6 ม.ค. 2023 เวลา 11:07 • ท่องเที่ยว

สะพานขอมโบราณที่กำปงกะเดย (Kampong Kdei Bridge)

"กัมปงกะแด็ย" เป็นสะพานโบราณ สร้างจากหินศิลาแลง ในช่วงศตวรรษที่ 12 ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทางข้ามแม่น้ำกัมปงกะแด็ย อำเภอกัมปงกะแด็ย จังหวัดเสียมเรียบ
ขนาดสะพานมีความยาว 75 เมตร สูง 14 เมตร และกว้าง 14 เมตร สะพานนี้มีเสาโค้งขนาดใหญ่ ยังมีสภาพความมั่นคง
แต่ปัจจุบันมีการอนุรักษ์ โดยรัฐบาลกัมพูชาได้สร้างถนนเบี่ยงออกจากแนวสะพานเดิมและสร้างสะพานแห่งใหม่มารองรับการใช้งานแทนสะพานโบราณแห่งนี้
หัวท้ายสะพานมีนาคราช 9 เศียร จำหลักในแบบของศิลปะยุคเมืองพระนคร .. ขนาดใหญ่แผ่พังพาน ดูสง่างาม น่าเกรงขราม
.. ลำตัวของนาคราช ทอดยาวเป็นราวสะพานทำด้วยหินทรายสลัก ยาวตลอดสะพานทั้ง 2 ด้าน รวมหัวท้ายเป็นนาค 4 ตัว ..
ข้างๆเศียรนาค .. มีหลักเขตเชิงสะพาน จำหลักเป็นรูปคล้ายทวารบาลในซุ้มโค้ง
นาคราชของสะพานแห่งนี้ … เป็นศิลปะสมัยพระนคร
.. เครื่องประดับบนตัวนาคราช ได้รับการสลักเสลาสวยงาม ดูอลังการ
ด้านบนของสะพานทำเป็นพื้นที่เรียบยกขอบศิลาแลงเป็นคันขึ้นมาทั้งสองข้าง
ตัวสะพาน สร้างจากศิลา … ตัวสะพานกว้าง 15 เมตร ยาว 80 เมตร และสูงประมาณ 6-8 เมตร .. ความกว้างของสะพานนั้น รถบรรทุกสามารถแล่นสวนทางกันได้สบายๆ
เสาสะพาน .. มีลักษณะเป็นช่องถี่ๆ เพื่อให้มีความมั่งคงแข็งแรง โดยใช้หินศิลาแลงก้อนสี่แหลี่ยมขนาด 1 เมตร หนาราว 1 ฟุต เรียงซ้อนกันเป็นตอม่อ และทำเป็นช่อง ๆ 11 ช่อง แบบซุ้มประตูปลายแหลม แต่ละช่องลึก 15 เมตร กว้าง 2-3 เมตร เป็นช่องให้น้ำไหลผ่าน
"กัมปงกะแด็ย" จึงเป็นสะพานหินศิลาแลงโบราณ ที่มีรากฐานที่แข็งแกร่งมาก .. ยืนยงผ่านกาลเวลามาร่วม พันปี โดยไม่มีการทรุดตัวแต่อย่างใด
… แม้จะผ่านการใช้งานมาตั้งแต่โบราณ มาจนถึงสมัยรุ่นเรา โดยเปิดให้รถยนต์ รถบรรทุกแล่นผ่านมาตลอด จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ จึงมีการสั่งห้ามรถยนต์และรถบรรทุกแล่นบนสะพานแห่งนี้ แต่ยังคงอนุญาตให้รถขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ และเกวียนใช้สะพานนี้ได้
... น่าทึ่งกับความสามารถของขอมโบราณจริงๆ
Credit : EJeab Academy
**จากการค้นคว้าทำให้พบว่า ยังมีสะพานอื่นที่ต่อเนื่องกันอีกหลายสะพาน .. สะพาน สเปียนตโบง สเปียนโต๊ป และสเปียนเยียง โอสเปียนกเมง เป็นสะพานขนาดใหญ่ สร้างต่อเนื่องกันตามแนวถนน เพื่อข้ามลำน้ำหลายสายที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ทางน้ำนี้เป็นเส้นกั้นเขตจังหวัดอุดรมีชัยกับจังหวัดเสียมเรียบ
.. สะพานโบราณหลายแห่ง ยังคงถูกใช้เป็นเส้นทางถนนสายหลักในการคมนาคมจากจังหวัดอุดรมีชัยเข้าสู่จังหวัดเสียมเรียบ โดยทุกวันจะมีรถยนต์และรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งอยู่เป็นประจำ
Credit : EJeab Academy
สเปียนโต๊ป (Spean Top) เป็นสะพานที่ยาวและสูงที่สุดในเส้นทางสายนี้ มีความยาว 149 เมตร สูง 14.50 เมตร และมีความสูงของซุ้มโค้งใต้สะพานมากถึง 10 เมตร ตั้งอยู่ใกล้กับธรรมศาลา ปราสาทพรหมเก็ล ( Prohm Kel) ยังคงมีรูปสลักและเสาสะพานหินทรายที่สวยงามหลงเหลืออยู่บ้าง
Credit : EJeab Academy
เมื่อเห็นสะพานโบราณขนาดใหญ่โตนี้แล้ว ก็อาจจะมีคำถามขึ้นมาในใจว่า สะพานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง ราชมรรคา หรือไม่?
คำตอบอาจจะไม่มีเด่นชัด .. หรือหากจะฟันธง ก็คงแล้วแต่ความเชื่อ และการให้เหตุผลสนับสนุนของแต่ละแนวความคิด ที่อาจจแตกต่างกัน
อยากจะนำเนื้อความบางส่วนจากการบรรยายสาธารณะ เรื่อง ราชมรรคา “เส้นทาง” หรือ “ถนน” .. มาแบ่งปันกันค่ะ
Credit : EJeab Academy
... อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (นักวิชาการ) ได้แสดงทัศนะในเรื่องดังกล่าวเป็นสองประเด็นหลัก คือ เส้นทางที่ถูกอ้างว่าเป็น “ราชมรรคานั้น” คือ “เส้นทางโบราณ” ที่ประชาชนในท้องถิ่นใช้เดินทางกันตั้งแต่สมัยโบราณกาล และการปรากฏของ “ธรรมศาลา” อาจเป็นการยกระดับความเชื่อเข้าสู่ระบบศาสนาตามวิสัยของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ .. ซึ่งไม่ใช่ “การแผ่พระราชอำนาจ” แต่เป็น “การอุปถัมภ์ศาสนา” ตามสิ่งที่พระมหากษัตริย์ในยุคสมัยนั้นนับถือ
“การศึกษาพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ราบสูง มีทรัพยากรสำคัญคือ “เกลือและเหล็ก” ที่เป็นสิ่งดึงดูดสำคัญให้คนกระจายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และพื้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับความแห้งแล้ง ทำให้เกิดระบบชลประทาน เพื่อการอยู่อาศัยและดำเนินกิจกรรมการถลุงเหล็กและทำเกลือ
.. โดยเฉพาะเกลือนั้นถูกส่งไปยังเมืองพระนคร เพราะที่เมืองพระนครมีทะเลสาบ และปลาที่ต้องถนอมอาหาร โดยมีเส้นทางเกลือผ่านมายังพิมาย และปรากฏอีกเส้นทางหนึ่งที่ผ่านทางสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะเมืองสุวรรณภูมิ มีเมืองชื่อ “บ่อพันขัน” เป็นเส้นทางใหญ่ที่มีการติดต่อกัน
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เกิดก่อนอาณาจักร เขมร .. การที่ประชากรเดินทางไปมาในเส้นทางดังกล่าวจึงเกิด “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นตามแนวตะเข็บชายแดนทั้งหมด เช่น ช่องตาเฒ่า ช่องสะนำ ช่องตาเมือน ช่องแบแบบ ช่อง โปปรก และช่องอื่นๆมากมาย ซึ่งอดีตนั้นก็อยู่ภายใต้ความเชื่อเรื่องผี (Animism) ทั้งสิ้น .. ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนเป็น “ปราสาท” ในสมัยขอม รวมทั้ง “เขาพระวิหาร” ด้วย โดยสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการขนถ่ายสินค้า ไม่ใช่การแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด”
.. .. การสร้างสะพานเพื่อเฉลิมพระเกียรตินั้นก็ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมเขมรและกระจายไปทั่วดินแดนค้นพบแล้วมากกว่า ๑๐๐ แห่ง ใช้ทอดข้ามผ่านสายน้ำในยามหน้าน้ำไหลหลากและแรง จึงก่อสร้างอย่างแข็งแรงและสวยงาม โดยสร้างให้มีช่องซุ้มให้น้ำไหลผ่าน ความสูงตั้งแต่ ๒-๓ เมตรไปจนถึง ๑๐ เมตร นอกจากนี้ สะพานในอดีตมีบทบาทสำคัญในการจัดการน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องมีทางขึ้นทางลงที่เชื่อมกับถนนก็ได้ และยังไม่มีการศึกษาว่าสอดรับกับการมีสมมติฐานเรื่องถนนเชื่อมต่อกับสะพานอย่างไร
… กล่าวโดยสรุปแล้ว “ราชมรรคา” อาจหมายถึง “เส้นทาง” (Route)แต่ความพยายามในการนำเสนอทำให้ “ราชมรรคา” ถูกเข้าใจว่าเป็น “ถนน” (Road) พ้องกับเทคโนโลยีในการตัดถนนแบบสมัยใหม่ ที่ไม่เคยพบมาก่อนในบ้านเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ใหญ่โต ใช้กำลังแรงงานมากมายมหาศาลเช่นนี้ ทั้งขาดข้อเท็จจริงของหลักฐานจะรองรับหรือยืนยันได้
โฆษณา