5 ม.ค. 2023 เวลา 02:26 • ความคิดเห็น
ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งโดยมิชอบแพทยสภา กรณีเวลาตายขัดแย้งกัน
เรื่องนี้มาจากคำพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุด ที่ อร.57/2565 ซึ่งเป็น "คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
หน่วยงานทางปกครอง คือ แพทยสภา, เจ้าหน้าที่รัฐ คือ คณะกรรมการแพทยสภา
เรื่องไปศาลปกครองก็เพราะว่า ญาติผู้ป่วยเห็นว่า คำสั่งแพทยสภาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจาก ญาติผู้ป่วยฟ้องไปยังแพทยสภา ว่าแพทย์ไม่รักษามาตรฐานในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพราะรักษาลูกแล้วลูกเค้าตาย แต่แพทยสภาออกคำสั่งมาว่า ไม่มีมูลให้ยกฟ้อง แล้วแจ้งญาติผู้ตาย คำสั่งยกฟ้องก็เลยเป็นที่มาของเรื่องที่ไปฟ้องศาลปกครอง
เรื่องราวเกิดขึ้น วันที่ 1 ตุลาคม 2553 นั่นคือเมื่อกว่า 12 ปีที่แล้ว นาย ช. อายุ 37 ปี ลูกชายของนาง ส. เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยอาการปวดท้อง (ไปคนเดียว นาง ส. ไม่ได้ไปด้วย) ก็รักษากันไป มีการสั่งยาแก้อาเจียน (plasil) แบบฉีดเข้าเส้น เพราะแพทย์อ้างว่า ผู้ป่วยกินไม่ได้ หลังฉีดยาก็มีการสังเกตอาการอยู่ประมาณ 30 นาที เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้ยากินกลับบ้าน
ในขณะที่รอรับยากลับบ้าน (หรือรอจ่ายเงินไม่รู้) นาย ช. ก็มีอาการเขียวหมดสติทันที ต้องมีการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนนี้นั่นเอง และมีแพทย์อีกหนึ่งคนถูกตามมาช่วยด้วย แต่สุดท้าย นาย ช. ก็ไม่รอด แพทย์สรุปสาเหตุตายว่า "ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว"
🔖ถึงตรงนี้ขอคั่นรายการซักหน่อย-----------------
คำว่า "ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว" คืออะไร ประชาชนทั่วไปฟังแล้วคงเข้าใจว่าเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดละมั๊ง ก็รับได้ เพราะเป็นคำที่คุ้นชินกันมานมนานผ่านสื่อทีวีหรือสังคมออนไลน์ต่างๆ แต่ในทางการแพทย์คำนี้แปลว่า cardiovascular failure ซึ่งเป็นภาวะสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของมนุษย์ทุกคน ระบบการทำงานของหัวใจและการหายใจก็จะหยุดไป ไม่ว่าเหตุจะมาจากการบาดเจ็บ โรคประจำตัว สารพิษ เป็นต้น ไม่ควรเขียนลงในหนังสือรับรองการตาย
ดังนั้น หากเขียนคำนี้ มันจึงหมายถึง หมอนึกอะไรไม่ออก ตายจากอะไรก็ไม่รู้ แบบประเภทไม่อยากโทษใครอ่ะ
โดยหลักการลงสาเหตุการตายรายนี้ ควรจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ตายจากยาที่ฉีดหรือเกี่ยวเนื่องจากการรักษา (ต้องดูข้อเท็จจริงการรักษาทั้งหมด) โดยเคยมีแนวคำพิพากษาเรื่องตายเพราะแพ้ยามาแล้ว หากต้องการพิสูจน์ให้แน่ชัด ก็ควรส่งผ่าชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเข้าข่ายกรณี "ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ" ได้ (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา มาตรา 148(5)) ----------------------------🔖
มาต่อกันที่คดีความ
https://media.istockphoto.com
หลังเกิดเรื่อง ญาติผู้ตายร้องไปยังแพทยสภาพเมื่อ 13 มกราคม 2554 คณะกรรมการแพทยสภาให้ คณะอนุกรรมการจริยธรรมแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน (เป็นขั้นตอนปกติ) เพื่อนำมาเสนอคณะกรรมการแพทยสภาอีกที หากคดีมีมูลก็ให้ส่งคณะกรรมการอีกชุดพิจารณาตัดสินต่อ หากไม่มีมูลก็ให้ยุติเรื่องและยกข้อกล่าวหาได้ ทำนองนี้ ในคดีนี้ก็แสวงหาข้อเท็จจริงกันอยู่ 2 ปี โดยออกหนังสือแจ้งผลการพิจารณา ว่า "ไม่มีมูล ให้ยกข้อกล่าวหาแพทย์ที่รักษา" เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556
ญาตินำคำสั่งนั้นไปฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่ง เมื่อ มกราคม 2557 จนศาลตัดสินปี 2560 (ใช้เวลา 4 ปี) ว่า "ยกฟ้อง"
ญาติผู้ตายอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด ผลการพิจารณาให้กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นตัน เป็นว่า คำสั่งแพทยสภาพดังกล่าว เป็นคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ 5 เมษายน 2565 (รวมระยะเวลาในศาลปกครองสูงสุดประมาณ 5 ปี)
รวมระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อเพิกถอนคำสั่งฉบับเดียวถึง 13 ปี !!!
จะเห็นว่า กระบวนการพิจารณาช่างยาวนานมาก ตั้งแต่แพทยสภาพิจารณาจนถึงศาลปกครองสูงสุด เทียบกับศาลยุติธรรม ก็เหมือนสู้กัน 3 ศาล แต่ไม่ได้เป็นการตัดสินลงโทษ เพียงแค่เพิกถอนคำสั่ง เท่านั้นเอง ต่อไปหากญาติจะสู้ต่อก็ต้องรอแพทยสภา (คณะอนุกรรมการไต่สวน จนคณะกรรมการชุดใหญ่) ตัดสินอีกที ก็อีกไม่รู้นานเท่าไร ถึงตอนนั้น อาจมีการฟ้องศาลปกครองอีกก็เป็นได้
📑เนื้อหาสาระของประเด็นแห่งคดี
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาข้อเท็จจริงจากคำให้การของแพทย์ที่รักษากับที่ปรากฏในเวชระเบียนไม่ตรงกันในเรื่องเวลาที่เสียชีวิต ซึ่งห่างกันเกือบ 1 ชั่วโมง เนื่องจากในเวชระเบียนบันทึกเวลาสิ้นสุดการรักษาสุดท้าย คือ 20.50 น. ซึ่งก็ต้องถือว่าผู้ป่วยตายแล้วตอนนั้น (มรณบัตรก็ระบุเวลานี้)
แต่แพทย์ที่รักษาเบิกความว่า ตนรักษาจนกระทั่ง 21.36 น. ผู้ป่วยจึงเสียชีวิต (แพทยสภาไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้) ประกอบกับไม่มีพยานฝ่ายโรงพยาบาลหรือแพทย์มาเบิกความสนับสนุนเรื่องระยะเวลาหลังฉีดยาว่ามีการสังเกตอาการเพียงใด เป็นไปตามที่แพทย์กล่าวอ้างหรือไม่
สรุปก็คือ ในเมื่อเวลาที่เบิกความกับในเอกสารไม่ตรงกันมาก แล้วข้อความอื่นๆในเวชระเบียน หรือที่แพทย์อ้างจะน่าเชื่อถือหรือไม่ อาจไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานหรือเปล่า แต่เบิกความให้เหมือนเป็นไปตามมาตรฐาน (เพราะในทางการพิจารณาของศาล ใช้หลัก exclusive knowledge คือ เรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของแพทย์ฝ่ายเดียว ภาระการพิสูจน์จึงควรตกอยู่แก่แพทย์ซึ่งใช้มากในกฎหมายต่างประเทศ ในประเทศไทยได้นำ หลักการนี้มาบัญญัติไว้ใน มาตรา 29 แห่ง พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551)
จึงเป็นพิรุธน่าสงสัย ศาลเห็นว่าคดีน่าจะมีมูล จึงควรส่งพิจารณาต่อ ไม่ใช่ยกข้อกล่าวหา
💚 สรุปของสรุป ก็คือ ถ้าอ่านผิวเผิน เข้าใจว่า ประเด็นหลักที่เป็นหัวใจ คือ เวลาตายที่ขัดแย้งกัน แต่อ่านหลายๆรอบแล้ว ก็เดาความคิดของศาลได้ว่า เวลานั้นเป็นสาระสำคัญเบื้องต้นแค่นั้นเอง สาระสำคัญจริงๆ คือ ความน่าเชื่อถือของ ข้อเท็จจริงที่แพทย์เบิกความต่างหาก ตามหลัก exclusive knowledge ที่กล่าวแล้ว ซึ่งแพทย์ต้องมีภาระพิสูจน์ (burden of proof) ให้ศาลเห็นว่า น่าเชื่อถือ มีมาตรฐานจริง เมื่อพยานหลักฐานฝ่ายแพทย์เองขัดแย้งกันแบบนี้ส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนที่เหลือก็หมดความน่าเชื่อ หรือเกิดความสงสัยได้ ประมาณนี้
🍳ผลกระทบจากคดีนี้
1. กับญาติเอง ก็ได้รอลุ้นแพทยสภาต่อว่า หลังพิจารณากันจนสุดท้ายแล้วจะตัดสินว่าไง ผิดมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ก็คงอีกนาน
ในข้อเท็จจริงของคดี การฉีดยา plasil ไม่ผิดมาตรฐาน เพราะเป็นการให้ยาตามอาการ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัยได้ แต่ที่ต้องให้ได้ข้อเท็จจริงกระจ่างกว่านี้ คือ การวินิจฉัยโรคตอนแรกนั้นเหมาะสมมีมาตรฐานเพียงใด แพทยสภาและศาลก็ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้เป็นสำคัญ
2. กับโรงพยาบาลและแพทย์
2.1 ก็ต้องระวังในเรื่องการบันทึกเวลาในเวชระเบียนกับการเบิกความ ต้องสอดคล้องกัน ในเวชระเบียนหากมีหลายที่ก็ต้องสอดคล้องกัน ระบบบันทึกเวลาต้องมีมาตรฐาน
เวลาแพทย์ไปเบิกความ หาพยานบุคคลไปด้วย ที่ช่วยสนับสนุนตน เพราะการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะที่เค้าไปคนเดียว คนอื่นไม่รู้เห็น ในทางอาญาและทางแพ่ง ฝ่ายแพทย์ต้องพิสูจน์ว่าตนไม่ประมาท
2.2 แนวพิจารณาของแพทยสภาเกี่ยวกับการรักษาโรค แพทย์ต้องเลือกวิธีการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน ยาที่เลือกใช้ควรเลือกที่มีในบัญชียาหลักไว้ก่อน ให้กินก่อนแทนที่จะฉีดก่อน เพราะผลข้างเคียงยาฉีดจะเยอะกว่า (แต่ก็แล้วแต่ความเร่งด่วนและโรคด้วย)
ซึ่งประเด็นนี้ศาลปกครองไม่ได้เข้าไปพิจาณาละเอียด เนื่องจากเป็นเนื้อหาสาระทางวิชาชีพโดยเฉพาะ แต่ก็คงต้องมีบ้างเพื่อประกอบกับประเด็นเรื่องคำสั่งแพทยสภา
3. กับแพทยสภา
ก็เป็นการเพิ่มความตระหนักในการพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหลายให้ครบถ้วน ทั้งฝ่ายแพทย์ โรงพยาบาล และผู้ร้อง (คดีนี้ญาติผู้ตายไม่ได้ถูกเรียกไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากข้อความในเอกสารที่ทำไปตั้งแต่แรก) ก่อนออกคำสั่งทางปกครอง
ผู้เสียหายอาจนำคำพิพากษาคดีนี้ ไปพิจารณาถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการแพทยสภาในการออกคำสั่งได้ ว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อหรือไม่
4. กับประชาชน
ไม่รู้ได้ประโยชน์แค่ไหน เพราะคดีปกครองจบก็ 13 ปี แต่เรื่องก็ยังไม่จบ เพราะแค่เป็นจุดเริ่มให้แพทยสภากลับไปพิจารณาใหม่ ผลสุดท้ายเป็นยังไงก็ยังไม่ทราบ ถ้ามีการฟ้องศาลยุติธรรมเรื่องแพทย์ประมาทอีก สู้กันอีก 3 ศาลก็คงอีกยาวนานนนน
5. กับคดีปกครอง
คดีนี้ดูเผินๆเหมือนศาลเข้าไปพิจารณถึงเนื้อหาสาระของวิชาชีพ (ปกติศาลไม่ทำ) เนื่องจากศาลต้องพิจารณาว่า คำสั่งแพทยสภานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเมื่อไล่ดูกระบวนการออกคำสั่งแล้ว ไปสะดุดที่ ขั้นตอนการแสวงหาพยานหลักฐานของคณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดที่สอง ว่าถูกต้องหรือไม่ ศาลจึงได้ลงรายละเอียดถึงขั้นเนื้อหาทางวิชาการในการพิจารณาว่า แพทย์รักษาตามมาตรฐานหรือไม่
แต่ก็ไม่ได้ลงลึกมากถึงวิธีการรักษาหรือยาที่ใช้ เพียงแต่ดูเรื่องเวลาที่ขัดแย้งกัน เลยเป็นเหตุให้สงสัยเรื่องมาตรฐานที่ฝ่ายแพทย์อ้างด้วย โดยรวมแล้วจึงเป็นการแตะแค่ผิวๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการวินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่ง ไม่ได้ตัดสินในเนื้อหาทางด้านวิชาชีพ
ในประการต่อมา เป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า แม้ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาถูกต้องครบถ้วน แต่การวินิจฉัยของคณะกรรมการไม่เป็นธรรม ก็ต้องถือว่า เป็นคำสั่งโดยมิชอบ ศาลเพิกถอนได้
เพิ่มเติม ประเด็นเรื่องฉีดยาแล้วเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยก็เคยมีกรณีที่อ้างในศาลฎีกาอยู่หลายคดี เช่น ฎีกา ๔๖๑/๒๕๓๖, ๖๐๙๒/๒๕๕๒, ๗๖๓๔/๒๕๕๔, ๑๐๔๑๖/๒๕๕๕
อ้างอิง
-https://admincourt.go.th/admincourt/site/05SearchSuit.html (ใช้คำค้น "ศาลปกครองสูงสุด แผนกคดีบริหารราชการแผ่นดิน คดีหมายเลขดำที่ อร. 328/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อร. 57/2565")
-มาตรฐานการพิสูจน์ความรับผิดทางแพ่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม:
ศึกษาการต่อสู้คดีในศาลไทย: รัฐสภาสาร 2559.
โฆษณา