11 ม.ค. 2023 เวลา 10:56 • ธุรกิจ
หัวใจของเกมมิฟิเคชันคือการสร้าง แรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) ให้เกิดขึ้นกับผู้เล่นครับ
แรงจูงใจภายในมีองค์ประกอบหลายตัวครับ แต่องค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งคือ Relatedness ซึ่งคือ การได้รู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นครับ หรืออีกนัยหนึ่งคือ คนเราจะรู้สึกจูงใจ และ เต็มใจทำบางสิ่งบางอย่าง หากได้รู้สึกว่าตนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตัวเองอยู่
โดยการได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น ไม่ใช่แค่ว่าเรามีชื่อเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม เราก็จะมีแรงจูงใจ พร้อมทุ่มเททำอะไรบางอย่างให้กลุ่ม แต่เรายังต้องการการยอมรับจากกลุ่มด้วย เช่น
• ได้รับความเคารพ หรือ มีสถานทางสังคม
• ได้รับการสนับสนุน
• การได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
• ได้รับกำลังใจ
นอกจากการได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแล้ว ตัว relatedness นี้ ก็ยังรวมถึงการได้รู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ เป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งนั้น ๆ ด้วย ประมาณว่า ถ้าคนมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องของเรา เขาก็ไม่จูงใจให้อยากทำ หรือ มีส่วนร่วม
.
คำถามคือ แล้วเราจะสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในกลุ่มได้อย่างไร?
เอาจริงก็มีเทคนิคสอนไว้มากมายครับ แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากที่อยากจะเล่าลืมกันคือ “ความยุติธรรม” ครับ
สังคมที่สมาชิกรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมรู้สึกว่าไม่แฟร์ ก็ยากที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกรัก และ ทุ่มเทให้กลุ่มได้
ตัวอย่างเช่น บางบริษัทมีการประเมินผลการทำงานของพนักงานช่วงปลายปี เพื่อปรับเงินเดือนและให้โบนัส ซึ่งถ้าเกิดมีพนักงานรู้สึกว่าผลออกมาไม่แฟร์ ประมาณว่า ทำไมบางคนทำน้อยแต่ได้ประเมินออกมาดีกว่า แบบนี้เป็นต้น องค์กรแบบนี้ สุดท้ายพนักงานก็อาจจะลาออก หรือ อยู่ไปแบบเป็น deadwood
แต่ความยุติธรรมมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากครับ ความยุติธรรมของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ว่าเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าแฟร์ ถ้ามันง่ายคนก็คงไม่ทะเลาะกันหรอกครับ
ทีนี้ก็มีนักคิดได้บอกไว้ว่า ถ้าเราจะวัดความยุติธรรมที่ผลลัพธ์ อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะให้ทุกคนยอมรับได้ สิ่งที่ใกล้เคียงความยุติธรรมในอุดมคติที่สุดคือ “ความยุติธรรมในกระบวนการ” แล้วปล่อยให้ผลลัพท์เป็นไปตามกระบวนการ
.
เกมมิฟิเคชันไม่ได้เป็นแค่การเล่นเกมครับ แต่คือการคิดแบบมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human Centric) และ จูงใจผ่านกลไกเกม เท่านั้นเองครับ
#gamification ตอนที่ 67
อ่านบทความย้อนหลังทั้งหมด
โฆษณา