้าหวังแค่กันป่วยหนักมาก รับได้กับป่วยเข้า ICU
เอาแค่ไม่ต้องใส่ท่อ ไม่ควรเกิน 6-8 เดือน
- คนปกติ ถ้าไม่อยากป่วยจนต้องมารพ. ( ER Visit)
อาจจะกระตุ้นไม่เกิน 6-8 เดือน
= แต่ถ้าการระบาดสงบก็อาจจะเว้นให้นานกว่านั้นได้ =
และจะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนรุ่นที่ 1
ที่ผลิตมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมมาสุดทางได้เพียงเท่านี้
ไม่เหลือวัคซีนเทพอีกต่อไป จะฉีดสูตรไหนมาพอเวลาผ่านไป
ก็กันไม่อยู่และต้องฉีดกระตุ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการผลิตและพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง
เพื่อเป็นความหวังทั้งในด้านกันติดที่มากขึ้นและประสิทธิภาพที่ยาวนานขึ้น
Q4: วัคซีนรุ่นใหม่ (Bivalent vaccine) คืออะไร?
และ รุ่นใหม่ดีกว่า รุ่นเก่าจริงไหม
ถ้ายังไม่เคยฉีด รอฉีดตัวใหม่เลยได้ไหม ?
จากคำตอบในข้อที่แล้วพบว่า
ประสิทธิภาพของวัคซีนรุ่นเก่าเริ่มไม่น่าไว้วางใจ
ต่อการป้องกันเชื้อโอเมคอนสายพันธุ์ใหม่ๆ
เพราะวัคซีนรุ่นเดิมทุกชนิด
ผลิตมาจากรหัสพันธุกรรมหนามของไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม
ดังนั้นถ้ามีการปรับรหัสพันธุกรรมเป็นของไวรัส Omicron
สายพันธุ์ใหม่ (BA.1 และ BA.5)
ประมาณเหมือน Update Firmware ให้ผลิตหนามไวรัสตัวใหม่
น่าจะทำให้ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม
จากงานวิจัย Phase I พบว่า
สามารถกระตุ้นภูมิต่อไวรัส Omicronได้ดีขึ้นมาก
แต่ข้อเสียหลักๆคือ ไม่สามารถกระตุ้นภูมิต่อไวรัสCovid
สายพันธุ์ดั่งเดิมอื่นๆได้มากพอ
ทำให้อาจจะมีการกลับมาระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดิม
โดยเฉพาะไวรัสตัวร้ายอย่างเดลต้าที่ก่อโรครุนแรงกว่าตัวอื่นๆ
ในเมื่อวัคซีนรุ่นเดิม กระตุ้นภูมิได้ทุกสายพันธุ์แต่กระตุ้นได้ไม่สูง
แต่ไม่เป็นปัญหาเพราะไม่ดื้อวัคซีน
(เน้นกว้างครอบคลุมทุกสายพันธุ์)
วัคซีนรุ่นใหม่ก็กระตุ้นได้สูงเฉพาะโอไมครอนแต่กระตุ้นสายพันธุ์อื่นได้ไม่ดี
(เน้นสายพันธุ์ที่เป็นปัญหา)
ถ้าจับมารวมกัน อย่างละครึ่ง 50% +50%
ก็จะได้วัคซีนที่ได้ทั้งความครอบคลุมทุกสายพันธุ์
และก็ได้ทั้งความจำเพาะเจาะจงต่อสายพันธุ์ omicron
นั้นคือที่มา การผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ Bivalent Vaccine (BV) นั้นเอง
ขนาดที่ใช้คือ
Pfizer 30 ug ขนาดเท่าเดิม (15 ug รุ่นเดิม + 15 ug Omicron)
Moderna 50 ug ลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง (25 ug รุ่นเดิม + 25 ug Omicron)
ทั้ง 2 บริษัท จะมี 2 Version คือ US กับ EU
US ใช้ รหัสพันธุกรรม ของ Omicron BA.5
Eu+UK ใช้ รหัสพันธุกรรม ของ Omicron BA.1
โดยฉีดห่างจาก Vaccine เข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือน
และจะเห็นได้ว่ามีการปรับขนาดวัคซีนลง
เพราะใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ได้ใช้เป็นวัคซีนเข็มหลัก
ดังนั้นคนที่จะฉีดวัคซีนรุ่นใหม่
จะต้องฉีดวัคซีนรุ่นเดิมมาไม่ต่ำกว่า 2 เข็ม
มิฉะนั้นจะไม่สามารถกระตุ้นภูมิได้มากพอ
คนที่ยังไม่เคยฉีดเลยสักเข็มจะไม่สามารถฉีดวัคซีนรุ่นใหม่ได้
ต้องไปฉีดวัคซีนรุ่นเก่าให้ครบ 2 เข็มก่อน
วัคซีนรุ่นใหม่ดีกว่าเดิมจริงไหม ?
ประสิทธิภาพในหลอดทดลอง
- ด้านการกระตุ้นภูมิชนิดหักล้างเชื้อต่อไวรัสOmicron BA.5
Pfizer
ผล => Pfizer Bivalent vaccine => กระตุ้นภูมิได้สูงขึ้นกว่ารุ่นเดิม 4 เท่า
Ref : 7
https://www.pfizer.com/news/press-release/press-release-detail/pfizer-and-biontech-announce-updated-clinical-data-omicron
Moderna
ผล => Moderna Bivalent vaccine => กระตุ้นภูมิได้สูงขึ้นกว่ารุ่นเดิม 6.3 เท่า
Ref: 8+9
https://www.nejm.org/doi/pdf/10.1056/NEJMoa2208343?articleTools=true
-ด้านการกระตุ้นภูมิชนิดหักล้างเชื้อต่อไวรัสOmicron BA.2.75
สายพันธุ์หลักในไทย
ผล => Moderna Bivalent vaccine
สามารถกระตุ้นภูมิให้สูงขึ้นเฉลี่ย 5.7 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนฉีด
Ref 10
https://www.nejm.org/doi/pdf/10.1056/NEJMc2212772?articleTools=true
สรุป ด้านการกระตุ้นภูมิในหลอดทดลอง
รุ่นใหม่ดีกว่าเดิม ชัดเจน โดยที่ผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากเดิม
แต่ด้านการใช้งานจริง จะเหมือนในหลอดทดลอง ???
-ประสิทธิผลในการป้องกันจริง (Ref 3)
จากฐานข้อมูลเดิมที่กล่าวถึงในตอนต้น
ข้อ 3 ใช้ข้อมูลช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.65
เพื่อคำนวณประสิทธิผลของวัคซีนmRNAรุ่นใหม่เทียบกับรุ่นเก่า
พบว่าดีขึ้นเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ
= ประสิทธิผลในการป้องกันป่วยจนต้องมารพ. สามารถลดโอกาส
https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/71/wr/mm715152e1.htm#T3_down
+ ได้ 56% เมื่อเทียบกับคนไม่ฉีด Vaccine (ซึ่งอาจจะเคยติดเชื้อจริงมาก่อน)
+ แต่ได้เพียง 31% เมื่อเทียบกับคนที่ฉีดรุ่นเก่ามา ไม่เกิน 4 เดือน
= ประสิทธิผลในการป้องกันป่วยจนต้องนอนรพ. สามารถลดโอกาส
+ ได้ 57% เมื่อเทียบกับคนไม่ฉีด vaccine
+ แต่ได้เพียง 38% เมื่อเทียบกับคนที่ฉีดรุ่นเก่ามา 2-4 เดือน
สรุป
ประสิทธิภาพวัคซีนmRNAรุ่นใหม่ ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ควรที่จะเป็น
คือ <50% ในทุกมิติเมื่อเทียบคนที่ฉีดรุ่นเก่ามา ไม่เกิน 4 เดือน
จนต้องไปเทียบกับคนที่ไม่ฉีดถึงจะเกิน 50%
เทียบกันแบบ head to head ให้เห็นภาพระหว่าง
ในประชากรที่ป่วยจนต้องมา ER visit และได้ admit 100 คน จะพบว่า
รุ่นใหม่ > รุ่นเก่าไม่เกิน 4 เดือน > รุ่นเก่า 8-10 เดือน > ไม่ฉีด
โอกาสเข้า ICU 13.7 > 14.7 > 17.0 > 18.4 คน / admit 100 คน
โอกาสใสท่อ 6.26 > 7 > 8.5 > 13.9 คน / admit 100 คน
อัตราตาย 2.8 > 3.8 > 2.18 > 3.15 คน/admit 100 คน
สรุป
วัคซีน Bivalent รุ่นใหม่ดีกว่ารุ่นเก่าแน่นอน
ถ้าวางอยู่ตรงหน้าพร้อมกัน เลือกรุ่นใหม่แบบไม่ต้องคิด
และควรจะเป็น US version
เพราะเป็นสายพันธุ์ BA.5 ที่ระบาดในประเทศไทย
แต่ถ้าไม่มีรุ่นใหม่ให้เลือก
ในด้านการป้องกันป่วยหนัก
รุ่นใหม่ดีกว่ากันเพียงเล็กน้อยไม่ได้มากมายขนาดที่คาดหวังไว้
และดูเหมือนจะไม่ใช่คำตอบในการ
เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการหรือ
คงประสิทธิภาพในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตให้ยาวนานขึ้น
ในความคิดเห็นของผู้เขียนก็คือ
- ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำรับวัคซีนมาไม่เกิน 6 เดือน
ถ้าอยากฉีดรุ่นใหม่ก็อาจจะรอก่อนได้
- แต่ถ้าเป็นคนที่คุ้มกันต่ำหรือเป็นกลุ่ม 608
ถ้าไม่รับวัคซีนมาเกิน 4-6 เดือนแล้ว ไม่ควรรอที่จะฉีดรุ่นใหม่
ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนใดๆจากรัฐบาล
เพราะอาจจะป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ก่อน
ในกรณีที่ต้องการฉีดวัคซีนรุ่นใหม่จริงๆ
ก็อาจจะสามารถทำได้โดยการบินไปฉีดที่สิงคโปร์
โดย เคยเห็นมีคนส่ง link
โรงพยาบาลเอกชนในสิงคโปร์คิดเข็มละ 4000 กว่าบาท
Q5: ไม่อยากฉีด Vaccineแล้ว กลัวผลข้างเคียง
เห็นเค้าว่ายิ่งฉีดเยอะยิ่งติดเยอะ มีทางเลือกอื่นอีกไหม?
ณ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า
การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นมาตรการที่
ปลอดภัย ประสิทธิภาพสูงและคุ้มค่าที่สุด
ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต
ฉะนั้นยังยืนยันคำเดิมว่า
ถ้าเป็นไปได้ควรรับวัคซีนให้ครบอย่างน้อย 3-4 เข็ม
สำหรับเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีน
นั้นเจอน้อย แต่ก็เจอจริง ดังที่มีรายงานไว้
Serious harms of the COVID-19 vaccines: a systematic review
Ref 11
ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะ
วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง มักจะเป็นวัคซีนที่กระตุ้นที่เซลล์ได้ดี
ทำให้อาจจะเจอผลข้างเคียงได้บ้าง
อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงส่วนใหญ่นี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวและหายไปได้เอง
สำหรับผลข้างเคียงรุนแรง เช่น
ลิ่มเลือดอุดตัน เส้นประสาทใบหน้าอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ล้วนแล้วแต่เป็นผลข้างเคียงที่เจอน้อยระดับ 1 ในแสน ถึง 1 ในล้าน
ดังนั้น ถ้าชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์กับผลข้างเคียง
ที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน
จากข้อมูลของ ศบค.ในช่วงเดือน 6 ถึงเดือน 9
ที่ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตประจำวันอยู่
พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ร้อยละ 97-99% เป็นกลุ่ม 608
หรือพูดในทางกลับกันก็คือ
กลุ่มคนที่ไม่ใช่ 608 มีจำนวนแค่ 1-3% จากผู้เสียเสียชีวิตทั้งหมด
เมื่อคุณกับอัตราเสียชีวิตที่ 0.3-0.5%
ณ ปัจจุบัน โอกาสที่คนทั่วไปแข็งแรงดี
จะเสียชีวิต อยู่เพียงแค่ 0.3%-0.5% *1-3%
= ประมาณ 3-15 คน ต่อ แสนคน
จะเห็นว่า ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนในคนปกติ
แม้จะลดลงแต่ก็ยังน่าจะมากกว่าโทษ อยู่ดี
แต่ถ้าไม่ต้องการฉีดจริงๆ หรือ
เป็นกลุ่มที่ภูมิต่ำ ฉีดแล้วภูมิไม่ขึ้น เรามีตัวเลือกอะไรบ้าง
5.1 LAAB (Long acting Ab):
Evusheld (Tixagevimab + Cilgavimab)
https://www.thairath.co.th/lifestyle/health-and-beauty/2432305
ลาบ คือ อาหารที่ใช้เนื้อสัตว์สับให้ละเอียด ผสมด้วยเครื่องปรุง
เฮ้ยไม่ใช่คนละอันแล้ว
LAAB คือ ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปต่อโควิดแบบพร้อมใช้
ฉีดเข้าร่างแล้วมีภูมิต้านทานเลย ไม่ต้องรอกระตุ้นให้ภูมิขึ้น
ประกอบด้วย Ab 2 ชนิด คือ Tixagevimab และ Cilgavimab
กลไก คือ
ปกติแล้วเมื่อเราฉีดวัคซีน วัคซีนจะกระตุ้นให้
เราสร้างภูมิต้านทาน (Ab)ต่อหนามของไวรัส
ปัญหาก็คือ คนบางคนกระตุ้นภูมิไม่ขึ้น เช่น
คนสูงอายุ มีโรคประจำตัวหรือกินยากดภูมิ
แม้ว่าจะฉีด 3-4 เข็มแล้วภูมิคุ้มกันก็ยังไม่ขึ้นมากพอ
ที่จะป้องกันไม่ให้ป่วยหนักหรือเสียชีวิต
อีกทั้งภูมิที่เกิดขึ้นนี้จะลดลงเรื่อยๆตามกาลเวลา
ดังนั้นจะดีกว่าไหม
ถ้าเราเพิ่มเฉพาะส่วนที่ลด เติมเฉพาะส่วนที่ขาด คือ
- เติมภูมิ Ab เข้าไปโดยตรง
โดยภูมิต้านทานสำเร็จรูปที่ฉีดให้นั้น
ได้จาก B-cell ของคนที่หายจากโควิด 19
และพัฒนาอยู่ในร่างกายได้นานขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า
แล้วฉีดเข้าไปในร่างกายเลย ทำให้
+ ไม่ต้องลุ้นว่าภูมิไม่ขึ้นเพราะขึ้นแน่นอน
กดตัวเลข เอาเลยว่าอยากได้เท่าไหร่
(โดยเฉพาะกลุ่มภูมิต่ำ กระตุ้นไม่ขึ้น
เช่น ไตวาย รับคีโม โรคเลือด หรือ ทานยากดภูมิ )
+ ภูมิขึ้นเลยทันทีหลังฉีด ไม่ต้องรอ 5-14 วันแบบวัคซีน
+ เติมเฉพาะ Ab ที่ลดลง ไม่ต้องกระตุ้น T-cell เพราะ
กระตุ้นจาก Vaccine เดิม มามากพอแล้ว
+ ผลข้างเคียงน้อย เพราะไม่มีการกระตุ้นอะไรโดยตรงกับร่างกาย
ที่เจอบ่อยสุด คือปวดบริเวณที่ฉีด ประมาณ 2.4 % เท่านั้น
+ ภูมิที่เกิดขึ้นนี้เป็นชนิดออกฤทธิ์ยาว
สามารถป้องกันป่วยหนักได้ 3-6 เดือนใกล้เคียงกับวัคซีน
ประสิทธิภาพป้องกันได้ 77% ใน 3 เดือนแรก
และ 83% ที่ เดือน 6 (สมัยไวรัส Alpha) Ref 12
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2116620
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ
- การฉีดวัคซีนก็คือเหมือนส่งไวรัสปลอม
ให้ร่างกายเราฝึกซ้อมทหาร ก่อนจะเจอเชื้อจริง
แต่ถ้าเกิดทหารเราน้อยหรือทหารเราไม่ฉลาด
เวลาเจอเชื้อจริงก็อาจจะไม่ไหว
- LAAB ก็คือการส่งทหารหน่วยซีลสำเร็จรูปพร้อมยับยั้งเชื้อ
เข้าร่างกายเลย
ซึ่งการรักษาแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ใช้กันมานานแล้ว
แต่จะเป็น Immunoglobulin และใช้กับพิษต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น
เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มแก้พิษสุนัขบ้า
เซรุ่มแก้พิษบาดทะยักก็ใช้ลักษณะแบบนี้ทั้งหมด
หรือใช้ Monoclonal Ab ชนิดออกฤทธิ์สั้นในการรักษา
แต่อย่างไรก็ตาม LAAB ก็มีข้อพึงระวัง
- เนื่องจากการออกฤทธิ์ของภูมิต้านทานLAAB
จะคล้ายกับแม่กุญแจและลูกกุญแจ
คือมีความจำเพาะเจาะจงสูง
เมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์ตรงบริเวณหนาม
ก็เปรียบเสมือนเปลี่ยนแม่กุญแจแล้ว
ทำให้ลูกกุญแจที่เคยไขได้ก็อาจจะไขไม่ได้
ข้อมูลจากวิจัยพบว่า
ประสิทธิภาพในการจับหนามไวรัสลดลงอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะ Tixagevimab
แต่สำหรับตัว Cilgavimab แม้จะดื้อยามากขึ้น
แต่ก็ยังพอใช้ได้อยู่ ทั้งต่อ BA.2.75 และ BA.5 ที่เป็นสายพันธุ์หลักในขณะนี้
ส่งผลให้ ประสิทธิภาพในการป้องกัน ของ LAAB
น่าจะลดลง ไม่ดีและนานเท่าเดิม
Ref : 13
https://www.nejm.org/doi/pdf/10.1056/NEJMc2209952?articleTools=true
- ยังไม่สามารถทดแทน Vaccine ได้
เพราะ LAAB ไม่สามารถกระตุ้น T-cell
ที่เป็น Long term immunity ได้
- แพ้ Ab แบบเฉียบพลัน พบน้อยแต่รุนแรง
ทำให้หลังฉีดต้องสังเกตอาการ 1 ชั่วโมง
เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงที
- ราคาแพง
ดังนั้นกระทรวงจึงได้ออกกฎเกณฑ์การใช้ยา คือ
กลุ่มเสี่ยงป่วยหนัก หรือ กลุ่มภูมิต่ำ หรือ กระตุ้นภูมิไม่ขึ้น
ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป และน้ำหนักเกิน 40 กิโล
ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด นั้นเอง
แต่จนถึงปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายที่
กลุ่มเสี่ยงฉีดไปได้ 2.6 หมื่นคนเอง จากที่จัดเตรียมไว้ 2.5 แสนโดส
5.2 DMHT + ไม่ไปสถานที่เสี่ยง
ข้อนี้เป็นข้อที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว ถ้าปฏิบัติตามได้ถูกต้อง
ทั้ง สวมแมส+ ล้างมือ+ เว้นระยะห่างและไม่ไปสถานที่เสี่ยง
ก็จะช่วยลดโอกาสที่เชื้อโควิดจะเข้าสู่ร่างกาย
เมื่อไม่เจอเชื้อ หรือ เชื้อเข้าสู่ร่างกายไมได้ก็จะไม่ติดโรค
ซึ่งมีงานวิจัยว่า มาตรการส่วนบุคคลเหล่านี้
มีประสิทธิภาพป้องกันติดเชื้อได้ประมาณ 40-50%
ข้อเสียวิธีนี้คือ ถ้าติดเชื้อมา
จะไม่ลดโอกาสในการป่วยหนักหรือเสียชีวิต
5.3 ตรวจ ATK ให้เร็วและรักษาให้ทันเวลา
ปัจจุบันที่อัตราตายจากโควิดลดลงมาก
ส่วนหนึ่งก็เป็นจากข้อนี้นี่แหละครับ
เนื่องจากประโยชน์ของการฉีดวัคซีน ก็คือ
เพิ่มภูมิไปจับกับไวรัส ทำให้ ไวรัสเข้า cell ไม่ได้
ทำให้ปริมาณไวรัสเพิ่มปริมาณได้น้อย
ส่งผลให้เกิดความเสียหายและการอักเสบต่อร่างกายน้อย
ในทางกลับกัน ถ้าภูมิไม่พอ หรือ ไม่มีคุณภาพ
ก็จะกันไวรัสเข้า cell ไม่อยู่ ทำให้ ไวรัสมีปริมาณมาก
เกิดความเสียหายต่อร่างกายได้เยอะ
ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักและเสียชีวิตได้
การลดปริมาณไวรัส จึงเป็นกลไกหลักในการลดความรุนแรงของโรค
นอกจากวัคซีนแล้ว
เรายังมี ยาต้านไวรัส ที่สามารถยับยั้งการเพิ่มปริมาณไวรัสได้
การให้ยาต้านไวรัสให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ต้องให้เร็ว ตั้งแต่เชื้อยังมีปริมาณน้อย
เพราะยาแค่ทำให้แบ่งตัวช้า เพิ่มขึ้นช้า
ไม่ได้ฆ่าไวรัส ไม่ได้ลดปริมาณไวรัสโดยตรง
ปัจจุบัน เรามียาที่มีประสิทธิภาพสูงและยังไม่ดื้อยา
อย่าง Paxlovid + Remdesivir ที่แม้ว่าประสิทธิภาพในการใช้งานจริง
จะไม่เมพเหมือนตอนการวิจัยในช่วงแรกๆ
เพราะเราฉีดวัคซีนได้เยอะแล้ว แต่ยังคงได้ผลดีในกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก
พบว่ายังลดโอกาสในการป่วยหนักในกลุ่มเสี่ยง
ลงได้ถึง 60-86 % แล้วแต่อายุ และลดตายได้ถึง 81-89%
-Paxlovid : Ref 14
-Remdesivir : Ref 15+16
ส่วน Favipiravir กับ Molnupiravir ในยุค Omicron
ไม่ช่วยลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต
น่าจะค่อยๆหายไปจาก Guideline ในที่สุด
- Molnupiravir (Ref 17+18)
- Favipiravir (Ref 19)
จะเห็นได้ว่า ข้อ 5.2 กันติด ไม่กันหนัก กับ 5.3
กันหนักไม่กันติด เป็นส่วนเติมเต็ม เสริมซึ่งกันและกัน
ถ้าสามารถทำคู่กันได้อย่างสม่ำเสมอ
ก็น่าจะมีประสิทธิภาพน้องๆวัคซีนเลยครับ
เช่น หลีกเลี่ยงไม่ไปสถานที่เสี่ยง
แต่ถ้าจำเป็นต้องไปแล้วสวมแมสให้ดี เว้นระยะห่างให้เหมาะสม
พอกลับมาก็หมั่นตรวจ ATK ถ้าป่วยจะได้เริ่มรักษาแต่แรก
โรคจะไม่หนักมาก หรือ ถ้าได้ยาแล้วไม่ดีขึ้น
ถ้าจับ O2 แล้วตกลง อาจจะมีการป่วยหนักลงปอด
ก็รีบมา รพ. เพื่อปรับยา X-ray ปอด ให้ O2
และให้ยาลดการอักเสบของปอดในเวลาที่เหมาะสม
ก็ลดความเสียหายและป่วยหนักลงได้
สรุปแล้ว
Vaccine (+/-LAAB) + DMHT + ATK
+ Observe อาการ + ให้ยาต้านไวรัสในรายที่จำเป็น
+ monitor อาการหลังได้ยา
+ รับและวิเคราะห์ข่าวสาร ไม่หลงเชื่อข่าวปลอม
จะเป็น Bundle ที่สำคัญที่ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย
จนสามารถอยู่ร่วมกับโควิดที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ในที่สุด
บทสรุป
-วัคซีนยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและ
มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต
โดยวัคซีนที่จำเป็นที่สุดก็คือวัคซีน 3 เข็มแรก
(นับเฉพาะวัคซีนที่กระตุ้น T-cell ได้ดี)
หลังจากนั้นก็แล้วแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่
ถ้าเป็นก็ฉีดเพิ่ม
วัคซีนรุ่นใหม่ดีกว่า รุ่นเก่าแต่ไม่มาก
ถ้าฉีดมานานเลย 6 เดือน แล้ว ก็ฉีดรุ่นเก่าไปก่อนก็ได้
ประโยชน์ของวัคซีนเข็มถัดมาลดลงเมื่อเทียบกับแต่ก่อน
ซึ่งเป็นผลจากการที่เราติดเชื้อไปแล้ว
หรือ มียาใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
รักษาได้ชำนาญขึ้น ทำให้โอกาสเสียชีวิตและป่วยหนักจะลดลง
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนก็คงต้องบอกว่า
- ปัจจุบันโลกเป็นของคนฉีดวัคซีน
คนส่วนใหญ่ได้วัคซีน 2-3 เข็มเป็นอย่างน้อย
มีโอกาสน้อยที่จะมีผู้ป่วยหนักมากจนระบบล่มสลายอีก
ทำให้ไม่น่าจะมีการปิดล็อคเมืองอะไรอีกแล้ว
เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจน่ากลัวกว่าเยอะ
รวมถึงมาตรการทางสังคมที่เคยช่วยควบคุมการระบาด
ก็จะได้รับความร่วมมือน้อยลงและจะลดลงเรื่อยๆ
ทำให้ปัจจุบันจะกลับกันคือ
คนติดเชื้อจะกักตัวลดลงและให้ใส่หน้ากากแทน
แต่คนที่ ถูกกักตัวออกจากบ้านไมได้แทน คือ
กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ฉีดวัคซีน รอเวลาที่จะติดเชื้อ
และป่วยหนักหรือเสียชีวิตไปเรื่อยๆ จนกว่าหมดไปจาก
natural selection โดยเชื้อ
และตามมาด้วย herd Immunity แบบ real world
จากสถานการณ์ การยกเลิกมาตรการ Zero Covid ของจีน
เนื่องจากอั้นไม่ไหวติดกันวันละเกิน 10-20 ล้านคน++
จนการแพทย์จีนน่าจะใกล้ล่มสลายไปแล้ว
ดังจะเห็นจาก ประเทศ Italy ตรวจผู้โดยสารที่เดินทางจากจีน
พบว่าติดกันครึ่งลำ โชคดีที่เป็น BA.5
ที่เป็นสายพันธุ์หลักในประเทศอยู่แล้ว (Ref 20)
โดยมีกำหนดเปิดประเทศ 8 ม.ค. เพื่อ..
1
ไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ
และรัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับอะไรเพิ่ม
ทั้งนักท่องเที่ยวจีน + เทศกาลกลับบ้านและฉลองปีใหม่
น่าจะทำให้สถานการณ์หลังปีใหม่
การระบาดน่าจะกลับตัวเป็น ขาขึ้นอีกระลอก
จีน น่าจะเป็นประเทศสุดท้ายในโลก
ที่ยังไม่ผ่านการระบาดใหญ่ และยังไม่มีการใช้ Vaccine mRNA
เรียกว่า โควิด เริ่มที่จีน และอาจจะจบลงที่จีน ถ้าไม่มีการกลายพันธุ์อีก
จากข้อมูลในอดีตที่มีการระบาดใหญ่ ในประเทศต่างๆ
ก็มักจะก่อให้เกิดการกลายพันธุ์มากขึ้น ดังเช่น
Alpha ก็มาจากระบาดครั้งใหญ่ใน UK
Beta ก็มาจากระบาดครั้งใหญ่ใน South Africa
Gamma ก็มาจากระบาดใน Brazil
Delta ตัวร้ายก็มาจากระบาดครั้งใหญ่ใน India
ก็ต้องมารอลุ้นกัน เกิดสายพันธุ์ใหม่อะไรอีกหรือไม่
ถ้าการระบาดระลอกนี้ของจีน
ไม่กลายพันธุ์จนเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรครุนแรงขึ้น
โควิดก็น่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นอย่างเป็นทางการจริงๆ
อย่างที่ใครหลายคนหวังรวมถึงตัวผู้เขียนด้วย
ดังคำพูดของ Dr. Anthony Fauci ที่กล่าวต่อ
ปธน. Donald J. Trump ว่า
“ You don’t make the timeline, the virus makes the timeline. ”
โฆษณา