13 ม.ค. 2023 เวลา 14:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ตำนานเอื้องดาวหาง กล้วยไม้ดอกขาว เดือยยาวไม่ไหว

ในปี ค.ศ. 1862 ชาร์ลส์ ดาร์วิน เจ้าพ่อทฤษฎีวิวัฒนาการชาวอังกฤษได้รับของขวัญเป็นกล้วยไม้ดอกสีขาวไม่ระบุสายพันธุ์ จุดที่น่าพิศวงของดอกไม้ชนิดนี้อยู่ตรงเดือยยาวสีเขียวที่ด้านหลังดอก
เดือย (spur) เป็นส่วนขยายของดอกไม้ที่ตรงปลายจะมีน้ำหวานอยู่ สาเหตุที่พืชยอมลงทุนสร้างน้ำหวานก็เพื่อเป็นอาหารล่อใจให้แมลงเข้ามาช่วยขนเกสร นั่นแปลว่าเดือยที่ยืดยาวไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาแบบขำๆ แต่ถูกธรรมชาติคัดเลือกไว้ให้เป็นด่านคัดกรองเพื่อให้รางวัลสำหรับแมลงที่คู่ควรเท่านั้น โดยในกรณีนี้เดือยของกล้วยไม้นั้นยาวถึง 30 เซนติเมตร!
แม้ผู้ส่งจะไม่ได้เขียนชื่อของกล้วยไม้เอาไว้ แต่เนื้อหาในจดหมายขอบคุณของดาร์วินแสดงให้เห็นว่าเขารู้จักกล้วยไม้ชนิดนี้อยู่ก่อนแล้ว ชื่อของมันคือเอื้องดางหาง (Darwin's star orchid: Angraecum sesquipedale) กล้วยไม้ที่ขึ้นตามต้นไม้และโขดหินของเกาะมาดากัสการ์ ณ เวลานั้น การขนส่งมันจากแอฟริกาให้รอดกลับมาถึงเกาะอังกฤษเป็นไปด้วยความยากลำบาก ของขวัญชิ้นนี้จึงมีมูลค่าสูงทีเดียว
"คุณพระช่วย! แมลงหน้าไหนจะมาดูดได้"
ชาร์ลส์ ดาร์วินกล่าวถึงเอื้องดาวหางในจดหมาย
หลังจากได้สังเกตตัวดอกอย่างถี่ถ้วนและทดลองเอาแท่งแหย่เข้าไปในเดือยจนพบว่ามีละอองเกสรติดออกมา ดาร์วินก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่าในป่ามาดากัสการ์นั้นมีมอธตัวใหญ่อยู่ชนิดหนึ่ง มอธตัวนี้มีท่องวง (proboscis) ยาวพอจะดูดเอาน้ำหวานไป และส่วนต้นของท่อหนาพอที่จะให้กลุ่มเรณู (pollinia) หรือก้อนละอองเกสรติดไปด้วยได้
ดาร์วินเชื่อว่าความยาวของเดือยและท่องวงของมอธสายพันธุ์นั้นวัฒนาการร่วมกัน (coevolution) โดยดอกไม้ที่เดือยยาวที่สุดเป็นกลุ่มที่ถูกถ่ายละอองเกสรได้ดี ในขณะที่มอธที่ปากยาวก็จะยิ่งดูดน้ำหวานได้เยอะเพราะปากมันยาวไปถึงปลายเดือย จนเดือยของกล้วยไม้และท่องวงของมอธยาวขึ้นมาเรื่อยๆ เกิดเป็นกล้วยไม้เดือยยาวพิเศษที่ต้องการใช้บริการขนเกสรจากมอธปากยาวพิเศษ
สุดท้ายก็มีคนพบมอธในคำทำนายอยู่จริงๆ ในปี 1903 ราวๆ 20 ปีหลังดาร์วินเสียชีวิต การค้นพบครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการท่องป่ามาดากัสการ์แต่อย่างใด เป็นเพียงผลการศึกษาจำแนกตัวอย่างเก่าในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ผู้ศึกษาได้สังเกตว่ามีตัวอย่างมอธปากยาวจากมาดากัสการ์ที่หน้าตาราวกับมอธ Xanthopan morgani บนแผ่นดินใหญ่แอฟริกาแต่มีสีท้องและเส้นปีกต่างไปเล็กน้อย มอธตัวนี้ถูกตั้งชื่อว่า Xanthopan morgani praedicta ซึ่งส่วนหลังสุดสื่อความหมายว่าเป็นสายพันธุ์มอธท่องวงยาวที่เคยถูกทำนายไว้แล้ว
กว่าจะมีคนบุกผ่าฝ่าดงไปพิสูจน์สมมติฐานของดาร์วินให้เห็นกับตาจริงๆ ก็ปาเข้าไปตอนปี 1992 ที่มีคนถ่ายภาพยืนยันว่ามอธตัวนี้เข้าไปดูดน้ำหวานจากดอกไม้จริงๆ และได้เห็นกลุ่มเรณูติดออกมาหลังจากที่มอธดึงท่องวงออก
วิดิโอมอธดูดน้ำหวานจากเอื้องดาวหาง
อนึ่ง อีกสมมติฐานที่สามารถอธิบายเดือยยาวได้คือการเปลี่ยนตัวแมลงที่ใช้ถ่ายละอองเกสร เช่น ในอดีตกล้วยไม้อาจจะใช้บริการแมลงที่มีท่องวงสั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะมีแมลงท่องวงยาวที่ให้บริการขนเกสรได้ดีกว่า เดือยกล้วยไม้เลยยาวขึ้น ในกรณีนี้ความยาวปากของแมลงจะคงที่และมีเพียงความยาวเดือยกล้วยไม้ที่เปลี่ยนไป
อ้างอิง
Arditti, J., Elliott, J., Kitching, I. J., & Wasserthal, L. T. (2012). ‘Good Heavens what insect can suck it’–Charles Darwin, Angraecum sesquipedale and Xanthopan morganii praedicta. Botanical Journal of the Linnean Society, 169(3), 403-432.
Netz, C., & Renner, S. S. (2017). Long-spurred Angraecum orchids and long-tongued sphingid moths on Madagascar: a time frame for Darwin’s predicted Xanthopan/Angraecum coevolution. Biological Journal of the Linnean Society, 122(2), 469-478.
Whittall, J. B., & Hodges, S. A. (2007). Pollinator shifts drive increasingly long nectar spurs in columbine flowers. Nature, 447(7145), 706-709.
โฆษณา