9 ม.ค. 2023 เวลา 02:36 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มัจจุราชไร้เสียง
ในช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมานี้, พวกเราใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพักผ่อนกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง. และแน่นอนว่าอิริยาบถแห่งการพักผ่อนที่เราคุ้นเคยกันอย่างดีที่สุดก็คือการนั่ง, ซึ่งแม้แต่ในตอนนี้ท่านผู้อ่านก็อาจจะกำลังนั่งอ่านหน้าจอนี้อยู่!
ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินมาว่า การนั่งนานๆ นั้นไม่ดีต่อสุขภาพ, ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน, นั่งดูทีวีหรือนั่งอ่านหนังสือ. ในหนังสือ Get up! Why Your Chair Is Killing You and What You Can Do About It, เจมส์ เอ. เลวิน ถึงกับกล่าวว่า การนั่งสามารถฆ่าเราได้: “เราสูญเสียเวลาในชีวิตของเราสองชั่วโมงให้กับการนั่งทุกๆ หนึ่งชั่วโมง”
บางคนก็บอกว่า การนั่งคือการสูบบุหรี่รูปแบบหนึ่ง; นั่นคือ, มันไม่ดีต่อสุขภาพและฆ่าเราอย่างช้าๆ. มีการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับการนั่งนานพบว่า การนั่งมากกว่าสามชั่วโมงต่อวันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบ 4 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก.
แต่การนั่งที่ว่านี้คือการนั่งสมัยใหม่; กล่าวคือ, การนั่งเก้าอี้.
มนุษย์สมัยก่อน, สมัยที่ยังเป็นนักล่าสัตว์เก็บของป่า, ไม่มีเฟอร์นิเจอร์สำหรับการนั่ง. พวกเขาไม่นั่งเก้าอี้; แต่พวกเขานั่งพื้นกันอยู่ตลอด (ชาวเผ่าที่ยังคงวิถีชีวิตแบบนักล่าสัตว์เก็บของป่าในปัจจุบันก็ยังคงนั่งพื้น). เวลาที่พวกเขานั่งพื้น, ท่าทางของการนั่งมีหลากหลาย; ยืดขามาด้านหน้า ขัดสมาธิ หรืออาจจะคุกเข่า. และท่านั่งยอดนิยมของมนุษย์โบราณก็คือการนั่งยองๆ. นักโบราณคดีค้นพบกระดูกข้อเท้าที่มีรอยกดทับซึ่งเชื่อกันว่าเกิดจากการที่บรรพบุรุษของพวกเรานั่งยองๆ.
การนั่งเก้าอี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่และเพิ่งจะแพร่หลายเมื่อไม่นานมานี้. ภาพวาดและงานศิลปะโบราณ, ไม่ว่าจะมาจากจีน อียิปต์หรือเมโสโปเตเมีย, แสดงให้เห็นว่า เก้าอี้ที่มีพนักพิงอันสะดวกสบายเป็นของชนชั้นสูง. เก้าอี้ที่มีพนักพิงเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางและล่างเข้าถึงได้ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อเก้าอี้โธเน็ต (ตั้งชื่อตามมิคาเอล โธเน็ต, เจ้าของโรงงานชาวเยอรมัน, ผู้ซึ่งค้นพบวิธีการผลิตเก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิงสวยงาม สะดวกสบายและราคามิตรภาพ) ออกสู่สาธารณะใน ค.ศ. 1859.
แล้วการนั่งเก้าอี้แตกต่างจากการนั่งยองๆ และไม่ดีต่อสุขภาพอย่างไร?
 
ประการแรกคือการนั่งเก้าอี้ใช้พลังงานน้อยกว่าการนั่งยองๆ. มันใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อน้อยมาก, ในขณะที่การนั่งยองๆ ใช้พลังงานเกือบจะพอๆ กับการยืน. ประการที่สอง, การนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงทำให้เราไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหลัง, ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอ.
ประเด็นต่อมาก็คือการนั่งยองๆ นอกจากจะใช้พลังงานแล้ว, ยังเปิดโอกาสให้เราได้เคลื่อนไหวมากกว่า. การนั่งเก้าอี้นิ่งๆ โดยไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ เพิ่มระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด. แถมร่างกายอาจจะเข้าสู่ภาวะเครียดโดยที่เราไม่รู้ตัว.
ในภาวะเครียด, ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะเพิ่มมากขึ้น. ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่เตรียมความพร้อมด้านพลังงานให้แก่เราเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคาม, มันทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากของหวานและอาหารที่มีไขมันสูง. โดยปรกติแล้ว, คอร์ติซอลหลั่งออกมาอยู่เป็นช่วงๆ; แต่การนั่งนานๆ ซึ่งนำไปสู่ภาวะเครียด, ทำให้เกิดการหลั่งคอร์ติซอลแบบต่อเนื่องซึ่งนำไปสู่การเป็นโรคอ้วนและทำให้ร่างกายเกิดอาการอักเสบได้.
สรุปได้ว่า การนั่งโดยตัวมันเองจึงไม่เป็นพิษภัย; แต่ขึ้นอยู่กับท่าทางและระยะเวลาในการนั่ง. หากกิจวัตรประจำวันของท่านจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการนั่งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้, ท่านควร ‘พัก’ การนั่งเป็นช่วงๆ เช่น ทุกๆ 30 นาที, ลุกขึ้นยืน หรือเดินเล่นสักห้านาทีก่อนกลับมานั่งต่อ.
กิจกรรมง่ายๆ เบาๆ, อย่างเช่น การยืนและการเดินสั้น, สามารถบรรเทาภาวะเครียดและหยุดอาการอักเสบของร่างกายที่เกิดจากการนั่งนานๆ ได้. นอกจากนี้, ในขณะนั่ง, หากทำได้, ท่านก็กระดิกเท้าหรือเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยไปด้วยก็ยังดี. การศึกษาพบกว่า การกระดิกเท้าหรือเขย่าขาในขณะนั่งสามารถช่วยทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดในขณะนั่งได้ดีขึ้น.
อ่านบทความนี้จบแล้ว, ลุกขึ้นยืนหรือเดินเล่นกันสักหน่อยนะครับ.
โฆษณา