18 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

เรือหลวง 4 อาณาจักร

จากเหตุการณ์ที่เรือหลวงสุโขทัยได้อับปางลงเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นแล้ว บรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนประชาชนชาวไทยทั้งหลายต้องสูญเสียกำลังพล ที่เป็นกำลังสำคัญในการปกป้องและรักษาอธิปไตยของชาติ ขณะปฏิบัติหน้าที่ไป ทั้งที่เป็นผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายหลายรายด้วยกัน
แล้วยังเป็นอีกครั้งที่ทางภาครัฐและกองทัพไทย ต้องหันกลับมาให้ความสนใจถึงเรื่องของระบบการทำงานที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งต้องได้รับการปรับปรุง แก้ไข หรืออย่างสูงที่สุด คือ การปฏิรูปอย่างจริงจัง แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร จึงนำมาซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก่อนส่งท้ายปี 2565
การนี้จึงถือเป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาถึงความเป็นมา รวมถึงศักยภาพ (พอเป็นสังเขป) ของเรือรบในประเทศไทย ซึ่งในบรรดาเรือรบแต่ละลำ ก็มีเรือรบอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีนามอันสอดคล้องกับ “อาณาจักร” สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ สุโขทัย ศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นราชธานีที่สำคัญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งสิ้น
  • เรือหลวงสุโขทัย
เรือหลวงสุโขทัย มีทั้งหมด 2 ลำ โดยลำแรกเป็นหนึ่งในชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ดำเนินการต่อที่อู่ของบริษัท เซอร์ ดับบลิวจี อาร์มสตอง (Sir W.G. Armstrong) ซึ่งภายหลังคือ บริษัท วิคเกอร์ อาร์มสตรอง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (Armstrong, Whitworth & Co Ltd) ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
ได้รับการวางกระดูกงูเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2471 ทำพิธีปล่อยเรือลงในน้ำ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ขึ้นระวางประจำการในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2473 และได้รับการปลดระวาง เมื่อปี พ.ศ. 2514 เนื่องจากมีการใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนาน
ลักษณะทั่วไปเป็นเรือคอร์เวต (Corvette) หรือเรือรบขนาดเล็ก ประเภทเรือปืนเบา มีความยาวตลอดลำ 53.04 เมตร กว้าง 11.30 เมตร กินน้ำลึก 3.28 เมตร ความเร็วมัธยัสถ์ 10 นอต ความเร็วสูงสุด 12 นอต ระวางขับน้ำปกติ 886 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,000 ตัน ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,000 ไมล์ที่ 10 นอต กำลังพลประจำเรือ 103 นาย พร้อมด้วยระบบปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างพร้อมสรรพ
ชื่อของเรือหลวงสุโขทัยได้มาจากนามของ “กรุงสุโขทัย”
นอกจากบทบาทในทางกองทัพแล้ว เรือหลวงสุโทัย (ลำที่ 1) ยังมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองการปกครอง สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2475
ซึ่งทางคณะราษฎรได้มอบหมายให้หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) เป็นผู้บังคับบัญชาการเรือหลวงสุโขทัย ไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จนิวัตพระนคร พร้อมกับจัดถวายเรือหลวงสุโขทัยเป็นพระราชพาหนะ
หากแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับโดยรถไฟพระที่นั่ง ด้วยเพราะไม่อาจรองรับผู้ที่ตามเสด็จฯ ในการแปรพระราชฐานได้หมดทุกพระองค์ ทุกคน ประกอบกับพระองค์ไม่อาจวางพระราชหฤทัยได้อย่างสนิทใจ รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้รับสนองพระราชประสงค์ โดยในช่วงดึกของวันเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงได้เสด็จฯ จากวังไกลกังวล กลับยังกรุงเทพมหานคร โดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง
เรือหลวงสุโทัย ลำแรก (ภาพ: naval-encyclopedia)
ส่วนเรือหลวงสุโทัย (ลำที่ 2) ดำเนินการต่อที่อู่ของบริษัทต่อเรือ ทาโคมา (Tacoma Boatbuliding Company) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 ขึ้นระวางประจำการ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
ลักษณะทั่วไปเป็นเรือคอร์เวต มีความยาวตลอดลำ 76.8 เมตร กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต ความเร็วสูงสุด 24 นอต ระวางขับน้ำปกติ 840 ตัน ระวางขับน้ำสูงสุด 960 ตัน ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,568 ไมล์ กำลังพลประจำเรือ 87 นาย
พร้อมด้วยระบบตรวจการณ์ ระบบอาวุธ และระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วยอย่างพร้อมสรรพและทันสมัย พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ พิทักษ์รักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งในยามสงบสุขและยามวิกฤติ
เรือหลวงสุโขทัย มีภารกิจหลักเช่นเดียวกันเรือรบอื่น ๆ ในประเทศไทย ในการปราบเรือดำน้ำ ลาดตะเวนตรวจการณ์ คุ้มกันขบวนเรือ ยิงสนับสนุนฝั่งด้วยปืนเรือ และการสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ซึ่งเรือหลวงสุโขทัยได้ทำหน้าที่นั้นมานานกว่า 30 ปีด้วยกัน
เรือหลวงสุโขทัย ลำที่ 2 ในช่วงปี พ.ศ. 2530 (ภาพ: Wikipedia)
กระทั่งในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ขณะกำลังเดินทางไปร่วมงานฉลองครบรอบ 100 ปี นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ศาลหาดทรายรี ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพรนั้น เรือหลวงสุโขทัยได้ประสบเหตุเรือเอียง บริเวณพิกัดแบริ่ง 090 ระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรืออำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เนื่องจากมีคลื่นลมแรง จึงทำให้น้ำทะเลบางส่วนไหลเข้าไปในระบบเครื่องไฟฟ้าผ่านท่อไอเสียข้างเรือ ทำให้เครื่องไฟฟ้าดับ และเครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุให้เรือไม่สามารถควบคุมได้ และน้ำเข้าภายในตัวเรืออย่างรวดเร็ว เรือจึงเกิดการเอียงและอับปางในเวลาต่อมา
เรือหลวงสุโขทัย ลำที่ 2 หลังจากที่ได้เอียงและอับปางลงแล้ว (ภาพ: กรุงเทพธุรกิจ)
  • เรือหลวงศรีอยุธยา
เรือหลวงศรีอยุธยา ดำเนินการต่อที่อู่ของบริษัทต่อเรือคาวาซากิ (Kawasaki Heavy Industries Ship & Offshore Structure Company) ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการวางกระดูกงูเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2479 ทำพิธีปล่อยเรือลงในน้ำ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 และขึ้นระวางประจำการ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481
ลักษณะทั่วไปเป็นเรือรบประเภทเรือปืนยามฝั่ง มีความยาวตลอดลำ 77.01 เมตร
กว้าง 13.41 เมตร กินน้ำลึก 4.2 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,350 ตัน ความเร็วมัธยัสถ์ 12.20 นอต ความเร็วสูงสุด 15.80 นอต ระยะปฏิบัติการ 11,100 ไมล์ที่ 12.20 นอต
กำลังพลประจำเรือ 234 นาย พร้อมด้วยระบบปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างพร้อมสรรพ
ชื่อของเรือหลวงศรีอยุธยาได้มาจากนามของ “กรุงศรีอยุธยา”
สำหรับเรือหลวงศรีอยุธยา นอกจากจะเป็น “เรือพี่เรือน้อง” กับเรือหลวงธนบุรี ที่ได้ไปเปลี่ยนเวรรักษาการณ์ ณ เกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2484 และเกิดยุทธนาวีกับประเทศฝรั่งเศส หรือที่รู้จักกันให้เหตุการณ์ของ “ยุทธนาวีเกาะช้าง” เมื่อเรือหลวงธนบุรีจมไปในเช้าวันรุ่งขึ้นแล้วนั้น
เรือหลวงศรีอยุธยา (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)
ยังได้เคยถวายงานเป็นเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยพระราชชนนี พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา ในคราวเสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 หลังจากนั้นก็ยังได้ถวายงานเป็นเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยพระคู่หมั้น ในคราวเสด็จนิวัตพระนคร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2493
การเสด็จนิวัตพระนครของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยพระราชชนนี พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 (ภาพ: คลังภาพสำนักพระราชวัง)
การเสด็จนิวัตพระนครของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยพระคู่หมั้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2493 (ภาพ: Pinterest)
ด้วยความผูกพันมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า” จึงได้ทรงต่อเรือหลวงศรีอยุธยาจำลอง ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง เมื่อปี พ.ศ. 2488
ต่อมาเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานไปประมูลเพื่อการกุศลหาทุนบำรุงโรงพยาบาลปราบวัณโรค พร้อมกับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เรือจำลองลำนั้น ก็มีผู้ประมูลไปในราคาที่สูง โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้มีพระราชหัตถเลขา (จดหมาย) ถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาว่า
“..เล็กได้ทำเรือบินไม้และเรือรบศรีอยุธยา ที่มีรายละเอียดมากมาย ในงานราตรีมีการประมูลเรือบินได้ 10,000 บาท เรือ 20,000 บาท และยังมีรูปถ่ายอีกสองรูป ซึ่งประมูลได้ รูปละ 3,000 บาท...”
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขณะกำลังต่อเรือหลวงศรีอยุธยาจำลอง เมื่อปี พ.ศ. 2488 (ภาพ: คลังภาพสำนักพระราชวัง)
นอกจากบทบาทในทางกองทัพแล้ว เรือหลวงศรีอยุธยา ยังมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองการปกครอง สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน โดยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 รัฐบาลในขณะนั้น ได้กำหนดให้เป็นวันประกอบพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ “แมนฮัตตัน” ที่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้รัฐบาลไทยตามโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ณ ท่าราชวรดิฐ
ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีดังกล่าว ปรากฏว่าภายหลังพิธีรับมอบเสร็จสิ้น ได้ถูกนายทหารเรือกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะกู้ชาติ” บุกเข้าประชิดตัว แล้วบังคับให้จอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา และคุมขังไว้ ณ ที่นั้น
ระหว่างนั้นทางรัฐบาลได้มีการเจรจาขอให้ทางคณะผู้ก่อการปล่อยตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามโดยเร็วที่สุด แต่ทางคณะผู้ก่อการยืนยันว่าจะทำการครั้งนี้ต่อไป พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะไม่ปฏิบัติการใด ๆ นอกจากจะถูกโจมตีก่อน
จึงได้เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล โดยกองทัพบกภายใต้การนำของพลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กองทัพอากาศภายใต้การนำของพลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และตำรวจภายใต้การนำของพลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ กับฝ่ายคณะกู้ชาติ การสู้รบแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง จนออกไปในแนวทาง “สงครามกลางเมือง” ว่าอย่างนั้นก็ได้ ในช่วงวันที่ 30 มิถุนายน 2494 ตั้งแต่เวลา 04.30 น.
จนในที่สุด เวลา 15.00 น. เครื่องบินของกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิดลงยังเรือหลวงศรีอยุธยา จนกระทั่งไฟลุกไหม้และอับปางลง ซึ่งได้รับการเปิดเผยภายหลังจากนาวาอากาศตรี พร่างเพชร์ บุญยพันธ์ นักบิน AT-6 ว่า ตนไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้เรือหลวงศรีอยุธยาล่ม แต่เป็นเพราะระเบิดเสื่อม ซ้ำแล้วยังได้ทะลวงจากดาดฟ้าเรือลงไประเบิดข้างล่าง แถมเจอกองกระสุนในเรือเข้าอีก จึงเกิดการระเบิดกันไปใหญ่ ทำให้เรือทะลุและจมลงไป
ส่วนจอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับการช่วยเหลือจากทหารเรือให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย ภายจากเหตุการณ์นี้ ทำให้กองทัพเรือได้รับการพิจารณาให้มีการลดกำลังกองทัพ ในลักษณะลดทอนแสนยานุภาพ มากกว่าจะเป็นการปรับปรุงเพื่อให้กองทัพเรือมีสมรรถภาพดีขึ้น พร้อมกับได้มีประกาศและคำสั่งให้นายทหารเรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการกบฏครั้งนี้พักราชการ และปลดออกจากราชการหลายนายด้วยกัน
เรือหลวงศรีอยุธยาขณะจมลงหลังถูกทิ้งระเบิดใส่ในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)
ต่อมาซากเรือหลวงศรีอยุธยาได้ถูกกู้ขึ้นมาในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2502
  • เรือหลวงธนบุรี
เรือหลวงธนบุรี ดำเนินการต่อที่อู่ของบริษัทต่อเรือคาวาซากิ (Kawasaki Heavy Industries Ship & Offshore Structure Company) ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2479 ทำพิธีปล่อยเรือลงในน้ำ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 และขึ้นระวางประจำการ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2481
ลักษณะทั่วไปเป็นเรือรบประเภทเรือปืนยามฝั่ง มีความยาวตลอดลำ 77.01 เมตร
กว้าง 14.43 เมตร กินน้ำลึก 4.19 เมตร ระวางขับน้ำปกติ 2,301 ตัน สูงสุด 2,265 ตัน ความเร็วมัธยัสถ์ 12.20 นอต ความเร็วสูงสุด 15.80 นอต ระยะปฏิบัติการ 11,100 ไมล์ที่ 12.20 นอต กำลังพลประจำเรือ 234 นาย พร้อมด้วยระบบปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างพร้อมสรรพ
ชื่อของเรือหลวงธนบุรีได้มาจากนามของ “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร”
เรืองหลวงธนบุรีมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการปฏิบัติการทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุทธนาวีเกาะช้าง ที่สืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยและฝรั่งเศส ช่วงปี พ.ศ. 2483 – 2484 ซึ่งยุทธนาวีดังกล่าวได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2484 โดยกำลังรบทางเรือของฝ่ายไทยที่รักษาการณ์อยู่ในบริเวณนั้น ประกอบด้วย เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงชลบุรี และเรือหลวงสงขลา ได้เข้าต่อสู้ขัดขวางกองเรือฝรั่งเศส ซึ่งมีกำลังทางเรือถึง 7 ลำด้วยกัน จนสามารถขับไล่ข้าศึกได้สำเร็จ แต่เรือของฝ่ายไทยได้รับความเสียหายอย่างมาก
เรือหลวงธนบุรี (ภาพ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์)
ในเวลาต่อมา เรือหลวงช้าง จึงได้ทำการลากจูงกู้เรือหลวงธนบุรีให้มาเกยตื้นในเย็นวันเดียวกันที่แหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด หลังจากนั้น กองทัพเรือได้ลากจูงเรือมาทำการซ่อมใหญ่ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2484 แต่มีความเสียหายอย่างหนักเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ จึงได้ทำการปลดระวางประจำการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2502
ป้อมปืนและหอบังคับการเรือหลวงธนบุรี ณ โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ (ภาพ: Wikipedia)
ทางราชการจึงได้นำส่วนของป้อมปืนและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนนายเรือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และกำหนดให้ทุกวันที่ 17 มกราคมของทุกปี เป็น “วันสดุดีวีรชนกองทัพเรือ”
  • เรือหลวงรัตนโกสินทร์
เรือหลวงรัตนโกสินทร์ มีทั้งหมด 2 ลำ โดยลำแรกเป็นอีกหนึ่งในเรือชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ดำเนินการต่อที่อู่ของบริษัท วิคเกอร์ อาร์มสตรอง เอ็นจิเนียริ่ง (Armstrong, Whitworth & Co Ltd) ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
ได้รับการวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2467 ทำพิธีปล่อยเรือลงในน้ำ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2468 ขึ้นระวางประจำการ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2468 และได้รับการปลดระวาง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2511 ช่วงสุดท้ายของเรือ คาดว่าได้มีการแยกเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ขายเป็นเศษเหล็ก
ลักษณะทั่วไปเป็นเรือคอร์เวต (Corvette) หรือเรือรบขนาดเล็ก ประเภทเรือปืนเบา มีความยาวตลอดลำ 53.04 เมตร กว้าง 11.30 เมตร กินน้ำลึก 3.28 เมตร ความเร็วมัธยัสถ์ 10 นอต ความเร็วสูงสุด 12 นอต ระบบขับน้ำปกติ 886 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,000 ตัน ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,000 ไมล์ที่ 10 นอต กำลังพลประจำเรือ 103 นาย พร้อมด้วยระบบปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างพร้อมสรรพ
ชื่อของเรือหลวงรัตนโกสินทร์ได้มาจากนามของ “กรุงรัตนโกสินทร์”
เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ลำแรก (ภาพ: TYNE BUILT SHIPS)
ส่วนเรือหลวงรัตนโกสินทร์ (ลำที่ 2) ดำเนินการต่อที่อู่ของบริษัทต่อเรือ ทาโคมา (Tacoma Boatbuliding Company) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ทำพิธีปล่อยเรือลงในน้ำ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ขึ้นระวางประจำการ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2529 และยังคงประจำการอยู่ในราชนาวีไทยเป็นปกติ
ลักษณะทั่วไปเป็นเรือคอร์เวต มีความยาวตลอดลำ 76.8 เมตร กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต ความเร็วสูงสุด 24 นอต ระวางขับน้ำปกติ 840 ตัน ระวางขับน้ำสูงสุด 960 ตัน ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,568 ไมล์ กำลังพลประจำเรือ 87 นาย พร้อมด้วยระบบปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างพร้อมสรรพ
เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ลำที่ 2 (ภาพ: Facebook ของ Thai Navy warships เรือรบราชนาวีไทย)
จะเห็นได้ว่า เรือหลวงทั้งสี่ที่ตั้งนามตามราชธานีสำคัญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น มีประวัติความเป็นมา รวมถึงศักยภาพที่แตกต่างกันไป แต่ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การปกป้อง รักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จึงเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมีการใช้เรือรบเหล่านี้มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ย่อมต้องมีความเสื่อมโทรม ชำรุดเสียหายในแต่ละจุดไป จึงต้องมีการซ่อมแซมเพื่อ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดจนกว่าจะปลดประจำการ
หรือไม่ถ้ามันเกินกว่าที่จะบำรุงต่อไปได้แล้ว ก็ควรที่จะมีการเปลี่ยนใหม่เพื่อให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะทางสังคมในแต่ละช่วงด้วย เพราะการซื้อหรือสร้างขึ้นมาแล้วไม่ได้ใช้งาน หรือใช้ไม่ได้จะด้วยเหตุอันใดก็ตามแต่ มันถือเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ “ที่สุด”
นอกจากนั้น การที่ผู้คนบางกลุ่มคิดเห็นอ่านไปว่า การที่เรือแต่ละลำล่มไปจะนำมาซึ่งเหตุเภทภัยต่าง ๆ ถือเป็นชุดความคิดที่ “ไร้เหตุผล” อย่างมาก แทนที่จะมองว่า การที่เรือล่มนั้น มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดขึ้น เช่น สภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน สภาพของแม่น้ำลำคลองที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง สภาพของเรือที่ไม่พร้อมใช้งาน ชำรุดทรุดโทรม หรือมีอายุการใช้งานยาวนาน
รวมถึงความประมาทและสะเพร่าของคน จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาให้จงหนัก หาไม่แล้ว “ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย” เอาได้ หากยังปล่อยปละละเลยอยู่เช่นนี้เรื่อยไป คงไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือหลวงสุโขทัยในช่วงเวลาที่ผ่าน ซึ่งได้บรรจบครบมาขวบปีแล้ว
 
ดังนั้นขอชนนิกรทั้งหลายพึงระลึกรู้จักรักษาจิตใจตนให้อยู่บน “ความไม่ประมาท” อยู่เสมอในทุกเมื่อเชื่อวันที่ยังมีลมหายใจอยู่ ดังพุทธภาษิตที่ว่า
อปฺปมาทรตา โหถ สจิตฺตมนุกฺขถ ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร.
ท่านทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท คอยรักษาจิตของตน,
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างที่ตกหล่ม ถอนตนขึ้นฉะนั้น
ด้วยประการฉะนี้ฯ
อ้างอิง:
  • “..เล็กได้ทำเรือบินไม้และเรือรบศรีอยุธยา ที่มีรายละเอียดมากมาย ในงานราตรีมีการประมูลเรือบินได้ 10,000 บาท เรือ 20,000 บาท...” โดย Facebook ของ PT Station (https://www.facebook.com/ptstation/photos/1187878541267726/)
  • 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ทัพเรือไทยปะทะทัพเรือฝรั่งเศสใน “ยุทธนาวีเกาะช้าง” โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_5721)
  • กบฏแมนฮัตตัน โดย ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=กบฎแมนฮัตตัน)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดี
#เรือหลวงสุโขทัย #เรือหลวงศรีอยุธยา #เรือหลวงธนบุรี #เรือหลวงรัตนโกสินทร์
โฆษณา