4 ม.ค. 2023 เวลา 13:44 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์การก่อตั้งกรุงสุโขทัย และพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์พระร่วง
ประวัติศาสตร์การก่อตั้งกรุงสุโขทัย และพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์พระร่วง
ประวัติพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
หากจะกล่าวย้อนความไปยังครั้งที่ประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวมกันเป็นปึกเป็นแผ่น คนไทหรือคนไตนั้น เดิมทีที่ไม่ได้อยู่บนแผนที่นี้ และไทยมาจากที่ไหน? ใครเป็นผู้ก่อตั้งและรวมรวมแผ่นดิน มาจนเป็นไทยได้จนปัจจุบัน เราจะขอเริ่มกันเล่าเรื่องราวประวัติที่สามารถจับต้องได้ หรือมีหลักฐานที่พอจะเชื่อถือได้เลยแล้วกัน หากย้อนไปนานกว่านี้ เกรงว่าจะไม่สามารถเอาหลักฐานใดๆมาอ้างอิงได้ ติดตามบทความ "เรื่องราวการก่อตั้งกรุงสุโขทัย"กันเลย
ประวัติพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ตามพงศาวดาร และคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ ได้กล่าวไว้ว่าพ่อขุนศรี อินทราทิตย์มีพระนามเต็ม คือ กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ พระนามเดิม พ่อขุนบางกลางหาว (ไม่ใช่ “กล่างท่าว”) ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ครองราชย์สมบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 1782 - 1822 (30 ปี คำนวณศักราชจากคัมภีร์สุริยยาตรตามข้อเสนอของ ศ.ประเสริฐ ณ นครและ พ.อ.พิเศษ เอื้อนมณเฑียรทอง)
เมื่อจุลศักราช 536 พระเจ้าสุริยราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ได้ทรงตบแต่งซ่อมแซมแปลงเมืองพิจิตรปราการ(กำแพงเพชร)ขึ้นใหม่ครองราชย์สมบัติต่อไป มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า สิริสุธาราชเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งด้วยพระอัครมเหสี ทรงพระนามว่าจันทกุมารพระเจ้าสุริยราชา เมื่อแรกได้ราชสมบัติพระชนม์ได้ 20 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 28 ปี
เสด็จสวรรคตพระชนม์ได้ 47 พรรษา พระองค์ประสูติวันจันทร์ จุลศักราช 570 พระจันทกุมารราชโอรส ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าจันทรราชาและตามพระราชพงศาวดารโยนก หน้า 80 วรรค 2 กล่าวไว้ว่ายังมีข้อความในหนังสือชินกาลมาลินี กล่าวถึงมูลประวัติของพระเจ้าโรจนราชผู้ได้ พระพุทธสิหิงค์มาจากศรีธรรมนครนั้นว่า บุรุษผู้หนึ่งหลงป่าที่บริเวณ
2
บ้านโคณคาม(เข้าใจว่าบ้านโคนริมเมืองเทพนคร)และได้พบนางเทพธิดาแปลงเป็นมนุษย์(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)มาร่วมสมัครสังวาสเกิดบุตรได้มาเป็นเจ้ากรุงสุโขทัยทรงนามว่า โรจราช
ประวัติพระองค์ท่านจากคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์หน้า112-113 ตอนหนึ่งกล่าวถึงการประสูติของพระองค์ ได้ยินว่าที่บ้านโค (บ้านโคน จังหวัดกำแพงเพชร ในปัจจุบัน) ยังมีชายคนหนึ่ง(จันทราชา)รูปงามมีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)เห็นชายคนนั้นแล้ว ใคร่ร่วมสังวาสด้วยจึงแสดงมารยาหญิง ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น
เนื่องจากการร่วมสังวาสของทั้งสองคนนั้นจึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก รูปงาม เพราะฉะนั้น ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า "โรจราช" ภายหลังปรากฏพระนามว่าพระเจ้าล่วง
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งหมดเชื่อได้ว่า เมืองคณฑีโบราณ หรือตำบลคณฑี จังหวัดกำแพงเพชร ในปัจจุบันนั้นอยู่ในอาณาจักรสุโขทัย เนื่องจากพระเจ้าสุริยราชา(พระอัยกาของ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ครองราชย์สมบัติที่เมืองพิจิตปราการ (เมืองกำแพงเพชร ปัจจุบัน)
หลังจากนั้นก็เสด็จสวรรคตและต่อมาพระจันทกุมารราชโอรส (พระเจ้าจันทรราชา พระราชบิดา ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติต่อ ระหว่างนี้เกิดปาฏิหาริย์หลายสิ่งมากมายจนกระทั่งได้มเหสีเป็นเชื้อชาตินางนาคกุมารี และมีพระราชโอรสคือ พระร่วง(พ่อขุนศรีอินทราทิตย์)นั่นเอง
เพราะอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าเชื่อถือคือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพระนามเต็ม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าบ้านเดิมของพระองค์อยู่ที่ “บ้านโคน ” ในจังหวัดกำแพงเพชร พระองค์ทรงนำชนชาติไทยต่อสู้กับชนชาติขอมซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในสุวรรณภูมิ อันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงกรุงสุโขทัยด้วย ทรงได้ชัยชนะขอมและประกาศอิสรภาพ ตั้งราชอาณาจักรสุโขทัย ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกและเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง- เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย
ประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย
หลังจากมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี และมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์แล้ว พระองค์ทรงดูแลพระราชอาณาจักรและบำรุงราษฏรเป็นอย่างดี พระมหากษัตริย์พระองค์ที่สาม พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถทั้งในด้านนิรุกติศาสตร์ การปกครอง กฎหมาย วิศวกรรม ศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น
ผลงานของพระองค์ที่ปรากฏให้เห็น อาทิ ศิลาจารึกที่ค้นพบในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อธิบายถึงความเป็นมา ลีลาชีวิตของชาวสุโขทัยโบราณ น้ำพระทัยของพระมหากษัตริย์ การพิพากษาอรรถคดี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผลงานทางวิศวกรรมชลประทาน คือ เขื่อนสรีดภงค์ที่เป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง มีการทำท่อส่งน้ำจากตัวเขื่อนมาใช้ในเมือง
พระมหากษัตริย์ที่ทรงทำนุบำรุงศาสนามากที่สุดคือ พระเจ้าลิไท ในรัชสมัยของพระองค์มีการสร้างวัดมากที่สุด กษัตริย์พระองค์สุดท้ายในฐานะรัฐอิสระ คือ พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) ต่อจากนั้น อาณาจักรได้ถูกแบ่งส่วนออกเป็นของอาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรล้านนา จนในที่สุด อาณาจักรทั้งหมด ก็ถูกรวมศูนย์ เข้าเป็นดินแดนสวนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา
ประวิติศาสตร์กรุงสุโขทัย จากศิลาจารึกที่ถูกค้นพบ โดยกรมศิลปกร
กรุงสุโขทัย อาณาจักรที่อายุสั้นที่สุด?
การศึกษาประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย เท่าที่เผยแพร่ออกมาแล้วนั้น มักจะมุ่งหน้าศึกษาแต่เรื่องลำดับกษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีความจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง นับว่ามีผู้ทำการค้นคว้ามากที่สุด ไม่ได้มีการค้นคว้าเกี่ยวกับการศาสนา การปกครอง หรือการเศรษฐกิจ
ซึ่งมีผลที่จะทำให้อาณาจักรแห่งนั้นรุ่งเรืองหรือล้มเหลวแต่ประการใด ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยนั้น แม้จะมีช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงร้อยปีเศษก็ตาม แต่หลักฐานอันเป็นข้อมูลในการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนี้ มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยจากศิลาจารึกซึ่งก็มีไม่มากนัก ประกอบกับตำนาน พงศาวดาร ทั้งของเมืองเชียงใหม่ และเมืองอยุธยา
ดังนั้นจึงมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความ และการค้นคว้าเชื่อมต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ในการค้นคว้าคราวนี้ ได้นำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ประกอบกับรายงานการขุดค้น การสำรวจ ซึ่งได้มีผู้ทำมาแล้วและการสำรวจด้วยตนเอง รวมทั้งจากบทความของท่านผู้ทรงความรู้หลายท่านมาประกอบ
การพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้าจะเห็นได้ว่า อาณาจักรสุโขทัยไม่ใช่อาณาจักรที่มีอำนาจ และรุ่งเรืองอยู่ได้นาน ทั้งนี้เพราะตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองหลวง อันเป็นจุดศูนย์กลางของอาณาจักร ไม่อำนวยให้ประชากร สามาระรวมตัวกันได้เพราะพื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ขาดการคมนาคมที่ดีมายังจุดศูนย์กลาง ทั้งยังถูกปิดล้อมจากอาณาจักรที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารมากกว่าด้วย
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า อาณาจักรสุโขทัย อยู่ในฐานะเป็นรัฐกันชน ซึ่งจะต้องถูกอาณาจักรที่ใหญ่กว่า พยายามแพร่อิทธิพลเข้ามาเพื่อต้องการผนวกดินแดนเข้าไว้ด้วย ทำให้อาณาจักรสุโขทัยดำเนินนโยบายทางการเมืองด้วยความไม่มั่นใจนัก ทางด้านการจัดลำดับกษัตริย์ ปีที่ขึ้นครองราชย์สมบัติกับปีที่สวรรคตก็เป็นเรื่องสับสนมาก ทั้งนี้เพราะข้อความในศิลาจารึกมักขาดหาย และมีเชื่อมต่อกันไม่มากพอที่จะกล่าวได้โดยเด็ดขาดว่าเป็นปีใดแน่นอน
แม้พงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ก็เช่นกัน เป็นเหตุให้มีช่วงว่างในการตึความได้มาก ในการค้นคว้าครั้งนี้ได้แสดงหลักฐานอย่างละเอียดประกอบการค้นคว้าเพิ่มเติมขึ้นด้วย ทางด้านศาสนา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวการเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่น่าสนใจ และนิกายย่อยที่ได้เข้ามาเผยแพร่ในอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งแต่เดิมกล่าวกันแต่เพียงว่า ได้รับพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เท่านั้น
แต่ไม่ได้กล่าวละเอียดถึงนิกายย่อย และบทบาทของพระสงฆ์ไปมากกว่านั้น กล่าวโดยสรุป เหตุสำคัญที่ทำให้อาณาจักรสุโขทัย หมดอำนาจ และสิ้นสุดความเป็นอาณาจักรนั้น อยู่ที่พื้นฐานทางภูมิศาสตร์และพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินการทางการเมืองนั่นเอง จึงทำให้ทางฝ่ายอยุธยาสามารถผนวกดินแดนสุโขทัยได้สำเร็จ
ข้อขอบคุณข้อมูลดีๆจาก 1.องค์การบริการส่วนตำบลคณฑี จ.กำแพงเพชร 2.ประวัติศาสตรชาติไทย สมัยกรุงสุโขทัย 3.อาจารย์ สินชัย กระบวนแสง ผู้เขียนข้อมูลทางประวิติศาสตร์ประเทศไทย กรุงสุโขทัย
กดติดตามเป็นกำลังใจให้เพจของเราด้วยนะครับ เราจะลงบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ให้อ่านกันเรื่อยๆ ขอขอบคุณดวงวิญญาณบรรพบุรุษและอาจารย์ผู้เขียนเรื่องราวที่ผมได้ยกมาทุกๆท่าน
โฆษณา